จะหาคนดีๆ ได้ที่ไหน?

โดย ไพบูลย์ สำราญภูติ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ได้พูดถึงวิธีการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่จะมาร่วมทีมงานการขายเบื้องต้นไปแล้วในสไตล์แบบไทยๆ ซึ่งอาศัยประสบการณ์เป็นส่วนใหญ่ และอาศัยจากแบบฟอร์มใบสมัครงานที่มีกันอยู่ทั่วไปมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เชื่อว่าคงมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่สนใจบ้างไม่มากก็น้อย

แต่ถ้ามันไม่ได้ผลอะไรเลย ก็คงจะไม่ว่ากัน

คราวนี้อยากย้อนกลับไปถึงว่า เมื่อรู้วิธีการกลั่นกรองคัดเลือกเบื้องต้นแล้ว อยากจะรู้ว่าจะไปหาบรรดา นักขาย ที่มีอนาคตเป็นมืออาชีพได้ที่ไหนกัน เพราะบางทีที่ได้มันไม่คอยดี ไอ้ที่ดีๆ ก็ไม่ค่อยจะได้

ถึงตอนนี้เห็นจะต้องกลับไปพึ่งตำราที่อาจารย์ให้ไว้บ้างแล้วซิ

ท่านผู้รู้ได้บอกวิธีหรือแหล่งที่มาของคนดีๆ ที่คุณอยากได้ว่า มีอยู่ด้วยกันมากมายเหลือเกิน จาระไนกันไม่หวัดไม่ไหว ตำราที่เขียนที่เรียนก็มีอยู่หลายเล่ม ไม่รู้จะเชื่อใครดี

ผมว่าเรื่องนี้ มีสุดแท้แต่ว่า คุณขายสินค้าอะไร ใครเป็นลูกค้าของคุณ และคุณต้องการคนแบบไหน ตามที่เคยคุยให้ฟังในเล่มก่อน (เล่มที่ 7 เดือนมีนาคม 2527)

แต่เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจในฐานะเพื่อนเก่าเล่ายี่ห้อ ก็อยากจะลองแนะนำให้สัก 10 วิธี คุณจะเลือกวิธีไหนก็ได้ตามใจชอบ ผมไม่ขัดข้อง หรือจะเลือกทั้ง 10 วิธีก็ตามใจคุณเถอะ

วิธีการที่จะค้นหาคนดีมีฝีมือมาร่วมทีมงานขายทั้ง 10 วิธีมีดังต่อไปนี้คือ

1. จากพนักงานภายในบริษัท เป็นพนักงานที่ทำงานอยู่แล้วแต่อยู่ต่างแผนก อยากจะเปลี่ยนงาน หรือมีความจำเป็นที่จะเพิ่มรายได้ เช่น เคยเป็นช่างอยู่ในแผนกบริการ เป็นพนักงานตรวจรับสินค้า ทำบัญชี หรืออยู่แผนกอื่นๆ มา

พนักงานเหล่านี้คุณไม่ต้องเสียเวลารับสมัครสอบสัมภาษณ์อะไรเลย เพราะตื้นลึกหนาบางหัวนอนปลายเท้า โคตรเหง้าเหล่ากอ รู้กันเป็นอย่างดีแล้ว คุณสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าเหมาะสมหรือไม่มากน้อยเพียงใดเสียด้วยซ้ำไป

ในกรณีนี้มันอาจเป็นผลดีที่คุณไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายแล้วยังทำให้สามารถทำงานต่อเนื่องได้อีกด้วย เพราะรู้แจ้งแทงตลอดอยู่แล้ว และอาจทำให้พนักงานอื่นๆ เกิดขวัญกำลังใจในการทำงานมากขึ้น เพราะอย่างน้อยยังมีโอกาสขยับขยาย ไม่ใช่ทนทำงานซ้ำซากจำเจเป็นเวลาหลายปีก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยง

แต่เป็นของธรรมดา เมื่อมีดีมันก็ต้องมีเสีย เหมือนมีป๋าก็ต้องมีป้า ยังไงยังงั้นทีเดียว

