|
ป้องกันตัวเองกับการลดค่าเงิน ผลที่จะกระทบต่อการสั่งซื้อวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมล่วงหน้า
โดย
สหัส พรหมสิทธิ์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
เนื่องจากการเพิ่มหรือลดค่าของเงินเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่สุดในทางเศรษฐกิจการค้า จึงเป็นหน้าที่ของพ่อค้าที่จะต้องหาทางหนีทีไล่เป็นการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งพ่อค้าส่วนมากก็ซึ้งในเรื่องเช่นนี้อยู่แล้วจนถึงกับมีการเสี่ยงเก็งกำไรในการสั่งเข้าหรือส่งออกไว้ล่วงหน้านานนับเป็นเดือนก่อนที่จะมีการประกาศลดค่าเงินบาท การที่มีการลดค่าเงินบาทมาแล้วไม่ได้หมายความว่าจะลดค่าเงินอีกไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ส่วนใหญ่ที่จะตกอยู่กับประเทศเป็นเกณฑ์ นี่พูดกันตามทฤษฎี
ในทางปฏิบัติ ถ้าใครสามารถหยั่งรู้หรือแสวงหาข่าวได้ว่าเมื่อใดจะมีการลดหรือเพิ่มค่าเงินได้ใกล้เคียงความจริงที่สุด ก็ย่อมนำผลประโยชน์ทางการเงินมาให้กิจการของตนอย่างเหลือคณานับเพราะความลับไม่มีในโลก
เรื่องที่จะนำมากล่าวในที่นี้เป็นการหาหลักเกณฑ์ในการเตรียมการซื้อสินค้าวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมเอาไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จะมีการลดค่าเงิน
การลดค่าเงินนี้เกิดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกแม้กระทั่งในยุโรปเอง จึงมีผู้ทำการค้นคว้าหาหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อและเรื่องอื่นๆ ไว้มากและค่อนข้างสมบูรณ์จนสามารถนำมาพิจารณาใช้ในเมืองไทยได้
การลดค่าเงินมีผลกระทบกระเทือนกับการจัดซื้อหาวัตถุดิบหรือองค์ประกอบสิ่งอื่นๆ จากต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับประเทศที่ใช้สกุลเงินที่แข็งกว่ามากๆ ผู้ทำการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งสิ่งของจากต่างประเทศจึงมีความเดือดร้อนมากเป็นพิเศษ
โดยปกติค่าใช้จ่ายของวัตถุดิบและองค์ประกอบอื่นๆ อาจสูงถึงร้อยละ 30-40 ของราคาทุน (ตัวเลขในยุโรป) ซึ่งสูงกว่าค่าแรงมากและถ้าวงเงินในการนำเข้ายิ่งสูงมากก็ยิ่งต้องให้ความสนใจในการจัดซื้อล่วงหน้ามากขึ้นเท่านั้น
ในยุคของเศรษฐกิจที่มีแต่ความผันผวนนั้น งานจัดซื้อของโรงงานอุตสาหกรรมอาจต้องนำการเสี่ยงอันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยน
ภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนราคาของวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาเชื่อมโยงกันเพื่อให้การจัดซื้อและการสำรองสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้กิจกรรมอุตสาหกรรมบางลักษณะจึงให้ความสำคัญกับการจัดซื้อมากเป็นพิเศษ เพราะ
(1) ภาวะที่มีแต่ความไม่แน่นอนมากขึ้นทุกทีนั้นทำให้ต้องมองหาแหล่งวัตถุดิบที่จะมาป้อนโรงงานให้กว้างที่สุดเพื่อให้ได้ของที่มีราคาต่ำสุดและสามารถเลือกซื้อได้ในปริมาณที่พอเหมาะพอดีในช่วงเวลาที่เหมาะสม
และ (2) ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมากนั้น มักมีผู้แข่งขันกันซื้อสินค้าวัตถุดิบเข้ามาไว้ในสำรองจนอาจทำให้ขาดแคลนในตลาดได้ ในภาวการณ์แบบนี้หน่วยของงานด้านจัดซื้อคงจะต้องเป็นหัวหอกของทั้งกิจการค้าในแง่ของการวางแผนยุทธวิธีในการจัดหาในระยะยาว เพื่อให้งานอุตสาหกรรมรุดหน้าไปได้เรื่อยๆ ท่ามกลางการเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยน
การลดความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เกิดความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่อง ความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่อง ความไม่แน่นอนนี้เป็นสมุห์ฐานให้มีการเสี่ยงในทางการค้า แต่ผู้ทำการค้าไม่ต้องการจะเสี่ยงหรือถ้าจะต้องเสี่ยงก็ต้องให้น้อยที่สุดและเสี่ยงอย่างมีความรู้ จึงได้มีการหาทางลดความไม่แน่นอนต่างๆ ด้วยการวางแผนจัดซื้อจัดหาหลายๆ รูปแบบด้วยกัน แล้วใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ คือ
(1) รูปแบบหนึ่งของการจัดหาก็คือการเพิ่มระยะเวลาในสัญญาให้นานกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนจะนานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้จัดซื้อ และกรณีแวดล้อมของแต่ละอุตสาหกรรมตัวอย่างในเรื่องของกิจการพลังงานก็มีเช่น การทำสัญญาซื้อน้ำมันดิบกับประเทศผู้ขายเป็นรายปีเพื่อเสถียรภาพในด้านวัตถุดิบของโรงกลั่นและราคาเฉลี่ยที่ไม่จัดว่าสูงจนเกินไปในระยะยาว ถ้าจะพูดถึงราคาในระยะสั้นแล้วการซื้อจากตลาดถูกกว่ามากแต่ก็มีปัญหาในเรื่องการขาดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานที่ทำให้ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ถ้าหากผู้ซื้อวัตถุดิบไม่ต้องการทำสัญญาระยะยาวก็อาจอาศัยกรรมวิธีของ “ตลาดล่วงหน้า” ให้เป็นประโยชน์ได้
พ่อค้าส่วนมากจะเสี่ยงการซื้อด้วยสัญญาระยะยาวเพราะมีประสบการณ์ว่าจะเสียเปรียบเป็นส่วนใหญ่และจะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ซึ่งมักจะบีบระยะเวลาในการทำสัญญาให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
การใช้กลไกของตลาดล่วงหน้ายังคงมีประโยชน์ในอีกหลายแง่มุม เพราะกิจการในภาคเอกชนมีความคล่องตัวและมีความรับผิดชอบสูงมากเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ
การซื้อที่ดีนั้นไม่ควรผูกพันกับผู้ขายรายใดรายหนึ่งหรือเพียงแค่ 2-3 รายเพราะจะไม่มีโอกาสได้ส่วนลดหรือผลประโยชน์พิเศษเหมือนกับการติดต่อกับผู้ขายรายใหม่ๆ ซึ่งน่าจะเป็นธรรมดาของการค้าที่ควรมีแหล่งป้อนวัตถุดิบให้มากแหล่งที่สุดเท่าที่จะไปสรรหาเจรจาต่อรองได้ตราบเท่าที่คุณภาพของวัตถุดิบมีความสม่ำเสมอไม่มีปัญหาในด้านการผลิตทางอุตสาหกรรม
และ (2) ทำสัญญาในรูปของ CONSIGNMENT STOCK หรือฝากสินค้าที่จะซื้อให้อีกระยะหนึ่งไว้กับผู้ขายเพื่อให้แน่ใจว่ามีวัตถุดิบสำรองไว้ในระยะยาวค่อนข้างเหลือเฟือและในเวลาเดียวกันก็ทำการสำรองวัตถุดิบอีกจำนวนหนึ่งในรูปของสินค้าคงคลังไว้ใช้วันต่อวัน
ส่วนที่เก็บวัตถุดิบคงคลังนั้นให้อยู่ใกล้กับโรงงานของผู้ซื้อ วัตถุดิบที่นำมาเก็บสำรองในคลังของผู้ซื้อในกรณีนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายอยู่จนกระทั่งผู้ซื้อนำออกจากคลังไปใช้ในการผลิตจึงจะมีการจ่ายเงินแก่ผู้ขายเป็นคราวๆ ไปแต่จ่ายเงินด้วยราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้ว “การซื้อฝาก” แบบนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้นแต่มีผู้ใช้เป็นกลไกในการเก็บกักสำรองสินค้าทางเกษตร (เช่น ข้าว น้ำตาล ฯลฯ) หรือสินค้าคอมมอดิตี้อื่นๆ เพื่อรอเวลาสำหรับการโยกย้ายถ่ายเททางการค้าหรือเพื่อรอการส่งออกต่อไปซึ่งทำกันมานานแล้วในเมืองไทย
