|
จารกรรมในวงการธุรกิจ (ใครกำลังแอบฟังอยู่?)
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
ในโลกของการลักลอบล้วงความลับกัน เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องของ 007 กับ SPECTRE หรือ CIA กับ KGB ที่เคยผูกขาดกันมานาน แต่เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องของธุรกิจกับธุรกิจที่เชือดเฉือนกันขนาดล้วงตับกันในที่ประชุมกรรมการเลย
บริษัทใช้จารกรรมเพื่อขโมยข้อมูลในเรื่องราคา ฝ่ายบริหารและสหภาพแรงงานจารกรรมเพื่อเอามาเจรจาต่อรองกันบนโต๊ะเจรจา
บางบริษัทคิดว่าการขโมยข้อมูลแอบฟังเป็นการลดต้นทุนของบริษัท
เควิน ดี เมอเล่ย์ ดำเนินอาชีพประจำวันด้วยความมั่นใจและกระตือรือร้นอย่างเงียบๆ แบบพนักงานขายหนุ่มๆ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพงที่กองสุมกันสูงถึง 4 ฟุต บรรทุกอยู่ในรถ อันประกอบด้วย เครื่องมือตรวจจับแบบเส้นโค้ง (NON-LINER JUNCTION DELECTOR, TIME DOMAIN REFLEXTOMETER) และเครื่องมือตรวจสอบโทรศัพท์ซึ่งดูแล้วรูปร่างคล้ายกับเครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ในยุคต้นๆ เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้มีมูลค่ารวมๆ กันแล้วกว่า 40,000 เหรียญ (800,000.- บาท) ซึ่งบรรดานักวิจารณ์มักจะกล่าวถึงเครื่องมือเหล่านี้รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ตรวจจับการลักลอบล้วงความลับด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ว่า “นี่คือรายการมายากล”
เมอร์เล่ย์ อายุ 32 ปี อดีตพนักงานตรวจสอบของ บ.พินเคอตัน (PINKERTON) ขณะนี้มีอาชีพเป็นที่ปรึกษาอิสระ ยิ้ม และยักไหล่อย่างไม่แยแสต่อคำวิจารณ์ “นี่ไม่ใช่การเล่นกล” เขากล่าว “หากแต่เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ผมไม่อาจรับประกันได้ว่าจะตรวจสอบพบทุกอย่างที่ซุกซ่อนไว้ แต่รับประกันได้เลยว่าผมไม่ได้เล่นกล”
ตอนนี้ลูกค้าของเขาคือ บ.ผลิตขนมปังและเนย โดยที่เมอร์เล่ย์ได้ใช้เครื่องมือตรวจสอบการลักลอบดักฟัง ทำการตรวจสอบในบริษัทปีละ 3-4 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งวิธีการเหล่านี้ก็มีใช้ในวงการอุตสาหกรรมน้ำมันและวงการธุรกิจบันเทิง
“วงการอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำจารกรรมล้วงความลับด้านธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์” เขาอธิบายต่อ “เพื่อที่จะได้รู้สถานที่ตั้งของฐานขุดเจาะน้ำมัน ตัวอย่างน้ำมันที่เจาะได้ ค่าสัมปทาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีมูลค่านับล้านเหรียญสำหรับบริษัทคู่แข่ง”
สิ่งที่ช่วยในการดำเนินงานของเมอร์เล่ย์ได้มากก็คือ หัวหน้าฝ่ายบริหารในบริษัทเคยทำงานกับหน่วย O.S.S สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน “ผมคิดว่าเขามีประสบการณ์มากพอที่จะรู้ว่าจะเครื่องไม้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์พวกนี้ทำอะไรได้บ้าง” ซึ่งก็จริงเพราะมีการใช้เครื่องมือตรวจสอบเหล่านี้ตรวจพบเครื่องดักฟังในสำนักงานที่ถนนปาร์คอเวนิว
หน้าที่ของเมอร์เล่ย์ก็คือ “กวาดล้าง” การลักลอบดักฟังทางโทรศัพท์ บราซิลเพื่อนร่วมงานของเขา จะทำหน้าที่ถือเครื่องมือตรวจสอบแบบคลื่นสั้น (MICROWAVE DEVICE) ซึ่งใช้ตรวจสอบวัสดุกึ่งตัวนำในเครื่องดักฟัง การตรวจสอบแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
