เปิดโลกสีน้ำกับสมใจ ไรส์


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่บ่อยครั้งนักหรอก ที่ สมใจ ไรส์ ศิลปินสีน้ำคนนี้ จะมีอารมณ์อยากสอนคนอื่นวาดภาพ แต่เมื่อเธอทำลูกศิษย์ทุกคนของเธอ ก็สามารถก้าวไปสู่โลกของศิลปะอย่างมีความสุข

บ่ายวันนั้น ในห้อง รีเจนซี่ ชั้นล่างของโรงแรมโอเรียนเต็ล คนกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คนขึ้นไป อายุตั้งแต่ 20 ปีกว่าๆ ไปจนถึง 30-40 ปี เป็นทั้งนักธุรกิจนักท่องเที่ยว และแม่บ้าน รวมทั้งท่านทูตจากประเทศมาเลเซีย กำลังล้อมวงวิจารณ์งานสีน้ำฝีมือของพวกเขากันเองอย่างเอาจริงเอาจังแต่แฝงไปด้วยความสนุกสนาน "คุณทำได้อย่างไรนี่" "ผสมสีอะไรกับอะไรแน่" สลับกับคำพูด ที่ว่า "เยี่ยมจริงๆ" เป็นระยะๆ

จนกระทั่งผู้หญิงคนหนึ่งรูปร่างสูงเพรียวแต่งกาย ที่แสดงความเป็นอาร์ติสเต็มที่ ก้าวฉับๆ เข้ามาในห้อง เธอวางกระเป๋าลง เอ่ยคำทักทายอย่างร่าเริง พร้อมตบมือ แล้ว พูดดังๆ ด้วยภาษาอังกฤษให้ทุกคนเอาการบ้านมาวางไว้บนโต๊ะ และต่อจากนั้น ชั่วโมงเรียนศิลปะ ที่สอนโดยศิลปิน สีน้ำชื่อดัง สมใจ ไรส์ ก็เริ่มขึ้น

สมใจ ไรส์เป็นศิลปินไทยร่วมสมัยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากผลงานจิตรกรรมสีน้ำแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ เป็นคนชอบวาดรูปตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ 7-8 ขวบ แต่ก็เหมือนครอบครัวคนไทยทั่วไป ที่จะไม่ส่งเสริมให้เด็กผู้หญิง เป็นศิลปิน ต่อมาด้วยใจรักเมื่อโตขึ้นเธอได้ชอบวาดภาพด้วยสีน้ำมัน และศึกษาทฤษฎีของศิลปะในโลกของสีน้ำมันอย่างจริงจัง แต่แล้วก็พบว่าสีน้ำเหมาะกับเธอมากกว่าเลยหันมาสนใจทางด้านนี้นานกว่า 20 ปี

ผลงานจัดนิทรรศการสีน้ำครั้งแรกของเธอเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ ที่ผ่านมาได้จัดแสดงภาพวาดไปแล้ว กว่า 600 ภาพงานของเธออาจจะหาดูไม่ได้ง่ายนักเพราะไม่ค่อยมีปรากฏตามแกลลอรี่ต่างๆ นอกจากนานๆ ครั้งจะจัดแสดงนิทรรศการขึ้น ครั้งล่าสุดจัดไปเมื่อปี 2542 และมีหนังสือเล่มหนึ่งของสมใจ ที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก คือ MY BELOVED THAILAND The Watercolour Painting of Somjai reiss โดยรวบรวมภาพวาดสีน้ำ ที่แสดงทัศนียภาพอันหลากหลายทุกภูมิภาคของเมืองไทย

การสอนสีน้ำในโรงแรมโอเรียน เต็ล ที่เกิดขึ้นได้เพราะสมใจ กับดร.ปาริ ชาติ สุขสงเคราะห์ อดีต ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงแรมในขณะนั้น ได้มีความเห็นตรงกันว่า ที่ผ่านมาโรงแรมนี้จะมีเพียงคอร์สพิเศษสอนอาหารไทย เท่านั้น หากมีการสอนสีน้ำก็จะเป็นเรื่องทันสมัย ที่เกิดขึ้น และเป็นการทำให้คนต่างชาติ ที่มาเที่ยวในเมืองไทยเพิ่มความประทับใจในภาพของบ้านเมืองเพราะสามารถสอนในเรื่องของวัดวาอาราม ชนบทไทย ความเป็นอยู่แบบไทยๆ ให้เขาได้ และ ที่สำคัญเธอบอกว่าเพราะเธอมีอารมณ์อยาก ที่จะสอน อยากจะแบ่งปันความสุข ที่ได้จากโลกของศิลปะให้กับผู้อื่นบ้าง

