|
เสี่ยเชแฉหมดเปลือกบทม.ล็อกสเปกCTX
ผู้จัดการรายวัน(9 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"เสี่ยเช" เผยถูกไถจริง อ้างได้กำไรไม่กี่เปอร์เซ็นต์ จึงไม่ยอมจ่ายให้ใคร ชี้โครงการนี้มีล็อกสเปกตั้งแต่ต้น ยอมรับเคยให้ปากคำกับฝ่ายกม.ของจีอีฯที่บินมาสอบ และเคยพาผู้บริหาร บทม.บินดูงานสนามบินซานฟรานฯ โดยมีการเลี้ยงดูปูเสื่อ ซึ่งในสังคมไทยถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวก แต่ กม.สหรัฐฯถือว่าเป็นการติดสินบน ด้าน "ต่อตระกูล" แนะรัฐบาลตั้ง "คุณหญิง จารุวรรณ" เป็นประธานสอบ ชี้ชุดที่ตั้งขึ้นนั้นประชาชนไม่เชื่อถือ ด้านเอแบคโพลล์ระบุประชาชนยังไม่พอใจการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาล
วานนี้ (8 พ.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง เกาะติดสนามบินสุวรรณภูมิ "ตอน CTX สินบนข้ามชาติ" โดยนายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือ "เสี่ยเช" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพทริออต บิสซิเนส คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งได้รับเชิญมา ก็ต้องตอบคำถามอย่างหนักจากบรรดาวิทยากรด้วยกัน โดยนายวรพจน์กล่าวว่า ในงานนี้ตนเป็นซับคอนแทร็กเตอร์ มีสัญญาจ้างที่ต้องรับผิดชอบงาน และเหตุที่ต้องรับงานนี้ เพราะว่า บทม.ไม่ยอมดำเนินการเอง กลัวว่าถ้าผิดพลาด ต้องรับผิดชอบทั้งหมด ขณะที่ บ.ไอทีโอ ก็ไม่อยากจะซื้อของ จึงต้องจ้างซับคอนแทรกอีกที ซึ่งก็คือตน และตนก็ได้จ้างซับคอนแทรกมารับงานต่ออีก 4 บริษัท
"คุณจะจับทุจริต ก็จับกันไป แต่วันนี้คุณต้องปกป้องนักวิศวกรของคนไทยที่ถูกเตะออกไปเลย ผมเจอเขาเขกกะโหลกให้นั่งเงียบอยู่ตั้งนาน เขาไม่ให้ออกมาพูด บอกว่าเดี๋ยวหลุดให้รมต.ชี้แจงเอง แต่ถ้าเฉยอนาคตด้านธุรกิจผมก็เสีย ก็ต้องออกมาสู้ นี่มันชีวิตของผม ใครว่าผมเอากระแส เอาธงมาคลุมก็จริง ผมบอกได้เลยว่า คนมาไถก็มี แต่ไม่ให้ นิสัยผมเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ซื้อก็ฟ้องนายกฯ ไม่รู้นายกฯเป็นใคร ก็ฟ้องไว้ก่อน เพราะของเราดี ผมหาพวกก็คือ พวกสายการบิน ถ้าไม่ซื้อก็เป็นเรื่องเขาต้องซื้อเราโดยปริยาย ทำงานอย่างนี้ได้กำไร 10-15 % แล้วจะเอาไปให้คนอื่นมันเสียดายมันเหนื่อย"
ช่วงนี้ นายต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ก็ได้ซักถึงเงินจำนวน 600 ล้านบาท ที่รับจาก บ.ไอทีโอ เพื่อมาดำเนินการได้นำไปจ่ายค่าคอมมิชชันให้ใครหรือไม่ นายวรพจน์พยายามเลี่ยงที่จะตอบ โดยยืนยันว่าในวงเงิน 600 ล้าน ตนเองไม่ได้รับกับมือ แต่อยู่ที่ธนาคารทหารไทย โดย 200 ล้าน เป็นค่าค้ำประกันสัญญาล่วงหน้า อีก 400 ล้าน เป็นค่างวดงาน ซึ่งเบิกได้ก็ต่อ เมื่องานเสร็จ และมีรายการมาแสดงโดยตนได้นำเงินที่เบิกมาไปใช้ซื้อสิ่งที่สร้างความสุขให้กับตัวเอง และถือเป็นการลงทุนในอนาคต