ผลเสียในวิธีการนี้คือคุณไม่มีทางเลือกคนอื่นๆ มาเปรียบเทียบ โอกาสเลือกมีน้อย จะเอาหรือไม่เอาเท่านั้น นอกจากนี้ คนประเภทนี้จะมีประสบการณ์เพียงด้านเดียว เพราะอยู่ที่นี่นานทำให้หูตาไม่ค่อยกว้างขวาง บางทีอาจทำตัวเหมือนกบที่อยู่ในกะลาครอบเสียอีกด้วย ที่เจ็บยิ่งกว่านั้นก็คือ คนอื่นๆ ที่รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังกันมาอาจไม่นับถือศรัทธา ก็จะทำให้งานบังเกิดผลดีได้ยาก เหมือนเรียน จปร.รุ่น 5 มาด้วยกันเปี๊ยบเลย

หรือร้ายไปกว่านั้น เกิดเป็นคนที่ซอกแซกเที่ยวได้รู้ไต๋ไส้พุงอะไรของคุณอยู่ โอกาสที่คุณจะเต๊ะจุ๊ยก็เห็นจะยาก

2. พนักงานเก่าที่เคยทำงานกันมาก่อน แต่มีเหตุจำเป็นต้องลาออกไปทำงานที่อื่นแล้วหวนกลับมาร่วมกับคุณใหม่ อาจเป็นไปได้ทั้งที่คุณชักชวนเขากลับมา หรือเขาอยากกลับมาเอง ซึ่งอย่างน้อยคุณก็พอจะรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังดีพอสมควร ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายอีกนั่นแหละ และคงไม่ต้องอธิบายรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ

วิธีนี้อาจมีผลเสียก็คือ คุณไม่ค่อยมีโอกาสเลือกคนอื่นๆ มาเปรียบเทียบ คนเก่าๆ ด้วยกันอาจไม่ยอมรับฝีมือจะเกิดปัญหาในการทำงานได้และที่สำคัญที่สุดแทนที่จะเอาประสบการณ์ความรู้ที่ตนได้มาจากที่อื่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่งาน กลับเอามาเปรียบเทียบและคอยเป็นบ่างช่างยุ คนอื่นๆ อยู่เสมอๆ อย่างนี้คุณก็คงปวดหัวตายแน่

ที่เคยเห็นก็มีแต่คุณให้ลาออกไปแล้วไปทำงานที่บริษัทคู่แข่งขันเพื่อเป็นสปายสายลับ แล้วพอได้จังหวะเวลาก็ให้กลับเข้ามาทำงานด้วยคุณก็คงได้อะไรๆ จากคู่แข่งขันมามากโข เหมือนอย่างกรณีบริษัทค้าฟิล์มถ่ายรูปแย่งตัวนักโฆษณาของบริษัทคู่แข่งขันมาทำงานด้วย อย่างนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็นแผนระดับเซียนที่ขี่เมฆขับหมอกเลยทีเดียว

แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจไปนะครับ ทีเอ็งข้าไม่ว่าทีข้าเอ็งอย่าโวย อาจเกิดขึ้นให้เห็นได้

ในธุรกิจที่คล้ายคลึงกันเคยมีสัญญาสุภาพบุรุษว่า จะไม่ยอมรับพนักงานของคู่แข่งขันมาทำงานด้วย เว้นเสียแต่ว่าได้ลาออกมานานกว่า 6 เดือนแล้ว ก็เคยมีปรากฏอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ยังใช้กันอยู่หรือเปล่า

3. อาศัยคำแนะนำ ชักชวนจากพนักงานปัจจุบัน เป็นการอาศัยความรู้จักมักคุ้นของพนักงานขายหรือพนักงานอื่นๆ ในบริษัทแนะนำ เพื่อนฝูง คนรู้จักให้มาสมัครงานด้วย วิธีนี้เป็นผลดีในแง่ของการประหยัดค่าใช้จ่ายและมีคนที่สามารถอ้างอิงได้โดยง่ายเพราะเป็นพนักงานของเรา (ซึ่งเชื่อว่าคงจะแนะนำคนดีๆ มาให้) ทำให้เกิดความร่วมมือประสานงานกันได้ดีกว่าคนที่ไม่รู้จักคุ้นเคยมาก่อน

แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสีย คือหากคนที่แนะนำไม่กลั่นกรองมาให้ก่อน หรือพยายามยัดเยียดฝากฝังมาให้ คุณก็คงไม่ได้คนดีแน่ และยังต้องผะอืดผะอมกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเสียด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นพอรับมาด้วยความเกรงใจเพราะเป็นลูกท่านหลานเธอหรือน้องเมียท่านหรือเมียน้อยท่านเสียเอง พอทำงานได้ไม่ดี ไม่มีคุณภาพ จะให้ออกก็ไม่กล้า จะคอยดุด่าก็ไม่ใช่ที่ เรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นภาพยนตร์ชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา โดยที่มีคุณเป็นพระเอกและบังเอิญต้องตายก่อนจบเสียด้วย ควรระวังให้ดี