เมอร์เล่ย์ยอมรับว่าค่าใช้จ่ายในการป้องกันลักลอบล้วงความลับนี้สูงพอสมควร และปัจจุบันบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯต้องจ่ายเงินนับล้านเหรียญเพื่อป้องกันการลักลอบล้วงความลับ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปในมาตรการป้องกัน แต่ก็ไม่ใคร่ได้ผลนักกับการลักลอบล้วงความลับ เพราะเป็นไปได้ที่บริษัทหนึ่งบริษัทใดจะสูญเสียความลับทางธุรกิจของตนเองไป โดยพนักงานที่เกิดความไม่พอใจในบริษัทเพียงแต่ใช้เครื่องอัดสำเนาก็พอแล้ว และบางที่อาจจะโดยวิศวกรระดับสูงของบริษัทที่ลาออกไปอยู่กับบริษัทคู่แข่งขัน มากกว่าที่จะสูญเสียไปจากการลักลอบดักฟังโดยบริษัทคู่แข่งโดยตรง ดังนั้นถ้าจะพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว การใช้เครื่องมือลักลอบดักฟังนั้นนับว่ายังไม่แพร่หลายนัก
แต่การใช้เครื่องมือลักลอบดักฟังนั้นก็ยังมีมากกว่าที่ปรากฏเป็นสถิติในศาล หรือที่มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น บริษัทที่จะเข้าร่วมในการประมูลราคา ก็มีการใช้เครื่องลักลอบดักฟังนี้หาความลับเกี่ยวกับข้อมูลการเสนอราคาของบริษัทคู่แข่งขัน สหภาพแรงงานก็ใช้วิธีนี้หาความลับของฝ่ายบริหาร และในทางตรงข้ามฝ่ายบริหารก็ใช้วิธีเช่นเดียวกันนี้หาความลับจากฝ่ายสหภาพแรงงาน เป็นที่น่าเสียดายที่ว่าเรื่องราวเหล่านี้มักไม่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชน เพราะแม้แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ต้องการที่จะพูดถึงเรื่องนี้
การลักลอบล้วงความลับโดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เป็นวิธีการที่ถือเป็นไม้ตายอย่างหนึ่ง ซึ่งมีแรงผลักดันให้ใช้ในวงการจารกรรมทางธุรกิจ แต่ก็มีผลเสียอยู่ไม่น้อย มีวิธีการอยู่ไม่กี่อย่างที่จะทำลายความมั่นใจของฝ่ายบริหารและภาพลักษณ์ของสาธารณชนสมบรูณ์แบบเท่ากับความคิดที่ว่ามีการลักลอบดักฟังระหว่างการพูดโทรศัพท์, ระหว่างการประชุมลับเฉพาะ และระหว่างการสั่งงาน แนวคิดเรื่องการลักลอบล้วงความลับด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเพียงความคิดจากหนังสือเรื่อง ORWELLIAN 1984 ในขณะนั้นนับว่าบางคนได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ของมันแล้ว
อาทิ: หลังจากประชุมเพื่อเจรจาโอนกิจการระหว่างบริษัท เบนดิกซ์ โอเปอร์เรชั่น กับมาร์ติน มาเรียตตา เมื่อปีที่แล้ว บรรดาฝ่ายบริหารของ บ.เบนดิกซ์ก็เดินทางกลับโดยรถ 2 คัน และระหว่างทางก็ได้หยุดเพื่อปรึกษาทบทวนแนวนโยบายและวิธีการของตน และรถคันหนึ่งที่พวกเบนดิกซ์ใช้ก็เป็นรถของมาร์ติน มาเรียตตา ซึ่งพนักงานขับรถได้ออกไปจากรถเพื่อเปิดโอกาสให้ปรึกษากันได้เต็มที่ หลังจากนั้น 2-3 นาที กลุ่มเบนดิกซ์ทั้ง 5 คน รวมทั้ง วิลเลียม อกี ซึ่งเป็นประธานบริษัท และแมรี่ คันนิ่งแฮม ผู้ซึ่งเป็นภรรยาและที่ปรึกษาของบริษัท ได้ออกจากรถเดินขึ้นไปบนเนินเพื่อไปปรึกษากันภายนอก เพราะทุกคนต่างเกรงว่าภายในรถอาจมีเครื่องดักฟังติดตั้งอยู่
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยตรวจพบเครื่องดักฟังซ่อนอยู่ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่ใช้ไปเพื่อมาตรการป้องกันก็เป็นไปเพื่อให้เกิดความสบายใจว่ามีการป้องกันการลักลอบดักฟังเท่านั้น ถึงกระนั้นค่าใช้จ่ายประเภทนี้ก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ตัวอย่างอันหนึ่งก็คือ โรงแรม โนวา-ปาร์ค กอตแฮม ในนิวยอร์ก ได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจจับไว้ให้ห้องสูทระดับราคา 2,000 เหรียญต่อคืน สำหรับห้องอื่นในราคาปกตินั้น