|
"เกษตร-ซีพี"ปัดสวะกล้ายาง โทษฟ้าฝน-คนปลูกไม่ใส่ใจ
ผู้จัดการรายวัน(12 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กรมวิชาการเกษตรการันตีตัวเอง ระบบตรวจสอบกล้ายางก่อนรับมอบจากซีพีมีคุณภาพ โบ้ยภัยแล้ง ความใส่ใจของเกษตรกร และการทำงานของ สกย. มีปัญหา ทำกล้ายางตายกว่า 25% ขณะที่ซีพีคู่ร่วมสัญญาโทษฟ้าฝน อ้างระบบชลประทานของประเทศมีปัญหา ย้ำปีนี้จะส่งมอบเกินกว่าที่สัญญากำหนด "สุดารัตน์" ตั้งคนกลางตรวจกล้ายางล็อต 2 สั่ง "เนวิน" หาเจ้าภาพรับผิดชอบให้ได้ หลังซีพี-อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยันโปร่งใสทุกขั้นตอน
วานนี้ (11 พ.ค.) นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายสุเมธ ภิญโญสนิท กรรมการผู้จัดการเขตประเทศไทย กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดแถลงข่าวชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับกล้ายางพาราตาม "โครงการขยายพื้นที่ปลูกยาง 1 ล้านไร่" ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร
นายฉกรรจ์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาทางซีพีได้ส่งมอบต้นตอตายางมา 29 ล้านต้น ทางกรมได้คัดออกไปเหลือต้นยางที่จะเอาไปชำถุงได้ 22 ล้านต้น นั่นคือคัดออกไป 7 ล้านต้น จากนั้นเมื่อซีพีเอาไปทำยางถุงแล้ว ทางกรมตรวจรับต้นยางชำถุงก่อนที่จะนำไปแจกให้เกษตรกร ประมาณ 15.45 ล้านต้น ในจำนวนนี้นำไปให้เกษตรกรปลูกจำนวน 2 หมื่นกว่าราย ในพื้นที่ 171,600 ไร่ จากเป้าหมายคือ 2 แสนไร่
ทางกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากแปลงของเกษตรกรจำนวน 18,488 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ค. พบว่า เกษตรกรปลูกยาง 11,748,443 ต้น มีต้นยางสมบูรณ์ 8,703,108 ต้น คิดเป็น 74.08% ของต้นยางที่ปลูกทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 3,045,335 ต้น หรือคิดเป็น 25.92% พบว่ากล้ายางตาย อันเกิดจากปัญหาภัยแล้งเป็นส่วนใหญ่ โดยต้นยางที่ปลูกในเดือน พ.ค. มิ.ย. ก.ค. และ ส.ค. ตายจำนวน 19.21% 14.93% 18.76% และ 24.17% ตามลำดับ
"ต้นยางไปกระทบแล้งตั้งแต่เดือนต.ค.-มี.ค. เกือบ 6 เดือน ถึงแม้จะปลูกในเดือนพ.ค. มันก็เจริญเติบโตไปจนถึงเดือน ต.ค. เมื่อมันกระทบแล้งมันก็ตาย อย่าว่าแต่ต้นยางที่มีอายุไม่ถึง 1 ปีเลย แม้จะเป็นไม้ผลอื่นๆ ถ้าไปกระทบแล้งในช่วงเดือน ต.ค. มันก็ตายเช่นกัน ฉะนั้นจำนวนกล้าที่ตายนั้น ถ้าไม่มีเรื่องของภัยแล้งมันจะตายไม่เกิน 10%" นายฉกรรจ์กล่าว
สำหรับสาเหตุการตายนั้นแยกออกเป็น 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ในเรื่องของความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคนิคการปลูกยางของเกษตรกร 2.เกิดจากคุณภาพของต้นยาง และ 3. เกิดจากปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยไม่มีใครห้ามได้ แต่โดยหลักการโดยทั่วไปกล้ายางไม่ควรตายมากกว่า 10% แต่การตายมากกว่า 26% เกิดจาก ปัญหาภัยแล้งเป็นส่วนใหญ่
"เกษตรกรที่เอากล้ายางไปพร้อมกันของบางคนก็ตายเยอะ ของบางคนก็ตายน้อย บางคนเขาเข้าไปรดน้ำ อย่างที่พิษณุโลกที่เข้าไปดู อีกแปลงหนึ่งเอาไป 800 ต้น ตาย 28 ต้น อีกแปลงเอาไป 800 ต้นเช่นกัน ตาย 300-400 ต้น มันอยู่ที่เกษตรกรให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหนด้วย" นายฉกรรจ์กล่าว
นายฉกรรจ์ กล่าวต่อว่า บทบาทของกรมวิชาการเกษตร สิ้นสุดที่การส่งมอบกล้ายางให้เกษตรกร ณ ศูนย์กระจายพันธุ์ แต่เมื่อยางออกจากศูนย์แล้ว บทบาทของการเข้าไปควบคุมกำกับในการปลูกยางหรือเรื่องเทคนิคการปลูกเป็นเรื่องของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ดังนั้นกรณีกล้าตายเป็นเรื่องของสกย.ที่จะต้องตอบปัญหาด้วยซ้ำ ไม่ใช่หน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร
"ผมถึงบอกว่าการปลูกต้นไม้ให้อยู่รอด 70-80% อยู่ที่การบำรุงรักษา ไม่ใช่อยู่ที่คุณภาพ ถ้าเตรียมต้นยางดี 100% แต่ถ้าเกษตรกรเอาไปปลูกไม่ถูกต้องมันก็มีโอกาสตายสูง เพราะฉะนั้นใครเป็น คนรับผิดชอบในการปลูกยาง ไม่ใช่กรมวิชาการเกษตร เพราะกรมมีหน้าที่ทำพันธุ์ดีออกไป การเอาต้นยางไปปลูก สกย. ต้องเป็นคนไปดูแลเกษตรกร เพราะเป็นหน้าที่ของสกย." นายฉกรรจ์ กล่าว
นายฉกรรจ์ ยังกล่าวถึงระบบการตรวจสอบคุณภาพของกล้ายางด้วยว่า ทางกรมได้มีคณะเข้าไปดูแลก่อนส่งมอบให้เกษตรกร 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการตรวจสอบพันธุ์ยาง เพื่อให้แน่ใจว่าพันธุ์ยางที่นำไปให้เกษตรกรนั้นเป็นพันธุ์ยางที่ถูกต้องเป็นไปตามที่กำหนด 2. คณะกรรมการตรวจสอบต้นยางชำถุง เพื่อตรวจสอบว่าทางบริษัทได้ทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ และ 3. การตรวจสอบประจำจุดกระจายพันธุ์ เพื่อเข้าไปตรวจสอบการผลิตต้นยางชำถุงให้เป็นไปตามสัญญาทีเขียนไว้
"การที่มีข่าวว่าคนของ สกย. ออกมาระบุว่า กล้ายางไม่มีคุณภาพนั้นผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ผมกับพี่ ผ่องเผ็ญ สัมมาพันธ์ (อดีต ผอ.สกย.) ไปวางแผนการส่งมอบยาง ถึงสำนักงาน สกย. ในพื้นที่ ถ้าเกิดยางไม่ดีตัวแทน สกย. ที่จุดจ่ายยางไม่ดีเซ็นมันทำไม และคนที่ไปบอกเกษตรกรมาเอากิ่งตายางคือ สกย. ไม่ใช่กรมวิชาการ" นายฉกรรจ์ กล่าว
สำหรับเรื่องของการชดเชยให้แก่เกษตรกร ทางกรมวิชาการเกษตรเสนอต่อรัฐมนตรี มี 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือยางที่ปลูกในช่วง 1 พ.ค.-31 ส.ค. ในส่วนนี้ต้องชดเชยเป็นต้นยาง โดยให้เกษตรกรซื้อขายเอง นั่นคือเป็นที่มาของ 33 ล้านบาท แต่การตัดสินใจจะช่วยเหลืออย่างไรนั้นเป็นหน้าที่ของทางกระทรวงฯ ที่จะต้องพิจารณา
ส่วนต้นยางที่ตายในช่วง 1-15 ก.ย. นั้น กรมจะไม่รับผิดชอบในส่วนนี้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาที่ระบุว่าหากการส่งมอบระหว่างวันที่ 1-15 ก.ย. ทางซีพีสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในความยินยอมหรือความสมัครใจของเกษตรกร ขณะเดียวกันหากเกิดความเสียหายใดๆ ในส่วนนี้ทางซีพีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด แต่ในส่วนที่ทางซีพีส่งมอบกล้ายางล่าช้านั้น จนถึงวันนี้ได้ปรับซีพีมาเป็นเงินประมาณ 1.4-1.5 ล้านบาทแล้ว
ซีพีโทษชลประทาน
ขณะที่ นายสุเมธ ภิญโญสนิท กรรมการผู้จัดการเขตประเทศไทย กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ซีพีเข้า มาทำโครงการนี้ ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำเรื่องยางมาก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางซีพีมีประสบการณ์ในเรื่องของการทำกิ่งพันธุ์ส้มปลอดโรคมาก่อน ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าการทำกล้ายางหลายเท่าตัว จึงมั่นใจว่าสามารถทำได้ก็มั่นใจว่าสามารถทำได้
"วันนี้คิดว่าเรื่องภัยแล้งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความสับสน เกษตรกรได้รับกิ่งพันธุ์ที่ดีไป ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เขาจะสามารถปลูกยางพันธุ์ดีนั้นให้รอดได้อีกจนถึงได้รับผลเก็บเกี่ยว เรื่องทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเกษตรกรจะไม่รายงานความเสียหายเข้ามา ถ้าระบบชลประทานของประเทศมันดี" นายสุเมธ กล่าว
สำหรับปัญหาที่ทำให้ส่งกล้ายางล่าช้าในปีที่ผ่านมานั้น มีสาเหตุมาจากช่วงที่จะเซ็นสัญญามันเกิดปัญหาทำให้ล่าช้าออกไปประมาณ 4 เดือน การเตรียมการจึงยังไม่ดีพอ อีกอย่างเมื่อยังไม่เซ็นสัญญาทางภาคเอกชนก็ไม่มั่นใจ ไม่กล้าเตรียมพันธุ์ไว้ก่อน เพราะหากเตรียมไว้แล้วไม่ได้ทำก็จะเสียหาย