"ผมไปซื้อที่ดิน 80 ล้านบาท จากผู้พิพากษาบริเวณนอร์ทปาร์ก ซื้อต้นลีลาวดี 50 ล้านบาท เพื่อเอาดอกขายให้กับสปา ซึ่งมีราคาตกดอกละ 2 บาท รวมทั้งขยายพันธุ์ด้วยการต่อกิ่ง เพราะจะปลูกให้เป็นลานลีลาวดี ซื้อรถบรรทุกพ่วง 3 คัน ประมาณกว่า 10 ล้านบาท ซื้อบ้านพักที่ทำเป็นประจำทุกปี ส่วนที่เหลือเป็นเงินสดกว่า 100 ล้านบาท ที่ยังคงอยู่ในแบงก์ไม่ใช่ 50 ล้านบาท เพราะ 50 ล้านบาทที่นำออกมา หลังทราบว่า ปปง.จะเข้ามาตรวจก็โมโหจึงได้นำเงินไปเข้าคืนเอาไว้ เพราะต้องการให้เห็นว่าผมได้นำเงินเข้าไปคืนแล้ว สิ่งเหล่านี้ไปตรวจสอบได้ และผมได้เขียนพินัยกรรมไว้หมดแล้วว่าหากผมเป็นอะไรไป 50 ล้าน ที่เตรียมไว้ให้เป็นกองทุนเอาไว้ล้างแค้นให้ผมเหมือนกับหนังจีนเลย"
จากนั้น นายศิริโชค โสภา ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามว่า คำพิพากษาศาลแขวงแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า บ.อินวิชั่น ขายของให้กับบริษัทของไทยในราคาสูง เพราะส่วนต่างที่เกิดขึ้นต้องนำไปจ่ายสินบนให้กับข้าราชการ นักการเมือง นายวรพจน์ท้าว่า ถ้ามีหลักฐานให้แสดงออกมา และพร้อมจะลาออกจากการเป็นคนไทย จริงๆแล้วราคาเครื่องตรวจระเบิด 35.8 ล้านดอลลาร์ เป็นราคาหน้าโรงงาน
แต่ยังไม่รวมค่าขนส่ง ค่าแรง ค่าประกอบ เมื่อนำมารวมทำให้ราคาแพงขึ้นอีก 30% และยืนยันว่าถ้า จีอีฯยกเลิกสัญญา ผมฟ้องแน่ แม้จะมีเสียงเตือนมาว่า จะฟ้องสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ แต่ก็จะฟ้อง
นายวรพจน์ยังกล่าวด้วยว่า ถ้ามีการยกเลิกสัญญาตนจะเสียหายเป็นหมื่นล้าน เพราะงานนี้ได้กำไรแค่ 5-10% แต่ตนหวังอนาคตที่จะได้งาน ติดตั้งเครื่องตรวจระเบิดในประเทศภูมิภาคนี้ ซึ่งตรงนั้นค่าคอมมิชชันที่จะได้สูงถึง 3-4 พันล้าน แต่ก็ต้องมาเสียชื่อและอาจไม่ได้งานอีกเพราะข้อกล่าวหานี้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของบริษัทจีอีฯ มาสอบเพื่อจะเอาผิดให้ได้ว่า เราได้ไปเลี้ยงข้าวลูกค้าหรือไม่ ดูแลอะไรลูกค้าเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะผิดกฎหมายของอเมริกา ซึ่งตนได้ชี้แจงไปว่า ให้ค่าแท็กซี่ไปแค่คนละ 500 เหรียญตอนที่ไปดูงานเท่านั้น
จากนั้นนายนพนันท์ วรรณเทพสกุล อ.คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถามว่า มีการล็อกสเปกระบบให้กับ CTX หรือไม่ นายวรพจน์ กล่าวว่า ต้องล็อก ถ้าไม่ล็อกก็ขายไม่ได้ และไม่มีประมูลด้วย เพราะมีเจ้าเดียวในโลกเท่านั้นที่ผลิต ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบทม.ไม่ได้เลือกยี่ห้อ แต่เขาเอาแอร์พอร์ต คือ บทม.อยากได้ระบบด้านความปลอดภัยเช่นเดียวกับสนามบิน ซานฟรานซิสโก ทางไอทีโอ ก็จ้างดีไซเนอร์นำเข้ามาจากซานฟรานฯ เพื่อสร้างระบบตามที่บทม.ต้องการ และก่อสร้างควบคู่ไป เพราะเวลามันไม่มี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการชี้แจงดังกล่าว นายวรพจน์ก็ได้นำภาพที่นำผู้บริหาร บทม.ไปดูงานที่สนามบินซานฟรานซิสโกมาเปิดให้ดู ซึ่งนายต่อตระกูล ก็ได้สอบถามว่า การเดินทางไปครั้งนั้น ใครเป็นคนออกค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าเลี้ยงดูปูเสื่อ นายวรพจน์กล่าวว่า "ตอนแรกเขาสัญญาว่าจะจ่ายให้ แต่ผมขอเบิกเขาก็ไม่จ่าย นายต่อตระกูล จึงพูดว่า อย่างนี้ผิดกฎหมายสหรัฐฯ ฐานจ่ายสินบน ซึ่งนายวรพจน์ ก็พยักหน้ายอมรับ