ฝ่ายรักษาความปลอดภัยของโรงแรมก็จะทำการตรวจสอบให้เป็นรายๆ ไป และในนิวยอร์กเช่นกัน ฝ่ายรักษาความปลอดภัยของบรรษัทรายใหญ่หลายแห่ง รวมทั้ง I.B.M., XEROX และ EXXON ต่างแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกันเป็นประจำอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเทคนิคใหม่ๆ ที่ใช้ในวงการจารกรรมทางธุรกิจ สำหรับบริษัทอื่นๆ ก็มีการว่าจ้างเพื่อให้ทำการตรวจสอบเป็นครั้งคราวในช่วงที่มีการประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบายการขาย และนโยบายการขายประจำปีของบริษัทที่อยู่ในฟอร์จูน 100 ในปี 1981 เครื่องมือตรวจสอบค้นพบว่ามีการส่งคลื่นวิทยุจากห้องที่กำลังใช้ประชุมในโรงแรม ดังนั้นจึงมีการย้ายที่ประชุมโดยมิได้แจ้งให้ผู้เข้าประชุมทราบ ไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัท ซึ่งก็ปรากฎว่าตรวจสอบพบเครื่องดักฟังอยู่อีกเครื่องหนึ่งในห้องประชุมสำนักงานใหญ่
จำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการลักลอบล้วงความลับค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่วงการธุรกิจมีความรู้สึกว่าเมื่อใดก็ตามที่วงการธุรกิจดำเนินการประชุมอันเป็นความลับภายในสำนักงาน หรือแม้แต่ในที่พักนั้นดุเหมือนว่ามีบุคคลที่ 3 คอยฟังอยู่ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มบุคคลผู้ทำหน้าที่ลอบดักฟังก็ได้พัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ของตนเช่นกัน และบ่อยครั้งบุคคลเหล่านี้มักจะเป็นบุคคลที่อดีตเคยทำงานด้านสืบราชการลับให้กับรัฐบาล นี่ซิน่ากลัวมาก
วิลลัน ฟอร์ด อายุ 38 ปี ค่อนข้างท้วมนิดหน่อย ให้คำจำกัดความ “สายลับ” ไว้ว่า สายลับต้องเป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี และกระทั่งตัวคุณเองก็จำเขาไม่ได้ เมื่อตอนเป็นนายทหารหน่วยสืบราชการลับ ฟอร์ดทำหน้าที่สอนวิชาเกี่ยวกับการลักลอบดักฟังในโรงเรียนการข่าวกรองทหารพลเรือน ณ ค่ายโฮลาเบิร์ด รัฐแมริแลนด์ และยังเป็นผู้อำนวยการหน่วยตรวจการณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม ในปี 1969-1970 ดังนั้น บรรดาลูกค้าจึงไว้ใจในความสามารถของเขาและทั้งฟอร์ด และเพื่อนร่วมงานคือ อัลเลน เบล ต่างก็ไม่เคยปิดบังลูกค้าเกี่ยวกับงานด้านการสืบราชการลับของตนเอง และที่ป้ายหน้าสำนักงานที่ซาวานา, จอร์เจีย เขียนไว้ว่า “บริษัท เดคเตอร์เคาน์เตอร์อินเทลลิเจนท์” (บริษัทต่อต้านการสืบความลับ เดคเตอร์) เพื่อที่จะให้การโฆษณาเข้าถึงในบ้าน สัญลักษณ์ของบริษัทเป็นรูปเสื้อคลุมกันฝนและรูปหมวกที่ดึงหลบต่ำลงมา พร้อมกริชในมือที่อยู่ในสภาพเตรียมพร้อม
บริษัท เดคเตอร์ประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต่อต้านการลักลอบล้วงความลับ
อัลเลน เบล ผู้ซึ่งอดีตเคยทำงานด้านพัฒนาและตรวจสอบเครื่องมือลักลอบดักฟังให้กับหน่วยสืบราชการลับกองทัพบกมาแล้ว 11 ปี ได้กล่าวว่า “บริษัทของเราให้บริการดีที่สุด”
บริษัท เดคเตอร์ยังให้บริการด้านตรวจสอบค้นหาให้แก่ลูกค้าอีกด้วย และฟอร์ดประมาณการว่าจะมีลูกค้าประมาณปีละ 100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต่างๆ และรัฐบาลต่างประเทศในบรรดาเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อต้านการล้วงความลับ ฟอร์ดได้เปิดเผยเรื่องที่เกิดขึ้นที่สำนักงานแห่งหนึ่งในแอตแลนตา เมื่อเดือนมิถุนายน 1982
