|
จากัวร์ลอยลำได้อีกครั้งหลังจากแทบจะยางแฟบทั้งหมด
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจรับข้อเสนออย่างน้อยที่สุดก็หนึ่งในสี่ของข้อเรียกร้องจากผู้บริหารที่แข็งขันของจากัวร์ คือนายจอห์น อีแกน ซึ่งได้เข้ามารับงานในปี 1980 แต่เดิมนั้นจากัวร์อยู่ใต้การบริหารของบริษัท บีแอล อันเป็นบริษัทผลิตรถยนต์และรถบรรทุกของอังกฤษที่ดำเนินกิจการขาดทุนเรื่อยมา
จากัวร์อยู่ในภาวะอันตรายที่ใกล้จะประสบภัยพิบัติอยู่แล้ว จนกระทั่งอีแกนได้รับเลือกจาก แมสซีย์ เฟอร์กูสัน ให้เข้ามาปรับปรุงกิจการ หลังจากที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเขาก็ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของคนงาน เละเริ่มปัดฝุ่นระบบการทำงาน เร่งสร้างชื่อเสียงด้านคุณภาพของรถยี่ห้อนี้ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา ทำให้ยอดขายของจากัวร์เพิ่มพรวดพรวดขึ้นจากจำนวน 3,000 คันในปี 1980 มาเป็น 15,000 คันเมื่อปีกลาย และมีจำนวนเกินกว่าครึ่งของยอดขายทั่วโลกเสียด้วยซ้ำ ผลที่ได้ก็คือบรัททำกำไรได้ราว 45 ล้านเหรียญในปี 1983
จากการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัท และนโยบายการรณรงค์ที่แข็งกร้าวเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทำให้อีแกนไม่ต้องการที่จะสูญเสียการควบคุมไปให้กับเจนเนอรัล มอเตอร์ และฟอร์ด ยุโรป ที่ต้องการจะซื้อกิจการนี้ไป หรือแม้จะโอนคืนให้กับบีแอลที่เรียกร้องจะคงหุ้นร้อยละ 25 ของจากัวร์เอาไว้ อีแกนเกรงว่า บีแอลจะใช้อำนาจนี้ที่จะกันเอาจากัวร์ออกจากการแข่งขันกับรถรุ่นโรเวอร์ของบีแอล
ในขณะที่คณะรัฐมนตรีปฏิเสธข้อเสนอของอีแกนในการที่จะซื้อกิจการมาโดยเด็ดขาด เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้หนึ่งก็ได้เปิดเผยว่า แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีมติที่จะจัดลำดับชั้นพิเศษในการซื้อหุ้นให้กับลูกจ้างและเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินงานอยู่ โดยจะให้ถึงร้อยละ 25 ก่อนที่จะนำเอาหุ้นนี้เสนอต่อตลาดแลกเปลี่ยนในลอนดอน
การกันหุ้นให้เช่นนี้อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้พนักงานมีอำนาจในการตัดสินชะตากรรมของบริษัทได้ บีแอลอาจจะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินกิจการได้เป็นบางส่วน แต่ก็ไม่ใช่ในขอบข่ายร้อยละ 25 นั้น “ในการชกยกนี้ ปรากฏว่าอีแกนเป็นผู้ชนะคะแนน”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|