"การที่ได้กระตุ้นคนในเรื่องการรักในเรื่องสีน้ำ ในเรื่องศิลปะ ให้มีความมั่นใจ ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีงาม ช่วยให้เขาผ่านจุดนี้เข้ามามีความมั่นใจ และรักในศิลปะมากขึ้น เมื่อผ่านจุดนี้ได้อย่างอื่นก็สบายแล้ว ทฤษฎีเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อใจรักได้แล้วมันก็มีความมุ่งมั่นตามมาเอง เราเองก็เป็นศิลปิน เราให้อะไร ที่นอกเหนือจากทฤษฎี คือ พลังในการรักศิลปะ ในการที่จะเป็นอิสระทางความคิด ซึ่งถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ ศิลปะ ก็จะหลากหลาย" สมใจอธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟังเพิ่มเติม ด้วยท่าทีสบายๆ และเป็น กันเอง

สมใจ ไรส์ ได้เปรียบตรง ที่เธอสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ภาษาจีนแต้จิ๋วได้อย่างคล่องแคล่ว นักเรียนของเธอจึงสามารถมีได้หลายชาติหลายภาษา โดยใช้เวลาเรียนทั้งหมด 1 เดือน เดือนละ 4 ครั้ง เฉพาะวันเสาร์ครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 7,000 บาทต่อคน รวมค่าอุปกรณ์ทั้งหมด และค่าอาหารว่างอีก 1 มื้อ ซึ่งทางโรงแรมเตรียมไว้บริการ

น่าจะเป็นชั่วโมงเรียน ที่สนุกสนาน แม้ว่าวันแรกๆ ทุกคนจะกลัว และเกร็งกันบ้าง เพราะบางคนไม่เคยเรียนมาก่อนเลย มีเพียงใจรักเป็นพื้นฐานอย่างเดียว ที่สำคัญเท่านั้น โชคดีของพวกเขา ที่บังเอิญอาจารย์คนนี้เป็นคนมีอารมณ์สนุกสนาน พูดจาตรงไปตรงมา และมีจิตวิทยาในการสอนอย่างมากทีเดียว การสอนไปด้วยร้องเพลงไปด้วยนั้น ทำให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลายไปได้มากทีเดียว

ชั่วโมงแรกของการเรียนเริ่มต้นโดยอาจารย์ให้นักเรียนมีความรู้สึกคุ้นเคยกับกระดาษ ให้รู้จักกับธรรมชาติของน้ำ อธิบายว่ากระดาษเปียกน้ำแล้วจะโป่งอย่างไร ทำอย่างไร ที่จะคอนโทรลได้ ธรรมชาติของน้ำ มันต้องไหลจากบนมาล่าง การมีกระดาน รองกระดาษจะช่วยได้อย่างไร และสอนแม้กระทั่งในเรื่องของการหัดขึงกระดาษ โดยมีการบอกเสมอว่าเรื่องนี้ให้ผู้เรียนทุกคนทำเอง ห้ามใช้คนใช้ทำ ท่านทูตมาเลเซีย นักเรียนคนหนึ่งเคยถูกเธอย้ำในเรื่องนี้มาแล้ว

"เราต้องให้ความมั่นใจเขาว่า สีน้ำมันไม่ใช่เรื่อง ที่ยากจนเกินไป ก่อน ที่จะสอน ทฤษฎีก็จะว่า เวลาเราหยิบพู่กันขึ้นมาอย่าคิดนะว่าเราจะวาดแต่รูปสวยๆ เพื่อ ที่จะเอาไปอวดภรรยา หรือสามีสุด ที่รัก แต่อย่างแรกเลยนะ คุณต้องเห็นแก่ตัวลืมคนอื่น ทำทุกอย่างให้เราสนุก ใช้พู่กันเป็นสื่อ และเอ็นจอยกับสีน้ำให้มากที่สุด ถ้าคิดอย่างนี้ได้ ก็จะมีความสุข และงานคุณเองก็จะสวยเพราะว่าเรารู้วิธี รู้ว่าเราต้องการอะไร ชอบอะไร วาดสีน้ำ คุณต้องสบายๆ อาจจะถอดรองเท้าวาด อาจจะดูหนังฟังเพลงทำใจให้สบายๆ แล้วรูปจะออกมานุ่มนะ"

ภาพของสมใจ จะเป็นที่ยอมรับกันว่า หากเป็นภาพวัดก็จะดูอบอุ่น สงบ หากเป็นภาพของตลาด จะรู้สึกถึงความจ๊อกแจ๊กจอแจแบบไทยๆ ถ้าเป็นพระอาทิตย์ ก็จะใช้สีหวานๆ สวยซึ้งๆ เทคนิคการให้สีของเธอคือ จุดเด่นอย่างหนึ่งเช่นกัน