ที่กล่าวมาทั้งสองข้อเป็นเพียงแนวทางเพื่อเตรียมพร้อมเผชิญกับการลดค่าเงินของกิจกรรมอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งวัตถุดิบจากต่างประเทศขั้นต่อไปเป็นการหาหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นสูตรในการจัดซื้อในช่วงที่จะมีลดค่าเงิน
การจัดซื้อให้พอดีในช่วงที่มีการลดค่าเงิน การลดค่าของเงินก็เหมือนกับความเจ็บปวดของคนไข้เมื่อต้องผ่านกรรมวิธีทางการแพทย์ (เช่น ฉีดยา, ผ่าตัด ฯลฯ) ที่ไม่มีใครบอกหรือพรรณนาให้ทราบล่วงหน้าได้แน่นอน จึงเป็นหน้าที่ของพ่อค้าที่ต้องติดตามวิเคราะห์ความเป็นไปของภาวะการเงินและการคลังว่าเมื่อใดจะมีโอกาสความเป็นไปได้สูงในการลดค่าเงินเพื่อจะได้ฉวยโอกาสสำรองสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่องค์การทางการค้าของตนจะเปิดโอกาสให้ทำได้ ส่วนจะเก็บสำรองไว้ได้แค่ไหนในแต่ละช่วงเวลานั้นต้องอาศัยการคำนวณเป็นเครื่องชี้บอก
การเตรียมซื้อวัตถุดิบล่วงหน้านั้นมักจะทำโดยประมาณว่าในช่วงไหนที่จะมีโอกาสลดค่าเงินที่สุดเช่นจากเดือนไหนถึงเดือนไหนแล้ว เริ่มต้นซื้อวัตถุดิบไว้จำนวนหนึ่งในจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาดังกล่าว เช่นเมื่อมีการเก็งว่าจะมีการลดค่าเงินในช่วงเวลาระหว่างเดือนที่ TO ถึงเดือนที่ T1 (ดูรูปที่ 1) ก็มักจะต้องเริ่มจัดซื้อวัตถุดิบสินค้าจากต่างประเทศในเดือน TO โดยซื้อเป็นประมาณที่จะก่อให้เกิดความพอเหมาะพอดีที่สุดคือ X ดังแสดงไว้ในรูปเมื่อคำนวณหา “OPTIMAL PURCHASING RULE” ออกมาก็จะได้ว่า X = PdD + Q (เป็นสูตร) โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ X เป็นปริมาณการซื้อวัตถุดิบที่จะพอเหมาะพอดีที่สุดสำหรับอัตราการลดค่าเงิน d (มีหน่วยเป็นร้อยละ) ราคาเดิม p (เช่นมีหน่วยเป็นบาทต่อตัน) ค่าใช้จ่ายในการเก็บสำรองวัตถุดิบ r ปริมาณการสั่งซื้อที่เคยทำมาแต่ดั้งเดิม QA และความต้องการวัตถุดิบ D สรุปแล้วปริมาณที่ควรสั่งซื้อเพิ่มเติม ในช่วงที่มีการลดค่าเงินก็คือ (PdD) (เป็นสูตร) ถ้าจะดูตามในสูตรข้างต้น ส่วนนั้นเป็นปริมาณทั้งหมด ที่ต้องซื้อในช่วงที่มีการลดค่าเงิน สูตรง่ายๆ นี้น่าจะเป็นแนวทางให้กิจกรรมอุตสาหกรรมที่ต้องมีการนำเข้าได้ใช้ประโยชน์ในเชิงเตรียมการได้บ้างไม่มากก็น้อย
จะเห็นว่าการสั่งซื้อวัตถุดิบมีผลผูกพันโดยตรงกับอัตราการลดค่าของเงินแต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของความสามารถในการเก็บสำรองวัตถุดิบมาคอยบังคับไว้ตามความถูกแพงของค่าใช้จ่ายในการเก็บวัตถุดิบในคลังสินค้า การใช้สูตรสำหรับ OPTIMAL PURCHASING ที่กล่าวในข้างต้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการแก้ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าซึ่งจำจะต้องอาศัยมาตรการทางการค้าอื่นๆ อีกหลายด้านดังจะกล่าวในภายหลัง เราอาจทดสอบสูตรสั่งซื้อวัตถุดิบอย่างคร่าวๆ โดยสมมุติว่าจะมีการลดค่าเงินลงร้อยละ 10 ค่าใช้จ่ายในการเก็บวัตถุดิบ (r) เท่ากับร้อยละ 50 ของราคาวัตถุดิบ ดังนั้นส่วนที่จะต้องสั่งซื้อเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เคยซื้อก็จะเป็น PdD = PXO.1XD = D (เป็นสูตร) คือจะต้องซื้อวัตถุดิบเพิ่มขึ้นอีก 20% สำหรับกรณีนี้
การดำเนินงานในทางปฏิบัติ การดำเนินงานในด้านการค้าของวิสาหกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตนั้นยังต้องนำปัญหาในทางปฏิบัติอีกหลายๆ อย่างเข้ามาพิจารณา เช่น (มีกราฟ)
