|

ทายาทของบริษัทยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ เสี่ยงอนาคตไว้กับทะเลทรายในลิเบีย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
คงจะไม่มีใครกล้าพูดได้ว่า ชอย วัน ซุค ประธานบริษัทหนุ่มแห่งกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรมดองฮา ว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง แตกต่างไปจากบิดา ผู้ก่อตั้งเครือข่ายอุตสาหกรรมดองฮา (DONGAH) เพราะชายหนุ่มผู้นี้เป็นคนที่ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เริ่มตั้งแต่ปี 1973 เมื่อเข้ารับหน้าที่ในบริษัทเมื่ออายุได้ 30 ปี ชอยได้พยายามเร่งเร้าบรรดาผู้บริหารระดับอาวุโส ตลอดจนบิดาของเขาในการที่นำบริษัทดองฮา คอนสตรัคชั่นซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมดองฮาเข้ารับงานชิ้นแรกในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า เป็นการรีบร้อน และเสี่ยงต่อการขาดทุนอยู่มาก ในสายตาของบริษัทก่อสร้างอื่นๆ ในเกาหลีใต้ แต่ผลจากการเสี่ยงรับงานในซาอุดีอาระเบียก็คือ บริษัทก่อสร้างดองฮาทำกำไรมาได้ 3 พันล้านดอลลาร์ในงานนี้
ขณะนั้นชอยมีอายุได้ 41 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นขวัญใจของบริษัทไปแล้ว ได้รับอำนาจเต็มที่ในกลุ่มของอุตสาหกรรมดองฮา เนื่องจากบิดาของเขา ชอย จุน มิน บิดาอายุ 64 ของเขากำลังป่วยกระเสาะกระแสะ ชอยผู้บุตรมีแผนงานที่จะเสี่ยงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าจะหนักกว่าเก่าเสียอีก เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยการทำสัญญารับเหมาระบบต่อทางน้ำใต้ดินระยะทาง 1,900 กม. กับลิเบีย มูลค่า 3.27 พันล้านดอลลาร์
พนักงานผู้หนึ่งของบริษัทตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาฉบับนี้มีวงเงินดำเนินการที่สูงมากเท่าที่เคยมีมา และยิ่งไปกว่านั้น ประเทศเจ้าของโครงการยังมีภาวะไม่มั่นคง และไม่น่ามั่นใจในหลายๆ กรณี โดยไม่ต้องกล่าวถึงผู้นำประเทศ พันเอกกัดดาฟี ซึ่งค่อนข้างจะหุนหัน หากแต่สถานการณ์ทางการเงินของประเทศค่อนข้างจะง่อนแง่นเพราะตั้งแต่ปี 1982 รัฐบาลกรุงตริโปลีเผชิญปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง และเป็นเหตุให้บริษัทเกาหลีที่ทำงานในลิเบียรับค่าจ้างบางส่วนในรูปของมันดิบ และหากนำไปขายในตลาดโลกก็ได้ราคาต่ำ และประสบปัญหาขาดทุน
ผู้สันทัดกรณีที่ได้ติดตามการดำเนินงานของดองฮาอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเมื่อเข้ารับงานกับลิเบีย จนกระทั่ง 6 เดือนให้หลังจึงรู้ว่า บริษัทดองฮาสามารถดำเนินงานได้เป็นอย่างดี และเป็นบริษัทที่ดีบริษัทหนึ่ง ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างรัดกุม และได้รับผลกำไรจากการดำเนินงานสูงกว่าบริษัทคู่แข่งขัน ตามคำกล่าวของนายธนาคารตะวันตก ซึ่งติดตามการเคลื่อนไหวการดำเนินงานของดองฮามาตลอด “การทำสัญญาก่อสร้างกับลิเบียได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ในธุรกิจก่อสร้างของกลุ่มดองฮา และขนาดของโครงการก็ใหญ่มาก บริษัทได้ตั้งความหวังไว้กับโครงการนี้ ซึ่งถ้าหากเกิดพลาดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นอันว่ากลุ่มดองฮาต้องตกที่นั่งลำบากเลยทีเดียว”