ดังนี้: เครื่องมือตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบติดตั้งเครื่องดักฟังชุดหนึ่งที่เครื่องโทรศัพท์ของผู้อำนวยการบริษัท และอีกชุดหนึ่งติดอยู่ที่โทรศัพท์ของฝ่ายบริหารบางคนที่ไม่พอใจบริษัท จนกระทั่งจะขายความลับให้บริษัทคู่แข่ง ไม่ทราบว่าฝ่ายบริหารคนนี้รู้วิธีการนี้มาอย่างไร ฟอร์ดกล่าวว่ามันเป็นการง่ายมากสำหรับฝ่ายบริหารที่จะลักลอบต่อสายโทรศัพท์จากห้องผู้อำนวยการไปยังที่ทำงานของตน ดังนั้น เมื่อมีการใช้โทรศัพท์ครั้งใดคำพูดก็จะถูกบันทึกเก็บไว้โดยอัตโนมัติ และจะนำไปขายให้แก่บริษัทคู่แข่งทุกครั้งที่มีการบันทึกไว้
และเหตุการณ์ต่อมาคือ บริษัทไม่สามารถเอาชนะประมูลหลายต่อหลายครั้งเป็นเงินกว่า 3 ล้านเหรียญในช่วงเวลา 8 เดือนต่อมา และเมื่อสืบจนแน่ชัดจนทราบสาเหตุ ผู้กระทำผิดก็ต้องออกจากงานไป ฟอร์ดกล่าวว่า “คนที่ทำผิดก็คงได้รับใบรับรองการทำงานอย่างดีไปจากบริษัท” แม้การลักลอบดักฟังจะผิดกฎหมาย โทษจำคุก 5 ปี และโทษปรับ 10,000 เหรียญ แต่ก็ยังไม่มีการลงโทษอย่างจริงจังแม้แต่รายเดียว
“แทบจะไม่มีการฟ้องร้องในเรื่องนี้เลย” ฟอร์ดกล่าว “สิ่งที่ผู้เสียหายต้องการก็คือ ยุติการรั่วไหลของความลับ, ให้ผู้กระทำผิดออกจากงาน, แล้วหลังจากนั้นก็ช่างหัวมัน”
หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของบริษัทเคมีขนาดใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขอร้องมิให้เปิดเผยนามกล่าวว่า “บริษัทต่างๆ มักจะไม่เต็มใจที่จะกล่าวถึงเรื่องพรรค์นี้นัก เพราะการยอมรับว่าถูกล้วงความลับเหมือนกับชี้โพรงให้กระรอก ซึ่งหมายถึงบริษัทคู่แข่งขันของคุณนำไปโจมตี ไม่ว่าความลับนั้นจะมีความสำคัญหรือไม่ และเรื่องเช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ค่อยจะสบายใจนัก”
ตัวอย่างเช่น เรฟลอน ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจเครื่องสำอาง มีการแข่งขันกันอย่างสุดเหวี่ยง เป็นเพียง 1 ใน 2-3 บริษัทที่ยอมรับว่าถูกลักลอบล้วงความลับ ตามถ้อยแถลงของ ลู ไทสกา หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย ขณะนี้ทางบริษัทได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบการลักลอบดักฟัง หากแต่ปิดไว้เป็นความลับ และจะใช้เป็นครั้งคราวเพื่อป้องกันมิให้ต้องสูญเสียข้อมูลอันเป็นความลับ แต่ก็จะพยายามมิให้บรรยากาศในการทำงานในโรงงานกลายเป็นบรรยากาศของค่ายทหารไป
อีกประการหนึ่ง การที่ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากผู้เสียหายจากการถูกลักลอบล้วงความลับ ทำให้บรรดาผู้มีอาชีพด้านต่อต้านการล้วงความลับ และผู้ผลิตเครื่องมือตรวจจับ ต้องเป็นผู้โวยวายออกมาเองว่า ตอนนี้การลักลอบล้วงความลับทางธุรกิจทวีจำนวนมากขึ้นอย่างน่าตกใจเพียงใด และมักจะไม่ได้รับความยินยอมให้เข้าแก้ปัญหาบริษัทผู้ผลิตรายหนึ่งโฆษณาว่า เครื่องมือของบริษัทสามารถตรวจจับเครื่องลักลอบดักฟังราวๆ 100,000 ชั้น ทั่วสหรัฐอเมริกาในระหว่าง 5 ปี ที่ผ่านมา แต่ที่จริงแล้วเป็นเพียงตัวเลขที่ประมาณการมาจากการสำรวจความเห็นของบริษัทผู้ใช้ บริษัทผู้ผลิตเดียวกันนี้ได้เสนอรางวัลให้กับผู้ที่ซื้อเครื่องมือไปใช้ และค้นหาเครื่องดักฟังไม่พบ คำพูดที่ท้าทายเช่นนี้ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นมา “มันทำให้เกิดความหวั่นไหวไปทั้งวงการ และก็มีหลายบริษัทซื้อเอาไปใช้ยกใหญ่” เฟรดเดอริค บอร์นฮอฟเฟน หัวหน้าส่วนรักษาความปลอดภัยของบริษัทเซ็น กล่าว
