|
แบงก์กรุงเทพจัดอบรมนักข่าวเศรษฐกิจ 40 ชั่วโมงที่เปี่ยมด้วยความหมาย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
ข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ในสมัยหนึ่งถือกันว่า เป็นข่าวชิ้นเล็กๆ ไม่ได้มีความสลักสำคัญมากมาย เฉพาะหนังสือพิมพ์รายวัน ข่าวประเภทนี้จะถูกซุกอยู่หน้าในๆ และพร้อมที่จะยกออกทันทีถ้าเป็นวันออกลอตเตอรี่
แต่ 5-6 ปีมานี้ ทุกอย่างดูจะกลับเป็นตรงกันข้าม
ข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญขึ้น รายวันหลายฉบับเริ่มแยกข่าวประเภทนี้ออกมาเป็นคอลัมน์พิเศษและมีหนังสือพิมพ์รวมถึงนิตยสารที่รายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ-ธุรกิจ โดยเฉพาะเกิดขึ้นนับ 10 ฉบับ
รายงานข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจ หลายๆ ชิ้นได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยามากมายขึ้นในสังคม ซึ่งแน่นอนย่อมมีทั้งที่เป็นแง่บวกและแง่ลบ
สำหรับแบงก์กรุงเทพในฐานะเฟืองจักรตัวใหญ่ในระบบการเงินของประเทศ ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องถูกกล่าวถึงในแง่ของการตกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะใกล้ๆ นี้แบงก์กรุงเทพมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้บริหารการปรับโครงสร้างการบริหารขึ้นมาใหม่ การเปลี่ยนนโยบายมาเน้นเรื่องคุณภาพของสินเชื่อ ข่าวคราวก็เลยมีมากกว่าปกติตามไปด้วย
เมื่อถูกกล่าวถึงมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบงก์กรุงเทพจะกลายเป็นผู้ที่ซึมซับถึงความสำคัญของหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-ธุรกิจ หรือนักข่าวผู้เขียนข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจมากที่สุดแห่งหนึ่ง
และก็คงจะซึมซับมากในช่วง “72 ชั่วโมงวิกฤต” หลายเดือนก่อน ครั้งที่มีมือดีปล่อยข่าวว่า แบงก์กรุงเทพล้ม และคนแห่มาถอนเงินเพียงแค่ 3 วัน ถึงกว่า 4,000 ล้านบาท
“ข่าวลือหรือใบปลิวที่ปล่อยออกมานั้นมันเกิดขึ้นในจุดเล็กๆ แถวย่านธุรกิจของคนจีนแต่ข่าวที่แพร่สะพัดออกไปอย่างกว้างขวางนั้น เป็นเพราะหนังสือพิมพ์นำเรื่องนี้ไปถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง...” นักสังเกตการณ์วงนอกคนหนึ่งสรุป
“ก็คงจะมีส่วนจริง ซึ่งสำหรับนักหนังสือพิมพ์ก็เชื่อว่า ตนรายงานข่าวตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร แต่สำหรับคนไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์ก็อาจจะมองว่า หนังสือพิมพ์บางฉบับรายงานออกไปโดยขาดความเข้าใจหรือถ้าเข้าใจก็ไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงินของประเทศ สำหรับผู้บริหารของแบงก์กรุงเทพก็คงจะคิดอย่างนี้ไปด้วย...” อดีตนักหนังสือพิมพ์ระดับอาวุโสแสดงความเห็น
เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นและเหตุการณ์นั้นก็ได้ให้บทเรียนที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้กุมบังเหียนแบงก์กรุงเทพ สิ่งที่จะต้องทำกันต่อไปก็เห็นจะเป็นการป้องกันไม่ให้เรื่องร้ายแรงเช่นนั้นหวนกลับมาวาดลวดลายอีกครั้ง
ชาตรี โสภณพนิช เปิดใจกับ “ผู้จัดการ” ว่า มีความจำเป็นที่แบงก์กรุงเทพจะต้องยกเครื่องงานประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ และขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดนโยบายด้านการประชาสัมพันธ์ต่อไป คณะกรรมการชุดนี้มี วิระ รมยะรูป รองกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประธาน นอกจากนี้ก็ยังได้มอบหมายให้ ดร.สาธิต อุทัยศรี รองผู้จัดการประจำสำนักผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่เป็นสโปกแมนของแบงก์อีกด้วย
“ผมอยากจะเรียนว่า ต่อไปนี้ถ้ามีข่าวเกี่ยวกับธนาคารกรุงเทพ ขอให้โทรเช็กมาที่เรา จะเป็นผมหรือคุณวิระ หรือ ดร.สาธิต อุทัยศรี ก็ได้เรายินดีเปิดเผยอย่างยิ่ง...” ชาตรีบอกกับนักข่าวหลายๆ คน