ชอยรู้ดีว่าเขาไม่มีโอกาสใดดีกว่านี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อทำให้รายได้ของกลุ่มอุตสาหกรรมดองฮาเพิ่มพูนขึ้น ทั้งนี้เพราะยอดรายได้ของบริษัทในระยะเวลาที่ผ่านมาได้ลดต่ำลงจนถึง 524 ล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้วจาก 844 ล้านดอลลาร์ในปี 1980 กำไรสุทธิก็ลดลงจนเหลือเพียง 708,000 ดอลลาร์ในปีที่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับยอดกำไรสุทธิ 52.5 ล้านเหรียญใน 3 ปีที่ผ่านมา
แต่การตัดสินใจที่จะดำเนินงานในลิเบียอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากอุปนิสัยชอบเอาชนะของเขาก็เป็นได้ หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮานยาง (HAN YANG) ในกรุงโซล ด้านเศรษฐศาสตร์ และเข้ารับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจอร์จทาว์น (GEORGE TOWN) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมิได้รับประกาศนียบัตรใดๆ ชอยน้อยก็กระโดดเข้าทำธุรกิจของครอบครัวภายใต้การดูแลของชอยผู้บิดา ซึ่งได้นำเขาไปศึกษางานตามสถานที่ต่างๆ ทั้งนอกและในประเทศ เพื่อเป็นการปูทางให้เขาในธุรกิจก่อสร้าง แต่ชอยหนุ่มมีความรู้สึกว่าวิธีการเรียนรู้เหล่านั้นค่อนข้างจะช้า ไม่ทันอกทันใจเอาเสียเลย
ดูเหมือนว่านิสัยใจร้อนของเขาไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานแต่อย่างใด เพราะเมื่ออายุได้เพียง 24 ปี เขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมคอนกรีตดองฮา ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานบริษัทดองฮาก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมดองฮา ในอีก 2 ปีต่อมา แม้ว่าชอยหนุ่มจะได้ตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายบริหารก็ตามแต่ดูเหมือนว่าผู้บิดาจะยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในการตัดสินใจใดๆ ของบุตรชายนัก และก็ยังไม่ค่อยจะมั่นใจนักเมื่อชอยหนุ่มประกาศที่จะรับงานก่อสร้างในซาอุดีอาระเบีย
ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่รุนแรง
จนถึงขณะนั้น คิม ฮักยอง, รองประธานบริหารฝ่ายกิจการต่างประเทศของดองฮา คอนสตรัคชั่น เคยกล่าวว่า ประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศของบริษัทก็คือที่เกาะกวม ซึ่งบริษัทชนะประมูลงานเล็กๆ เมื่อปี 1973 ในการก่อสร้างอาคารพักอาศัยของนายทหารเรือสหรัฐฯ สำหรับงานในซาอุดีฯ นั้น จุนมินและผู้ร่วมงานในบริษัทคัดค้านว่าอยู่ไกลเกินไป และสภาพอากาศก็ร้อนมาก ยิ่งกว่านั้นประเทศนี้ยังไม่มีโครงสร้างขั้นพื้นฐาน (BASIC INFRASTRUCTURE) ที่จำเป็นในการดำเนินงาน กลุ่มคนเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนซึ่งกลุ่มก่อสร้างซัมวันได้รับมา กลุ่มซัมวันเป็นกลุ่มแรกที่รับงานในซาอุดีฯ ซึ่งในครั้งแรกก็ได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ เช่นกัน และเมื่อเข้าไปดำเนินงานแล้วผลก็คือ บริษัทขาดทุนไป 8 ล้านดอลลาร์กับโครงการแรก ซึ่งเป็นโครงการสร้างทางในวงเงิน 24 ล้านดอลลาร์
ถึงแม้ว่าจะมีตัวอย่างให้เห็นก็ตาม ชอยหนุ่มก็ยังยืนยันแข็งขันว่า เขามีวิธีการดำเนินงานของเขา จนในปี 1974 ดองฮาจึงได้ลงนามในสัญญามูลค่า 6.6 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างถนนยาว 75 กม. ใกล้กับเมือง DHAHRAN “เราทำกำไรได้ไม่มากนัก” คิมกล่าว แต่ก็นำไปสู่การสร้างถนนอีก 3 สาย ในปีต่อๆ มา และก็ได้งานสร้างถนนสายหลักขนาดใหญ่ขึ้น ตลอดจนท่าเรือ และท่าอาศยานภายใต้นามดองฮา คอนสรัคชั่น
