|
ผ่าเครื่อง ทำไมคนเลี้ยงไก่ต้องขายไมโครคอมพิวเตอร์?
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
“เบทาโกร” เป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งทำธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร (AGRONUSINESS) แบบครบวงจรคล้ายๆ กับกลุ่ม “เจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี” ที่เรารู้จัก หรือนัยหนึ่งกลุ่มบริษัทที่ประกอบด้วยบริษัทลูกอีกประมาณ 10 บริษัทดังกล่าวนี้ ทำธุรกิจครอบคลุมไปตั้งแต่อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์, โรงงานฟักลูกไก่, ฟาร์มไก่, ฟาร์มหมู, โรงงานผลิตยารักษาโรคสัตว์เลี้ยงไปจนถึงธุรกิจด้านการส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งไปต่างประเทศ
ถึง “เบทาโกร” จะยังยิ่งใหญ่ได้ไม่เท่า “ซีพี” แต่ในวงการอาหารสัตว์และอุตสาหกกรมการเกษตรแบบครบวงจรแล้วย่อมทราบดีว่า “เบทาโกร” ติดอันดับ 1 ใน 6 ของเจ้ายุทธจักรซึ่งประกอบด้วย ซีพี, ป.เจริญพันธุ์, เซ็นทาโกร, แหลมทอง, เบทาโกร และศรีไทยปศุสัตว์ โดยในปีล่าสุดมียอดขายรวมแล้วทั้งกลุ่มตกราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าพิจารณาว่าบริษัทนี้เริ่มกิจการด้วยบริษัทขายอาหารสัตว์ ในปี 1961 ก็ต้องยอมรับว่ามีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วทีเดียว และเป็นการเติบโตที่พยายามขยายข่ายงานไปตาม PRODUCT LINE ของธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรอีกด้วย
แต่เมื่อไม่นานนี้ “เบทาโกร” ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญอันมีผลให้วงการงงงวยโดยถ้วนหน้านั่นก็คือ การจับมือกับบริษัทอัลฝ่าไมโครซีสเต็มส์แห่งประเทศไทยสหรัฐอเมริกา เป็นตัวแทนจำหน่ายไมโครคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ “อัลฝ่า ไมโคร”
“ไม่เข้าใจจริงๆ อยู่ๆ คนเลี้ยงไก่จะมาขายคอมพิวเตอร์ ผมว่ามันคนละเรื่องนะ คนละโปรเฟสชั่นนอลด้วย...” เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมาจากวงการอาหารสัตว์หรือวงการคอมพิวเตอร์มักจะตั้งคำถามเช่นนั้น
จนท้ายที่สุดวงการก็ชักจะเชื่อกันว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของ “เบทาโกร” เป็นการตัดสินใจที่ผิด เป็นเรื่องตามแห่ของยุคสมัย เห็นตลาดไมโครฯ บูมก็อยากรวยบ้าง แม้ว่าภาพที่ผ่านมาของ “เบทาโกร” จะเป็นบริษัทที่ไม่เคยผลีผลามต่อการตัดสินใจลงทุนใหม่ๆ แต่นั่นก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากอยู่ดี
“การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นนานพอสมควรแล้ว ครั้งที่บริษัทเราจัดสัมมนาภายในที่พัทยา คือเราก็มาพิจารณากันว่า ในอนาคตกิจการของเราจะเดินไปในทิศทางไหนและเราก็เห็นว่าคอมพิวเตอร์น่าจะเป็นโปรดักส์ตัวหนึ่งที่เราควรสนใจเพราะเราค่อนข้างพร้อมมาก...” ฝ่ายบริหารคนหนึ่งของ “เบทาโกร” กล่าวกับ “ผู้จัดการ” เมื่อถูกรุกเร้าให้เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตัดสินใจนำไมโครคอมพิวเตอร์เข้ามาขาย โดยน้ำเสียงนั้นพยายามเน้นคำว่า “พร้อมมาก”
เขาเล่าว่า “เบทาโกร” ที่จริงได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์นานกว่า 5 ปีแล้ว ในฐานะผู้ใช้โดยมีเป้าหมายให้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงานด้านการผสมอาหารสัตว์ ซึ่งมีเป็น 100 สูตร แต่ละสูตรก็ล้วนพยายามให้คุณค่าทางอาหารแก่สัตว์เลี้ยงมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็พยายามควบคุมให้มีต้นทุนต่ำที่สุดด้วย งานดังกล่าวนี้ ถ้าจะให้คนทำก็หมายความว่า จะต้องว่าจ้างเจ้าหน้าที่ผู้จะคอยติดตามการเคลื่อนไหวขึ้นลงของราคาวัตถุดิบที่สามารถใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์ได้ จากนั้นก็ต้องนำมาคำนวณดูว่าควรเข้าอยู่ในสูตรไหนก็ทำได้ แต่มันล่าช้าและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพผิดกับการให้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณค้นหาโดยเพียงแต่เราป้อนข้อมูลให้มันอัพเดทเท่านั้น” ฝ่ายบริหารคนเดียวกันสรุปสาเหตุของการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน “เครื่องแรกที่เรานำเข้ามาเป็นยี่ห้อเท็กซัส อินสตรูเม้นท์ แต่เราเพิ่งเปลี่ยนเป็นยี่ห้อแวกซ์เมื่อไม่นานนี้เอง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรมากหรอก แพ็กเกจที่ใช้ผสมอาหารสัตว์มีดีมากอันหนึ่งเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ในประเทศอังกฤษ เราอยากได้มาก บังเอิญแพ็กเกจตัวนี้มันสร้างมาบนเครื่องแวกซ์เราก็เลยต้องเปลี่ยน...”
การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานของ “เบทาโกร” นั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องมีฝ่ายคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นมารองรับงาน และพร้อมๆ กับการแอพพลายงานให้ไปใช้ทางด้านอื่นเช่น การซัปพอร์ตฝ่ายขายการทำออนไลน์ออร์เดอร์โปรเซสซิ่งอินเวนทอรี่คอนโทรล แอคเคาท์รีซีฟเวเบิลก็เป็นงานที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนืองานผสมอาหารสัตว์ที่เป็นเป้าหมายหลัก พร้อมกันนั้นจำนวนบุคลากรของฝ่ายคอมพิวเตอร์ก็มากขึ้นป็นเงาตามตัวด้วย
“อย่างรวมแล้วในขณะนี้เรามีคนอยู่ราว 25 คน ถือเป็นฝ่ายที่ใหญ่มากฝ่ายหนึ่ง” คนในฝ่ายคอมพิวเตอร์เล่าให้ฟัง
เป็นอันว่า ถ้าจะพิจารณาถึงประเด็น “เบทาโกร” มีบุคลากรที่พร้อมหรือไม่ในการเป็นคนขายคอมพิวเตอร์ คำตอบก็คงจะให้ภาพที่ต่างจากก่อนหน้าการพูดคุยกับผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทนี้เป็นแน่
แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณากันต่อไปก็คือ ทำไมต้องขายคอมพิวเตอร์และ “เบทาโกร” มีตลาดที่ตนเองเชื่อมั่นแล้วหรือ
คำถามแรกนั้นก็คงตอบได้ไม่ยาก ถ้าจะได้ติดตามข่าวในวงการอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่องเพราะวิกฤตในวงการอาหารสัตว์และวงการไก่เนื้อมีเรื่องเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะข่าวการแข่งขันทุ่มตลาดระหว่างคู่แข่งทั้งหลายจำนวน 6-7 รายที่ว่า
“ผมว่าก็คงไม่มีใครทิ้งวงการนี้ไปง่ายๆ หรอก แต่จะฝันเฟื่องเหมือนเมื่อ 4-5 ปีก่อนนั้นก็คงไม่มีใครหวัง เฉพาะตอนนี้จะช่วยกันคุมไม่ให้ราคาไก่เนื้อตกก็ยังไม่ได้เลย เพราะต่างฝ่ายต่างก็จ้องห้ำหั่นกัน อีกอย่างเรื่องอาหารสัตว์ซึ่งเคยสร้างผลกำไรพอที่จะมาเฉลี่ยให้กับงานด้านอื่น เช่น ไปชดเชยราคาไก่เนื้อที่รับซื้อเข้าโรงเชือดหรือราคาลูกเจี๊ยบที่ขายให้ฟาร์มเลี้ยงก็ทำท่าไม่ค่อยสดใสในขณะนี้ คือนอกจากวัตถุดิบมีราคาสูงแล้ว ผู้เลี้ยงจำนวนมากก็เริ่มผลิตอาหารกันเองไม่ต้องพึ่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เหมือนเมื่อก่อน” แหล่งข่าวระดับสูงในวงการอาหารสัตว์คนหนึ่งช่วยอธิบาย
สถานการณ์ดังกล่าวนี้มีผลกระทบถึงเจ้าพ่อในวงการอาหารสัตว์หรือผู้ทำธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจรทุกราย ซึ่งก็รวมถึง “เบทาโกร” ด้วย และนี่เองที่เป็นสาเหตุสำคัญให้บริษัทนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหันไปหาการลงทุนด้านอื่นบ้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความพร้อมด้านบุคลากรแล้ว คอมพิวเตอร์ก็คงจะต้องเป็นทางเลือกหนึ่งไม่มีปัญหา
ส่วนในคำถามต่อมาเกี่ยวกับเรื่องตลาดไมโครฯ ว่าไปแล้วทาง “เบทาโกร” ก็ได้มองถึงจุดนี้อย่างลึกซี้งไม่น้อย
“ถ้าคุณทราบถึงสายใยของการประกอบธุรกิจอย่างที่เบทาโกรเขาทำ คุณก็คงทราบว่าเขามีบริษัทลูกอยู่จำนวนไม่น้อยและก็ยังมีพวกฟาร์มภาคีอีกหลายร้อยแห่ง พวกนี้แหละครับที่จะมาเป็นลูกค้าซื้อไมโครคอมพิวเตอร์ไปใช้คนละเครื่องสองเครื่อง งานหลักก็อาจจะเอาไปใช้ผสมอาหารสัตว์นั่นแหละ ทางเบทาโกรเขามีเจ้าหน้าที่ซึ่งสามารถจัดทำซอฟต์แวร์ทีมีคุณภาพได้สบายมากรับรองอันนี้หาคู่แข่งประกบยาก นอกจากจะเป็นพวกขายอาหารสัตว์เหมือนๆ กัน ส่วนตลาดด้านอื่นก็คงไม่ด้อยหรือดีไปกว่าคนขายรายอื่นอันนี้ก็วัดกันทีคุณภาพของโปรดักส์และความสามารถของทีมงานต่อไป...” แหล่งข่าวในวงการคนเดิมช่วยชี้เป็นการตบท้าย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|