โรคคลั่งกอล์ฟของญี่ปุ่น


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครตี “โฮลอินวัน” ได้ถือว่าโชคร้ายมาก

กอล์ฟก็เป็นเพียงกีฬาชนิดหนึ่งสำหรับชาวโลกทั่วๆ ไป แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นกอล์ฟเป็นมากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแต่เล่นและดู ชาวญี่ปุ่นยังแต่งตัว ขับรถ อ่านหนังสือ พูดคุย ดื่มและครุ่นคิดอยู่กับกอล์ฟอีกด้วย

กอล์ฟหรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกกันว่า “โกรูฟู” ไม่ใช่กีฬาที่ชาวญี่ปุ่นนิยมชมชอบมากที่สุด แน่นอนเพราะเบสบอลแย่งเอาไปแล้ว ไม่ใช่กีฬาดั้งเดิมประจำชาติอีกเหมือนกันเพราะมีมวยปล้ำพื้นเมืองที่เรียกกันว่าซูโม่อยู่ ซ้ำกอล์ฟยังเพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1903 นี้เองในเมื่อชาวอังกฤษนายหนึ่ง อาเธอร์ กรูม ผู้ซึ่งรักกอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น แล้วสร้างสนามกอล์ฟขนาดย่อมสามหลังขึ้นที่ลานสนามของบ้านพัก และนับแต่นั้นมากอล์ฟก็ได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในญี่ปุ่นอย่างแน่นแฟ้นเกินความคาดหมายจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่มากกว่ากีฬาอย่างปกติธรรมดา เป็นอารยธรรมจากโลกตะวันตกที่ซึมแทรกเข้าไปในสายเลือดของชาวญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้งและมีอิทธิพลมากอย่างคาดไม่ถึง และซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะเป็นอิทธิพลที่แตกต่างไปจากลักษณะพื้นฐานดั้งเดิมของกอล์ฟในโลกตะวันตกด้วย

อิทธิพลและอารยธรรมที่เกิดจากกอล์ฟในญี่ปุ่นนั้นดูเหมือนจะแพร่ขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดูได้จากคำพูดของรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นกล่าวแก่นักข่าวต่างชาติที่มาสัมภาษณ์ถึงทัศนะของเขาที่มีต่อข้อเสนอเงื่อนไขการทำธุรกิจการค้าต่างๆ ว่า “เราก็เพียงแต่ตีเจ้าความคิดเรื่องนี้ลงในสนามหญ้าเท่านั้นเอง”

เสื้อสำหรับใส่เล่นกอล์ฟสวมกันได้ สวมกันดีทั้งนอกและในสนามกอล์ฟ ถือว่าเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งไปแล้ว เหมือนกับกางเกงในผ้าฝ้ายดิบสีขาวอย่างที่อาร์โนลด์ ปาล์มเมอร์ชอบใส่นั้นขายดิบขายดีที่สุดในหมู่กางเกงในชายชาวญี่ปุ่น เช่นเดียวกับรถยนต์ต่างประเทศที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นคือ โฟล์คกอล์ฟ ส่วนจะเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศก็จะต้องรถนิสสันรุ่น แจ็ค นิกคลอส

ตลาดหนังสือของญี่ปุ่นก็แน่นอนว่าจะต้องมีหนังสือเฉพาะของกอล์ฟสิบกว่าเล่ม ขายดิบขายดีแน่นอน ส่วนหนังสือกีฬาประเภทอื่นๆ ในประเทศอีกห้าสิบกว่าเล่มก็เช่นกันจะต้องมีเรื่องกอล์ฟแทรกไว้ด้วยทุกฉบับและคงไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงหนังสือเกี่ยวกับการสอนเล่นกอล์ฟก็ได้กระมัง

ปีหนึ่งรายการแข่งขันกอล์ฟอาชีพในญี่ปุ่นมีอยู่ 56 แห่ง ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ทุกรายการตามสถานีต่างๆ นอกจากนี้รายการสอนหรือบทเรียนกอล์ฟเบื้องต้นและเบื้องปลายออกอากาศอยู่เป็นประจำวันและหลายหน ภาพนิ่งหรือภาพยนตร์โฆษณาในโทรทัศน์ก็แน่นอนว่าจะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับกอล์ฟ และท้ายสุดคงจะไม่มีชาวญี่ปุ่นคนไหนที่ไม่รู้จัก แจ็ค นิกคลอส นักกอล์ฟอันดับหนึ่งของโลกชาวอเมริกัน อย่างน้อยจะต้องเห็นภาพของเขาในโฆษณาบัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรสอยู่แล้ว

