|

เจ้าหนี้ RBT รับแผน NFC "ชำนิ" ยอมเสียงส่วนใหญ่
ผู้จัดการรายวัน(9 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สถาบันการเงินเจ้าหนี้บริษัท ท่าเรือระยอง (RBT) เตรียมโหวตแผนฟื้นฟูฉบับ NFC ผ่านฉลุย หลังบอร์ด กนอ.ไฟเขียวให้เป็นท่าเรือสาธารณะ เชื่อมั่นแผนการชำระหนี้ ขณะที่ "ชำนิ" ยอมอ่อนข้อรับแผน NFC ตามเสียงส่วนใหญ่
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้บริษัท ท่าเรือระยอง จำกัด (RBT) เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พฤษภาคม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ได้นัดให้เจ้าหนี้บริษัท ท่าเรือระยอง เพื่อลงมติรับแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเจ้าหนี้จะลงมติรับแผนฟื้นฟูฯ จากผู้มีสิทธิทำแผน ซึ่งได้เสนอให้เจ้าหนี้พิจารณา 2 ราย ประกอบด้วย แผนฟื้นฟูกิจการที่เสนอโดยบริษัท ซี.เจ. มอร์แกน จำกัด ที่มีนายชำนิ จันทร์ฉาย ในฐานะประธานกรรมการและคณะกรรมการบอร์ด RBT และแผนฟื้นฟูกิจการที่เสนอโดยบริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (NFC) ผู้ถือหุ้นใหญ่ RBT ซึ่งได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้การค้ารายหนึ่งของ RBT เสนอแผนฯ แข่งกับนายชำนิ
สำหรับการลงทุนมติรับแผนฟื้นฟูกิจการ RBT คงจะไม่มีปัญหา เพราะขณะนี้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ได้พิจารณารับแผนฟื้นฟูฯ RBT ที่เสนอโดย NFC แล้วหลังคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะเจ้าหนี้รายหนึ่ง ได้พิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ท่าเรือระยองจากท่าเรือเฉพาะกิจ ที่จำกัดให้ขนส่งได้เฉพาะสินค้าของผู้ถือหุ้น เปลี่ยนเป็นท่าเรือสาธารณะที่สามารถขนส่งสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดตีความว่าบอร์ด กนอ.สามารถอนุมัติในเรื่องดังกล่าวได้เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินกิจการของท่าเรือระยองในอนาคต
แหล่งข่าวกล่าวว่า การพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ RBT ในวันที่ 10 พ.ค.นี้ บรรยากาศน่าจะเป็นไปด้วยดี เพราะล่าสุดนายชำนิ จันทร์ฉาย ผู้บริหารของซี.เจ.มอร์แกน ที่เสนอแผนฟื้นฟูฯ RBT แข่งกับ NFC ได้แสดงท่าทีสนับสนุนแผนฯของ NFC อย่างชัดเจน เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการท่าเรือระยองเดินหน้าตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะทำให้เกิดความชอบธรรมและทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
สำหรับสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูฯ RBT ที่เสนอโดย NFC จะเปลี่ยนรูปแบบท่าเรือ RBT จากท่าเรือเฉพาะกิจเป็นท่าเรือสาธารณะ ซึ่งบอร์ดกนอ. อนุมัติแล้ว ส่วนแผนชำระหนี้ NFC เสนอชำระให้กนอ.จำนวน 258 ล้านบาท ภายในเดือนกรกฎาคม 2549
ขณะที่ ซี.เจ.มอร์แกนเสนอชำระหนี้ กนอ. จำนวน 258 ล้าน ภายในสิ้นปีที่ 5 (พ.ศ.2553) ส่วนการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน NFC เสนอชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมแปลงหนี้เป็นทุนบางส่วน จำนวน 600 ล้านบาท ภายใน 22 ม.ค.49
ส่วน ซี.เจ.มอร์แกนเสนอชำระหนี้ทั้งหมด 969 ล้าน ภายในสิ้นปีที่ 5 ของการบริหารแผน ขณะที่ NFC เสนอบริษัท เนชั่นแนล แอ็ดไวเซอรี่ จำกัดเป็นผู้บริหารแผน โดยกำหนดระยะเวลาบริหารแผน 9 เดือน และออกจากแผนภายในเดือน มีนาคม 2549 ขณะที่นายชำนิ เสนอ RBT เป็นผู้บริหารแผนและกำหนดระยะเวลาบริหารแผน 5-7 ปี (2553-2555)
สำหรับเจ้าหนี้ RBT ที่มีสิทธิออกเสียงมีจำนวน 8 ราย ประกอบด้วย ธนาคารเครดิต อะกริกอล อินโดสุเอช จำนวนหนี้ 6,111,123.29 บาท บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที จำนวนหนี้ 346,307,147.27 บาท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวนหนี้ 384,700,329.92 บาท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวนหนี้กว่า 307,658,100.54 บาท การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จำนวนหนี้ 3,456,009,375.87 บาท กรมศุลกากร และกรมสรรพากร จำนวนหนี้ 87,487,985.89 บาท บริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหนี้ 20,454,802.65 บาท และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) จำนวนหนี้ 126,777,496.41 บาท รวมจำนวนหนี้ 1,704,682,496.41 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|