วัฒนธรรมกับการจัดการ คนเกาหลีกับวิธีการจัดการในวงธุรกิจ

โดย มาร์ค เอม เบอร์โร
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ในเกาหลีมีลักษณะพิเศษและการปฏิบัติในวงการธุรกิจบางอย่าง ซึ่งถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นมารยาทที่ถูกต้อง ซึ่งถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นมารยาทที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่ในวงการเช่นนั้น

สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษได้แก่มารยาทเกี่ยวกับการพบปะกันเป็นครั้งแรก ระหว่างแขกชาวต่างประเทศกับชาวเกาหลีผู้เป็นเจ้าภาพ

มีหลายเรื่องหลายกรณีด้วยกันที่ควรจะกล่าวถึง

เรื่องหนึ่งก็คือ การไปพบควรไปให้ตรงเวลา หรืออาจจะล่าไปบ้างไม่กี่นาทีก็ได้ แต่อย่าไปถึงก่อนเวลา

โดยทั่วไป นักธุรกิจชาวเกาหลีจะทำงานเต็มกำหนดตามเวลาทำงานเสมอ

การไปถึงก่อนกำหนดจึงเป็นการรบกวนเวลาทำงานของเขา!

อย่างไรก็ดีแขกไม่ควรจะไปถึงสายกว่า 5 นาที เพราะการไปล่ากว่านั้น เป็นการเริ่มต้นดูหมิ่นความหมายของเจ้าภาพชาวเกาหลี นอกจากนั้น ควรมีนามบัตรติดตัวไปหลายๆ ใบหน่อย เพราะมันจะช่วยสร้างความรู้จักมักคุ้นให้เกิดขึ้น จัดลำดับชื่อให้เหมาะสมและถูกต้องตามพิธีการ สำหรับนามบัตรควรพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษด้านหนึ่ง และเป็นภาษาจีน หรือภาษาเกาหลี (ภาษาฮั่งกุล) บนอีกหน้าหนึ่ง

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้พูดกันเป็นประจำ ในทางธุรกิจของเกาหลี ในขณะที่ภาษาจีนใช้สำหรับสรุปเรื่อง ทำรายงาน หรือเขียนเป็นเอกสารต่างๆ เพราะเป็นภาษาที่มีความหมายแน่นอน และสามารถเจาะจงความหมายที่แตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ ในภาษาฮั่งกุลกับภาษาอังกฤษได้ เว้นแต่ผู้ที่สามารถพูดภาษาเกาหลีได้อย่างคล่องแคล่ว การใช้ภาษาอังกฤษเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ไม่ควรใช้ภาษาอังกฤษกับเจ้าภาพชาวเกาหลีที่แขกผู้เข้าพบไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะมิฉะนั้นจะหลายเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นเขาไป แต่การที่แขกชาวต่างประเทศไม่ใช้ภาษาอังกฤษก็เป็นการลดความภาคภูมิของตัวแขกผู้ไปเยือนนั้นด้วยเหมือนกัน

ชาวเกาหลีนั้นยึดถือมากเกี่ยวกับลำดับญาติและลำดับอาวุโส แม้โดยทั่วไปเขาไม่คิดว่าอาคันตุกะชาวตะวันตกจะถือตามระบบอย่างที่ตัวเขาและชาวเกาหลีตลอดจนชาวตะวันออกอื่นๆ เขาถือกัน

แต่เขาก็อาจไต่ถามถึงบ้างตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยมิได้มีเจตนาที่จะสอดรู้สอดเห็นในเรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด

หลักสำคัญที่เขาใช้ในการจำแนกแยกแยะลำดับอาวุโสก็คือ ตำแหน่งงาน ลำดับยศ และอายุ ถ้าหากความสัมพันธ์ใกล้ชิดได้คลี่คลายไปตามหลักเกณฑ์นี้แล้ว เขาก็จะเปลี่ยนไปสู่หลักเกณฑ์อย่างอื่นต่อไป เช่น ระดับของโรงเรียนที่ได้เล่าเรียนมา ปริญญาทางการศึกษาที่ได้รับ หรือระยะเวลาที่สำเร็จการศึกษา