นอกจากจะมีสิ่งที่เรียกว่า “การยกเครื่อง” งานประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นแนวความคิดของประธานกรรมการบริหาร ดร.อำนวย วีรวรรณ ก็เห็นจะได้แก่ การริเริ่มโครงการพิเศษ ฝึกอบรมนักข่าวเศรษฐกิจ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “การอบรมพิเศษเพื่อสื่อมวลชน” โดยมอบให้ส่วนการฝึกอบรมฝ่ายการพนักงานประสานงานกับฝ่ายการประชาสัมพันธ์ดำเนินการขึ้นมา
โครงการฝึกอบรมพิเศษ “เพื่อสื่อมวลชน” ได้ผ่านพ้นไปแล้ว 1 รุ่น โดยได้เปิดอบรมเป็นเวลา 9 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2527 ถึง 4 ตุลาคม 2527 มีการบรรยายทั้งสิ้น 15 หัวข้อรวม 25 ชั่วโมง และพาไปทัศนศึกษาที่โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ซึ่งแบงก์กรุงเทพอำนวยสินเชื่อการเกษตรอยู่อีก 15 ชั่วโมง รวมแล้วกว่าที่นักข่าวเศรษฐกิจจะหลุดรอดไปรับใบวุฒิบัตรจากมือ ชาตรี โสภณพนิช ได้ในวันปิดการอบรมก็จะต้องอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงเต็มๆ
ส่วนหัวข้อการบรรยายและวิทยากรที่แบงก์กรุงเทพเชิญมาอัดฉีดความรู้และประสบการณ์ให้นักข่าวเศรษฐกิจกว่า 60 คน จากสื่อมวลชนเกือบทุกแขนงนั้นก็ประกอบด้วย
การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- เศรษฐกิจไทย ดร.สาธิต อุทัยศรี รองผู้จัดการประจำสำนักผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
- กระบวนการงบประมาณแผ่นดิน ม.ร.ว. จันทรแรมศิริโชค จันทรทัต รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- นโยบายการเงินของรัฐ ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- รัฐวิสาหกิจ บัณฑิต บุณยะปานะ อธิบดีกรมบัญชีกลาง
- ประชากรและปัญหาว่างงาน มีชัย วีระไวทยะ เลขาธิการสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
- พลังงาน – อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต ประพัทธ์ เปรมมณี เลขาธิการพลังงานแห่งชาติ
- การประกอบการของธนาคารพาณิชย์ สุรินทร์ ตุลย์วัฒนกิจ ที่ปรึกษาทางการตลาด ด้านกิจการธนาคารในประเทศ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
- เทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลคลื่นลูกที่สาม ดร. วิพรรธ์ เริงพิทยา ประธานบริษัทวิปเทล
- การอำนวยสินเชื่อทางการเกษตร ชูศักดิ์ หิมะทองคำ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
- การส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม สถาพร กวิตานนท์ รองเลขาธิการบีโอไอ
- ระบบภาษีอากร ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รองอธิบดีกรมสรรพากร
- การค้าระหว่างประเทศ สมพล เกียรติไพบูลย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
- นโยบายและแผนงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สุรศักดิ์ นามานุกูล ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
โครงการฝึกอบรมพิเศษ “เพื่อสื่อมวลชน” แม้จะมีที่มาจากสถานการณ์ที่ไม่ค่อยจะดีนักสำหรับแบงก์กรุงเทพ และแม้จะมีนักข่าวหลายคนพยายามจะเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “เพื่อสื่อมวลชนและธนาคารกรุงเทพ” แต่ในแง่ของประโยชน์โดยตรงที่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจทั้งในแง่ทฤษฎีและข้อเท็จจริงตลอดจนความคิดเห็นของวิทยากรทุกๆ ท่านแล้ว ก็คงไม่มีผู้เข้ารับการอบรมคนไหนกล้าปฏิเสธ
ดูเหมือนจะมีเสียงเรียกร้องให้ธนาคารกรุงเทพ จัดรุ่นที่ 2 และ 3 ต่อๆ ไปด้วยซ้ำ
แบงก์กรุงเทพยังไม่ได้แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนว่า จะทำอย่างไรกับโครงการพิเศษดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะในประเด็นว่า จะดำเนินต่อไปหรือว่าจะหยุด เจ้าหน้าที่บริหารของแบงก์คนหนึ่งกล่าวเพียงว่า การจัดฝึกอบรมเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการกันมากพอสมควร เพราะต้องมีค่าใช้จ่าย มีกำลังเจ้าหน้าที่
จะมีเหตุผลสำคัญแต่แบงก์กรุงเทพไม่ได้บอกก็เห็นจะเป็น การรอดูผลที่เกิดขึ้นจากผู้เข้ารับการอบรมรุ่นแรกนี่กระมัง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|