(1) การขาดข้อมูลข่าวสารและทั้งนี้รายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจสั่งซื้อวัตถุดิบ เพื่อให้เกิดความพอเหมาะพอดีที่สุด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้การลดค่าเงินมามีผลกับค่าใช้จ่ายในการผลิตหรือให้มีผลน้อยที่สุด ดังนั้นการตัดสินใจสั่งซื้อส่วนใหญ่จึงยังคงอยู่ในรูปของการกะประมาณโดยอาศัยประสบการณ์และแรงดลใจซึ่งอาจไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร
(2) การหาทางใช้วัตถุดิบอย่างอื่นมาทดแทนวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในบางกรณีก็ทำได้เพราะในแต่ละประเทศย่อมมีจุดอ่อนจุดแข็งในเรื่องนี้ด้วยกันทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องของการมองการณ์ให้ไกลตั้งแต่แรกเริ่มก่อนตั้งโรงงาน
(3) การหาวิธีการที่จะให้ผู้ขายลดราคาบ้างหรือยอมเปลี่ยนแปลงการใช้เงินตราเป็นสกุลอื่นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
(4) มาตรการในการเปลี่ยนจากประเทศผู้ขายประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง เพื่อเลี่ยงภาระอันเนื่องมาจากการลดค่าเงิน เช่น เปลี่ยนประเทศผู้ขายที่ใช้สกุลเงินที่อ่อนกว่า
และ (5) หามาตรการต่างๆ (เช่น เพิ่มความสามารถในการเก็บสำรองสินค้า ฯลฯ) เพื่อให้สามารถเผชิญกับการลดค่าเงินโดยให้เกิดการสูญเสียกับกิจการให้น้อยที่สุด ในบางกรณีอาจต้องปฏิรูปหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดซื้อจัดหาเสียใหม่ไว้รับสถานการณ์การลดค่าเงินโดยเฉพาะ
โลกของการค้าในจุดต่อๆ ไปนั้นน่าจะมีแต่ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการแก่งแย่งกันมากขึ้นทุกที แต่ก็น่าจะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ได้ หากรู้จักนำหลักวิชาใหม่ๆ เช่น OPERATIONS RESEARCH มาผสมผสานกับพื้นความรู้ในเศรษฐกิจการค้าเรื่อยไปจนถึงการตลาด เพื่อจะได้สามารถหาหลักเกณฑ์หรือแนวความคิดใหม่ๆ มาช่วยในการตัดสินใจดำเนินงานในภาวการณ์ต่างๆ ตั้งแต่สภาพปกติธรรมดาจนถึงเมื่อเกิดวิกฤตการณ์
การนำหลักทางคำนวณมาใช้ในการค้านั้นไม่ได้ต้องการให้ผู้ทำการค้าขาดความยืดหยุ่นยึดเหนี่ยวแต่แค่ตัวเลข แต่ผลของการคำนวณที่ได้รับการกลั่นกรองมาแล้วอย่างดีจากผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นแนวทางช่วยให้ผู้ตัดสินใจมีโอกาสได้และเห็นผลของการตัดสินใจทั้งส่วนที่เป็นผิวเผินและส่วนที่ลึกลงไปได้โดยไม่มีวิธีการอื่นใดที่จะแน่นอนไปกว่านี้ ส่วนอุปสรรคในการวางแผนด้วยการคำนวณอันเนื่องมาจากการหาตัวมูลหรือมีข้อมูลไม่สมบูรณ์ก็อาจเข้าได้ด้วยการสมมุติค่าตัวเลขต่างๆ โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยทำการค้ามานาน แล้วลองทำการคำนวณดูหลายๆ ครั้ง เป็นการดักหน้าดักหลังก็จะทำให้เห็นลู่ทางอะไรได้มากกว่าการคลำอยู่ในที่มืด
การหาทางจัดซื้อให้ถูกหลักเกณฑ์เมื่อมีการลดค่าเงินดังกล่าวในข้างต้นนี้เป็นเพียงหัวข้อหนึ่งในเรื่องการบริหารกิจการค้าระหว่างประเทศภายใต้ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งครอบคลุมเอาเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ระบบสินค้าคงคลัง และ ฯลฯ เข้าไว้ในระบบ ถ้าจะมองการที่และวางแผนในเรื่องเช่นนี้ให้สมบูรณ์ชนิดครอบจักรวาลแล้ว ก็คงต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมี MODEL อยู่มากมายที่ใช้สร้างแผนการลงทุนหรือหยั่งสถานภาพของกิจการค้า โดยสามารถนำเอาสภาพเศรษฐกิจเข้ามาพิจารณาได้ ซึ่งน่าจะมีผู้นำมาใช้ในเมืองไทยแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|