เสียงเพลง "ไม่อยากไปพันธุ์ทิพย์" กระหึ่มอยู่พักใหญ่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
ก็เริ่มขยายการกวาดจับเทปผี ซีดีเถื่อนไปในพื้นที่ใหม่ๆ มากขึ้น
"ต่อไปธุรกิจดนตรีจะเปลี่ยนจาก music marketing ไปที่ singing marketing
มากขึ้น" ไพบูลย์ ประเมิน
ความหมายของไพบูลย์ก็คือ การที่ตลาดจะเริ่มเปลี่ยนจากตลาดของผู้ฟังเพลง
ไปที่ตลาดของผู้ร้อง ซึ่งเป็นเรื่องของคาราโอเกะ ธุรกิจขาใหม่ ที่จีเอ็มเอ็ม
แกรมมี่ คาดว่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท
เดิมทีตลาดเพลงจะเป็นเรื่องของตลาดของผู้ฟัง คือซื้อเทปหรือซีดีเพลงไปฟัง
ต่อมาเมื่อธุรกิจคาราโอเกะเติบโตขึ้น มีร้านค้าที่เปิดร้านคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมขนาดใหญ่
หรือร้านอาหารตามซอย ก็มีตู้คาราโอเกะไว้ให้บริการ
นี่ก็คือ โอกาสที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มองเห็น แทนที่จะไปเก็บรายได้จากฝั่งของผู้ฟัง
ซึ่งก็มีปัญหาเรื่องเทปผีซีดีเถื่อน ก็เริ่มหันมาขยับขยายไปในฝั่งของ "ผู้ร้อง"
ที่เรียกว่า เป็น singing marketing
ธุรกิจบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องแสวงหาการลงทุนใหม่ๆ เสมอไป แต่ขยายขอบเขตเพิ่มเติมไปยังพื้นที่ใหม่ๆ
ก็มีโอกาสทำรายได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่สามารถใช้มาตรการตลาดเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงต้องทำเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การนำเอาลิขสิทธิ์เพลง
ซึ่งแต่เดิมเป็นของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มามอบหมายให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง
อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์เพลง ในการอนุมัติลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ให้กับร้านค้าคาราโอเกะที่มาเป็นคู่ค้า
และทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลร้านคาราโอเกะทั่วประเทศควบคู่กันไปด้วย
"เราจะมีหน้าที่ทำข้อตกลงกับร้านค้า ในการทำการค้าร่วมกัน เช่นว่า เขามีตู้เพลงกี่เครื่อง
เมื่อเขาจ่ายเงินค่าเผยแพร่ให้เราก็จะติดสติกเกอร์ เป็นคล้ายกับใบเสร็จ"
สุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทจีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง
อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บอกกับ "ผู้จัดการ"
อัตราค่าลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่คาราโอเกะ จะขึ้นอยู่กับรูปแบบของอุปกรณ์
หากเป็นห้องคอนโทรลรูม จะเก็บในอัตรา 300 บาทต่อจอต่อเดือน แต่หากเป็นตู้เพลงคาราโอเกะ
(จุ๊กบอกซ์) จะเก็บในอัตรา 200 บาทต่อจอ ต่อเดือน หากเป็นร้านอาหาร ภัตตาคาร
จะเก็บ 1,500 บาทต่อปี
สุวัฒน์บอกว่า อัตราค่าจัดเก็บมาจากการออกไปสำรวจ และศึกษาข้อมูลก่อนว่าควรจะเป็นอัตราใด
ส่วนบริษัทจี-พาแทนท์ ที่ตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
ได้ไปดึงเอา พ.ต.ท.กุลธน ประจวบ เหมาะ อดีตนายตำรวจ และส.ส.พรรคชาติพัฒนา
เป็นผู้ดูแล เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย
จึงต้องอาศัยผู้ที่อยู่ในวงการและมีเครือข่าย ประสบการณ์ของการเป็นตำรวจ
น่าจะช่วยเรื่องเหล่านี้ได้ดี
บทบาทของจี-พาแทนท์ จะทำหน้าที่ดูแลความถูกต้องของลิขสิทธิ์ มีหน้าที่หลัก
2 อย่าง คือ ปราบจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทุกชนิด ดูแลในเรื่องของกฎหมาย