ส่วนบริษัทที่ตนไปจ้างมารับเหมาช่วงงาน ก็ยืนยันไม่ได้เป็นบริษัทเด็กฝากของใคร เพราะเป็นงานเล็กๆ วงเงินไม่กี่ล้าน ก็จ้างบริษัทที่ทำงานอยู่ในสนามบินอยู่แล้ว เรื่องนี้ตัดประเด็นไปได้เลย มันกระจอก ถ้าจะเอาเรื่องใหญ่จริงๆ บอกได้เลยว่าให้ไปจับเรื่องข้างบน เหนือบ.ไอทีโอ ดีกว่า
ด้านนาย นพนันท์ กล่าวตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาที่ระบุว่า มีการดำเนินการดังกล่าวคือ ม.ค. 46-เม.ย. 47 ต้องบอกว่า ขณะนั้นมีความพยายามผลักดันจากนักการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้รองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 45 ล้านคนต่อปี จนต้องเพิ่มงบประมาณอีก 1,500 ล้านบาท ตรงนี้มีข้อสังสัยว่า เกิดขึ้นก่อนที่บทม. จะแจ้งไปยังไอทีโอ ให้ศึกษาคัดเลือกเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ทำให้เกิดนัยสำคัญ 2 เรื่อง คือ
1. ระบบสายพานที่เป็นระบบอินไลน์สกินนิ่ง อาจจะมีความเกี่ยวพันกับการล็อกสเปกให้กับเครื่อง ตรวจวัตถุระเบิดของอินวิชั่น ซึ่งเหมือนกับเป็นการไป ล็อกสเปก ของระบบสายพานไว้ก่อน เพื่อจะให้สอด คล้องกับเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ถึงแม้ว่าจะมีการคัดเลือกตามขั้นตอนของ บทม.โดยมีการว่าจ้างวิศวกรอิสระมาช่วยประเมินราคาก็ตาม แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องเจาะจงเลือกของอินวิชั่น เพราะตรงนี้มีการซ่อนเงื่อนเอาไว้ก่อน
2. มีการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการเลือกเครื่องอุปกรณ์ต่างๆที่ไม่ใช่คุณลักษณะทั่วไป ผ่านคู่สัญญาเอกชนที่ได้รับงานจากรัฐไปแล้ว
3. หากจะย้อนอดีตไปไม่นานในการประกวดราคาการสัญญาผู้โดยสารกับอาคารเทียบเครื่องบินที่ลงนามในสัญญาวันที่ 9 พ.ย. 44 รัฐบาลทักษิณชุดแรกพยายามบอกว่า สามารถประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก แต่กรณีสินบนเครื่องตรวจ CTX ในครั้งนี้ แม้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีสินบนจริงหรือไม่ แต่สะท้อนว่าไม่ได้เป็นการประหยัดงบประมาณตามที่เคยกล่าวอ้าง เพราะมีการเติมงาน งบประมาณที่ค่อนข้างสูงเกินจริง คือ 8.6 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบหมื่นล้านบาทให้แก่ผู้ชนะการคัดเลือกในครั้งนั้นอีกหลายครั้งรวมถึงกรณีเครื่องตรวจระเบิดนี้ด้วย
4. ในกรณีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อ CTX กระทำผ่านผู้รับจ้างงานของรัฐซึ่งเป็นเอกชน เป็นวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงในการจัดซื้อจัดจ้าง นับเป็นการ หลีกเลี่ยงกระบวนการตรวจสอบในการจัดซื้อจัดจ้างวิธีหนึ่ง และวิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากขึ้น เพราะนักการเมืองสามารถแทรกแซงการจัดซื้อผ่านผู้รับจ้าง งานเอกชนได้ แต่หากมีปัญหาก็สามารถปัดความเกี่ยวพันถึงตนเองได้ กรณี CTX ก็เช่นเดียวกัน มีการออกมาปฏิเสธว่า ภาครัฐไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรง แต่เป็นสัญญาการซื้อสินค้าระหว่างบริษัทเอกชนของไทย คือ แพทริออต ที่ทำไว้กับบริษัทเอกชนของต่างประเทศ คือ จีอี อินวิชั่น
