|
นายกฯบี้เนวินเอาผิดซีพี หนุนส่งมอบยางไม่เกินก.ค.
ผู้จัดการรายวัน(16 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"นายกฯ" บี้ "เนวิน" เอาผิดซีพี หากพบต้นยางไร้คุณภาพและส่งมอบล่าช้า พร้อมให้แนวทางปีนี้เกษตรกรต้องเป็นคนเลือกต้นกล้าด้วยตัวเอง และให้ส่งมอบภายใน 31 ก.ค. ด้านนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ ตั้งคำถามอธิบดีกรมวิชาการฯ ทำไมปกป้องรับประกันผลงานซีพี แต่ไม่รักษาผลประโยชน์เกษตรกร เผยหากถูกฟ้องพร้อมสู้คดีเพื่อความจริงจะได้ปรากฏและพิสูจน์พลังชาวสวนยางทั่วประเทศจะยอมปล่อยให้แกนนำถูกกลั่นแกล้งหรือไม่
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวานนี้ (15 พ.ค.) ถึงความคืบหน้ากรณีปัญหากล้ายาง 1 ล้านไร่ ที่เป็นปัญหาต้นกล้าล้มตายลงเป็นจำนวนมากว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องนี้มาก เพราะเป็นโครงการที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์สูงสุดหากโครงการดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจึงได้สอบถามอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้เรียกตนและนายเนวิน ชิดชอบ ไปสอบถามและให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด โดยได้ให้แนวทางว่า หากพบว่าความบกพร่องเกิดจากต้นกล้ายางไม่ได้คุณภาพ และการส่งมอบล่าช้า ก็ให้เอาผิดกับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) อย่างถึงที่สุด
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องของระยะเวลาที่ตนได้ให้หลักการไปว่าภายใน 1 สัปดาห์ ต้องรายงานข้อเท็จจริงมายังตนนั้น เรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายเนวินไปดูแลตรวจสอบเรื่องนี้แล้วรอให้ครบกำหนดระยะเวลาก่อนจึงค่อยสอบถามไป แต่โดยหลักการที่ได้หารือกันและได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงเรื่องเงื่อนเวลาในการส่งมอบกล้ายางล็อต 2 ในปีนี้นั้น นายกฯเห็นด้วยที่จะส่งมอบเร็วขึ้นมา 1 เดือนคือให้ส่งมอบภายใน 31 ก.ค. เพื่อต้นกล้ายางจะไม่กระทบกับภาวะภัยแล้ง
"ท่านนายกฯ ย้ำว่า ในการส่งมอบกล้ายางครั้งต่อไป เกษตรกรจะต้องเป็นผู้ที่เลือกต้นกล้าด้วยตัวเอง โดยตั้งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมในการตรวจรับด้วยเพื่อความโปร่งใสและรัดกุม" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่มีเกษตรกรจำนวนมากซื้อต้นกล้ายางมาปลูกเองจึงอาจเป็นปัญหาในการหาเจ้าภาพรับผิดชอบต้นกล้ายางที่ตายลงว่า ในรายละเอียดต้องไปสอบถามจากนายเนวิน โดยตรงเพราะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในขณะนี้ และเชื่อว่าจะหาข้อสรุปได้ในไม่ช้า
พิสูจน์พลังม็อบ แกนนำเกษตรกรถูกรังแก
นายสมศักดิ์ พงศ์ภัณฑารักษ์ นายกสมาคม สหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าจะฟ้องร้องในเรื่องที่ตนเองออกมาให้ข้อมูลความเสียหายที่เกษตรกรได้รับจากโครงการปลูกยางพาราล้านไร่ ว่าพร้อมจะสู้คดีเพื่อจะได้พิสูจน์ความจริงกันในชั้นศาล จะได้รู้กันว่าอะไรเกิดขึ้น เชื่อว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่ร้องเรียนมายังสมาคมฯ พร้อมจะเป็นพยานมากมาย และจะได้รู้กันว่าถ้าหากผู้นำเกษตรกรออกมาพูดความจริงที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องประโยชน์ของเกษตรกรแล้วถูกรังแกแล้วพวกเขาจะนิ่งเฉยอยู่หรือไม่
"ผมไม่ได้ขู่ว่าจะมีม็อบ แต่การเคลื่อนไหวคราวนี้คงเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ ความจริงแล้วที่ผมพูดไปก็เป็นการติเพื่อก่อไม่ได้ใส่ร้าย และไม่ได้ต้องการทำลายใคร เรื่องนี้เราท้วงติงมานานเป็นปีๆ ไม่ได้เพิ่งออกมาพูดเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานี้"
อัดกรมฯ เอื้อซีพี ไม่ปกป้องเกษตกร
ส่วนประเด็นความเสียหายที่เกิดขึ้นและใครต้องรับผิดชอบนั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปดูสัญญาการว่าจ้างและช่วงเวลาส่งมอบรวมทั้งคุณภาพกล้ายาง เพราะตามหลักวิชาการแล้วการปลูกยางต้องปลูกต้นฤดูฝน แต่สัญญาว่าจ้างกลับให้ส่งมอบถึงเดือนส.ค. ที่สำคัญเมื่อหมดสัญญากรมวิชาการฯ ยังให้เอกชนส่งมอบต่อไปถึงเดือนก.ย. ทั้งที่ไม่มีฝนแล้ว เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามอธิบดีกรมวิชาการฯ ว่าทำไมถึงให้ส่งกล้ายางนอกสัญญาได้ เป็นการเอื้อเอกชน แถมยังออกมาปกป้องและรับประกันผลงานของซีพี แต่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกร
"การโบ้ยความผิดไปให้สำนักงานกองทุนสวนยางฯ ไม่ถูกต้องเพราะยางที่รับไปแจก มันล่าช้าหมดฤดูปลูกและไม่ได้คุณภาพ ผมอยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมรับพระราชกระแสของในหลวง และยึดถือผลประโยชน์ของเกษตรกร สังคมจะได้น่าอยู่กว่านี้" นายสมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ตามเอกสาร "หลักปฏิบัติการปลูกยาง โครงการปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ ระยะ ที่ 1" ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กระทรวงเกษตรฯ แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ระบุไว้ในหน้า 6 ข้อควรคำนึงในการปลูกยาง ข้อที่ 1 ว่า "ควรปลูกต้นฤดูฝนซึ่งมีความชุ่มชื้นเพียงพอ"
นอกจากนั้น สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ยังระบุว่า วิธีการปลูกยางให้ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เช่นเดียวกับเอกสารการปลูกยางพารา ที่เรียบเรียงโดย ชวลิต หุ่นแก้ว กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ระบุในข้อควรคำนึงสำหรับผู้เริ่มปลูกยางว่า ควรปลูกยางตั้งแต่ต้นฤดูฝน สำหรับผู้ที่ใช้ต้นตอตาปลูกควรปลูกให้เสร็จภายในเดือนพ.ค. แต่ถ้าใช้ยางชำถุงอาจยืดเวลาออกไปได้บ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ควรปลูกให้เสร็จภายในเดือนมิ.ย.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|