"เราเองก็ไม่กล้าทำไว้ก่อน เพราะถ้าทำไว้ก่อน 5 เดือน เป็นยาง 3 ฉัตร เราก็ส่งมอบไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเซ็นสัญญาในวันที่ 17 พ.ย.46 เราก็เริ่มทำกล้ายางเลย ฉะนั้นจาก17 พ.ย. ไปส่งมอบ พ.ค. 48 มันก็มีเวลาเจริญเติบโตพอ แต่ที่เป็นปัญหาเพราะเริ่มช้า
เจตนารมณ์ก็ไม่อยากให้ล่าช้า แต่ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีก็ทำให้มันต้องช้าออกไป" นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า การเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางฉบับมีคลาดเคลื่อนอย่างร้ายแรงในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โครงการขนาด 90 ล้านต้น หรือ 1 ล้านไร่ ใน 3 ปีนี้ ต้องมีแปลงกิ่งตา 200 ไร่
"ผมคิดว่าเราเตรียมเกินคือประมาณ 326 ไร่ อย่างเรื่องกล้าที่ จ.กำแพงเพชร มันเป็นความบังเอิญ และไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอะไร จริงๆแล้ว เป็นแปลงที่ทางกรมคืนต้น ที่ไม่ผ่านไปแล้ว ก็นำกลับไปดูแลและขายออกไปเป็นกล้าค้างปี"
สำหรับการแก้ไขปัญหาในปีต่อไปนั้น นายสุเมธกล่าวว่า มั่นใจที่ปีนี้จะทำได้ดีไม่มีปัญหา เพราะปีนี้มีเวลาประกอบกับมีความพร้อมทั้งเรื่องแปลง ความรู้และกำลังคน จะทำได้ตามเป้าหรือดีกว่าด้วย แต่ถ้าเกิดเรื่องปัญหาภัยแล้ง ถ้าออกไปนอกแปลงกล้าแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลืออะไรได้ แต่ในแปลงกล้าส่งมอบ เราใช้ระบบชลประทาน 100%
อย่างไรก็ตาม การส่งมอบในปี 2548 ตามกำหนดการเดิม ซีพีจะต้องส่งในต้นเดือน พ.ค. แต่จนถึงตอนนี้ ทางกรมวิชาการเกษตรเลื่อนออกไปและรอประชุมร่วมกับนายเนวิน ชิดชอบ รมช. เกษตรฯวันศุกร์นี้ แต่วันที่ 31 พ.ค.นี้ ทางซีพีจะต้อง ส่งแน่นอน 5 ล้านต้น และปี 48 นี้ ทางกรมให้ทางซีพีเพิ่มจุดจ่ายยางเป็น 107 จุด จาก 40 จุด และกรมก็เอาคนเข้าไปประจำจุด 107 คน เพื่อเข้าไปเช็กต้นยางให้ออกมาตามปกติ
ตั้งคนกลางตรวจกล้าล็อต 2
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหากล้ายางล้านไร่ที่ล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังปัดความรับผิดชอบกันว่า ตนได้ให้หลักการไปกับนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ว่าให้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงและสรุปโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการส่งมอบกล้ายางล็อต 2 จำนวน 300 ล้านต้นให้แก่เกษตรกร โดยยึดตามระเบียบสำนักนายกฯอย่างเคร่งครัด โดยกล้ายางที่ถึงมือเกษตรกรจะต้องเป็นไปตามคุณภาพที่ได้ลงนามในสัญญาไว้
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงกรณี บริษัทซีพีและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่ากระบวนการทุกขั้นตอนโปร่งใส ส่วนกล้ายางที่ตายลงต้องไปถาม สกย.เองว่าเป็นเพราะสาเหตุใดว่า กระบวนการตรวจสอบมีอยู่แล้วสามารถระบุชัดลงไปได้ว่าใครผิดในขั้นตอนไหน ยืนยันว่าปัญหาครั้งนี้ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบแน่นอน เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการตั้งคนนอกเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ รมว.เกษตรฯ ก็ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ต้องรอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนที่จะตัดสินว่าใครผิดหรือต้องตั้งใครเข้ามาตรวจสอบใหม่
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวด้วยว่า ในการตรวจรับกล้ายางในล็อต 2 จะตั้งนักวิชาการจากหน่วยงานกลาง ซึ่งอาจเป็นมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่น รวมทั้งเกษตรกรซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงร่วมตรวจสอบด้วย เชื่อว่าจะทำให้การตรวจรับมีประสิทธิภาพโปร่งใส ซึ่งตนได้มอบหมาย ให้นายเนวินไปจัดหามาแล้ว ส่วนความคืบหน้า จะหารือกันอีกครั้งว่าจะมีการเรียกประชุมกันวันไหน อย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|