4. เพื่อนฝูงแนะนำ เป็นวิธีที่ใช้กันออกกว้างขวาง เพราะในทางธุรกิจติดต่อกันนั้นการเข้าสังคมในแต่ละสาขาอาชีพจะช่วยกันได้มาก เพียงแต่คุณต้องรู้จักเลือกสรรคนที่คุณจะขอให้เขาช่วยแนะนำมาให้ก็พอ

ในทำนองเดียวกัน คุณก็ควรสงวนสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับได้ถ้าหากไม่เหมาะสม และต้องอธิบายให้รายละเอียดต่างๆ อย่างชัดเจนด้วย

สิ่งที่คุณพึงระวังให้มากก็คือ พรรคพวกเพื่อนฝูงที่ถูกใครต่อใครยัดเยียดให้ช่วยรับสมัครคนเข้าทำงาน และพิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมแต่ไม่มีทางออก ก็เลยผ่องถ่ายมาให้คุณ จะทำให้คุณเสียเวลา เสียอารมณ์ไปเปล่าๆ ทางที่ดีละก้อคุณควรเป็นคนร้องขอให้เขาช่วย อย่าได้อาสาไปช่วยเขาทีเดียว เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เตือน

5. ติดต่อสถาบันการศึกษา วิธีนี้ก็เป็นที่นิยมใช้กันมาก เพราะอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการลงทุนที่ใช้เงินน้อยมาก เพียงแต่ทำจดหมายแจ้งไปตามสถาบันต่างๆ เขาก็จะทำประกาศ หรือโฆษณาสถาบันต่างๆ เขาก็จะทำประกาศ หรือโฆษณาให้เปล่า เพราะถือว่าเป็นบริการอย่างหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าหากมีความคุ้นเคยกับอาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชานั้นๆ ด้วยก็จะยิ่งสามารถหาคนดีมาร่วมงานได้ไม่ยาก

บางคนถึงขนาดอาสาเข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษไปสอนให้ เพื่อที่จะได้หมายตานิสิต นักศึกษา นักเรียน ที่มีแววดีเอาไว้เป็นการล่วงหน้า

ยิ่งไปกว่านั้นบางแห่งถึงกับให้ทุนการศึกษาเลยทีเดียว เรียกว่าเป็นการทำบุญได้หน้าแล้วยังหาคนมาทำงานได้ประโยชน์อีกด้วย

การติดต่อจากสถาบันการศึกษาแบบนี้บริษัทเล็กจะเสียเปรียบบริษัทใหญ่ เพราะชื่อเสียงความเชื่อถือ หรือผลประโยชน์ตอบแทนดีกว่าโอกาสที่จะได้หัวกะทิจึงมีน้อยมาก

ส่วนดีของวิธีนี้นอกจากจะประหยัดแล้ว หากอาจารย์ผู้รับผิดชอบให้ความร่วมมือแล้วจะเป็นประโยชน์มากทีเดียว เพราะสามารถคัดเลือกหรือแนะนำนักศึกษาที่เหมาะสมกับงาน หรือสภาพของบริษัทได้เป็นอย่างดี ทางที่ดีนั้นควรทำเป็นประจำติดต่อกันนานหลายปี หรือถ้าเป็นรูปของการให้ทุนการศึกษาด้วยละก้อ ผมเชียร์สุดใจขาดดิ้นเลยทีเดียว มันเป็นผลดีด้วยกันทุกๆ ฝ่าย

6. นักศึกษาที่มาฝึกงาน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันในขณะนี้ เพราะในขณะที่นักศึกษาต้องออกมาฝึกงานเพื่อเรียนรู้แล้วกลับไปทำรายงานเอาคะแนนสอบนั้น คุณก็อาจจะพิจารณาคัดเลือกไว้เป็นการล่วงหน้าว่าจะคัดคนไหนไว้บ้างเมื่อเรียนจบก็มาทำงานกันได้เลยไม่ต้องเสียเวลาคัดเลือก หรือฝึกสอนกันอีก

เรื่องนี้ต้องขอชม สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ที่จัดโครงการบริษัทจำลองให้นักศึกษาของสถาบันการศึกษาได้มีโอกาสฝึกหัดทำงานกันในลักษณะของการทำบริษัทจำลอง ซึ่งให้ประโยชน์แก่นักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริงๆ โดยตรง

