อัสนี โชติกุลแห่งมอร์ มิวสิค Entrepreneur 2002

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

อาณาจักรสีเทาที่ออกแบบวกวนน่าฉงนของบริษัท มอร์ มิวสิค เป็นที่ซึ่งอัสนี โชติกุล ศิลปินเพลงร็อก "บ้าหอบฟาง" บริหารสร้างสรรค์ธุรกิจเพลง อยู่ที่ชั้น 32 ของอาคารใหม่ "GMM Grammy Place" บริเวณซอยอโศก

มอร์ มิวสิค ถือว่าเป็นกรณีศึกษาหนึ่งใน 11 ค่ายเพลงของแกรมมี่ โดย 9 ค่าย อยู่ในสังกัดของบริษัท คือ แกรมมี่ แกรนด์, แกรมมี่ โกลด์, แกรมมี่ บิ๊ก, จีนี่ เร็คคอร์ด, อังกอร์, อัพจี, อาร์พีจี, กรีน บีนส์ และจีโปร และอีก 2 ค่ายเป็นบริษัทในเครือที่แกรมมี่ถือหุ้น 100% ได้แก่ Maker head และมอร์ มิวสิค ทั้งนี้ 11 ค่ายเพลง แบ่งตามแนวเพลงถนัด Pop, Pop Rock, Rock, Alternative, Indy เป็นต้น

"รายได้ของแกรมมี่มาจากค่าย เพลงร็อกประมาณ 30% ของบิลลิ่งทั้งหมด ซึ่งมาจากมอร์, Makerhead, RPG และอื่นๆ แต่เป็นร็อกคนละแนวที่หนาบางกว่ากัน" นี่คือตัวเลขประมาณการของอัสนี เมื่อปีที่แล้วบริษัทแม่ แกรมมี่มีรายได้จากธุรกิจเพลง 2,683 ล้านกว่าบาท ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาคือ ธุรกิจวิทยุ 769 ล้านบาท และอันดับสามคือ ธุรกิจโทรทัศน์ 402 ล้านบาท

บนเวทีต่อหน้าแฟนานุแฟน "อัสนี วสันต์" คือ ศิลปิน duo ที่ได้รับการปรบมือโห่ร้องยินดี แต่บนเวทีธุรกิจมอร์ มิวสิค อัสนีสวมหมวกอีกใบ ที่ต้องรับผิดชอบตัวเลขกำไรขาดทุน ศิลปิน และผู้ถือหุ้น แม้ไม่เป็นนักธุรกิจคอยนับดวงดาวเป็นตัวเลขเหมือนในเรื่อง "เจ้าชายน้อย" ของ อองตวน แซงเตก-ชูเปรี ที่อัสนีมีไว้บนโต๊ะทำงานก็ตาม

ภายใต้โครงสร้างธุรกิจ บริษัทมอร์ มิวสิค ก่อตั้งเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2538 ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท แต่ชำระแล้ว 1 ใน 4 คือ 12.5 ล้านบาท โดย แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% แต่มอร์ มิวสิคยังคงวัฒนธรรมองค์กรที่อิสระเป็นเอกเทศ ที่เน้นศิลปินประเภท "ตัวจริง เสียงจริง" เหมือนบุคลิกผู้นำอย่างอัสนี ขณะที่ระบบการให้ผลตอบแทนศิลปิน มีลักษณะสากลระหว่างศิลปินและค่ายเพลงที่ชัดเจน

ปีที่แล้ว มอร์ มิวสิค ทำบิลลิ่งยอดขายประมาณ 146 ล้านบาท แต่ปีนี้เพียงแค่ 5 เดือนที่ผ่านมา บิลลิ่งของมอร์พุ่งแตะ 115 ล้านบาทอย่างมีเหตุผล เพราะผลดีจากยอดขายเพิ่มขึ้นจากการใช้กลยุทธ์ลดราคา 50% ในซีดี และวีซีดีสู้เทปผีซีดีเถื่อน ที่สอดคล้องกับงานเพลง "ไม่อยากไปพันธุ์ทิพย์" ในอัลบั้มปกสีแดงของเสก LOSO ด้วย

"ผมคิดว่าเราทำเกินเป้าที่ตั้งใจไว้จะโตแค่ 15-20% เพราะผลจากการลดราคาซีดี ผสมกับกลางปีที่แล้ว LOSO เน้นพันธุ์ทิพย์ด้วย ต่อเนื่องถึงปลายปีที่แล้ว LOSO ออกงานแสดงสด ทำให้รายได้ผ่องมาออกต้นๆ ปีด้วย" อัสนีเล่าให้ฟัง

ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทวัย 47 อัสนีบอกว่า ไม่ถนัดเลยที่จะจัดการเชิงพาณิชย์ศิลป์นี้ ในระยะ 2 ปีแรกต้องมีพี่เลี้ยงอย่างเรวัต พุทธินันทน์ (พี่เต๋อ) คอยช่วยเหลือ ซึ่งถ้าดูจากประวัติของอัสนี จะพบว่า เรวัตเป็น role model ที่อัสนีเรียนรู้ถึงประสบการณ์ความสามารถจัดการทันสมัย balance ธุรกิจกับงานสร้างสรรค์เพลงได้สำเร็จคนหนึ่งของไทย

"ตอนแรกผมคิดว่าจะเป็นเพียงเอ็กเซคคิวทีฟ โปรดิวเซอร์ โดยมอร์จะมี MD คนหนึ่ง และ GM อีกคนหนึ่ง แต่พี่เต๋อและคุณไพบูลย์บอกว่า คงต้องให้ผมดูเอง ผมต้องตอบคำถามเสมอๆ ว่า ตลาดไปหรือเปล่า ? ธุรกิจไปหรือเปล่า ? ความที่ตัวเองเป็นนักเล่นดนตรีและโปรดิวเซอร์ ก็เน้นว่า พยายามเอาศิลปะดนตรีด้านนี้ออกมาเป็นด้านนำ แทนที่จะเบี่ยงเบนไปสู่ธุรกิจ" นี่คือจุดยืนของอัสนี

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานของมอร์ มิวสิค จะมีเพียงปีละ 3-6 อัลบั้มเท่านั้น (ดูตาราง) ขณะที่ค่ายเพลงอื่นๆ ของแกรมมี่ เช่น กรีน บีนส์ จะมีความถี่ในการออกงานเพลงป้อนตลาดมากกว่า

"เราพยายามคัดเลือกตัวงานที่ไว้ใจได้ออกไป โดยเราไม่ผลิตเยอะ บางทีก็เหนื่อยเกินไป แม้ว่านโยบายจะให้ทำเพิ่ม แต่เราก็ทำเท่าที่เป็นไปได้ มากกว่านี้ก็ไม่ไหว เดี๋ยวจะไปเฉือนกันเอง อย่างน้อย 2 เดือนต้องห่างกัน เพื่อความคล่องตัวของการทำโปรโมตและการผลิตด้วย ซึ่งมีการตกลงกับบอร์ดข้างบนไม่ให้ขัดกัน เช่น อย่าให้คนนี้อยู่ใกล้คนนี้ มันขัดแย้งกันเวลาทำโปรโมต"

ปัจจุบัน มอร์ มิวสิค มี portfolio ศิลปินทั้งหมด 7 artists ได้แก่ วง LOSO ที่มี เสกสรรค์ ศุขพิมาย กับเพื่อน, Silly Fools ที่มีณัฐพล พุทธภาวนา (โต) กับเพื่อนที่เคยมี ผลงาน sampler 3 เพลงจากค่ายเบเกอรี่มิวสิคมาก่อน, Blackhead กับ อานนท์ สาย แสงจันทร์ (ปู) กับเพื่อนที่เคยมีงานเพลง Black list ก่อนร่วมกับมอร์, โจ-ก้อง, สุนิสา สุข บุญสังข์ (อ้อม), ศรุตยา ดวงสร้อยทอง (โอ๋) และวงใหม่ล่าสุด ซีล ที่จะออกผลงานในครึ่งปี 2545 นี้

การได้มาซึ่งศิลปินในค่ายมอร์นั้น ไม่ได้ผ่านกระบวนการสรรหาของอราทิสท์ แมเนจเม้นท์ ส่วนใหญ่จะเดินเข้ามาที่มอร์ มิวสิค เองเลย และวัดความสามารถกันที่ "ตัวจริง เสียงจริง" มีแนวเพลงร็อกชัดเจน โดยที่มอร์ มิวสิค จะไม่มีโปรดิวเซอร์ประจำเหมือนค่ายอื่น ขณะเดียวกัน ศิลปินจะเน้นความดิบและสดในบุคลิกสไตล์ของ แต่ละคน

