|
เกษม จาติกวณิช ในบางความหมายของ “ยุคทองผู้จัดการไทย”
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
สถานที่ – ห้องการ์เด้นท์ โรงแรมอิมพีเรียล
เวลา – วันพุธที่ 26 กันยายน 2527 ช่วง 6 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่มครึ่ง (ตามบัตรเชิญซึ่งจริงๆ แล้วต้องบวกช่วงฝนตกรถติดจนงานล่าออกไปอีกราวๆ 1 ชั่วโมง)
อาหาร – ดินเนอร์ที่รับประทานกันเพียบมื้อหนึ่ง
เจ้าภาพ – สมาคมศิษย์เก่า เอไอเอ็ม. (AIM-ASIAN INSTITUE OF MANAGEMENT) แห่งประเทศไทย (เอไอเอ็ม. ตั้งอยู่กลางใจเมืองมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นสถาบันสอนด้านการบริหาร ปัจจุบันมีคนไทยเป็นศิษย์เก่านับร้อยคน)
วาระ – พบปะสังสรรค์ประจำปีและเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ (ได้ อภิชาต รมยะรูป รองผู้จัดการฝ่ายการพนักงานธนาคารกรุงเทพ บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของ วิระ รมยะรูป เป็นนายกสมาคมคนใหม่ซึ่งจะต้องไปจัดทีมขึ้นมาบริหารสืบไป) พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับศิษย์เก่าของ เอไอเอ็ม. 2 ท่านคือ ธีระชัย เชมนะสิริ กับ ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ TRIPLE A อันเป็น 2 ใน 4 รางวัลของปีนี้ และนับเป็นคนไทยคนที่ 2 และ 3 ที่ได้รับเกียรติสูงสุดดังกล่าวจากสถาบัน
รายการหลัก – การบรรยายในหัวข้อ “ยุคทองของผู้จัดการไทย” โดย เกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและประธานกรรมการบริหารธนาคารเอเชียทรัสต์ปัจจุบันสดๆ ร้อนๆ
บรรยากาศ – ฟังกันพอสบายๆ
เกษม จาติกวณิช อาจจะเป็นตัวจริงมาทุกที่ทุกแห่ง แต่สำหรับการบรรยายคืนนั้นเขาก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ต้องมาในฐานะ “ตัวแทน”
“ก็อย่างที่ทุกท่านทราบกันว่า ที่จริงแล้วคืนนี้ผู้ที่จะต้องมายืนอยู่ตรงที่ผมยืนนี้คือ ดร.อำนวย วีรวรรณ แต่บังเอิญท่านมีงานด่วนเดินทางไปต่างประเทศกับคุณนุกูล ประจวบเหมาะ ดร.อำนวย โทรไปตามตัวผมออกมาจากห้องประชุม ผมก็นึกแล้วว่าคงไม่ใช่ข่าวดีแน่ ยิ่งทราบว่าเป็นหัวข้อ ยุคทองของผู้จัดการไทยด้วยแล้ว ลมแทบจับ เพราะความที่ไม่เคยพูดเรื่องอย่างนี้ จะพูดก็แต่เรื่องอื่นๆ อย่างพวกไฟฟงไฟฟ้า หรือสร้างเขื่อน นับว่าเป็นกรรมของผมและท่านผู้ฟังก็แล้วกัน...”