เนื้อที่ว่างพอที่จะทำเป็นสนามกอล์ฟอีกของญี่ปุ่นนั้นไม่มีอยู่แล้ว ที่อยู่อาศัยแย่งไปหมด หนทางแก้ไขความอยากจะตีกอล์ฟที่ดีที่สุดคือจัดสร้างอาคารพร้อมสนามสำหรับตีลูกกอล์ฟระยะไกลอย่างเดียว ที่เรียกกันว่า ไดรฟวิ่งเลนขึ้นมา ให้หวดกันแก้ความกระสันได้

ไดรฟวิ่งเลน ในญี่ปุ่นบางแห่งจึงมีสองหรือสามชั้นให้พอแก่ความต้องการของผู้คนที่เชื่อว่ามีนักกอล์ฟระดับต่างๆ อยู่ในประเทศประมาณ 14 ล้านคน จากพลเมืองทั้งหมด 118 ล้านคน

สนามกอล์ฟได้มาตรฐานของญี่ปุ่นมีไม่ถึงสองพันสนาม ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งได้ชื่อว่าคลั่งไคล้กีฬาชนิดนี้เหมือนกันมีอยู่ถึงเกือบสองแสนสนามทั่วประเทศ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ชาวญี่ปุ่นผู้คลั่งกอล์ฟจะมีโอกาสลงไปวาดลวดลายในสนามกอล์ฟจริงๆ น้อยเต็มที พูดแล้วไม่น่าเชื่อว่าบางคนปีหนึ่งลงไปเล่นที่สนามครบหลุมเพียงสองหรือสามครั้งเท่านั้น นอกจากนั้นหวดลูกกอล์ฟตามไดรฟวิ่งเลน หรือบนพรมในบ้านและในสำนักงานเท่านั้น

สนามกอล์ฟจะต้องจองคิวกันเป็นปีหรือข้ามปีทีเดียว เมื่อถึงกำหนดจะเล่นตามที่จองไว้ ส่วนมากก็ต้องเดินทางข้ามจังหวัดใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือเป็นวัน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรสำหรับในคืนวันศุกร์หรือเสาร์ ดึกดื่นหรือใกล้รุ่งขนาดตีสอง ตีสาม ก็จะมีชายเป็นกลุ่มๆ ในชุดกีฬารัดกุมสะพายถุงกอล์ฟเดินดุ่มๆ มุ่งหน้าไปสถานีรถไฟ สนามบิน หรือรถยนต์ เพื่อตรงไปสู่สนามกอล์ฟ

คำด่ากันระดับเบาๆ ในหมู่ผู้ใกล้ชิดว่า “ไอ้บ้ากอล์ฟ” จึงมีความรุนแรงเหมือนคนที่ถูกด่าไป “บ้า” เรื่องอย่างอื่นและยังมีการยกเอากวีนิพนธ์ไฮกุตอนหนึ่งมาอ้างด้วยว่า

“แดดจ้า คนคลั่งกอล์ฟ เข้าแถวรอคอย”

แต่อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นเล่นกอล์ฟและปฏิบัติต่อกอล์ฟไม่เหมือนชนชาติอื่นๆ อยู่ดี เพราะถือเอาเรื่องฐานะทางสังคม และเศรษฐกิจมาปนเข้าไปด้วย ไม่ได้ถือว่าเป็นกีฬากลางแจ้ง ออกกำลังกายและจิตใจเท่านั้น กอล์ฟของญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับข้อตกลง ความกดดันทางสังคมและธุรกิจ ความรู้สึกและการวางตัวในสังคมซึ่งแตกต่างไปจากนักกอล์ฟของประเทศอื่นๆ

“คนญี่ปุ่นจะหัดกอล์ฟแต่แรกเริ่มก็ผิดจุดประสงค์เสียแล้ว ไม่เหมือนคนอเมริกันที่หัดเล่นเพื่อเป็นการพักผ่อนในยามว่าง แต่คนญี่ปุ่นหัดเพื่อสาเหตุทางสังคมและธุรกิจ และหัดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย” นายฮิโรชิ กาวานามิ โปรกอล์ฟคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศให้ความเห็นและยังเปิดเผยด้วยว่า ในเมื่อสาเหตุการหัดเล่นกอล์ฟถูกบิดเบือนไปเสียแต่ต้นเช่นนี้ กฎเกณฑ์หรือแบบแผนของกีฬากอล์ฟที่แท้จริง รวมทั้งการปฏิบัติตามกติกาจึงลดหย่อนลงไปมากสำหรับนักเล่นกอล์ฟชาวญี่ปุ่น