การว่าจ้างงานของซาอุดีฯ ที่ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อชอย แต่ก็ยังไม่วายถูกค่อนแคะจากการดำเนินชีวิตส่วนตัวที่ค่อนข้างโลดโผนของเขา ซี่งรวมทั้งการมีความสัมพันธ์กับดาราสาวนักแสดงก่อนที่จะแต่งงานกับอดีตนักร้องเพลงป๊อป เบ อิน ซุค แต่ผลงานในซาอุดีฯ ทำให้บริษัทดองฮากลายเป็น 1 ใน 6 บริษัทชั้นนำของเกาหลี และในปี 1977 ชอย จุนมิน ผู้บิดาจึงได้มอบอำนาจและกิจการในเครือทั้งหมดให้กับบุตรชาย เหลือไว้เพียงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์เท่านั้น
และเพื่อที่จะผลักดันให้ก้าวสู่จุดสุดยอดทำให้ชอยหนุ่มตัดสินใจเสี่ยงอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการเข้ารับเหมางานในลิเบีย ซึ่งมีผลส่งให้ดองฮากลายเป็นคู่แข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำ Hyundai Engineering & Construction ในแง่ที่เป็นบริษัทที่มีผู้ว่าจ้างมากที่สุด
สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ก่อนหน้าชอย วัน ซุค จะเข้ารับหน้าที่ 2-3 เดือนนั้น บริษัทได้ตัดลิเบียออกจากรายชื่อลูกค้า ทั้งนี้เพราะ “เราได้ส่งคณะวิจัยการตลาดไปที่นั่นเมื่อปี 1978 ซึ่งได้รายงานมาว่า เนื่องจากลิเบียไม่มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่กิจการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็น ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะเข้าไปดำเนินงานรับเหมาก่อสร้าง” ซุง จินซัม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของดองฮา คอนสตรัคชั่น ผู้ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบโครงการของลิเบียกล่าว
ครั้งแรกเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาระบบชลประทานขนาดยักษ์ของรัฐบาลลิเบีย ซึ่งใช้ชื่อว่าโครงการแม่น้ำโดยมนุษย์ (Great Manmade River) ได้รับการส่งผ่านมาจากบรรษัท Brown & Root ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรม ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ฮุสตัน สหรัฐฯ และได้ติดต่อกับดองฮาในปี 1980 เพื่อให้ยื่นข้อเสนอแผนก่อสร้างไปยังลิเบีย
ในช่วงเวลานั้นเอง ปรากฏว่างานต่างๆ จากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งงานหลักของบริษัทรับเหมาเกาหลีในต่างประเทศเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากรายได้ที่เข้าประเทศลดลง เพราะน้ำมันราคาตกซึ่งมีผลกระทบต่อดองฮาเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ อันเป็นสาเหตุให้ประธานบริษัทดองฮาถูกกดดันให้เปลี่ยนแนวนโยบาย ให้ดำเนินงานให้รอบคอบยิ่งขึ้น สำหรับงานในลิเบีย ซึ่งผู้นำของประเทศถูกเพ่งเล็งจากโลกภายนอกว่ามีนโยบายเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับเกาหลีใต้ และสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าลิเบียและเกาหลีเหนือคงจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการฝึกฝนบรรดาผู้ก่อการร้าย ชอย ฮิม ซิง ผู้อำนวยการดองฮา ในโตเกียว กล่าวว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เคยหยิบยกเรื่องการทำงานในลิเบียขึ้นมาพิจารณาถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดจากความไม่พอใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ในที่สุดรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยอมที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานในลิเบียของธุรกิจเอกชน แต่ชอยตัดสินใจที่จะเข้าตรวจสอบสถานการณ์ในลิเบียด้วยตนเอง