ยกตัวอย่างวง LOSO ที่มีเสกสรรค์ ศุขพิมาย เป็นตัวหลัก ประวัติเคยเป็นนักดนตรีตามสถานบันเทิงมา 5-6 ปี ซึ่งเป็น อาชีพที่หล่อหลอมให้เสกสรรค์ครบเครื่อง ทั้งแต่งเอง-ร้องเองได้ดี จนกลายเป็นศิลปิน ที่อัสนีวางใจด้านฝีมือ ทำให้ตลอด 7 ปีของมอร์จะมีอัลบั้มใหม่สดจาก LOSO ทุกปี เหมือน Silly Fools และ Blackhead งานของพวกเขาได้กลายเป็นสินทรัพย์ (Intellectual properties) อันมีค่าของ มอร์ มิวสิค ซึ่งถูกพัฒนามูลค่าเพิ่มจาก music market ที่ LOSO ทำไว้ 6 ชุด ใน รูปเทปและแผ่นซีดี สู่ธุรกิจร้อง singing market ที่นำผลงาน LOSO ทำคาราโอเกะ ทั้งหมด 3 ชุด คือ LOSO Bonus Track, อัสนี วสันต์+LOSO, Best of LOSO

ขณะเดียวกันลิขสิทธิ์เพลงอย่าง LOSO ก็จะอยู่บริษัท มอร์ มิวสิค โดยศิลปินจะเซ็นสัญญากับมอร์ เนื้อร้องจะเป็นลิขสิทธิ์ของผู้แต่ง และมอร์ซื้อลิขสิทธิ์มา ผลิตเป็นมาสเตอร์เทป โดยมอร์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และจัดการบริหารอัลบั้มเพลงให้ออกสู่ตลาด เมื่อได้กำไรก็ปันส่วนกัน

"ผมคิดว่าเขามีส่วนคล้ายๆ ผมในอดีต ตรงที่อยากเล่นดนตรี แม้ไม่ได้เรียนดนตรีเป็นเรื่องราวมาก่อน แต่ว่ามี sense ของการแต่งเพลง วันแรกผมกับเขาไม่ได้เจอกัน เพราะผมทำงานห้องอัดอยู่ เขาก็ฝากเทปให้ฟัง พอฟังเสร็จ ผมได้นัดพบอีก 2 วัน จากนั้นทุกอย่างก็เดินไปจนถึงห้องซ้อม ห้องอัด ทำงานเร็วมาก 2 อาทิตย์ก็เสร็จ พอออกผลงานไป ก็มีคนชอบ เช่นเพลง "ไม่ต้องห่วงฉัน" ถือว่าเป็นความสามารถพิเศษที่ไม่ต้องประดิษฐ์ปั้นแต่งมาก อย่าง LOSO ตอนนี้ ผมดูแค่ 5-10% เช่น อันนี้แรงไปหรือเปล่า ? วกวนหรือเปล่า ? อธิบายได้ไหมว่า ไปมาอย่างไรแล้วคลี่คลายได้" อัสนีเล่าให้ฟัง

ค่ายเพลงอย่างมอร์ จะมีบทบาทบริหารศิลปินอยู่ 3 ประการ คือ ด้านการผลิต โปรโมต และจัดการ โดยมอร์จะมีห้องอัดเพลงเองถึง 3 ห้องมูลค่า 20 ล้านบาท โดยกระบวนการผลิตตั้งแต่วันแรกมีการคุยกันระหว่างโปรดิวเซอร์กับนักร้องในวง เสร็จแล้วนัดกันอีก 2 เดือนทำการอัดเสียงเทป Demo เพื่อให้บอร์ดและทีมงานอัสนีฟังกันก่อนว่าพอใจแนวเพลงนี้ไหม? เมื่อทุกฝ่ายพอใจก็ใช้เวลาผลิต 2 เดือนเสร็จแล้วทำโปรโมต ศิลปินจะมีคิวถ่ายมิวสิกวิดีโอ และโชว์ตัวให้สัมภาษณ์ ตามสื่อวิทยุโทรทัศน์ของแกรมมี่และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ

โดยสรุปตั้งแต่วันแรกถึงงานเสร็จ ศิลปินหนึ่งคนจะใช้เวลาบวกลบประมาณ 4 เดือน ถ้าวงดังๆ แต่วง LOSO ก็ประมาณ 1-2 เดือน เพราะการแสดงยังไปเรื่อยๆ ปีหนึ่ง อาจเล่นยาวถึง 150-200 โชว์ก็มี