ไม่ว่าจะไปถามชาวญี่ปุ่นคนไหนก็ตามว่าเล่นกอล์ฟทำไม ส่วนใหญ่มักจะตอบว่าเพื่อฐานะทางสังคมหรือไม่ก็เพื่อด้านธุรกิจ ส่วนใหญ่อีกเหมือนกันที่เห็นว่า กอล์ฟคือกีฬาระดับสูงสำหรับผู้บริหารประเทศ หรือกีฬาสำหรับบุคคลในรั้วในวังไป

ประวัติกอล์ฟในญี่ปุ่นสั้นๆ หลังจากการสร้างสนามขนาดสามหลุมของนายอาเธอร์ กรูม เมื่อปี ค.ศ. 1903 แล้วต่อมารายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ได้แก่เมื่อครั้งที่จักรพรรดิองค์ปัจจุบันเดินทางไปอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1921 แล้วทรงเล่นกอล์ฟกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด แห่งเวลส์ และในปีต่อมาสนามกอล์ฟมาตรฐานแห่งแรกก็ถูกสร้างขึ้นในพระราชวังเพื่อรอการเล่นกอล์ฟ “นัดเยือน” เมื่อเจ้าชายจากอังกฤษเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นบ้าง เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นได้ถูกบันทึกภาพไว้มากมายและเก็บรักษาไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์ของสมาคมกอล์ฟญี่ปุ่นจนทุกวันนี้

เมื่อทหารอเมริกันเข้ามายึดครองญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้นำเอากอล์ฟมาเผยแพร่ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น แม้ว่าในช่วงแรกจะห้ามชาวญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามเล่นกอล์ฟก็ตามที เมื่อคำสั่งดังกล่าวยกเลิกกอล์ฟจึงขยายตัวแพร่หลายไปมากยิ่งขึ้นอีกมีผู้นิยมเล่นเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นจนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเช่นทุกวันนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ กอล์ฟซึ่งเติบโตมาในยุคเดียวกันจึงพัฒนาไปแตกต่างจากสังคมผู้เล่นของประเทศอื่นๆ ด้วย แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นยุคใหม่นี้จะมีความเสมอภาคมากกว่าเดิมมากนักก็ตามที แต่กอล์ฟซึ่งถือกันว่าเป็นกีฬาของผู้ชายจึงมีน้ำหนักเน้นอยู่ในวงการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยในลักษณะเฉพาะตัว

ยกตัวอย่างง่ายๆ สำหรับนักธุรกิจระดับสูง ชาวญี่ปุ่นที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้นนอกจากจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโตเกียว มีภรรยาที่น่ารักแล้วยังจะต้องเล่นกอล์ฟเป็น มีแต้มต่อหรือแฮนดิแคปที่ต่ำพอสมควร ซึ่งเรื่องความสามารถที่เกี่ยวกอล์ฟดังกล่าวถือกันในวงการนักบริหารชาวญี่ปุ่นว่าเป็นการรับรองความสามารถในการบริหารงาน ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จะเรียกว่า ถ้าจะต้องการมีความสำเร็จทางธุรกิจจะต้องมีความสำเร็จทางกอล์ฟเสียก่อนก็ว่าได้

การหารือ ตัดสินใจทำธุรกิจสำคัญๆ ในหมู่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นเองหรือกับต่างชาติจึงมักจะใช้สนามกอล์ฟเป็นที่เจรจาแทนโต๊ะในห้องประชุม ในหมู่ชาวญี่ปุ่นเองหากลองเคยเล่นกอล์ฟกันมาก่อน แม้จะเป็นครั้งเดียวก็จะช่วยให้การเจรจาธุรกิจของสองฝ่ายคืบหน้าไปได้สวยงามกว่าที่เคยเสวนากันมาในสนามกอล์ฟก่อนแน่นอน ส่วนที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้วถ้าไปเล่นกอล์ฟร่วมกันเป็นหมู่ในสนามเดียวกันก็จะยิ่งสร้างความสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นมากได้ เรื่องความเป็นกีฬากลางแจ้งเพื่อให้มีโอกาสได้รับอากาศบริสุทธิ์ให้หายเคร่งเครียดจากงานนั้นเป็นประเด็นรองลงมาต่างหาก