“ผมก็บอก ดร.อำนวย ว่าจะไม่ไหวกระมังครับ ดร.อำนวย ท่านก็ว่า ไม่ต้องวิตก เขามีสปีชเตรียมให้เสร็จ มาแต่ตัวก็ใช้ได้แล้ว...ทีนี้มันวุ่นอย่างนี้ ผมนั้นถ้าจะต้องว่าไปตามสปีชก็คงเหมือนเด็กประถม 4 อ่านหนังสือ ก็ตกลงเป็นว่า ผมจะพูดไปเรื่อยๆ เกี่ยวบ้างไม่เกี่ยวบ้างดีกว่า...” ประธานแบงก์เอเชียทรัสต์คนล่าสุดชี้แจงด้วยท่วงทำนองเรียบๆ สลับเสียงฮาเป็นระยะๆ
การว่าไปเรื่อยๆ ของเกษม จาติกวณิช ถ้านำไปเปรียบเทียบกันเนื้อหาที่เข้มข้นด้านวิชาการของตัวสปีชแล้วก็คงเป็นคนละเรื่อง แต่ถ้าจะมองว่าเป็นการเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาซึ่งให้บทเรียนพอสมควรแล้ว การบรรยายคืนนั้นก็จะมีอยู่อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ขันที่ช่วยให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบแบบไม่เครียด
“ยุคทองของผู้จัดการไทย” ในความเห็นของเกษมพอสรุปได้ว่า มีที่มาจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงทั้งของโลกและของภายในประเทศ หรือถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบเศรษฐกิจของโลกเสรีทุกวันนี้กำลังประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการผลิต การตลาด ปัญหาแรงงาน
เมื่อทุกอย่างดูจะมีปัญหา หนทางแก้ไขอย่างหนึ่งก็คือจะต้องนำการจัดการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพเข้ามา และนี่แหละคือ “ยุคทองของผู้จัดการไทย” ที่จะได้แสดงฝีไม้ลายมือให้ปรากฏแก่สังคม
เกษม จาติกวณิช บอกว่าตัวเขาเองก็ได้รับผลพวงจาก “ยุคทอง” นี้ด้วยเหมือนกัน อย่างน้อยก็เรื่องการเข้าไปในธนาคารเอเชียทรัสต์อันหนึ่งล่ะ
“พูดกันตรงๆ ตำแหน่งประธานแบงก์นี่ผมฝันอยากเป็นมานานแล้วนะครับ ผมยังพูดกับเมียบ่อยๆ ว่า ไอ้พี่เขยผม นายบัญชา ล่ำซำ เมื่อไหร่มันจะแก่เสียที ผมจะได้เป็นแชร์แมนแทน คือเมื่อก่อนเขาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แล้วคุณอา...คุณพระนิติการท่านเป็นแชร์แมน ผมก็กะว่าตอนผมรีไทร์จากการไฟฟ้าท่านก็คงไปแล้วพอดี...บังเอิญท่านไปเสียก่อน ผมก็เลยต้องอยู่ที่การไฟฟ้าไม่ได้ไปไหน ความฝันมันจึงมาเป็นความจริงคราวนี้...”
ส่วนในเรื่องเบื้องหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารเอเชียทรัสต์ เกษมเล่าว่า
“บางคนเข้าใจว่าผมไปอยู่เอเชียทรัสต์เป็นเพราะเคยไปกู้หนี้ยืมสินชาวบ้านเขามามาก เป็นมืออาชีพด้านนี้ เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีหนี้ต่างประเทศเวลานี้ก็ 2 บิลเลียนดอลลาร์ เห็นมันกู้เสียชิน เพราะฉะนั้นจับมันมาอยู่อีกฝั่งดูสิ เมื่อเป็นเจ้าหนี้ชาวบ้านเขาบ้างมันจะทำได้ไหม ผมก็นึกว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเมื่อตอนที่คุณนุกูล (ประจวบเหมาะ) โทรศัพท์มาบอกว่า เฮ้ย! ไปเป็นประธานแบงก์ให้หน่อยเถอะ ผมจึงไม่ถามสักคำว่า แบงก์ไหน แต่ตอบทันทีว่า โอเค”
“อันนี้ด้วยความสัตย์จริง ผมคิดว่าเป็นพวกธนาคารเกษตรเพื่อสหกรณ์การเกษตรหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์พวกนั้น นุกูลเขายังไปพูดทีหลังเลยว่า แหม...ไปถามมัน มันตอบตกลงทันทีเลย ไม่ถามสักคำ ก็เป็นประธานแบงก์มันสบายๆ ใครๆ ก็อยากเป็นใช่มั้ย แต่พอตกเย็นเท่านั้นแหละ หนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องปัญหาเอเชียทรัสต์ ผมนี่เข่าอ่อนทันที...”
