ทรูพร้อมยุติข้อพิพาททีโอที ศุภชัยเชื่อเป็นบทบาทกทช.


ผู้จัดการรายวัน(16 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ศุภชัย" ชี้ กทช. สามารถใช้บทบาทกำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคมมาเคลียร์ปัญหาพิพาทที่ทรูมีกับทีโอที ซึ่งทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมเดินหน้าไปได้ ซึ่งทรูพร้อมเจรจาเพื่อยุติปัญหา ย้ำประเด็นแปรสัญญาหากไม่มีข้อยุติ ใบอนุญาตที่ออกให้ทรูต้องเหมือนทีโอทีที่สามารถขายช่วงบริการต่อได้ทั้งเลขหมายและความถี่

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงกรณีศาลปกครองตัดสินให้บริษัท ทีโอที ระงับการใช้อำนาจในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมตามที่บริษัททีทีแอนด์ทียื่นฟ้อง และให้อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของ กทช.ว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีและเห็นถึงโอกาสที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเดินหน้าต่อ หลังอยู่ในภาวะชะลอตัวมาหลายปี เพราะคำตัดสินของศาลปกครอง จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีอำนาจในการกำกับดูแลอย่างเต็มที่

"กทช.จะต้องดำเนินบทบาทตามอำนาจที่มีอยู่ นอกจากนี้บทบาทของทีโอทีก็จะต้องเปลี่ยนไปถึงแม้จะมีสัญญาร่วมการงานอยู่ในมือก็ตาม"

ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลปกครองยังระบุว่าข้อตกลงใดที่มิใช่การใช้อำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กทช. ข้อตกลงนั้นยังมีผลผูกพันคู่สัญญาที่จะต้องปฏิบัติตามต่อไป ซึ่งในทางปฏิบัติทั้งทีโอทีและบริษัททีทีแอนด์ทีควรไปหารือกับ กทช. เพื่อให้ได้แนวทางในการปฏิบัติว่าข้อตกลงใดในสัญญาร่วมการงานเป็นการใช้อำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เป็นอำนาจของ กทช.

จากประเด็นดังกล่าวเขาเห็นว่าหาก กทช. ต้องการจะใช้บทบาทตามอำนาจที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือให้กิจการโทรคมนาคมในภาพรวมเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการเข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทหลายอย่างก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ โดยกลุ่มทรูกับทีโอที มีข้อพิพาทกันหลายเรื่องที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ อย่างเช่น 1. เรื่องค่าแอ็กเซสชาร์จ ที่ทรูฟ้องขอส่วนแบ่งจากทีโอที 2. กรณีบริการโทรศัพท์ราคาประหยัด วาย-เทล 1234 ซึ่งที่ผ่านมาทีโอทีสามารถให้บริการได้ แต่ทรูทำไม่ได้ 3. ในเรื่องการโยกย้ายเลขหมายหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่ซึ่งมีความต้องการมากกว่า ก็ไม่สามารถทำได้

"คำตัดสินครั้งนี้มีประโยชน์ต่อเอกชน ต่อผู้ใช้บริการ และต่อประชาชนด้วยและยังตอกย้ำ กทช. ถึงสิทธิอำนาจและบทบาทตัวเองด้วย"

นายศุภชัยกล่าวว่า หาก กทช. อ้างว่ากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคม ทำให้ไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างเต็มที่ และควรจะให้แผนแม่บทแล้วเสร็จก่อน เอกชนก็ตั้งความหวังว่าอยากให้แผนแม่บทเสร็จโดยเร็วเพราะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมมาก นอกจากนี้ในเรื่องอำนาจและบทบาทของ กทช. ยังจะทำให้การแปรสัญญาสัมปทาน เป็นเรื่องที่จะตามมาในอนาคต เนื่องจากนโยบายของรัฐ, การเกิดขึ้นของ กทช. ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคม

แต่ในขณะที่จุดยืนของทีโอทีที่ไม่ต้องการแปรสัญญาก็ถือเป็นจุดยืนที่ถูก ที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร ทำให้ใบอนุญาตที่ กทช. จะออกมาให้ทีโอที ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่จะออกให้ผู้ประกอบการรายอื่นนั้น หากไม่เกิดการแปรสัญญา ใบอนุญาตดังกล่าวก็จะเป็นลักษณะการขายช่วงให้ผู้ประกอบการรายอื่นให้บริการต่อไปได้ด้วย ซึ่งเหมือนเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ทั้งๆ ที่มี กทช. แล้ว และถ้าหากไม่แปรสัญญาใบอนุญาตที่ทรูจะได้รับก็จะต้องเป็นลักษณะเดียวกับทีโอทีคือสามารถให้เช่าช่วงเพื่อให้บริการต่อไปด้วย ทั้งด้านเลขหมายหรือคลื่นความถี่

"กรณีพิพาทกับทีโอที ทรูพร้อมประนีประนอมกับทีโอทีด้วยการถอยหลังกันมาคนละก้าวแต่สิ่งที่อยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นสิ่งที่บริษัทเห็นว่ามีความจำเป็นและยากที่จะเข้าใจตรงกันได้"

นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารกฎหมายทรู กล่าวว่า ที่ผ่านมาทรูก็มีการพิจารณาในเรื่องบทบาทกำกับดูแลของทีโอทีมาระยะหนึ่งว่าอันไหนทำได้ก็ต้องทำ เช่น การส่งส่วนแบ่งรายได้ ตามสัญญาร่วมการงาน แต่การกำกับอีกหลายรายการที่นอกเหนือบทบาทบริษัทก็จะไม่ให้ใช้อำนาจกำกับดูแล

ด้านนายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีกล่าวก่อนหน้านี้ถึงกรณีพิพาทกับเอกชน ว่าถือเป็นเรื่องธรรมดาขององค์กรใหญ่ที่มีหลายคู่สัญญา แต่นโยบายทีโอทีก็พยายามเคลียร์ให้หมด หรือให้เหลือน้อยที่สุด โดยใช้วิธีประนีประนอม อย่างกรณีที่กลุ่ม ทรู คอร์ปอเรชั่น ฟ้องทีโอที และทีโอทีฟ้องทรูมีประมาณ 16-17 คดี ซึ่งจะมีการเจรจากับนายศุภชัย เจียรวนนท์ โดยจะเน้นการเจรจาใน เชิงสร้างสรรค์ เช่น เรื่องไหนที่พอจะยอมกันได้ หรือถอนฟ้องได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.