ไม่ให้มีการผลิตซีดีเถื่อนและเผยแพร่คาราโอเกะเพลง ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์
ในส่วนของมาตรการทางด้านการตลาด จะมีบริษัท MGA ทำหน้าที่ในการจำหน่ายแผ่นคาราโอเกะไปให้กับร้านคาราโอเกะทั่วประเทศ
ซึ่งที่ผ่านมา MGA เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทปและซีดีอยู่แล้ว และได้เพิ่มแผนกในการขายแผ่นคาราโอเกะให้กับร้านค้าเหล่านี้อีกต่อหนึ่ง
งานนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ใช้มาตรการทางกฎหมายคู่กับมาตรการตลาด เริ่มตั้งแต่การหาข้อมูลร้านคาราโอเกะทั่วประเทศ
จากนั้นจะให้บริษัท MGA เป็นผู้จัดจำหน่ายแผ่นคาราโอเกะ
บริษัทจี-พาแทนท์ จะว่าจ้าง "ตัวแทน" ซึ่งมีอยู่ 100 กว่าคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแลไม่ให้มีการเผยแพร่ผิดกฎหมาย หากร้านคาราโอเกะมีการละเมิดลิขสิทธิ์
เผยแพร่โดยไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์จะดำเนินคดีทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้เมืองไทยจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่เรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย
"เราคิดอยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าปัญหาจะบานปลาย เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย
เป็นกระบวนการที่ต้องเรียนรู้"
เป้าหมายต่อไปของพวกเขา ก็คือ การเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่จากร้านอาหาร
ภัตตาคาร ดิสโก้ เธค ผับ โรงแรม สายการบิน ที่ใช้เพลงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
มาเป็นส่วนประกอบในการสร้างความบันเทิง เป็นตลาดใหม่อีกด้านหนึ่งที่จีเอ็มเอ็ม
แกรมมี่จะเริ่มขยับเข้าไป
"ตอนนี้เรามาดูว่า มาตรฐานราคาอยู่ตรงไหน เช่น ถ้าเป็นร้านอาหารจะคิดจากจำนวนโต๊ะ
เก้าอี้ ต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างผสมกัน ราคาก็ต้องยุติธรรมด้วย การค้าจึงจะเกิด"
สำหรับการเผยแพร่ในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เป็นเรื่องของอนาคตอีกยาวไกล เนื่องจากธุรกิจเพลงยังต้องพึ่งพา
"สื่อ" ในการโปรโมต
การขยับขยายมายังตลาด singing marketing เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของรายได้ในอีกทางหนึ่ง
ให้กับธุรกิจเพลง ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ที่ต้องประสบปัญหาเทปผี ซีดีเถื่อน
ซึ่งส่งผลกระทบในเรื่องรายได้จนต้องลดราคาลงมาสู้
การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์กับร้านคาราโอเกะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบกิจการเป็นหลักแหล่ง
ไม่เหมือนกับผู้ค้าเทปและซีดีเถื่อน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแผงเทป อยู่ไม่เป็นหลักแหล่งและหลบซ่อนได้ตลอดเวลา
การมุ่งไปที่การปราบปรามคาราโอเกะ น่าจะส่งผลได้เร็วกว่า
และนี่คืออีกบทบาทหนึ่งของการเป็น publisher และ recorder ที่จะต้องทำหน้าที่ในบริหารจัดการลิขสิทธิ์เพลง
ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของศิลปิน และนักร้องนักแต่งเพลง ให้เป็นทรัพย์สินที่มีราคาค่างวด
อย่างไรก็ตาม จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็อาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาต่างๆ
กับการผลักดันให้ผู้ใช้ของฟรี ต้องหันมาซื้อของถูกกฎหมาย เพราะแม้แต่ไมโครซอฟท์ก็ยังต้องใช้เวลาอยู่นาน