“มีการใช้เครื่องมือตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลายในวงการธุรกิจ” ความแตกตื่นเกี่ยวกับการจารกรรมด้านธุรกิจ และความสงสัยในการทำงานของเครื่องมือทำให้เกิดความสับสนไปหมด บริษัทแห่งหนึ่งซึ่งยังสงสัยในสมรรถนะของเครื่องมือ ยอมที่จะจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบหลังจากที่ได้มีการตกลงที่จะทำการค้นหาเพื่อตรวจสอบจนพบเครื่องลักลอบดักฟัง และต้องพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้มาลอบติดตั้งเอาไว้เอง
ฟอร์ด แห่งบริษัท เดคเตอร์ ได้ให้ข้อคิดเห็นที่ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับความจริงเกี่ยวกับการแพร่ขยายของการดักฟังว่า ในจำนวนลูกค้าที่มาพบกับเขา เนื่องจากสงสัยว่าจะถูกจารกรรมนั้นมีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นจริง แต่รู้สึกว่าในระยะปีกว่ามานี้จะเพิ่มอีก 2-3%
ฟอร์ด ประมาณไว้ว่าส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นเพราะผลทางวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่เลวลง ความหายนะด้านการเงิน อาจจะชักนำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องทำจารกรรมด้านธุรกิจกับบริษัทคู่แข่งขัน หรืออาจเป็นเพราะพนักงานฝ่ายบริหารระดับรองๆ เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในที่เดิมและมองหาช่องทางที่จะย้ายไปอยู่ในบริษัทอื่นที่ให้รายได้สูงกว่า ก็พร้อมที่จะนำความพอใจให้กับบริษัทที่ไปอยู่ใหม่ด้วยการช่วยล้วงความลับของบริษัทที่ตนกำลังทำงานอยู่ พนักงานระดับต่ำอาจจะทำเพียงต้องการแลกเปลี่ยนกับอามิสสินจ้าง และเนื่องจากการลักลอบติดตั้งเครื่องดักฟังนั้นกระทำได้ง่ายดายจึงเป็นแรงกระตุ้นให้กล้าทำมากขึ้น มีอยู่รายหนึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ถูกเฆี่ยนจากคู่แข่งทั้งด้านราคาและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงให้ที่ปรึกษาด้านรักษาความปลอดภัยมาทำการตรวจสอบ จึงค้นพบว่ามีเครื่องดักฟังอยู่ 3 ชุดตั้งในอาคารบริษัท และ 1ใน 3 นั้นอยู่ในรูปของเครื่องประดับโต๊ะทำงาน ซึ่งประธานบริษัทได้รับเป็นของขวัญคริสต์มาสจากประธานบริษัทที่เป็นคู่แข่งขัน
ฟอร์ดกล่าวว่า “เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะงักงันและเกิดภาวะเงินตึงตัวแล้ว ทุกๆ คนจะเห็นว่าการเอาชนะคู่แข่งขันนั้นวิธีล้วงหาความลับในธุรกิจของคู่แข่งขันจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด ทุ่นค่าใช้จ่าย และช่วยดึงให้สถานการณ์ของตนดีขึ้นได้”
แต่ในระยะยาวแล้วก็อาจจะมีผลเสียบางอย่างเกิดขึ้น กล่าวคือ แต่เดิมนั้นเทคนิคและความรู้ด้านการลักลอบหาข่าวสารนั้นเป็นเครื่องมือของทางราชการ แต่บัดนี้กลับกลายเป็นสินค้าที่สามารถหาซื้อได้จากแหล่งผลิตทั่วๆ ไป หรือแม้แต่สั่งซื้อทางไปรษณีย์ รวมทั้งมีการจัดทำคู่มือการใช้ให้ง่ายต่อการศึกษา “คุณอาจเดินเข้าไปในบริษัท เรดิโอแชค และซื้อเครื่องบังคับการบันทึกเสียง (RECORDER STARTER) ในราคาต่ำกว่า 30 เหรียญ” อัลเลน เบล แห่งบริษัท เคดเตอร์ กล่าว “โดยอ้างว่าจะซื้อไปติดตั้งกับโทรศัพท์และแน่นอนย่อมเป็นการง่ายที่จะนำไปติดตั้งเครื่องบังคับนี้กับสายโทรศัพท์ของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารที่ทำการใหญ่ๆ ซึ่งสามารถซุกซ่อนเครื่องมือนี้ได้ เช่น ที่ตู้ชุมสายโทรศัพท์” เบลกล่าวเสริมว่า ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นต่างใช้เครื่องมือนี้เหมือนๆ กันทำการลับลอบดักฟัง