เดินหน้าลุย
ชอยส่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ซุง ไปยังลิเบียหลายครั้งเพื่อตรวจสอบงานในสนาม รวมทั้งกิจการด้านอื่นๆ สำหรับชอยเองก็ได้เดินทางไปลิเบีย 2-3 ครั้ง เพื่อตรวจผลการดำเนินงานด้วยตนเองตอนต้นปี 1982 “ในเวลานั้น เรายังไม่ค่อยจะรู้เรื่องเกี่ยวกับสภาวะทางสังคมของลิเบียแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางการเมือง หรือความมั่นคงด้านการดำเนินงานโครงการว่าจะถูกกระทบกระเทือนจากอะไรบ้าง” ซุงกล่าวในระหว่างเล่าถึงการเดินทางไปลิเบีย แต่ในที่สุดจากผลการประเมินสถานการณ์และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ชอยสรุปได้ว่าดองฮาต้องเข้ารับงานในลิเบีย
ในเดือนพฤษภาคม 1982 กลุ่มดองฮายื่นข้อเสนอที่จะดำเนินงานตามโครงการ GMR (Great Manmade River Project) และในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ หลังจากที่ได้เจรจาอยู่ราว 1 ปี เกี่ยวกับราคา เงื่อนไข และการจ่ายเงิน ดองฮาจึงได้ลงนามในสัญญาก่อสร้าง โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือเป็นการว่าจ้างแบบเหมารวม (lump-sum) และกำหนดค่าจ้างเหมาคงที่ นอกจากกลุ่มดองฮาที่เข้ารับเหมางานนี้แล้ว การดำเนินงานเต็มตามโครงการจะต้องมีกลุ่มผู้รับเหมาอีก 2 กลุ่มซึ่งประกอบด้วยบริษัทผู้รับเหมาอีก 17 บริษัทเข้าร่วมดำเนินงานอยู่ด้วย
ในการดำเนินงาน บริษัทดองฮาคอนกรีตซึ่งมีความชำนาญอย่างสูงในการผลิตท่อคอนกรีตจะรับผิดชอบโดยตรงในโครงการนี้ โดยมีบริษัท Korea Express ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการขนส่งทำหน้าที่ลำเลียงวัสดุจากท่าเรือมายังบริเวณหัวงานและรับผิดชอบในการจัดเก็บวัสดุทั้งหมดที่ใช้ในการก่อสร้าง
โครงการ GMR ซึ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน 71 เดือน จะเป็นโครงการที่ดองฮาต้องทุ่มเทพลังทั้งหมดที่มีอยู่ในงานหลักประกอบด้วยการวางท่อขนาดใหญ่ 2 แนว (ดูแผนที่ประกอบ) ผ่านจากด้านตะวันออกของทะเลทรายซาฮาราไปสู่ชายฝั่งทะเล ซึ่งแนวแรกจะวกไปทางทิศตะวันตกและหยุดอยู่ที่เชอริเตซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอีกแนวหนึ่งจะพุ่งขึ้นทิศเหนือ สู่เมืองชายทะเลเบงกาซีและตลอดแนวทั้ง 2 นี้ รัฐบาลลิเบียวางแผนที่จะใช้น้ำเพื่อขยายพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์ในทางส่วนเหนือของประเทศและน้ำนี้จะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่นที่ท่อผ่าน ซุงได้เล่าให้ฟังว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นทะเลทรายซึ่งไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ และไม่มีถนนหนทางตลอดจนน้ำประปาและไฟฟ้า
เช่นเดียวกับผู้รับเหมาเกาหลีอื่นๆ ในต่างประเทศ ดองฮาจะใช้แรงงานของตนในช่วงที่งานวางท่อพุ่งถึงจุดสุดยอดในตอนปลายปี 1985 ต่อปี 1986 นั้น จะมีคนงานของบริษัทอยู่ในลิเบียราว 10,000 คน นอกจากนี้บริษัทวางแผนที่จะใช้คนงานจำนวนหนึ่งในกรณีที่จำเป็นจากประเทศไทยเนื่องจากเสียค่าจ้างแรงงาน 1,200 ดอลลาร์/เดือน อันเป็นค่าแรงเพียง 1 ใน 3 ของค่าแรงช่างฝีมือชาวเกาหลีที่ทำงานนอกประเทศ