ในครั้งแรกจะให้วาดกุหลาบ ซึ่งเป็นดอกไม้ ที่ทุกคนรู้จัก ใส่แจกันรูปทรงยาวๆ ใส่ใบสีเขียวๆ เป็นสามเหลี่ยมเข้าไป ต่อจากนั้น ก็สอนเรื่องของแห้งกับเปียกต่างกันอย่างไร วาดทิวทัศน์ ท้องฟ้า ทะเล และมีภูเขา ครั้ง ที่ 3 ก็จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นมา มีบ้านไทยมีต้นไม้ อะไรเล็กๆ น้อยๆเพิ่มเข้าไป ชั่วโมงสุดท้ายจะยากเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้คือ ต้นแบบ ที่นักเรียนเองสามารถเอาไปใช้กับการวาดรูปต่างๆ ได้อีกมากมาย

นอกจากใจรักแล้ว สมใจยังบอกว่า คนเรียนสีน้ำ ต้องมีวินัย มีการวางแผน ใจเย็น และต้องอดทน เพราะภาพ ที่ออกมาจะต้องนุ่ม ต้องใส มองเห็นกระดาษหาก ใจร้อนป้ายสีหนักไปบางครั้งการแก้ไข ก็เป็นเรื่องยากไม่เหมือนสีน้ำมัน ที่อาจจะขูดออกรอแก้ครั้งต่อไปได้ และ ที่สำคัญต้องขยันในการฝึกปรือฝีมือ

แม้จะคอยบอกให้นักเรียนใจเย็น แต่สำหรับเธอเอง เป็นคนที่ใจร้อนมากบางครั้งวาดทีเดียวพร้อมกัน 3 กระดาน เลย ซึ่งเป็นเพราะไม่อยากนั่งรอสีแห้ง วาดกระดานแรกท้องฟ้า สียังไม่แห้งต่อกระดาน ที่ 2 เลย ด้วยอารมณ์ ที่ต่อเนื่อง เธอเคยวาดดอกไม้แบบเดียวกัน วาดพร้อมๆ กันเลย 3 กระดาน ดังนั้น การที่ ตาก็ต้องไว ความคล่องตัวต้องมีสูง และ แม้ไม่ได้วาดรูปฝากขายตามแกลลอรี่เหมือนศิลปินท่านอื่นๆ แต่สมใจฝึกมือทุกวัน เธอเล่าว่าทุกวันเธอจะต้องวาดรูป จะต้องเล่นกับสีน้ำ และวาดได้ทุกช่วงเวลา

เมื่อผลงานภาพวาดของนักเรียน ออกมาแต่ละครั้ง เธอจะให้โอกาสทุกคน ได้บรรยายถึงจินตนาการต่างๆ ในภาพนั้น ๆ โดยมี เพื่อนร่วมห้องอื่นๆ ช่วยกันวิจารณ์ เธอแนะนำเทคนิคในการอธิบายภาพให้คนอื่นๆ ดูว่า

"อย่างแรกเลย อย่าเริ่มด้วยการบอก เพื่อนๆ ว่าภาพฉันสวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี เพราะไอ้คนฟังก็ดูไม่ออกอยู่แล้วก็เลยคิดตามไปเลยว่า เออ...ใช่ทุเรศน่าดู อย่าลืมว่าศิลปะไม่มีความถูกหรือผิด สวยหรือไม่สวย มีแค่ว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น อย่าไปยึดอะไรกันมากมาย ศิลปะจะไม่แตกฉาน คนที่จะเป็นศิลปะจะต้องมีการสร้างสรรค์ จะต้องมีอะไรเป็นตัวของตัวเอง ถ้าพี่มีแรงมีสังขารได้นานขึ้นกว่านี้ พี่อยากมองเห็นศิลปะของบ้านเราฉีกขาดไปเลย ไม่เหมือนของใครในโลก"

นักเรียนรุ่นแรก ที่โอเรียนเต็ล ปิดคอร์สไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม และจะมีชั้นเรียนใหม่อีกหรือไม่นั้น เธอเล่าให้ฟังอย่างค่อนข้างอึดอัดใจว่า

"ยังไม่รู้เหมือนกันว่า จะสอนอีกหรือเปล่า เพราะโดนวิจารณ์มากเหมือนกัน พอเขาเห็นว่าเราสอน ที่โอเรียนเต็ล 1 เดือน เดือนละ 7 พันบาท เรียน 4 ครั้ง ถ้าคน 20 คน ก็บวกลบคูณหารเข้าไปสิ เขามองว่าเราเป็นประเภทศิลปินไฮโซ เราเกลียดที่สุดเลยคำนี้ เราสอนปีละครั้งเท่านั้น เราสอนเพราะเราต้องการให้นะ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.