แต่วิธีนี้อาจจะไม่เหมาะกับสินค้าอุตสาหกรรมหรือที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ แต่เหมาะสำหรับสินค้าประเภท อุปโภคบริโภค หรือสินค้าขายปลีกหรือขายโดยตรงมากว่า

อย่างไรก็ดี คุณเองก็ควรจะต้องมีเป้าหมายว่าจะพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาที่มาฝึกงานนี้แล้วเริ่มสังเกตเก็บข้อมูลไว้เสียแต่ทีแรก หรือควรประกาศให้รู้ตัวเป็นการล่วงหน้า ก็จะช่วยให้ได้คนดี มีอนาคตง่ายขึ้น

7. มาสมัครงานเอง วิธีนี้เห็นทำกันอยู่หลายบริษัท ปิดประกาศไว้ตลอดปี รับสมัครเป็นรุ่นๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือประเภทของใช้ภายในบ้าน และได้ผลประโยชน์จากการขายเพียงอย่างเดียว

บางแห่งก็ใช้วิธีการสัมภาษณ์เก็บไว้แล้วค่อยๆ เรียกมาทำงานเป็นครั้งคราวไปก็เคยมี

เมื่อไม่มีเงินเดือนก็ไม่เป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

แต่วิธีนี้การที่จะได้คนดี มีฝีมือออกจะเห็นลำบาก ที่สำคัญที่สุดเมื่อถึงเวลาจะไปจะฉุดจะรั้งอย่างไรก็ไม่มีทาง ต้องเหน็ดเหนื่อยกันอยู่ไม่รู้จบ เคยเห็นบางบริษัททำการรับสมัครด้วยวิธีนี้ และก็ยังคงทำอยู่ ถ้ามันไม่คุ้มจะทนทำมันอยู่ทำไมจริงไหม

8. แหล่งจัดหางานของรัฐ เช่น กรมแรงงาน หรือสถาบันฝีมือแรงงาน ซึ่งทำหน้าที่จัดหาคนทำงานให้กับหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนต่างๆ อยู่เป็นประจำ บางครั้งเคยจัดการอบรมสัมมนาให้เสียอีกด้วย นับว่าเป็นประโยชน์มากทีเดียว แต่พนักงานขายเหล่านี้ มักจะเป็นพนักงานขายมือใหม่ ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนัก จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเชื่อถือมากนัก

อย่างไรก็ดี หากสามารถพัฒนาวิธีการคัดเลือกและฝึกอบรมให้เข้มข้นมากกว่านี้ เชื่อว่าจะไปได้ไกลโขอยู่

เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการจัดงาน วันตลาดนัดแรงงาน ซึ่งทราบมาว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจและจะมีนโยบายจัดอย่างนี้เรื่อยๆ ไปอีกทุกปี

9. แหล่งจัดหางานเอกชน/บริษัทที่ปรึกษา กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากอยู่ในขณะนี้ เพราะมีความรอบรู้ความชำนาญในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เมืองไทยเรามีบริการแบบนี้มาหลายปีแล้วที่ขึ้นหน้าขึ้นตา เป็นที่รู้จักแพร่หลายก็คือ บริษัทพี เอ คอนซัลเตนท์ บริษัทเอส จี วี ณ ถลาง เป็นต้น

บริษัทที่ปรึกษาเหล่านี้ มีวิธีการ ขั้นตอนในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมาก แต่คิดค่าบริการแพงพอสมควร และมักจะรับจัดหาให้ในตำแหน่งที่มีเงินเดือนค่อนข้างสูง (คิดค่าบริการจากบริษัท)

จุดเสียอีกประการหนึ่งก็คือ ความไม่ไว้วางใจในการเก็บความลับของบริษัทที่ปรึกษา หรือการชี้แนะต่างๆ ให้กับผู้สมัคร หรือการชักชวนแนะนำให้ผู้สมัครลาออกจากบริษัทเดิม ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาอย่างมหาศาลให้กับเจ้าของกิจการนั้นๆ

โดยทั่วไปบริษัทที่ปรึกษาเหล่านี้ จะต้องทำการสำรวจ สอบถามความต้องการของบริษัทผู้ว่าจ้าง และรับรู้ขอบข่ายงาน คุณสมบัติของตัวพนักงานที่บริษัทต้องการเสียก่อน แล้วลงประกาศโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือทำจดหมายชักชวนไปยังแหล่งต่างๆ เมื่อได้บุคคลที่ต้องการก็จะทำการนัดสัมภาษณ์ ตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ จนแน่ใจแล้วจึงคัดเลือกส่งไปให้บริษัทผู้ว่าจ้างอีกทีเพื่อตัดสินใจ บางครั้งก็เรียบร้อยเป็นที่พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