ด้านนายต่อตระกูล ยมนาค กล่าวว่า โครงการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่า เปรียบเสมือนขุมทองที่นักการเมืองทุกยุคต้องเข้ามาขุด การที่นายวรพจน์ระบุว่านำเงิน 400 ล้าน ไปซื้อต้นไม้ ที่ดิน เชื่อว่าไม่น่าจะโกหก เพราะสิ่งเหล่านี้สื่อตามไปตรวจสอบได้ แต่เชื่อว่านายวรพจน์พูดไม่หมด สังเกตได้ว่านายวรพจน์ พยายามจะบอกว่า มาพุ่งเป้าที่ตนเองทำไม ถ้าจะจับผิดกันจริงๆ ต้องไปดูระดับที่สูงกว่า ไอทีโอ ขึ้นไป
นอกจากนี้ การที่นายวรพจน์ระบุว่า ได้จ่ายค่าเลี้ยงดูปูเสื่อให้แก่ผู้บริหารบทม.ที่เดินทางไปดูงานที่สนามบินซานฟรานฯ ก็เท่ากับนายวรพจน์ ทำผิดกฎหมายของสหรัฐฯ แต่สำหรับคนไทยแล้ว มันแค่สีเทา ซึ่งตนเชื่อว่าถ้ารัฐบาลสรุปออกมาในตอนนี้ โดยยอมรับว่า ที่สหรัฐฯ ระบุว่ามีการจ่ายสินบนนั้นก็คือ ค่าน้ำร้อน น้ำชาเหล่านี้ แต่คนไทยก็ไม่มีทางเชื่อ เพราะสิ่งที่สังคมเชื่อ คือมีการจ่ายเงินให้แก่นักการเมือง และข้าราชการไทยจริง
"ผมสงสารท่านนายกฯ เพราะจริงๆแล้วเรื่องการจ่ายสินบน มีการจ่ายในโครงการอื่นๆของหนองงูเห่ามูลค่าสูงกว่านี้เยอะ แต่ปัญหาคือเวลานี้สังคมไม่เชื่อรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็จะเจอปัญหาลักษณะนี้ต่อเนื่องไปนับจากนี้ กรณีนี้จึงเหมือนกรณีปัญหาภาคใต้ ที่ไม่ว่าจะพูดหรือแก้อย่างไรคนก็ไม่เชื่อ ต้องตั้งคนที่ประชาชนเชื่อถือ และเชื่อว่ารัฐบาลสั่งไม่ได้ ขึ้นมาเป็นประธานสอบสวนคือ นายอานันท์ ปันยารชุน ดังนั้นเรื่องนี้เสนอว่าควรตั้ง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาเป็นประธาน" นายต่อตระกูลกล่าว
ประชาชนยังไม่พอใจรัฐแก้คอร์รัปชัน
เอแบคโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่องข่าวที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล 3 อันดับแรก ปรากฏดังนี้ ข่าวทุจริตซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดที่ใช้ในสนามบินหนองงูเห่า ร้อยละ 75.1 ข่าวราคาน้ำมัน-สินค้าที่สูงขึ้น ร้อยละ 74.4 และข่าวความขัดแย้งแย่งตำแหน่งของ ส.ส.ไทยรักไทย ร้อยละ 69.3
สำหรับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ประชาชน ร้อยละ 70.2 เชื่อว่า มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในหน่วย งานอื่นของรัฐอีก นอกเหนือจากกรณีข่าวสินบนเครื่อง ตรวจสอบวัตถุระเบิด มีเพียงร้อยละ 7.9 ที่เชื่อว่าไม่มี และร้อยละ 21.9 ไม่มีความเห็น
ในเรื่องความพอใจต่อผลงานของรัฐบาลในการ แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน พบว่าร้อยละ 55.6 ไม่พอใจ เพราะยังไม่เห็นผลงานชัดเจน และปัญหายังมีอยู่ให้เห็น รวมถึงมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังเสมอ มีเพียงร้อยละ 34.1 ที่พอใจ และร้อยละ 10.3 ไม่มีความเห็น นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.9 ต้อง การให้นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยเร็ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|