เครื่องมือที่ใช้ดูแลเด็กเล็กๆ นั้น มีราคาเพียง 30 เหรียญ และบางคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากในสถานเลี้ยงเด็ก โดยอาศัยเครื่องส่งสัญญาณวิทยุจากห้องห้องหนึ่ง ก็จะสามารถได้ยินทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในห้องนั้นจากภายนอก เพียงต่อสายไฟจากเต้าเสียบเข้าสู่เครื่องรับในอาคารในบริเวณใกล้เคียงกันนั้น มือสมัครเล่นบางคนใช้เครื่องมือนี้ติดตั้งอยู่ข้างหลังเก้าอี้ มืออาชีพส่วนใหญ่ชอบที่จะติดตั้งเครื่องมือนี้ในหลอดไฟ, นาฬิกา หรืออุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ เจมส์ รอส ที่ปรึกษาด้านรักษาความปลอดภัยในบริษัทแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่รอบนอกของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่าส่วนใหญ่เครื่องมือดักฟังที่พบใช้อยู่ในวงการธุรกิจจะเป็นลักษณะดังกล่าวมา นี้ และเรียกกันทั่วๆ ไปว่า “เครื่องมือของเรดิโอแชค”
เครื่องมือดักฟังสำหรับมืออาชีพมักเป็นผลพลอยได้จากการพัฒนาด้านเทคนิคใหม่ๆ อุปกรณ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋วทำให้เป็นการง่ายที่จะทำให้เครื่องมือลักลอบดักฟังมีขนาดเล็กลงเท่าเหรียญ 10 เซ็นต์ และสามารถส่งคลื่นวิทยุไปยังเครื่องรับที่อยู่ในระยะไกลได้ ซึ่งตรงข้ามกับอุปกรณ์ที่ใช้ลักลอบดักฟังในกรณีวอเตอร์เกตอันอื้อฉาว เมื่อราวๆ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งดูเหมือนกับไม้หลายชิ้นประกบกันอยู่ ในประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นซึ่งยังไม่มีการควบคุมนั้น
เครื่องมือดักฟังอาจอยู่ในรูปปากกาหมึกแห้งและราคามีตั้งแต่ 600 เหรียญ จนถึง 2,000 เหรียญ แต่มีอายุใช้งานสั้นๆ เบลส์กล่าวว่า มืออาชีพสนใจที่จะติดตั้งเครื่องดักฟังในระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และนอกจากนี้เครื่องลักลอบดักฟังก็พัฒนาไปเรื่อยๆ
ปีที่แล้วบริษัท เคดเตอร์ ได้ตรวจพบว่าลำโพงตัวหนึ่งในห้องประชุมได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องมือดักฟังโดยที่ก่อนหน้าที่จะตรวจพบนี้ได้เคยใช้ห้องนี้เป็นห้องทำงานของฝ่ายจัดการระหว่างมีการประชุมพิจารณาข้อพิพาทกับสหภาพแรงงาน
สังเกตเห็นได้ชัดว่า จำนวนบุคคลที่สามารถใช้และติดตั้งเครื่องดักฟังมีเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีกรณีลักลอบล้วงความลับเพิ่มขึ้น
บิลส์ได้ประมาณเอาไว้ว่าในช่วง 20 ปีนี้ มีชาวอเมริกันประมาณ 10,000 คน ได้รับการฝึกฝนในการลักลอบดักฟังและในการป้องกันการลักลอบดักฟัง ส่วนใหญ่เพื่อกิจการทางทหารและการสืบราชการลับ และเพียง 600 คนเท่านั้นที่ยังทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐ ส่วนใหญ่ที่เหลือลาออกไปในเหตุการณ์ปี 1970 ซึ่งเกือบทั้งหมดที่ลาออกไปนี้ไม่สามารถหางานทำในภาคเอกชนได้ และบางคนก็หางานส่วนตัวทำซึ่งก็ไม่ได้รับความสำเร็จมากนัก
ฟอร์ดกล่าวว่า ลูกศิษย์ของเขาบางคนก็จำเป็นต้องทำงาน “เพื่อหาเงินเลี้ยงตัว” ในวงการลักลอบจารกรรมทางธุรกิจ ฟอร์ดกล่าวต่อไปว่าแม้แต่นักสืบเอกชนบางคน ก็ยังถูกชักนำให้ใช้วิธีการลักลอบดักฟังเช่นกัน
“อย่างน้อยที่สุด 1 ใน 5 คน ที่โทรศัพท์มาติดต่อกับผม มักจะต้องการให้ผมติดตั้งเครื่องดักฟัง หรือให้ต่อเชื่อมเครื่องดักฟังกับโทรศัพท์” เจมส์ โทธ นักสืบอิสระ ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านการลักลอบดักฟังกล่าวถึงชายผู้หนึ่งซึ่งมาพบเขาในเรื่องที่จะมีการประชุมกันเวลาบ่าย 2 โมงครึ่งในวันหนึ่ง “ผมต้องการให้คุณจัดการติดตั้งเครื่องดักฟังให้สักหน่อย” เมื่อโทธปฏิเสธ ชายผู้นั้นก็วางกระเป๋าถือไว้บนโต๊ะพร้อมกับกล่าวว่า “คิดให้ดีนะ นี่สำหรับคุณ” หลังจากผู้ชายคนนั้นไปแล้วโทธเปิดกระเป๋าดูพบเงิน 20,000 เหรียญ ซึ่งเขาก็ส่งคืนกลับไป “ผมได้บอกกับทุกๆ คนในเรื่องพรรค์นี้ว่า ไม่มีใครจะเอาเงินซื้อผมได้เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น มันจะกระทบกระเทือนต่อใบอนุญาตประกอบอาชีพและกิจการของผม”