แต่มันก็ไม่ง่ายเสมอไป กว่าจะลงตัวกันได้ต้องหาเจ้าเงาะไปให้คัดเลือกหลายรอบหลายคนเต็มที

บางทีมันก็ไม่คุ้ม ซึ่งคงจะมีไม่มากครั้งเท่าไรนัก

วิธีนี้ช่วยประหยัดเวลาและขั้นตอนต่างๆ ได้มาก เสียอย่างเดียวที่ต้องจ่ายค่าหัวแพงไปหน่อย

10. การโฆษณาหนังสือพิมพ์ เป็นวิธีการที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เพราะได้ผลดีตรงตามต้องการ ซึ่งสามารถตอบสนองได้ทั้งผู้รับสมัคร และผู้ที่จะสมัครเข้าทำงาน จะเห็นได้จากโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ที่นิยมกันมาก็คือ บ้านเมือง เดอะ เนชั่น และบางกอกโพสต์

การโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นนิยมทำกัน 2 แบบคือ

ก. แบบปกปิด เป็นการลงรับสมัครพนักงานขาย โดยไม่บอกว่าเป็นบริษัทอะไรแจ้งรายละเอียดแต่เพียงว่า ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติอย่างไร หน้าที่ความรับผิดชอบ ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นอย่างไรเท่านั้น ผู้สมัครต้องเสี่ยงเอาเองว่า เมื่อรู้ว่าเป็นบริษัทไหนแล้วก็ต่อเมื่อได้รับการตามตัวไปให้สัมภาษณ์ หรือบางทีก็ไม่มีโอกาสรู้ด้วยซ้ำไปก็มี จนกว่าจะได้เริ่มทำงาน

เหตุที่ต้องโฆษณาแบบปกปิดเช่นนี้ อาจเป็นเพราะบริษัทผู้รับสมัครไม่ประสงค์ที่จะให้คู่แข่งขันทราบถึงความเคลื่อนไหวของตน หรือไม่อยากให้พนักงานเดิมเสียขวัญ กำลังใจ หรือต้องการเช็กดูว่าพนักงานเดิมมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งบางครั้งก็มีรายการจุดไต้ตำตอกันบ่อยๆ ที่พนักงานเดิมเขียนใบสมัครเข้ามาใหม่

ที่สำคัญที่สุด เป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยมีคนนิยมหรือเกรงว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ ต้องใช้วิธีนี้จึงจะมีคนมาสมัคร แล้วอาศัยการพูดคุยหว่านล้อมให้มาร่วมงานกันในภายหลัง เช่น ธุรกิจประกันชีวิต หรือคอมโมดิตี้

ข. แบบเปิดเผย เป็นการโฆษณาที่ชัดแจ้งว่า บริษัทอะไร ต้องการคนในระดับไหนหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นอย่างไร ทำให้ผู้สมัครสามารถตัดสินใจได้เลยว่า สนใจที่จะสมัครมาหรือไม่ ส่วนมากจะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว และถือโอกาสทำเป็นการประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตนเองไปในตัวอีกด้วย

การโฆษณาแบบเปิดเผยนี้ต้องระมัดระวังให้มาก ในเรื่องการพรรณนารายละเอียด และการจัดรูปแบบโฆษณา เพราะบางครั้งแทนที่จะเป็นผลดี กลับกลายเป็นผลร้าย ทำลายภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหายได้

ที่ทำแบบโฆษณาเป็นมาตรฐานได้เหมาะสมก็มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน

ไม่เชื่อลองเปิดหนังสือพิมพ์วันนี้ดูก็ยังได้

11. บุกถึงตัว จู่โจมถึงที่ ไม่ใช่เรื่องญวนหรือเขมรที่ไหนหรอกครับ แต่เป็นวิธีการหานักขายมือดีๆ มาร่วมงานอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งออกจะได้ผลชะงัดนัก กล่าวคือต้องไปอาสาเป็นอาจารย์สอนพิเศษ หรือวิทยากรรับเชิญ ตามสถาบันการศึกษา สมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพ ฯลฯ ซึ่งเมื่อไปบรรยายแล้วก็มีโอกาสได้พูดคุย สนทนากับผู้เข้าสัมมนาในเรื่องราวต่างๆ แล้วก็คงวกกลับเข้ามาในเรื่องของงานที่ทำ บางคนก็อยากจะเปลี่ยนงานอยู่พอดี

