|
เทคนิคการจัดการกับการลาป่วย “การเมือง”
โดย
สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
“ในแต่ละหน่วยงานมักมีพนักงานประเภทลาป่วยเป็นนิจลากิจประจำ มาสายซ้ำๆ โดยจะมีเทคนิคการลาที่ถูกต้องตามกฎหมายและตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท ทำให้เสียการปกครอง และทำให้พนักงานดีๆ พลอยเสียไปด้วย”
พนักงานที่มักจะขาดงานโดยลาป่วย ลากิจ หรือมาทำงานสายบ่อยๆ มักจะมีปัญหา 3 เซ็ง
เซ็งนาย !
เซ็งงาน !
เซ็งเพื่อนร่วมงาน !
แถมด้วยปัญหาหลัก 3 อย่าง :-
สภาพแวดล้อมเป็นใจ เช่น อากาศในตอนเช้าเย็นสบายดี ฝนพรำๆ เลยงีบต่อ ยอมขาดงานสักวัน หรือไม่ก็ตื่นสาย เลยคิดว่า ถ้าจะไปสาย สู้ไม่ไปดีกว่า
ปัญหาส่วนตัว แก้ไม่ตกซักที เช่น เรื่องแฟน เรื่องครอบครัว ฯลฯ
ลัทธิเอาอย่าง เห็นเพื่อนๆ ขาดงาน มาสายเป็นประจำ ไม่เห็นมีใครว่าอะไร เลย… เอามั่ง
พนักงานที่มีปัญหาขาดงานหรือมาสายบ่อยๆ มักจะมีสายเหตุไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง หรืออาจจะหลายๆ สายเหตุรวมกัน
การพิจารณาดำเนินการ ควรจะต้องเจาะลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงว่า เกิดจากอะไร
การด่วนสรุปว่า พนักงานที่ขาดงานบ่อยๆ หรือมาสาย เป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนมีปัญหานั้น
ออกจะเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป
พนักงานหญิงคนหนึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ถูกให้ออกจากงานเพราะขาดงานมากเกินไป ทำให้ผลผลิตไม่ถึงเป้า
ในระหว่างที่ขาดงานบ่อยๆ หัวหน้าเรียกมาพูดว่า
“ถ้าเธอขาดงานอีก เธอจะต้องออกจากงาน”
แต่หัวหน้างานคนนั้น ไม่เคยถามสักคำว่า มีปัญหาอะไรหรือไม่ที่ทำให้ต้องขาดงานบ่อยๆ
เพราะเหตุผลจริงๆ ก็คือ เธอจะต้องดูแลสามีที่ไม่สบายจนต้องเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู.
แต่ก็มีพนักงานบางคนที่เดินไต่เส้นของกฎหมายและเล่นกลกับระเบียบข้อบังคับของบริษัท
กฎหมายกำหนดว่า ในปีหนึ่งพนักงานจะลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง 30วันทำงาน หากลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์ และหากหาใบรับรองแพทย์ไม่ได้ ก็เพียงแต่แสดงเหตุผลให้ทราบ
พนักงานประเภทที่มักจะหาเรื่องลาป่วย ก็จะลาครั้งละ1-2 วัน เนื่องจากไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์
หรือหากจะลาถึง 3 วัน ก็ไปหาใบรับรองแพทย์จากคลินิกบางแห่ง โดยเสียเงินไม่กี่สิบบาท
หากสังเกตให้ดี วันที่ลาป่วยของพนักงานประเภทนี้ มักจะเป็นวันก่อนหรือวันหลังวันหยุด เช่น หยุดวันจันทร์หรือวันศุกร์ (กรณีที่ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน หรือหยุดก่อนหรือตามวันหยุดประเพณี
คือลาป่วยครบวันหยุด
บางคนถือโอกาสลากิจต่อด้วยลาป่วยและตามด้วยวันหยุด
พนักงานบางแห่งขอลากิจ พอได้รับอนุมัติ ก็ไปถือป้ายด่าประท้วงผู้บริหารก็เคยมีมาแล้ว
นักบริหารหลายๆ คนมักจะคิดว่า กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องกำหนดวันลากิจให้ลูกจ้าง จริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้กำหนดเลย
การจะกำหนดให้มีวันลากิจหรือไม่ หรือการกำหนดให้มีการจ่ายหรือไม่จ่ายเงินเดือนค่าจ้างในวันลากิจ จึงแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท
บางบริษัทใช้วิธีการแก้ไขเรื่องการขาดงานและการมาสาย โดยจัดให้มีกิจกรรมในบริษัทในทุกๆ วันที่มีการทำงาน เช่น มีกิจกรรมกีฬา มีรายการบันเทิงประเภทนำวิดีโอมาเปิดให้ดูวันละครึ่งชั่วโมง หากอยากรู้เรื่องว่า ตอนต่อไปเป็นอย่างไร ก็ต้องมาทำงานในวันรุ่งขึ้น เพื่อจะได้ดูวิดีโอเทปต่อ
หรือบางทีก็จัดให้มีการขายสินค้าแปลกๆ ราคาถูกๆ แก่พนักงาน หรือตั้งรางวัลแก่ผู้ที่มีผลผลิตสูงสุดในแต่ละวันหรือให้รางวัล หรือเบี้ยเลี้ยงแก่ผู้ที่ไม่ลาป่วย ลากิจ หรือไม่เคยมาทำงานสายตลอดปี
บางแห่งนำสถิติการมาทำงานของพนักงานทุกแผนกมาติดไว้ในที่เปิดเผย ซึ่งอาจจะมีทั้งแบบแยกสถิติหรือเป็นรายบุคคล
จากนั้นก็ให้แข่งขันกันว่า แผนกใดหรือพนักงานคนใดจะมีสถิติการมาทำงานสูงสุด
คนไหนขาดงานบ่อยๆ ก็จะมีสถิติการทำงานของตนเองปรากฏต่อสายตาชาวบ้าน
บางแห่งสร้างความรู้สึกให้พนักงานเกิดความกระตือรือร้นที่อยากมาทำงานทุกๆ วัน เพื่อพบกับสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ในงาน
นั่นเป็นการแก้ปัญหาทั้งองค์กร
แต่ถ้าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะบุคคล แนวทางการแก้ไขอาจจะแตกต่างออกไป
ผู้จัดการคนหนึ่งแก้ปัญหานี้ โดยกำหนดว่าพนักงานจะต้องไปพบแพทย์ของบริษัทในวันแรกที่มาทำงานภายหลังจากการป่วย และแพทย์จะซักถามอาการการเจ็บป่วยโดยละเอียดและจดบันทึกไว้ในแฟ้มประวัติคนไข้
พอจะป่วยครั้งต่อไป พนักงานก็เริ่มจะคิดหนักว่าจะตอบคำถามหมอถึงอาการเจ็บป่วยของตนอย่างไรดีจึงจะสมเหตุสมผล และไม่ทำให้หมอจับได้
ผู้จัดการอีกคน ซื้อของไปเยี่ยมถึงบ้านเลย เข้าทำนองไปเยี่ยมไข้
ปรากฏว่าเจอคนที่อ้างว่าไม่สบาย เตะฟุตบอลเหงื่อซก
ผู้จัดการบางคนมีทีเด็ดกว่านั้น เรียกว่าซักถามเลยว่า เจ็บป่วยเป็นอะไร ไปหาหมอที่ไหน จากนั้นก็ตรงไปที่คลินิกที่พนักงานอ้างว่าไปรับการรักษา เพื่อขอดูทะเบียนคนไข้
ปรากฏว่าพนักงานเจอข้อหาแจ้งเท็จ เพราะหมอยืนยันว่า พนักงานคนนั้นไม่เคยไปรับการรักษาเลย
ผู้จัดการบางคนแก้ปัญหา โดยให้พนักงานหยุดพักรักษาจนครบ 30 วันทำงาน และบอกคนจ่ายเงินเดือนเลยว่า หากลาป่วยครั้งต่อไป ไม่ว่ากี่วัน ตัดเงินเดือนหมด เพราะใช้สิทธิ์การลาป่วยจนครบ 30 วันแล้ว
นักบริหารบางคนใช้วิธีพิจารณาว่า การมาทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการขึ้นเงินเดือนและให้โบนัส หากขาดงานเกินกี่วัน มาสายเกินกี่ครั้ง จะไม่ขึ้นเงินเดือนและตัดโบนัส
ผู้จัดการบางคนไม่อนุมัติการลาป่วย และให้ลงโทษโดยการตัดเงินเดือนในวันที่ไม่อนุมัติให้ลาป่วย และให้ทำหนังสือตักเตือนด้วย
บางคนกำหนดว่า หากไม่สบายให้ติดต่อแจ้งผู้บังคับบัญชาในตอนเช้าหรือให้ไปพบกับหมอของบริษัทในวันที่ไม่สบาย
โดยความเป็นจริงแล้ว พนักงานประเภทขาดงานบ่อยๆ มักมีไม่มาก หากได้พูดคุยซักถามรายละเอียดต่างๆ แล้ว จะได้ทราบเหตุผลที่แท้จริงและหาทางแก้ไขช่วยเหลือหรือแนะนำให้พนักงานแก้เขปัญหาด้วยตัวของเขาเอง
แต่ถ้าหากได้พยายามทุกวิธีแล้ว พนักงานผู้นั้นก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะนิสัยอันถาวร
หรือเป็นประเภท มิเห็นโลงมิหลั่งน้ำตา
ก็ลองใช้วิธีการของเพื่อนผมก็ได้
“ไล่ออก”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|