|
ชี้บทม.เข้าข่ายรับสินบน"เช"
ผู้จัดการรายวัน(10 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ส.ส.ปชป.ชี้ "เสี่ยเช" พา บทม.ไปดูงานผิดกม.ป.ป.ช. ที่ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับเงินเกิน 3 พันบาท ขณะที่ "ทักษิณ" บอกเป็นเรื่องธรรมดา แต่การออกสเปกต้องเป็นธรรม เปิดบันทึกประชุมบอร์ดหนองงูเห่า ระบุ "สุริยะ" ตั้งเรื่องให้ศึกษาสเปกเครื่องเอกซเรย์ สุดท้าย ที่ปรึกษาตัวเอง "ธีระวัฒน์" ชง CTX 9000 พร้อมงบลงทุน 4,500 ล้านเพียงระบบเดียว ครป.จี้ ปปง.ตรวจสอบทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้อง "พีรพันธุ์" ขอศึกษากฎหมายก่อน กลัวถูกหาใช้อำนาจเกินขอบเขต "วรพจน์" เบี้ยวไม่ไปชี้แจงกรรมการสอบสวน
เช้าวานนี้ (9 พ.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายวรพจน์ ยศะทัตต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แพทริออต บิสซิเนส คอนซัลแตนท์ จำกัด ยอมรับว่าได้มีการจ่ายค่าใช้จ่ายพาเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร บทม. ไปดูงานที่สหรัฐอเมริกาว่า เรื่องนี้คณะกรรมการสอบสวนที่ได้ตั้งขึ้นมาคงจะสอบนายวรพจน์ด้วย ซึ่งเมื่อสอบแล้วจะต้องนำความจริงทั้งหมดมาเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมา ถ้าพบว่ามีใครทำผิดก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า เรื่องพาไปดูงานมีทุกที่เป็นเรื่องปกติ ทุกบริษัทต้องการพาผู้จัดซื้อไปดูว่าอะไรดีที่สุด และคนจะซื้อก็ต้องซื้อโดยกติกาที่เป็นธรรม ไม่อย่างนั้นคนที่ขายที่ไม่ได้พาไปดูงานก็จะร้อง ฉะนั้นคนออกสเปกก็ต้องออกให้เป็นธรรม
"ส่วนที่มองว่ามีการเขียนสเปกเข้าข้างกันนั้น ผมไม่ทราบ" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว
ส่วนที่นายต่อตระกูล ยมนาค เสนอตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการ สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมตรวจสอบการจัดซื้อ ด้วยนั้น
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า อันนี้เป็นคนละส่วนกัน คงไม่ใช่ หากนายต่อตระกูลมีข้อมูลอย่างไรก็ขอช่วยให้ข้อมูลนั้นกับตน จะได้ดำเนินการต่อได้
กรณีที่ฝ่ายค้านระบุว่า นายกรัฐมนตรีเองน่าจะรับทราบเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ตนเป็นประธานในการประชุมแนวทางในการใช้อุปกรณ์ อยากให้สนามบินของไทยซึ่งเป็นสนามบินใหญ่ เมื่อใหญ่แล้วต้องเป็นสนามบินที่ใหญ่และดีด้วย จึงต้องการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
"การประชุมวันนั้น ผมไม่รู้หรอกว่ามีเทคโนโลยีของใครบ้าง แต่ได้บอกเจ้าหน้าที่ไปเช่นนั้น ซึ่งเขาก็ได้ประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างกันเอง เพียงแต่เราให้นโยบายให้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง"
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า การทุจริตในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมีได้ทั้งนั้น แต่ก็ไม่รู้ว่า อยู่ชั้นไหนอย่างไร ต้องตรวจสอบการรั่วไหลเกิดขึ้นได้ เพราะมีไม่รู้กี่สัญญา ยากที่จะไม่เกิดขึ้น
ฝ่ายค้านชี้ ผิด กม.ป.ป.ช.
นายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายวรพจน์ ระบุว่า บริษัทได้ออกค่าใช้จ่ายให้แก่กรรมการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพฯแห่งใหม่ (บทม.) ในการเดินทางไปดูงานก่อนมีการซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดว่า การออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาเช่นนี้ น่าจะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการติดสินบน และขัดกับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐรับเงิน หรือของรางวัลที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ดังนั้นทาง ป.ป.ช.จะต้องเข้าไปตรวจสอบ เรื่องดังกล่าว และการที่นายวรพจน์ ได้นำเงินที่ได้รับจากกลุ่มไอทีโอ ไปใช้ล่วงหน้าแล้ว 300 ล้านบาท เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะก่อนที่จะนำเงิน กำไรไปซื้อของส่วนตัวนั้น น่าจะรอให้จบโครงการและจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาให้ครบก่อน ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมสรรพากรน่าจะเข้าไปตรวจ
ชี้ที่ปรึกษา "สุริยะ" ชง ระบบ CTX
นายเกียรติยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 มีสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติในการจัดซื้อ คือ 1. ใครเกี่ยวข้องในการอนุมัติงบประมาณถึง 4,500 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดดังกล่าว และเหตุใดจึงเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ผลิตโดยบริษัท อินวิชั่นฯ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 46 และวันที่ 15 ต.ค.46 ปรากฏว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นผู้เสนอให้มีการพิจารณาเปรียบเทียบสเปกระบบตรวจเอกซเรย์ และได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปศึกษาว่า ไทยควรจะนำระบบดังกล่าวมาใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิทันที หรือรอเปลี่ยนภายหลัง และจะมีผลกระทบกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงใด
แต่ในที่สุด นายธีระวัฒน์ ศรีฉัตราภิมุข ที่ปรึกษารมว.คมนาคม เป็นผู้หนึ่งที่เสนอรายละเอียดโครงการพร้อมงบฯลงทุนเพิ่มเติมในวงเงิน 4,500 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏข้อมูลเปรียบเทียบ และที่มาของงบประมาณว่าถูกต้องเหมาะสม และบริษัทที่ปรึกษาที่อ้างว่าจ้างด้วยเงินกว่า 100 ล้านบาท ก็ไม่มีการนำเสนอข้อมูลให้ กทภ.ทราบ
ข้อสังเกตความผิดปกติข้อที่ 2. คือ เหตุใดจะต้องซื้ออุปกรณ์จากบริษัท แพทริออท แทนที่จะซื้อตรงจากบริษัทอินวิชั่นฯ เพราะบริษัท แพทริออท ไม่น่าจะมีประสบการณ์ทำงานโครงการใหญ่ เพราะบริษัทมีทุนจดทะเบียนเพียง 50 ล้านบาท จะรับผิดชอบสัญญามูลค่าถึง 2,300 ล้านบาท ได้อย่างไร เพราะเป็นความเสี่ยงของผู้ซื้ออย่างยิ่ง
ข้อ 3. เหตุใดส่วนต่างของราคาระหว่างค่าอุปกรณ์จาก อินวิชั่น และราคาที่แพทริออทขายให้กลุ่มไอทีโอ จอยท์ เวนเจอร์ จึงสูงเกือบ 600 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นจุดอ่อนในการประมูล เพราะหากเปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากราย ราคาที่จัดซื้ออุปกรณ์ควรเป็นราคาที่ผู้ขายกำไรไม่มากนัก จึงน่าสงสัยว่ามีการล็อกสเปกกันหรือไม่
จี้ปปง.ตรวจทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้อง
วานนี้นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีสินบนหนองงูเห่า
นายสุริยะใสกล่าวว่า ทางครป.เห็นว่า การรับสินบนครั้งนี้อาจจะทำกันเป็นขบวนการ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำ และนักธุรกิจบางคน และพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องครั้งนี้เข้าข่ายความผิดมูลฐานที่ 4 (ความผิดเกี่ยวกับ การยักยอก ฉ้อโกง ฯลฯ) และ 5 (ความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ) ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 จึงขอเรียกร้องมายังคณะกรรมการ ปปง. ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทำหนังสือสอบถาม หรือเรียกให้สถาบันการเงิน ส่วนราชการ องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ แล้วแต่กรณี ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาเพื่อให้ข้อมูล เอกสารเพื่อตรวจสอบ รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบ ยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือพยานหลักฐาน
ภายหลังรับหนังสือร้องเรียน พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ เลขาธิการปปง.กล่าวว่า จะขอดูรายละเอียดหรืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกวิจารณ์ได้ว่า ใช้อำนาจเกินขอบเขต ตนจะรับเรื่องจากทางเลขาธิการ ครป.ไว้ หลังจากนั้นจะไปขอดูเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เมื่อได้พยานหลักฐานครบถ้วนแล้วขั้นตอนต่อไปก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบธุรกรรม ตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อขอมติในการดำเนินการอย่างเป็นทางการต่อไป
พล.ต.ต.พีรพันธ์กล่าวว่า ในเบื้องต้นเชื่อว่าน่าจะมีการทุจริต ใน 3 ส่วน คือ ไม่มีการตั้งระบบตรวจสอบภายในของบริษัทคู่สัญญาตามที่ พ.ร.บ. ปราบปรามการทุจริตของสหรัฐฯกำหนดลงรายชื่อการซื้อสินค้าอันเป็นเท็จ และไม่จัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการ ซื้อขายอันนำไปสู่การทุจริต ทั้งนี้จะได้ประสานไปยัง ปปง.ของสหรัฐฯ เพื่อขอข้อมูลทั้งหมดมาตรวจสอบต่อไป
"เสี่ยเช" เบี้ยว ไม่มาชี้แจงกก.สอบ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (9 พ.ค.) ได้เชิญนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นประธาน คณะกรรมการ สอบสวนการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ สนามบินสุวรรณภูมิมาหารือเรื่องอื่น แต่ก็ได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการสืบสวนในเรื่องนี้ ซึ่งนายบุญศักดิ์ได้เล่าความคืบหน้าบางอย่างให้ฟัง ในส่วนของรัฐบาลถือว่าได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว หากคณะกรรมการสรุปว่าใครผิดคงต้องมีคณะกรรมการชุดอื่นขึ้นมาดำเนินการ
นายบุญศักดิ์เปิดเผยก่อนเข้าประชุมคณะกรรมการวานนี้ว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้เชิญ นายวรพจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทแพทริออท บิสซิเนส คอนซัลแตนส์เข้ามาให้คำชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียด ทั้งหมดของเงินที่ได้รับจากไอทีโอ จอยย์เวนเจอร์ ว่านำเงินดังกล่าวไปใช้ในส่วนใดบ้าง เพราะถือว่าข้อมูลส่วนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะให้คณะกรรมการตรวจสอบด้านเอกสาร ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นายวรพจน์ไม่ได้มาชี้แจงต่อที่ประชุม โดยตัวแทนของบริษัทแพทริออทแจ้งว่า เดินทางไปต่างประเทศกระทันหัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ที่คณะกรรมการสอบสวนเชิญแล้วไม่มา โดยครั้งแรกอ้างว่าติดธุระ
นายบุญศักดิ์กล่าวว่า คณะกรรมการหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญผู้บริหารบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และกิจการร่วมค้าไอทีโอ. มาให้ข้อมูลบ้างแล้วตามกำหนด คณะกรรมการจะต้องตรวจสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับจากวันที่ 28 เมษายน 2548 ที่ได้รับการแต่งตั้ง หากไม่สร็จก็อาจจะต้องมีการพิจารณาต่ออายุ
นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า หนังสือสัญญาจัดซื้อเครื่อง ตรวจจับวัตถุระเบิดได้ส่งมาที่สำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะทำงานยกเลิกสัญญาฯ ที่มี นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ผู้ตรวจราชการอัยการ เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพื่อความรอบคอบในการพิจารณาข้อสัญญาว่าจะบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|