บางคนที่มีแววว่าจะเป็นเพชรเจียระไนได้หรือเป็นช้างเผือกในวงการต่อไปในอนาคต ก็อาจจะติดต่อทาบทามกันไว้ล่วงหน้า เรียกว่ายิงนกทีเดียวได้หลายตัวพร้อมๆ กันเลย

ยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งก็ติดต่อขอจัดรายการแนะแนวอาชีพให้กับนักศึกษาปีสุดท้ายเป็นการล่วงหน้า อย่างน้อยก็เป็นโฆษณาประชาสัมพันธ์บริษัทหรือตัวเองไว้ครั้งหนึ่งก่อน ซึ่งเท่าที่ทราบมา ได้ผลดีไม่น้อย

ใครอยากจะทำวิธีนี้ดูก็ลองติดต่อขอกลเม็ดเคล็ดลับจากคุณสามารถ พิมานแมน ผู้จัดการขายของอาคเนย์ประกันภัยได้ เชื่อว่าคงไม่หวงวิชาหรอกครับ

ถ้าเอามาเล่ากันก็คงกินเวลาเสียหน้ากระดาษ

แต่อยากจะเตือนว่า ไม่สำคัญที่จำนวนแต่สำคัญที่คุณภาพของคนที่คุณจะได้มากกว่าอะไรอื่น

ครับ คุณภาพย่อมมาก่อนปริมาณ

อย่าได้ใจอ่อน หรือเห็นแก่จำนวนเด็ดขาด ถ้าเห็นว่าที่ได้มามันไม่เอาไหน ทิ้งไปเสียดีกว่า

เริ่มต้นหากันใหม่ ดีกว่า กล้อมแกล้มเอามาทั้งๆ ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ

คุณจะยิ่งเหนื่อย และเสียเวลาในการอบรมดูแลมากขึ้น

ที่สำคัญที่สุด คุณจะเสียกำลังใจ และเสียสุขภาพจิตไปเสียเปล่าๆ

เพราะตะกั่วย่อมไม่มีโอกาสเป็นทองฉันใด คนที่ไม่มีแววว่าจะเป็นนักขาย เพราะองค์ประกอบหลายๆ อย่างก็ไม่เหมาะกับอาชีพนักขายฉันนั้น

ที่พูดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าผมไม่เชื่อในเรื่องการศึกษาอบรม เพราะคงไม่มีใครที่ขายเก่งมาแต่เกิด แต่ที่พูดอย่างนี้หมายความว่า ถ้าคุณได้คนที่มีแววนักขายเอามาขัดสีฉวีวรรณเสียหน่อย ก็สามารถใช้การได้ แต่ถ้าไม่เหมาะสมเพราะสิ่งแวดล้อม ฐานะทางครอบครัว พื้นฐานการศึกษา บุคลิกภาพ สติปัญญา ไหวพริบ หรือแม้แต่ทัศนคติ ความเชื่อมั่นในตนเองไม่มีแล้วไซร้ปล่อยให้เขาไปตามทางของเขาจะดีกว่า

ไม่เชื่อคุณจะลองดูก็ได้ ไม่มีใครห้ามคุณหรอก

อย่าลืม การศึกษาอบรมมันช่วยได้ในแง่ของความรู้และประสบการณ์เท่านั้น

มันไม่สามารถครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด โดยเฉพาะในเรื่องของแนวความคิด ความเชื่อมั่น ความศรัทธาที่มีต่ออาชีพและตนเอง

ผมหวังใจว่า คุณๆ คงจะช่วยกันดูและหาทางป้องกันมิให้ใครๆ ดูหมิ่นดูแคลน อาชีพนักขายกันได้อีกว่า

ถ้าทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น มาเป็นเซลส์ขายของก็ได้นี่หว่า

อาชีพนักขายไม่ใช่ศาลาพักร้อน ต้องเป็นคนที่มีความเหมาะสม มีความพร้อมและต้องพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา เราก็คงจะมีนักขายมืออาชีพ มือเซียนเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่มือสมัครเล่น ขายก็ได้ ไม่ขายก็ได้เสียที

ผมเองนั้นอยากเห็นนักขายที่ขายเป็นมากกว่านักขายที่ขายได้อย่างที่สุด

ช่วยผมหน่อยได้ไหมครับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.