|
ธ.กรุงไทยเร่งขยายสินเชื่อ "เอสเอ็มอี" มั่นใจทั้งปีทำได้ตามเป้า 3.9 หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(16 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กรุงไทยรับพิษ "สึนามิ" กระทบสินเชื่อเอสเอ็มอี เตรียมเร่งตัวปล่อยสินเชื่อ เน้นสินเชื่อประหยัดพลังงาน ทั้งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ จับมือพันธมิตร และปัดฝุ่นแท็กซี่เอื้ออาทร ผ่อนปรนเงื่อนไขไม่ระบุสเปก มั่นใจทั้งปีปล่อยได้ 3.9 หมื่นล้านบาท เผยยอดสินเชื่อ "สึนามิ" ปล่อยได้ 1.1 หมื่นล้านบาท ลดปัญหาหนี้เน่า
นายอนันตผล พันธุ์เพ็ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากปัญหาที่ต่อเนื่องจากสถานการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ และลูกค้าสินเชื่อส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อน่าจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 2/2548 โดยคาดว่าจะมีสินเชื่อใหม่ๆ เข้ามา ในขณะเดียวกันธนาคารพยายามจะนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในโครงการความช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 11,000 ล้านบาท โดยในส่วนดังกล่าวเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีจำนวน 7,000 ล้านบาท ซึ่งในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ยังไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เนื่องจากลูกค้ามีการเข้ามาปรับปรุงโครงสร้างและประนอมหนี้ทุกราย แต่ทั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารที่ลดลงเนื่องจากเป็นสินเชื่อมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ
โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 385,649 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2547 ที่จำนวน 317,719 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21% โดยธนาคารคาดว่าทั้งปีนี้ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีได้ตามเป้าหมาย 39,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะเริ่มที่โครงการสินเชื่อประหยัดพลังงาน เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลโดยธนาคารจะมีการเซ็นสัญญากับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในสัปดาห์หน้า และเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากลูกค้า
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนที่จะออกสินเชื่อที่รณรงค์ให้ใช้แก๊สโซฮอล์ โดยจะร่วมมือกับกองทุนนวัตกรรมแห่งชาติ ในขณะเดียวกันยังจะนำแนวคิดของแท็กซี่เอื้ออาทร กลับเข้ามาปรับปรุงใหม่ ซึ่งธนาคารจะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น ในเบื้องต้นยังคงเป็นแนวคิดที่ให้ใช้แก๊สเอ็นจีวี ซึ่งจะต้องเป็นรถใหม่และไม่จำกัดรุ่น และธนาคารจะนำแนวคิดดังกล่าวนำเสนอต่อผู้บริหารของธนาคาร
นายอนันตผลกล่าวเพิ่มเติมว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายมองว่าเกิดการชะลอตัวลงนั้น ธนาคารยังคงยืนยันที่จะรักษาเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อไว้ ซึ่งการที่เศรษฐกิจชะลอตัวไม่ได้เป็นอุปสรรคในการปล่อยสินเชื่อ แต่เป็นเพียงสัญญาณที่บ่งบอกว่า การดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตจะต้องมีความระมัดระวัง โดยดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นของกรุงไทย (KTBI) ในไตรมาส 1/2548 ยังคงส่งสัญญาณดีอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่ในขณะต้นทุนด้านอื่นๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีทิศทางที่จะขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสภาพคล่องยังคงล้นระบบอยู่ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงแสดงความมั่นใจ และมีมาตรการกระตุ้นต่อภาคเอกชนอยู่
นายอนันตผลกล่าวต่อว่าใน งานมหกรรมการเงิน 2005 (Money Expo) ธนาคารจะนำเสนอ โครงการ Exporter Club ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการส่งออก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการถึง 99% ที่มีศักยภาพในการส่งออกได้ แต่ยังติดปัญหาเรื่องเงินทุน ความรู้ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงได้รวบรวมองค์กรที่เกี่ยวข้อง กับการสนับสนุนกิจการส่งออก เพื่อ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการส่งออก ได้มีโอกาสนำสินค้าที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้นำเสนอสินเชื่อแสดงสินค้าต่างประเทศ (SMEs Roadshow) ซึ่งธนาคารจะอนุมัติวงเงินสูงสุด 500,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์บวกขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย หลังจากนั้นจะมีสินเชื่อต่อเนื่องคือ สินเชื่อเพื่อการส่งออกต่อเนื่องหลังจากการแสดงสินค้า ซึ่งเงื่อนไขในการขอสินเชื่อจะผ่อนปรนลง โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ -2
โครงการนี้ลูกค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์จากพันธมิตรหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ บริการโทร.ทางไกลต่างประเทศ และ Hi Speed Internet อัตราพิเศษ 500 บาทต่อเดือน การค้ำประกันการส่งออก บัตรเครดิต VISA Corporate Card และ Affinity Card ประกันชีวิตกลุ่มให้แก่ผู้ประกอบการ และสิทธิพิเศษจากกรมส่งเสริมการส่งออก พร้อมทั้งสมาคมผู้ค้าไทยระหว่างประเทศจะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการให้ข้อมูล
โดยเบื้องต้นจะมีการฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 10 ครั้งในปีนี้ ซึ่งธนาคารกรุงไทยจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และในปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสมัครเป็นสมาชิกจำนวน 200 ราย และธนาคารวางเป้าหมายว่าจะมีสมาชิกจำนวน 500 ราย และสามารถปล่อยสินเชื่อได้จำนวน 10,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|