“สิ่งที่ท้าทายสำหรับการทำจารกรรมในวงการธุรกิจก็คือ ความเสี่ยงต่อการถูกจับได้ หรือมิฉะนั้นก็คือรางวัลก้อนโต” อัลเลน เบลส์ กล่าวซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีของโทธ เพราะมีหลายคนคิดว่าไม่ค่อยจะเป็นเรื่องที่น่ากลัว ถ้าให้มืออาชีพจัดการแล้วละก็ความเสี่ยงที่จะถูกจับก็จะเหลือน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับข่าวที่ได้ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล และรับรองว่าคุ้มค่าจ้างทุกเซ็นต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวสารที่มีคุณค่านับล้านๆ เหรียญสำหรับคู่แข่งขัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการลักลอบดักฟังผู้หนึ่งกล่าวว่า “บริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านเทคนิคสูงๆ เดี๋ยวนี้เน้นไปทางด้านการทุ่มเงินลงไปในด้านจารกรรมทางธุรกิจมากกว่าที่จะไปเสียเวลาพัฒนาและวิจัยเทคนิคด้วยตนเอง
ควรหรือไม่ที่จะใช้วิธีจารกรรมล้วงความลับ? เป็นคำถามต่อกิจกรรมที่ถูกหาว่าสกปรกและเสี่ยงต่อกฎหมาย “จงกล้าเผชิญกับความจริง” เบลส์กล่าว “ถ้าคู่แข่งขันทราบว่าคุณกลัวที่จะให้สาธารณชนทราบว่า เกิดความสั่นคลอนในฐานะของบริษัทของคุณ สิ่งที่จะตามมาก็คือความพินาศในกิจการของคุณ และแม้ว่าคุณจะนำเรื่องขึ้นสู่การฟ้องร้อง การลงโทษก็ไม่ค่อยรุนแรงนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ต้องหาหรือตัวการ
แต่เป็นความจริงหรือที่การทำจารกรรมล้วงความลับในวงการธุรกิจจะไม่เป็นการเสี่ยงต่อกฎหมาย เจมส์ พูลี่ นักกฎหมายชาวแคลิฟอร์เนียและผู้เขียนหนีงสือเรื่อง “ความลับในทางธุรกิจ” กล่าวถึงกรณีหนึ่งว่า บริษัทแห่งหนึ่งฟ้องบริษัทคู่แข่งขันในข้อหาขโมยความลับทางเทคโนโลยี และแย่งตัวพนักงานและบังคับให้ชดใช้เป็นเงินนับล้านเหรียญ โดยกล่าวว่ามีพยานหลักฐานเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่เพื่อให้มีพยานหลักฐานหนาแน่นยิ่งขึ้นก็เลยลอบติดตั้งเครื่องดักฟังในบริษัทคู่แข่งแต่ถูกค้นพบ “เป็นอันว่าคดีต้องยุติลงอย่างง่ายๆ เพราะกระทำผิดในฐานะไปล้วงความลับคู่กรณีเสียเอง” พูเล่ย์กล่าวว่า “มันคล้ายๆ กับเป็นดาบ 2 คม นั่นแหละ”
แต่การลักลอบล้วงความลับและความตั้งใจที่จะล้วงความลับซึ่งกันและกันในวงการธุรกิจดูเหมือนจะขยายตัวออกไปอย่างไม่หยุด อย่างน้อยก็ต้องเหตุผลหนึ่งคือ การที่บริษัทอเมริกันได้ไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งในการนี้การรักษาความลับทางธุรกิจถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เพื่อความราบรื่นในการดำเนินธุรกิจยิ่งกว่าการดำเนินธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง บิล ฟอร์ด กล่าวว่า ก่อนอื่นบรรดาบริษัทอเมริกันในต่างประเทสต่างเตรียมหาทางป้องกันการลักลอบล้วงความลับเป็นประการแรกทีเดียว นักกฎหมายผู้หนึ่งเล่าถึงการประชุมตกลงกันทางธุรกิจครั้งหนึ่งในกรุงโตเกียวว่า ประธานบริษัทที่อยู่ในฟอร์จูน 500 จะไม่พูดจาปรึกษากับนักกฎหมายผู้นี้ในโรงแรมที่พักจนกว่าจะได้ปล่อยน้ำจากห้องน้ำให้ไหลจนส่งเสียงดัง เปิดวิทยุจนลั่นห้องแล้วก็ดึงตัวนักกฎหมายผู้นี้ไปพูดที่เฉลียงซึ่งก็พูดกันด้วยเสียงกระซิบ