การบรรยายแบบไปเรื่อยๆ ของเกษมในตอนหนึ่งได้กล่าวถึงบทเรียนของการบริหารแบบไทยสไตล์ว่า “มันมีอะไรยุ่งๆ อยู่เหมือนกัน” โดยได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ช่วงรณรงค์ให้มีการประหยัดไฟฟ้า เพราะประเทศได้เกิดการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างหนัก
“คุณเชื่อมั้ยผมในฐานะผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องถูกด่ามากมาย กว่าเราจะดำเนินนโยบายปิดโทรทัศน์ตอนช่วงหกโมงครึ่งถึงสองทุ่ม และปิดไฟฟ้าริมถนนดวงเว้นดวง ครั้นพอสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ คือปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงหมดไปแล้ว ผมก็ต้องใช้เวลาเกือบสองปีกว่าจะให้ไฟฟ้าริมถนนเปิดทุกดวง และเรื่องเปิดโทรทัศน์ตามปกติผมพูดทีไรเป็นต้องถูกด่าร่ำไป จดหมายนี่เข้ามาเป็นปึกๆ เขาบอกว่าไปเปิดทำไม ลูกเขาจะทำการบ้าน ปิดน่ะดีแล้ว ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เพราะลูกๆ ผมมันก็โตๆ กันหมด มันไม่อยู่บ้าน ไปเที่ยวผู้หญิงกันหมด...”
“ผมจึงอยากจะบอกว่า บ้านเรานี่เขาบริหารอะไรกันแปลกๆ คือไม่ค่อยพิจารณาสถานการณ์ที่เป็นจริง นโยบายหนึ่งอาจจะมีความเหมาะสมในช่วงสถานการณ์หนึ่งแต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนนโยบายมันควรจะเปลี่ยนไปด้วย...”
หลังจากเล่าประสบการณ์ด้านต่างๆ มาพอสมควรแล้ว เกษม จาติกวณิช ก็ตบท้ายถึงเรื่องคุณสมบัติของนักบริหารซึ่งก็เป็นเจตจำนงอันแน่วแน่ของสถาบัน เอไอเอ็ม. อยู่ด้วย
คุณสมบัตินี้มีอยู่ 6 ประการ คือ
1. เป็นนักปฏิบัติ (DOER) คือเป็นผู้ที่กล้าตัดสินใจลงมือกระทำด้วยจิตใจอันเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว
2. เป็นนักบริหารที่แท้จริง (GENERALIST) คือเป็นผู้ที่สามารถใช้ประสบการณ์ ความรอบรู้ และความชำนาญบริหารงานให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
3. เป็นวิสาหกร (ENTERPRENEURTAL) คือเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้นำหรือผู้ริเริ่มในองค์กรนั้นๆ อย่างแท้จริง
4. เป็นมืออาชีพ (PROFESSIONAL) คือเป็นผู้ที่ใฝ่แสวงหาความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน โดยใช้คุณค่าและความสามารถของตนเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์แก่งานที่ตนรับผิดชอบ รวมทั้งผู้ร่วมงานอย่างเต็มที่
5. เป็นนักบริหารในสภาพแวดล้อมแบบเอเชีย คือเป็นผู้มีทักษะ มีความรู้ และมีทัศนคติที่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเอเชีย โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสร้างความเจริญให้แก่ภาคพื้นและชนชาวเอเชียทั้งมวล
6. เป็นผู้มีความรับผิดชอบ (RESPONSIBILITY) ต่อสังคม
การบรรยายและพบปะสังสรรค์ประจำปีในหมู่นักบริหารรุ่นหนุ่มสาวของ เอไอเอ็ม. คืนนั้นจบลงด้วยบรรยากาศชื่นฉ่ำ เนื่องจากสายฝนโปรยปรายลงมาพอดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|