|

จ่าย2พันล้านขึ้นเงินเดือนกฟผ.
ผู้จัดการรายวัน(11 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ทักษิณ" ลั่นแปรรูป กฟผ.พนักงานส่วนใหญ่เห็นชอบไร้ปัญหา ดันเข้าตลาดหุ้นได้ในไตรมาส 3 ครม.ผ่านฉลุย กำหนดทุนจดทะเบียน 6 หมื่นล้านบาท "วิเศษ" คาดใช้เวลา อีก 3-4 เดือน ก่อนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช้าสุดไม่น่าเกินเดือน พ.ย.นี้ โดยขายหุ้นให้ต่างชาติไม่เกิน 5% ของทุนจดทะเบียน ด้านพนักงาน กฟผ.ได้เฮ ครม.อนุมัติปรับขึ้นเงินเดือนย้อนหลัง 1 ปี ควักเงิน 2,000 ล้านบาท โดยขยับขึ้นเงินเดือนระดับ ผอ.ฝ่ายขึ้นไป 8% หากพนักงานต่ำกว่านี้ได้ 15% ด้านสหภาพฯโต้ถูกรัฐบีบทุกทางจำยอมแปรรูป ยันจะค้านให้ถึงที่สุด
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแปรรูปของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ผู้ว่าฯกฟผ.และกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ส่วนที่ยังมีพนักงานบางส่วนยังไม่เข้าใจนั้นมีจำนวนไม่มากและได้มีการพยายามชี้แจงแล้ว คาดว่าจะมีการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ครม.ได้พิจารณาและเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ (กนท.) ที่เสนอให้แปลงทุนเป็นทุนเรือนหุ้นของกฟผ. เป็น บมจ.กฟผ. มีทุนจดทะเบียนจำนวน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นจำนวน 6,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท
โดยวันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบมจ.กฟผ. โดยกฟผ.จะต้องโอนสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวน 21 แห่ง รวมถึงที่ดินที่ตั้งอยู่ในบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำและหัวงานซึ่งมีมูลค่า 23,605 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการคลัง เพื่อที่จะไม่ต้องมีการแปรรูปเขื่อนและอ่างเก็บน้ำตามที่มีการท้วงติงกันก่อนหน้านี้
สำหรับแผนการกระจายหุ้นของบมจ.กฟผ. จะดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2547 ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายหุ้นให้แก่นักลงทุนในประเทศทั่วไป และนักลงทุนสถาบันก่อน โดยภาครัฐจะยังคงถือหุ้นในบมจ.กฟผ.ไม่น้อยกว่า 75% ของหุ้นทั้งหมด ทั้งนี้ยังได้กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างชาติห้ามเกิน 5% ด้วย เพื่อป้องกันการเข้ามาถือครองและครอบครองกิจการไฟฟ้าของไทย
โดยขั้นตอนจากนี้ไป เมื่อครม.อนุมัติในหลักการแล้ว จะมีการนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบมจ.กฟผ. พ.ศ. .... ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็จะดำเนินการจัดตั้งบริษัทได้เลย โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ในการจัดเตรียมเอกสาร ทำบัญชี โรดโชว์ รวมถึงการกำหนดราคาหุ้น IPO การจำหน่าย และการกระจายหุ้น
"ยืนยันว่าจะไม่มีหุ้นอุปการคุณเด็ดขาด และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในปีนี้ ส่วนจะทันกำหนดเดิมในเดือนต.ค.หรือไม่ ยังบอกไม่ได้ แต่ถ้าตามระยะเวลาดำเนินการที่กำหนด 3-4 เดือน มีโอกาสที่จะเข้าไปซื้อขายได้ถึงเดือนพ.ย.ด้วยซ้ำ" นายวิเศษกล่าว
นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานกฟผ. โดยระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป (ระดับ 12-14) ให้ขึ้นเงินเดือน 8% ส่วนระดับต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่ายลงมา (ระดับ 11) ให้ขึ้นเงินเดือน 15% โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2547 ซึ่งพนักงานจะได้รับเงินเดือนทันทีหลังจากที่มีการจัดตั้งเป็นบมจ.กฟผ.แล้ว ซึ่งเป็น การปรับเงินเดือนตามการไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งก่อนหน้านี้ที่ได้ปรับขึ้นเงินเดือนไป โดยการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้จะใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาท นายวิเศษกล่าวว่า การจัดตั้งบมจ.กฟผ. ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการผลิตไฟฟ้าเพื่อรับโอนอำนาจของกฟผ.ในเรื่องที่เกี่ยวกับการประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้า การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และการบริหารจัดกรน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมาเป็นของคณะกรรมการฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นตามร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบมจ.กฟผ. พ.ศ.... เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการแข่งขันกับเอกชนรายอื่นที่จะถูกมองว่าไม่เป็นธรรม
ส่วนในด้านการกำกับดูแลของภาครัฐ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด โดยกระทรวงพลังงานจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล กิจการไฟฟ้า เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงาน การกำหนดอัตราค่าบริการ การวางมาตรการคุ้มครอง ผู้บริโภค รวมถึงการส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดในทางมิชอบ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน (Interim Regulator) ก่อนที่กฎหมายประกอบกิจการไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการยกร่างจะมีผลบังคับใช้
"พนักงานกฟผ.จะได้รับเงินเดือนค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม และให้ถือว่าเวลาการทำงานของพนักงานดังกล่าวในกฟผ. เป็นเวลาทำงานในบมจ.กฟผ.และให้นับอายุงานต่อเนื่อง" นายวิเศษกล่าว
ทั้งนี้ การแปรรูปกฟผ.ไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นค่าไฟฟ้า เพราะค่าไฟฟ้าจะมีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าเข้ามาดูแล และนโยบายของรัฐบาลก็ชัดเจนจะไม่ขึ้นค่าไฟฟ้าโดยใช้เหตุผลจากการแปรรูป แต่การแปรรูปเพื่อให้กฟผ.มีเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการขยายกิจการ เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้า กฟผ.มีแผนที่จะลงทุนสูงถึง 2 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าสงขลา พระนครใต้ พระนครเหนือ และบางประกง รวมถึงระบบสายส่ง
นายศิริชัยไม้งามส ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีเพียงมติ ครม.ออกมาให้มีการกระจายหุ้นเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถเข้ามาแปรรูปรัฐวิสหกิจได้ทันที เพราะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบพ.ร.บ.กฟผ. แล้วออกระเบียบบริษัทกฟผ.ขึ้นมาแทน จึงจะสามารถกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งกระบวนการตรงนั้นต้องรอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย
"รัฐบาลใช้อำนาจกดดันทุกอย่างเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของพนักงานทั้งการขึ้นเงินเดือน หรือการจัดสรรหุ้นให้ รวมทั้งการขู่ว่าจะไม่ค้ำประกันเงินกู้ จนทำให้กฟผ.ไม่มีเงินสร้างโรงไฟฟ้า ตรงนี้ทำให้พนักงานเองเกิดความไขว้เขว หากปล่อยให้พนักงาน ตัดสินใจโดยเสรี ไม่มีแรงกดดัน เชื่อว่าพนักงานทุกคนจะไม่ยอมให้แปรรูปแน่ การเคลื่อนไหวคัดค้านจะมีต่อไปจนนาทีสุดท้าย ซึ่งขณะนี้ทางสร.กฟผ. พร้อมด้วยพนักงานจำนวนมากได้ยื่นถวายฎีกาคัดค้านการแปรรูป แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปแล้ว" นายศิริชัยกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|