แฮรี ยูสเทค ประธานบริษัท ออมมิแทรนส์ ในแคลิฟอร์เนีย ก็มีความรู้สึกไม่ไว้วางใจเช่นนี้เช่นกันหลังจากที่แพ้การประมูลอย่างหวุดหวิดให้กับบริษัทของอังกฤษและฝรั่งเศสในงานทางตะวันออกกลาง และด้วยความสงสัยเขาจึงนำเครื่องมือตรวจสอบติดตัวไปในการทำธุรกิจครั้งต่อมา และก็ตรวจสอบพบเครื่องดักฟังขนาดจิ๋วที่ใช้บังคับระยะไกลติดตั้งอยู่ในห้องในโรงแรมที่ใช้ในการประมูลครั้งที่แล้ว
แต่ยังมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งสำหรับบริษัทอเมริกันในต่างประเทศก็คือ จะต้องมีการจัดหา “ข่าว” ด้วยตนเอง ซึ่งในบางครั้งก็จำเป็นจะต้องใช้วิธีลักลอบดักฟัง ฟอร์ดกล่าวถึงธุรกิจอุตสาหกรรม ประเภทเภสัชกรรม, ปิโตรเลียม, เคมี, แฟชั่น และเครื่องเวชภัณฑ์ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีการแข่งขันกันอย่างสูง
“ผมทราบว่ามีบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่รายหนึ่งซึ่งมีทีมงาน “จัดหาข่าว” อย่างมีระบบมาตั้งแต่ปี 1960” ฟอร์ดกล่าว “หลังจากนั้นเท่าที่ผมทราบมาก็คือ เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีคนในทีมงานนั้นที่ผมรู้จักได้ลาออกจากงานเล่าให้ผมทราบว่าทั้งทีมมีอยู่ 6 คน ซึ่งมีหน้าที่เก็บรวบรวมข่าวกรองทางด้านเทคนิค และรวมทั้งทุกอย่างเท่าที่จะได้จากผู้คนในวงสังคม, ธุรกิจ แทบทุกประเภท และงานก็ได้ผลเพราะทั้ง 6 คนล้วนแต่ชำนาญการหาข่าวทั้งสิ้น”
ฟอร์ดกล่าวว่า บริษัทขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งด้านเภสัชภัณฑ์ซึ่งไม่ขอเอ่ยนาม เนื่องจากเป็นลูกค้าของเขาซึ่งมีการจัดการหาข่าวอย่างละเอียด แม้กระทั่งส่งสายลับเข้าไปอยู่ในบริษัทคู่แข่งขันที่บิลทราบก็เพราะได้เคยไปทำการตรวจสอบการลักลอบติดตั้งเครื่องดักฟังด้วยตนเองใน “อาคารที่ปลอดภัยแห่งหนึ่งในประเทศ” ซึ่งกำลังประชุมในระดับรองประธานบริษัทเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้จากบริษัทคู่แข่งขัน โดยพนักงานระดับบริหารผู้หนึ่ง ซึ่งทุกคนเข้าใจว่าอยู่ระหว่างการลาพักผ่อนได้เข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับข้อมูลความลับด้านสัญญาทั้งหลายที่ได้มาจากบริษัทคู่แข่งขัน และในตอนสิ้นสัปดาห์นั้นพนักงานผู้นั้นก็กลับไปทำงานในบริษัทคู่แข่งขันตามปกติ บริษัทเดคเตอร์ ได้ถูกว่าจ้างให้มาเพื่อตรวจสอบว่าอาคารหลังนั้นมีการลักลอบติดตั้งเครื่องดักฟังหรือไม่ “เพราะเราไม่ต้องการให้ใครทราบว่ามีการใช้สายลับสองหน้า”
เคยมีผู้ท้วงติงว่าในการที่เปิดเผยเรื่องเช่นนี้ เป็นเพราะบริษัทที่ปรึกษาด้านต่อต้านการลักลอบการล้วงความลับต้องการให้มีการทำจารกรรมในวงการธุรกิจกันมากๆ ซึ่งผลดีก็จะได้ตกอยู่กับบริษัทที่ปรึกษาพวกนี้ แต่บางทีเรื่องเกี่ยวกับการใช้จารกรรมที่เป็นระบบอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้ารัฐบาลยังใช้สายลับสองหน้า หรือการลักลอบติดตั้งเครื่องดักฟัง เพื่อข่าวสารอันเป็นประโยชน์ของรัฐบาลได้ก็ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ ธุรกิจภาคเอกชนจะใช้ได้เช่นกัน เพื่อความมั่นคงของธุรกิจและเพื่อเงิน
และในรูปแบบอันหลากหลายของเทคนิคการลักลอบจารกรรม การลักลอบดักฟังก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมันเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้บริษัทฯ รู้จักคู่แข่งทางธุรกิจของตนได้ชัดเจนขึ้นแทนที่จะใช้เพียงวิธีคาดการณ์เอาเอง และแม้จะถูกจับได้ก็ยังพอที่จะเจรจากันได้ หรือปฏิเสธและไม่มีผลร้ายนัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|