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ปัญหาเกี่ยวกับลำดับอาวุโสก็จะผ่านพ้นไปได้ แล้วการเจรจาก็จะดำเนินกันต่อไป

นักธุรกิจชาวเกาหลีเขาจะใช้ประเพณีโค้งคำนับแก่ผู้ที่มีอาวุโสกว่า เพื่อเป็นการแสดงการต้อนรับ และการแสดงคารวะผู้มีอาวุโสน้อย จะโค้งคำนับก่อน โดยโค้งลำตัวจากสะเอวขึ้นไป ทำมุมจากการยืนตัวตรงโค้งลงมาระหว่าง 30 ถึง 45 องศา ส่วนผู้มีอาวุโสกว่า จะคำนับตอบด้วยการโค้งตัวลงน้อยกว่านิดหน่อย

นอกจากนั้น ชาวเกาหลีถือว่าจะเป็นการสุภาพกว่า และแสดงถึงการคารวะกว่าด้วยการส่งของหรือรับของโดยใช้ 2 มือ แทนที่จะใช้มือเดียว ลักษณะแบบเดียวกันนี้ใช้กับการสัมผัสมือด้วย โดยยื่นมือขวาออกไปสัมผัส และกอบมือซ้ายไว้เบื้องล่างแถวๆ ข้อศอกขวา

เว้นแต่ชาวเกาหลีที่มีความเป็นกันเองอย่างมากกับผู้ที่เขาต้อนรับ เขาชอบให้แขกเรียกชื่อสกุลของเขาต่อจากคำนำหน้านามว่า คุณ เช่น คุณชอน บางทีชื่อสกุลของเขาต้องติดตามด้วยอักษรย่อชื่อตัวของเขาอีก 2 ตัว เช่น คุณปัก ดี.เจ. ถ้าเกรงจะเป็นการสับสนว่า ในขณะที่พูดจากันนั้นหมายถึงคุณปักคนไหนแน่

เมื่อนักธุรกิจเกาหลีพร้อมที่จะสัมพันธ์กับแขกของเขาในลักษณะที่เป็นทางการน้อยลง เขาจะแนะว่า ให้เรียกชื่อสกุลของเขาเฉยๆ ก็ได้ เช่น “คิม” ชาวเกาหลีบางคนที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มักมีชื่อตัวตามแบบตะวันตก และมักชอบให้เรียกชื่อตัวมากกว่าเรียกชื่อสกุล เนื่องจากชาวเกาหลีบางคนถือว่าชื่อตัวของเขานั้นเป็นเรื่องส่วนตัวมาก การแนะให้เรียกชื่อตัวแบบนั้นจึงต้องรอให้คุ้นเคยกันเสียก่อน

ในระหว่างการพบปะกันครั้งแรกนั้น เจ้าภาพชาวเกาหลีมักจัดให้มีสื่อขึ้นมาก่อน โดยหลังจากได้พบและทักทายกันแล้ว ก็มักจะเสิร์ฟน้ำชาหรือกาแฟกันก่อนสักขณะหนึ่ง เมื่อนำน้ำชาหรือกาแฟมาเสิร์ฟแล้ว เจ้าภาพเกาหลีจะเชิญขึ้นก่อนแล้วดื่มกัน ชาวเกาหลีมักจะจิบดื่มไปทีละน้อยอย่างช้าๆ และไม่ค่อยมีการเติมกันอีก

ในการพบปะกันครั้งแรก เจ้าภาพชาวเกาหลีอาจเชิญเพื่อนหรือเพื่อนๆ ร่วมโรงเรียนมาร่วมประชุมพบปะกัน การพบปะกันแบบนี้กินเวลาราวชั่วโมง หรือเกือบชั่วโมง ซึ่งส่วนมากมุ่งอยู่ที่ความสนุกสนาน และปล่อยการเจรจาเรื่องราวทางธุรกิจเอาไว้ในการพบปะครั้งที่ 2 หรือในการพบปะครั้งหลัง

