จะทำยังไงถ้าต้องรับ “เด็กฝาก” เข้าทำงาน?

โดย สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

เด็กฝากมี 2 ประเภท

ประเภทแรก เป็นคนดีมีฝีมือแต่เพราะความกลัวที่ว่า หากวัดกันด้วยฝีมือและความรู้กันแล้วตนเองอาจจะไม่ได้

เพราะ...อาจจะโดนเด็กฝากคนอื่นตัดหน้าทำให้พลาดโอกาส

เพื่อความมั่นใจจึงยอมเป็นเด็กฝาก เพื่อจะได้เข้าไปทำงานแสดงฝีมือแสวงหาความก้าวหน้าต่อไป

ประเภทที่สอง เป็นคนดี (หรืออาจจะไม่ดี)

แต่....ไม่มีฝีมือ แถมความรู้ที่จบมาไม่ตรงกับงานที่จะรับเข้าทำงานเสียอีก

นักบริหารที่เจอเด็กฝากประเภทนี้ ละลายยาหอมกินแก้ลมมานักต่อนักแล้ว

จะไม่รับก็ไม่รู้จะไปตอบกับผู้ฝากว่ายังไง ยิ่งถ้าผู้ฝากมีอำนาจและอิทธิพลที่จะดลบันดาลให้เราเป็นอะไรตามที่เขาอยากให้เราเป็น

เราก็ยิ่งอึดอัดและอักอึก!

หรือ ซึมไปเลย!

เพราะขืนรับเข้ามาทำงานนอกจากงานที่เรารับผิดชอบจะไม่ก้าวหน้าแล้วยังมีปัญหาที่จะต้องคอยดูแลเด็กฝาก คนนั้นให้เขาทำงานให้ดีๆ อย่าทำอะไรผิดพลาดบ่อยนัก

และที่สำคัญบางครั้งก็ปกครองยาก เพราะเด็กฝากบางคนคิดว่าตัวเองเส้นใหญ่

การฝากเด็กเข้าทำงานมีทั้งที่มาจากคนในหน่วยงานหรือคนนอกหน่วยงาน

ถ้าเป็นการฝากของคนในระดับเดียวกันก็พอจะอ้อมแอ้มได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่ เช่น กรรมการผู้จัดการหรือประธานบริหารฝากหลานสาวที่จบบัญชีให้เข้าทำงานในแผนกประชาสัมพันธ์ เราเองก็พูดไม่ออกบอกไม่ถูก

หรือ รมต.กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งฝากลูกสาวที่จบบริหารธุรกิจสาขาการตลาด ให้เข้าทำงานในแผนกวิจัยเคมี โดยมีนามบัตรแถมข้อความทำนองว่า

“ตำแหน่งอะไรก็ได้ ขอให้ทำไปก่อนแล้วคุณค่อยหาทางโยกย้ายภายหลัง แต่ผมทราบมาว่าแผนกวิจัยเคมีคุณว่าง ลูกสาวผมคงจะทำงานตำแหน่งนั้นได้ เพราะเขาเคยเรียนการวิจัยตลาดมาก่อน”

ครั้งหนึ่ง ผมเคยได้รับนามบัตรจาก ส.ส. ใน กทม. ท่านหนึ่งให้รับเด็กฝากคนหนึ่งเข้าทำงาน

เด็กฝากคนนั้นมาหาผมพร้อมกับเมียอายุ 50 และลูกสาวอายุ 18

เมื่อผมถามว่า “ลุงจะทำงานตำแหน่งอะไร”

“ผมจะเป็นคนงานครับ”

“แล้วคุณป้าผู้หญิงกับหนูคนนี้มาเป็นเพื่อนหรือ?”

“เปล่าครับ ผมคิดว่าเมื่อท่านรับผมเข้าทำงาน ผมก็จะขอความกรุณาท่านโปรดรับเมียและลูกสาวเข้าทำงานด้วย”

อีกครั้งหนึ่ง (ในหลายๆ ครั้งของชีวิตการทำงาน) เจ้านายขอพบผม และบอกว่าหาคนที่จะทำงานในแผนกของผมได้แล้ว พรุ่งนี้เขาจะมาสมัคร

“ถ้ายังไงล่ะก็ให้เริ่มงานโดยเร็วเลยนะ คุณจะได้มีคนช่วยงานเร็วขึ้น...อ้อ เขาเป็นหลานชายคนเดียวของผม เพิ่งจบ ปวช. อาจจะท่าทางนักเลงๆ นะ อย่าไปถือสามันก็แล้วกัน....”

ถ้าคุณคิดว่าเด็กฝากคนนั้นยังไงๆ ก็ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่คุณกำลังเปิดรับ และหากรับเข้าทำงานอาจจะก่อให้เกิดปัญหามากมายติดตามมา

คุณอาจจะทดลองใช้แนวทางต่อไปนี้ดูเผื่อจะบอกปัดเด็กฝากได้บ้าง

ตรวจสอบว่าในองค์กรหรือบริษัทที่คุณทำงานอยู่มีระบบการรับคนเข้าทำงานยังไงบ้าง?