ราคาค่าใช้จ่ายสำหรับกอล์ฟในญี่ปุ่นแพงลิบลิ่วทีเดียว ยิ่งคนที่นานปีทีหนจะไปหวดลูกกอล์ฟในสนามได้เชื่อว่าถ้าหวดกันตั้งแต่เช้าจรดเย็นจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 เยน หรือประมาณ 5,000 บาทไทยเรา ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวรวมทั้งค่าสนาม แคดดี้ อาหารและการเดินทางเอาไว้ด้วยแล้ว

ยิ่งตีโฮลอินวัน หรือหวดลูกครั้งเดียวลงหลุมไปเลยแทนที่นักกอล์ฟคนนั้นจะดีใจเหมือนอย่างที่อื่นอาจจะร้องไห้ก็ได้ ในเมื่อจะมีค่าใช้จ่ายเนื่องในวาระการแสดงฝีมือให้ประจักษ์ครั้งนี้มากมาย เช่น ต้องจัดเลี้ยงที่สโมสร ให้ทิปแคดดี้ ซื้อต้นไม้สักพุ่มหรือสองพุ่มให้แก่สนามและแจกของขวัญให้แก่ผู้ที่เล่นด้วย เป็นต้น เฉลี่ยแล้วจะตกเป็นค่าใช้จ่ายราว 250,000 เยน หรือ 25,000 บาททีเดียว

ดังนั้นนักเล่นกอล์ฟชาวญี่ปุ่นที่ระมัดระวังโชคร้ายในเรื่องนี้จึงประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากโฮลอินวันของตัวโดยจ่ายเงินประกัน 960 เยน เพื่อว่าหากเกิดโชคร้ายดังกล่าวเข้า จะได้มีค่าใช้จ่าย 300,000 เยน รออยู่จากผู้รับประกัน

สโมสรหรือคลับกอล์ฟในญี่ปุ่นจึงเป็นคล้ายกับสิ่งหวงห้ามสำหรับคนทั่วไปโดยปริยายในเมื่อมีคนเล่นเกินจำนวนอยู่แล้วยิ่งสโมสรที่เก่าแก่มีชื่อเสียงยิ่งหาทางเข้าไปเป็นสมาชิกได้ยากเย็นนัก บางแห่งต้องรอให้สมาชิกเดิมตายไปก่อน นั่นแหละคนที่ยังไม่ตายและเข้าคิวสมัครรอไว้จึงจะเข้าไปเป็นสมาชิกแทนได้ และรายจ่ายก็สูงเป็นแสนๆ หรือล้านๆ เยนทีเดียว อย่างเช่น สโมสรฮิโรโนและสนามกอล์ฟกาซูมิกาเซกิ ซึ่งรายหลังนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสนามกอล์ฟที่ดีที่สุดในโลก เทียบเคียงได้กับสนามเซนต์แอนดรูในสกอตแลนด์ เวนท์เวิร์ด ในอังกฤษ หรือไซเปรส พอลยท์ ในแคลิฟอร์เนียทีเดียว

อุปกรณ์กอล์ฟไม่ว่าจะเป็นไม้หรือเสื้อ รองเท้า ถ้าสั่งมาจากต่างประเทศซึ่งดูเหมือนว่าจากอเมริกาจะได้รับความนิยมมากที่สุดเมื่อเจอกับภาษีโหดของญี่ปุ่นเข้า 33% บวกกับค่าขนส่งอีก 6.9% ราคาจึงแพงลิ่ว แต่ก็ขายได้ขายดี มีนักกอล์ฟชาวญี่ปุ่นในดีพาร์ตเมนต์สโตร์ใหญ่ๆ นั้นมีลานเครื่องกอล์ฟอย่างเดียวที่กว้างกว่าสนามฟุตบอลไว้ในอาคารให้แฟนๆ กีฬาประเภทนี้เลือกอย่างลานหูลานตา ชุดไม้ยี่ห้อแม็คเกรเกอร์ โมเดล 693 ซึ่งฮิตนักหนา เพราะนักกอล์ฟญี่ปุ่นชื่อตาเตโอะ โอซากิใช้ และเพิ่งจะได้ชัยชนะมาในสนามต่างประเทศมีราคาถึง 700,000 เยน (70,000 บาท)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.