ในบางคราวภายหลังจากการติดต่อกันแล้ว ระหว่างแขกชาวต่างประเทศกับเจ้าภาพฝ่ายเกาหลีก็อาจมีโอกาสได้พบปะกับบุคคลบางคนในวงราชการต่อไปอีกด้วย ในกรณีเช่นนั้นเจ้าภาพเกาหลีจะจัดเวลาอันเหมาะสมว่าควรจะให้พบปะกันเมื่อใด และเขาจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการนัดพบดังกล่าว

บางทีแขกต่างประเทศอาจถูกขอร้องให้ทำประวัติย่อของตนเองเอาไว้ล่วงหน้าก่อนการพบปะกัน และเขาจะต้องนำนามบัตรที่เพิ่งพิมพ์ขึ้นมาใหม่ติดตัวไปด้วย เพื่อยื่นแก่ผู้มีอาวุโสที่เขาเพิ่งจะได้พบในตอนแนะนำตัว แบบพิธีในการพบกันนี้ก็เหมือนๆ กับการได้พบกับเจ้าภาพเกาหลีในครั้งแรก จะมีข้อยกเว้นออกไปก็เพียงอย่างสองอย่าง การพบปะกันในครั้งนี้ว่ากันว่าโดยทั่วไปแล้วออกจะมีพิธีรีตองมากกว่า โดยเริ่มพบปะกันตรงตามเวลา และเสร็จสิ้นการพบปะกันตามเวลาที่กำหนดไว้เช่นกัน ตามปกติธรรมดาแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ล่ามบันทึกคำพูดเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานว่า ได้พูดจาอะไรกันบ้าง และเก็บไว้ใช้ประโยชน์เมื่อต้องการ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่อาวุโสจะรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีก็ตาม ในบางครั้งบางคราวเขาอาจพูดด้วยภาษาเกาหลีโดยผ่านล่ามก็ได้

เจ้าหน้าที่อาวุโสโดยมากมักชอบให้เรียกชื่อตำแหน่งกับชื่อสกุลของเขา เช่น ท่านประธานหยู เป็นต้น เขาถือกันว่า เมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อเป็นการแสดงกิริยาสุภาพ ควรจะนั่งตัวตรงตามสบายโดยรวบเข่าทั้ง 2 เข้าหากัน การนั่งไขว่ห้าง หรือนั่งตัวงอ ถือกันว่าเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ การแสดงความนับถือใช้การสัมผัสมือกันอย่างธรรมดาๆ ในตอนเริ่มต้น และตอนสิ้นสุดการพบปะกันก็พอ

การที่แขกชาวต่างประเทศแสดงความกระตือรือร้นมากเกินไปในการกระชับความสัมพันธ์ตั้งแต่จุดเริ่มแรกของการติดต่อกับเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เขาได้พบปะนั้น จะสร้างความสับสนให้แก่เจ้าภาพเกาหลี อาคันตุกะควรเพียงแต่ยื่นนามบัตรตามธรรมดาๆ ก็พอ แล้วมอบความไว้วางใจให้เจ้าภาพเกาหลีเป็นผู้ดำเนินการต่อไป ซึ่งเขาจะใช้เวลาและการพิจารณาตามสมควร ในการกำหนดท่าทีที่จะสัมพันธ์กับแขกต่างประเทศ โดยใช้ปัจจัยต่างๆ หลายอย่างด้วยกันซึ่งแขกชาวต่างประเทศจะรู้เห็นได้น้อยมาก หรือไม่ก็ถูกควบคุมอย่างมาก

เจ้าภาพเกาหลีเป็นบุคคลที่มีความเมตตากรุณา และรู้จักปรับปรุงพลิกแพลงได้ดีที่สุดผู้หนึ่งในโลก และเขามีความภาคภูมิใจตนเองในความฉลาดทางด้านนี้ อาคันตุกะชาวต่างประเทศเพียงแต่ทำใจให้เย็นๆ และรอคอยความเอื้ออารีเท่านั้น เขาก็จะพบกับความสำเร็จในดินแดนอันเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพแห่งนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.