"เทปม้วนหนึ่งจะแบ่งผลตอบแทนเท่าไรนั้นเป็นเรื่องภายใน แต่โดยปกติมี 3 หน่วยในการผลิต ตั้งแต่ executive Producer ที่จะตัดสินใจ yes หรือ no รองลงมาคือ producer ซึ่งเป็นคนถนัดเพลง เสียงหรือดนตรีเป็นอย่างไร ซื้อเครื่องใหม่ไหม? ลงมาคือนักแต่งเพลงซึ่งไม่ใช่นักร้อง แต่ที่มอร์จะเป็นนักร้องและเล่นดนตรีเองด้วย งานของมอร์จะมีเอกเทศนิดๆ เพราะบัญชีก็แยก โปรโมชั่นก็แยก กลุ่มทำงานก็แยก แต่ก็ประสานงานขายกับ MGA หลังทำเสร็จ"

เกือบ 7 ปีของการบริหารมอร์ มิวสิค ที่อัสนีต้องเสนอแผนงานประจำปี (year plan) และทุกสามเดือนก็จะมีการประชุมติดตามผลงานและเป้าหมาย โดยประชุมร่วม กับบอร์ดบริหาร เช่น ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, อภิรักษ์ โกษะโยธิน, กิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ, บุษบา ดาวเรือง, อัญชลี จิวะรังสินี, อัคร เดช โรจน์เมธา และเชฎฐ์ชาย จัมมวานิชกุล

"ผมขอตัวไม่ขออยู่ในบอร์ดแกรมมี่ แค่อยู่ตรงนี้ (กรรมการผู้จัดการ) ก็แปลกมากพอแล้ว แต่ผมต้องทำในฐานะเป็นลูกพี่ เป็นโค้ชให้เขา" นี่คือบทบาทแสร้งว่าเป็นเอ็มดีของอัสนี

อย่างไรก็ตาม งบลงทุนใหม่สำหรับ ห้องอัดเสียง 3 ห้องใหญ่-กลาง-เล็กที่ทันสมัยของมอร์ มิวสิค ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ที่อัสนีจะต้องรับผิดชอบ ธุรกิจเพลงของ มอร์ให้ถึงจุด break-even

"ผมได้คุยกับคุณไพบูลย์ว่า ควรจะสร้างห้องอัดให้ใหญ่หน่อย เวลาศิลปินต่างประเทศมาดูจะได้ไม่อาย ผู้ใหญ่เข้าใจก็บอกว่า ป้อมทำเลย ผมต้องหาเงิน 20 ล้าน มาตอบโจทย์นี้ให้ได้ เพราะจะมีการตัดค่าเสื่อม 5 ปีตามบัญชี ผมคิดว่าจุดคุ้มทุนก็ประมาณ 2 ปีก็คงจะพอ แต่ปีนี้ก็น่าจะได้แล้ว"

ครึ่งปีหลัง 2545 นี้ ค่ายมอร์ มิวสิค จะมีงานของ "อัสนี วสันต์" ออกมา และมีผลงานดนตรีของวงใหม่ "ซีล" ออกมา และมีงานเล็กๆ ร่วมกับ GMM Pictures ทำเพลงประกอบหนัง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มอร์จะทำ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะฉายตอนสิ้นปี ที่จะทำให้ Billing ของทั้งสอง บริษัทโตขึ้น เป็นการ synergy ระหว่างกระเป๋าซ้ายและขวาของแกรมมี่

15 ปีที่อัสนีอยู่กับแกรมมี่ ทั้งสอง ฝ่ายยังอยู่ในลักษณะคิดแบบ Win-Win แกรมมี่ได้สินทรัพย์ลิขสิทธิ์ที่จับต้องได้ ในรูปรายได้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขณะที่ศิลปินก็ได้รับความพึงพอใจกับผลงาน กับผลตอบแทนที่มีการจัดการบริหารแบบสมัยใหม่ ที่ตรวจสอบยอดขายได้จากใบแจ้งยอดขายแต่ละ items

แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่อัสนียังต้องมีภารกิจทำให้ปรากฏ คือ การดูแลผลประโยชน์ของศิลปินแต่ละคน ให้มีอำนาจต่อรองให้มากที่สุดภายใต้โครงการสร้างสัญญาที่เป็นธรรม ระหว่างศิลปินกับค่ายเพลง มิใช่เป็นเรื่องส่วนตัวที่ขึ้นอยู่กับความดังของศิลปินแต่ละคน เพราะคนอาจตายได้ แต่ลิขสิทธิ์เพลง และเพลง Rock never die....



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.