ทั้งๆ ที่เป็นงานขนาดใหญ่ โครงการนี้นับว่าไม่มีปัญหาด้านเทคนิคมากนัก และดองฮาคงจะสามารถดำเนินงานในขั้นตอนที่ยุ่งยากได้เป็นอย่างดี เพราะมีประสบการณ์มาจากการทำงานในทะเลทรายของซาอุดีอาระเบีย แต่ปัญหาที่คาดว่าอาจจะมีก็คือปัญหาการรับเงินค่าจ้างเหมา
เงื่อนไขประการหนึ่งซึ่ง ชอยยอมรับในสัญญาก็คือ ลิเบียจะจ่ายเงินค่าจ้าง 3 ใน 4 ของค่าจ้างทั้งหมด 3.27 พันล้านดอลลาร์ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และส่วนที่เหลือจะเป็นเงินดีนาร์ของลิเบีย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงสัญญาไม่ได้ และลิเบียก็ยอมถือปฏิบัติตามนี้ จากคำกล่าวของ โดกาไล เมกฮารีฟ หัวหน้าฝ่ายการเงินของคณะกรรมการจัดการและดำเนินงานโครงการ GMR ตามปกติแล้วรัฐบาลลิเบียจะจ่ายเงินค่าจ้างในกรณีทั่วไป เป็นเงินดีนาร์ราว 35% นอกจากนี้ลิเบียยังพยายามชักจูงให้ดองฮายอมรับค่าแรงในรูปของแก๊สธรรมชาติ, น้ำมันดีเซล และเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่ใช้ในการดำเนินโครงการ
ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของดองฮาได้มีรายงานว่าบริษัทจะมีเงินดีนาร์เหลืออยู่เป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ “ไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้มากนัก” เมาฮารีฟกล่าว “เพราะเงินนี้จะต้องเอาไปใช้ซื้อซิเมนต์อีก 2 ล้านตัน เพื่อไปใช้ในงานที่เบงกาซี” แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทแย้งว่า อย่างไรก็ตาม ก็ยังจะมีเงินดีนาร์เหลืออยู่อีก ซึ่งบริษัทถือว่าปัญหานี้สำคัญมาก และกำลังพยายามหาทางออกอยู่
สำหรับปัญหาที่ดองฮาจะยอมรับการชำระค่าจ้างในรูปของน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ แทนที่จะเป็นตัวเงินหรือไม่นั้น เมกฮารีฟ มองในแง่ดีกว่า “คงจะไม่มีปัญหาอะไรสำหรับการหาเงินมาชำระในการดำเนินงานเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกจะไม่ลดลงอีกแล้ว”
นักการธนาคารชาวตะวันตกในกรุงโซลก็ได้ให้ความเห็นว่า คงจะไม่มีปัญหา การชำระเงิน เนื่องจากทั้งทางฝ่ายรัฐบาลเกาหลีใต้และลิเบียต่างก็อยากให้โครงการนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น จึงเชื่อได้ว่ารัฐบาลทั้ง 2 คงจะรับประกันการชำระเงินอย่างแน่นอน สิ่งที่เขาวิตกก็คือเรื่องความสามารถของดองฮาที่จะดำเนินการกับโครงการขนาดนี้ว่าจะไปไหวหรือไม่ ทั้งในด้านการจัดและด้านระยะเวลา ซึ่งส่อเค้าว่าจะเกิดปัญหาต่อโครงการ ก็เหมือนกับเมื่อคุณแล่นเรือเข้าใกล้พายุข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อาจนำไปสู่อันตรายขนาดใหญ่ได้
บางทีอาจจะเนื่องจากเหตุผลเหล่านี้จึงมีงานทำอย่างหามรุ่งหามค่ำในโรงงานของดองฮาและมีการออกข้อบังคับให้ทำงานตลอด 24 ชม. ในสำนักงานใหญ่สีขาวมอซอ ซึ่งล้อมรอบด้วยบริเวณก่อสร้างในย่านธุรกิจการค้าในกรุงโซล ฮาค ซึ่งเป็นรองประธานฝ่ายบริหารมีงานยุ่งอยู่กับโครงการ GRM จนต้องลดเวลาการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร International Management และเลิกนัดกับผู้เข้าพบอีก 2 ครั้ง สำหรับตัวชอยเอง ดูเหมือนว่าจะมีเวลาเหลือเพียงเล็กน้อยสำหรับเล่นเทนนิสที่ชอบ และไม่มีเวลาเหลือพอที่จะให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์
ความกระตือรือร้นที่จะทำงาน
เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่แม้ว่า ชอยมุ่งมั่นที่จะให้ดองฮาถีบตัวเองสูงขึ้นกว่าเป็นธุรกิจระดับธรรมดาแต่ “เรายังต้องการงานแบบอื่นๆ อีก” โก เซิก ยัง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศกล่าว และเสริมว่าตอนนี้บริษัทกำลังเตรียมหาลู่ทางที่จะรับงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แอฟริกา หรือแม้แต่ในอลาสกา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับความกระทบกระเทือน เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำมันก็ตาม ก็ยังเห็นได้ว่าประเทศอุตสาหกรรมโดยส่วนรวมก็ยังอาจเป็นลูกค้ารายใหญ่ของกลุ่มดองฮา นับจากที่บริษัทดองฮาได้รับงานโครงการสร้างระบบระบายน้ำ มูลค่า 43 ล้านดอลลาร์ และงานก่อสร้างบ้านพักนายทหารมูลค่า 140 ล้านดอลลาร์ ในอาบูดาบี และยังรับงานเพิ่มเติมในซาอุดีอาระเบียอีกด้วย
บรรดาพนักงานระดับสูงในบริษัทดองฮาคัดค้านต่อคำกล่าวที่ว่า ชอยได้ขยายงานมากเกินความสามารถของบริษัท หลังจากตกลงรับงานกับลิเบียแล้ว พนักงานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าได้ว่าจ้างฝ่ายบริหารและฝ่ายวิศวกรเกินกว่า 200 คน ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว ทำให้จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 คน “เราเองก็มองกันว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม แต่เป็นประเภทอนุรักษนิยมแบบรุนแรง”
อันที่จริง ฝ่ายบริหารของบริษัทยอมรับว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย จากช่วงยุคเก่าของชอยผู้บิดา ทุกคนเห็นพ้องว่า ประธานบริษัทคนใหม่ ชอย วัน ซุค มีลักษณะค่อนข้างจะรุนแรง เฉียบขาด รวดเร็ว ในขณะที่ ชอย จุน มิน ผู้บิดายังคงทำงานอยู่ในสำนักงานใหญ่ในเกาหลีร่วมกับฝ่ายบริหารระดับสูงคนอื่นๆ ใช้เวลานานๆ ในการทบทวนปัญหาก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป ซึ่งตรงข้ามกับชอยผู้บุตรซึ่งใช้เวลากว่า 1 ใน 3 เพื่อเดินทางไปตามที่ต่างๆ ส่วนใหญ่เพื่อไปสหรัฐฯ ยุโรป และตะวันออกกลาง เพื่อพบปะกับผู้บริหารในบริษัทก่อสร้างชั้นนำนานาชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นผู้มีอำนาจในการที่จะขยายขอบเขตการตลาดของบริษัท จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า ประธานบริษัทออกจะแก่เดินทางมากเกินไป
ในช่วงที่ชอยอยู่ในโซลที่สำนักงานใหญ่เขาทุ่มเทความสนใจให้กับบริษัทแม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมดองฮาอันประกอบด้วยบริษัทดองฮา คอนสตรัคชั่น และบริษัทดองฮาทรายสปอร์ตเทชั่น แต่ก็เปิดโอกาสให้ประธานบริษัททั้ง 2 ทำงานได้โดยอิสระ ตามปกติแล้วชอยชอบที่จะตัดสินปัญหาด้วยตนเอง และมักอยู่ในรูปของการสั่งการที่เฉียบขาด ผู้ใกล้ชิดกรณีกล่าวว่า ในด้านความสัมพันธ์กับผู้บริหารคนอื่นๆ ของบริษัทเขามักจะแสดงออกถึงบุคลิกที่เข้มแข็งแบบเผด็จการกลายๆ และมักจะชอบถามเรื่องราว ตลอดจนข้อมูล ตัวเลข ซึ่งในสายตาของคนอื่นๆ แล้วเห็นว่าไม่มีความสำคัญ
และหลังจากสร้างความงงงันให้กับผู้สันทัดกรณีทั้งหลายแล้ว ในเรื่องการรับงานในซาอุดีฯ ขณะนี้ ชอยหนุ่มกำลังทำเช่นนั้นอีกในลิเบีย “ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายของชอย ก็คือสร้างดองฮาให้เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี” จุงผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกล่าวพร้อมกับยิ้มน้อยๆ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|