ตามปกติแล้ว หากเป็นบริษัทที่ทีมาตรฐานหน่อย ก็มักจะมีฝ่ายบุคคลทำหน้าที่กลั่นกรองขั้นต้น (Screening Process)

เมื่อคุณเจอเด็กฝากก็ควรจะมอบให้ฝ่ายบุคคลทำการพิจารณากลั่นกรองขั้นต้นก่อน หากฝ่ายบุคคลเห็นว่าไม่เหมาะสม เขาจะไม่ส่งเด็กฝากคนนั้นมาให้คุณ เพราะฝ่ายบุคคลเขาจะมีวิธีการทดสอบทั้งข้อเขียนละสัมภาษณ์ คุณอาจจะขอให้ฝ่ายบุคคลช่วยชี้แจงให้เด็กฝากคนนั้นเข้าใจว่า เขาไม่ผ่านสอบข้อเขียน

แต่ถ้าบริษัทของคุณใช้ระบบรับคนเข้าทำงานในระบบตามใจนาย (ใหญ่) คุณก็อาจจะทำให้มันดูขลังหน่อย โดยการให้เด็กฝากสอบข้อเขียน

ซึ่งถ้าหากจะให้คนอื่นออกและตรวจข้อสอบ ก็จะดีกว่าที่คุณจะไปทำเอง ซึ่งแน่นอนว่าข้อสอบที่ออกควรจะเป็นลักษณะที่เหมาะกับคนดีมีความสามารถ

ดังนั้นเด็กฝากก็จะตกข้อเขียน

แต่ถ้าบังเอิญฝ่ายบุคคลก็โดนระบบเด็กฝากเล่นงานและจำเป็นต้องผ่านเด็กฝากคนนั้นมาให้คุณ หรือไม่นายใหญ่ก็สั่งมาว่า ไม่ต้องสอบข้อเขียน

คราวนี้คุณอาจจะหาทางออกโดย

ตั้งคณะกรรมการสัมภาษณ์

โดยอาจจะเชิญคนอื่นๆ ที่อยู่คนละแผนกกับคุณ แต่บังเอิญงานของแผนกนั้นจำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับงานในตำแหน่งที่จะรับ

มาร่วมการสัมภาษณ์

รวมทั้งให้หัวหน้าของตำแหน่งที่จะรับเข้าสัมภาษณ์ด้วย

ขอแบบฟอร์มประเมินผลการสัมภาษณ์จากฝ่ายบุคคลมาแจกแก่ผู้สัมภาษณ์ และขอให้ผู้สัมภาษณ์ Comment ตรงๆ ตามที่เขารู้สึก

ซึ่งแน่นอนว่า ผลสรุปออกมา เด็กฝากคนนั้นจะไม่เหมาะกับงานที่จะรับ จากนั้นคุณก็สรุปนำเสนอแก่ผู้ฝาก

ซึ่งคุณควรจะต้องมีศิลปะในการถ่ายทอดเป็นอย่างดี เพื่อให้ผลออกมา “สวย” และคุณจะได้ไม่ต้องเป็นที่ “เขม่น” ของผู้ฝาก

ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ควรจะคุยกับเด็กฝากคนนั้น (ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักนิด) อธิบายลักษณะงานและความรู้ความสามารถที่จะต้องมีและจะต้องใช้

และชี้ให้เขาเห็นว่า เขาจะมีปัญหาอย่างไร หากเข้าทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ และหากได้เข้าทำงานจริงๆ ความก้าวหน้าในตำแหน่งงานจะมีน้อย

เพราะตัวของเด็กฝากเอง

การคุยกับเด็กฝากนี้มีประโยชน์หลายอย่าง นอกจากจะช่วยให้เด็กฝากเข้าใจแล้ว ยังจะทำให้เด็กฝากไปบอกกับผู้ฝาก ว่า

ตนเองไม่เหมาะสมกับงานอย่างไร

และตนเองทำไม่ได้ด้วย

ซึ่งผู้ฝากเองก็จะเข้าใจในตัวคุณว่า ไม่ใช่ว่าคุณไม่ยอมรับเด็กฝากเข้าทำงาน

แต่เด็กฝากไม่อยากเข้าทำงานเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฝากกับคุณก็ยังดีเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเด็กฝากคนนั้นทางอ้อม

กล่าวคือ เขาอาจจะได้งานที่อื่นที่เหมาะกับตัวเขา และทำให้ก้าวหน้าในชีวิตการงาน ดีกว่าจะมาขลุกอยู่กับงานที่ไม่เหมาะสมกับตัวเขา

อย่างไรก็ตาม เท่าที่อ่านดูแล้วดูเป็นของที่ไม่ยากนัก แต่ผมอยากจะพูดว่า

การปฏิเสธที่จะรับเด็กฝากที่ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าทำงาน

เป็นเรื่องที่นักบริหารจะต้องพบเสมอ

การจะแก้ไขปัญหานี้ จะต้องกระทำด้วยความละมุนละม่อม บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม้ให้ขุ่น และจำเป็นจะต้องใช้ศิลปะประกอบด้วย

หากท่านผู้ใดทดลองนำไปใช้แล้ว ได้ผลยังไงโปรดเขียนเล่าสู่กันฟังบ้าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.