|
ศาลปกครองพิพากษาทีโอทีหมดสิทธิกำกับทีทีแอนด์ที
ผู้จัดการรายวัน(11 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีทีแอนด์ทีเฮ ศาลปกครองพิพากษาทีโอทีหมดสิทธิใช้อำนาจกำกับดูแล เหตุแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้ว ชี้อำนาจควบคุมการดำเนินกิจการเป็นของ กทช. ด้านทีโอทีเตรียมอุทธรณ์ หลังเห็นว่า กทช.มีอำนาจในการกำกับอุตสาหกรรมทั้งหมดแต่ไม่สามารถแทรกแซงสัญญาที่เกิดจาก 2 ฝ่ายได้
เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระงับการใช้อำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ในส่วนที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กทช.) ในกรณีบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด มหาชน ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุน
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากทีทีแอนด์ทีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า บริษัท ทศทฯ ที่จัดตั้งโดยการแปลงทุนขององค์การโทรศัพท์เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ และเข้าไปควบคุมการดำเนินงานของทีทีแอนด์ทีตามสัญญาการร่วมงาน และร่วมลงทุนทั้งที่อำนาจดังกล่าวควรจะเป็นของกระทรวงคมนาคมเมื่อสถานภาพขององค์การโทรศัพท์เปลี่ยนแปลงไปตามข้อ 37 ของสัญญาร่วมงาน และร่วมลงทุน เป็นเหตุให้ทีทีแอนด์ทีได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้โอนอำนาจหน้าที่ของบริษัท ทศท ไปเป็นของกระทรวงคมนาคม ตามข้อกำหนดในสัญญาและสั่งให้ ทศท ระงับการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งขัดกับข้อ 37 ในสัญญา
ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าอำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมได้มีการโอนไปเป็นของ กทช.โดยผลของกฎหมายแล้วประกอบกับได้มีการแต่งตั้ง กทช.ก่อนที่ศาลจะมาพิพากษาคดีนี้ ทีทีแอนด์ทีในฐานะที่ได้รับอนุญาตจาก ทศท ก่อนวันที่จะมีพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมใช้บังคับ จึงมีสิทธิประกอบกิจการโทรคมนาคมตามขอบเขตและสิทธิที่มีอยู่เดิมจนกว่าการอนุญาตจะสิ้นสุดลง ซึ่งการประกอบกิจการโทรคมนาคมของทีทีแอนด์ทีจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทช. ตามมาตรา 51 ประกอบมาตรา 78 วรรค 4 ของ พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่
ศาลจึงไม่มีความจำเป็นต้องออกคำบังคับให้ ทศท โอนอำนาจการกำกับดูแลดังกล่าวไปเป็น กทช.อีก และเมื่ออำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของ ทศท ได้โอนมาเป็นของกทช. โดยผลของกฎหมายแล้วเป็นผลให้ข้อตกลงใดในสัญญาร่วมการงานที่เป็นอำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของกทช. ข้อตกลงนั้นไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาอีกต่อไป
ทั้งนี้หลังจากที่ศาลได้พิพากษาถือเป็นอันสิ้นสุดในศาลปกครองกลางและคู่กรณีสามารถที่จะอุทธรณ์ได้ในศาลปกครองสูงสุด
นายปริญญา วิเศษสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่า ทีโอทีจะทำหนังสือขอให้ศาลชี้แจงคำพิพากษานี้ เพราะจะทำให้เกิดความคลุมเครือต่อสัญญาร่วมการงานที่ต้องตีความในอนาคต เนื่องจากในความเป็นจริงน่าจะระบุถึงบทบาทกำกับดูแลภายใต้สัญญาร่วมการงานเป็นหลัก ไม่ใช่ตีความว่าอำนาจกำกับดูแลอยู่ที่ใคร
"การกำกับดูแลตามสัญญาร่วมการงานเช่นการเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของทีทีแอนด์ทีปีละครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการร้องเรียนว่าทีทีแอนด์ทีเก็บค่าบริการสูงกว่าการใช้งาน"
คำพิพากษานี้ถือเป็นการตัดสินแบบไม่ตรงกับคำกล่าวฟ้องของทีทีแอนด์ทีและอาจนำไปสู่การตีความที่จะตามมาอีกมากมาย หากคู่กรณีมีความเห็นไม่ตรงกันในอนาคต เพราะการที่ศาลระบุว่าให้ทีโอทีระงับอำนาจกำกับดูแลที่เป็นของ กทช. นั้นในความเป็นจริงน่าจะพิจารณาในขอบเขตของสัญญามากกว่าเพราะในความเป็นจริงกทช. มีอำนาจในการกำกับอุตสาหกรรมทั้งหมดแต่ไม่สามารถแทรกแซงสัญญาที่เกิดจาก 2 ฝ่ายได้ ซึ่งทีโอทีเห็นว่าคำพิพากษากว้างไป และคดีนี้ต้องอุทธรณ์แน่นอน
ก่อนหน้านี้ "ตุลาการผู้แถลงคดี" ได้อ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่า "ยกฟ้อง" โดยเนื้อหาของตุลาการผู้แถลงคดีอ้างอิงถึงพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก ซึ่งเป็นกฎหมายที่รองรับการเปลี่ยนสถานะกิจการของรัฐวิสาหกิจและมีเรื่องโครงสร้างการถือหุ้น ที่สามารถยึดถือได้ว่าองค์กรทีโอทียังไม่ได้เปลี่ยนสถานะไป ซึ่งทำให้คำพิพากษาถือว่าพลิกความคาดหมาย เพราะที่ผ่านมาศาลมักพิพากษาในทางเดียวกับตุลาการผู้แถลงคดี
ด้านทีทีแอนด์ที เตรียมที่จะพิจารณาสัญญาร่วมการงานข้อต่างๆว่ารายการใดที่อยู่หรือไม่อยู่ในขอบข่ายที่ทีโอทีจะกำกับดูแลได้
นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารกฎหมาย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่าผลพิพากษาออกมาแบบนี้ถือว่าถูกต้องในสายตาของกลุ่มทรูแล้วและกลุ่มทรูก็มีการพิจารณาในเรื่องบทบาทกำกับดูแลของทีโอทีมาระยะหนึ่งว่าอันไหนทำได้ก็ต้องทำเช่นการส่งส่วนแบ่งรายได้ ตามสัญญาร่วมการงานหรือการแบ่งส่วนทำธุรกิจแต่การกำกับอีกหลายรายการที่นอกเหนือบทบาทบริษัทก็จะไม่ให้ใช้อำนาจกำกับดูแล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|