หลักของงานบริหารบุคคล กุญแจสำคัญแห่งฐานความสำเร็จของธุรกิจใหม่

โดย พงษ์ศักดิ์ สัมภวคุปต์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

“ข้ามาคนเดียว ข้าอยากไปหลายคน ข้าอยากให้คนอื่น แต่ข้าให้ไม่ได้”

นักธุรกิจแทบทุกคนที่ประสบความสำเร็จจะต้องประสบปัญหาข้างต้นในการทำธุรกิจไม่ว่าระยะใดก็ระยะหนึ่ง เขาจะแก้ปัญหาข้างต้นได้หรือไม่อย่างไร หากเขาแก้ได้เขาก็คงจะสามารถขยายธุรกิจของเขาออกไปให้เจรฺญเติบโตก้าวหน้า และยิ่งใหญ่ได้ต่อไป แต่หากเขาแก้ไม่ได้เขาก็คงจะต้องพอใจอยู่กับธุรกิจของเขาที่มีเขาเป็นหัวหน้า และถนนทุกสายวิ่งเข้าสู่ตัวเขาเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นสิ่งเสียหายอะไร ดีด้วยซ้ำไปที่ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจอยู่ในข่าย “ข้าทำคนเดียว” สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมทุกอย่างได้อย่างใกล้ชิด แต่คนเรานั้นมีสองมือสิบนิ้ว จะทำงานได้อย่างมากก็วันละไม่เกิน 15 ชั่วโมง เท่านั้น (ให้นอน 6 ชั่วโมง เข้าห้องน้ำ 1 ชั่วโมง กินอาหาร 2 ชั่วโมง เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นบ้าง ก็คงจะได้นอนนานๆ เร็วขึ้นอย่างแน่นอน) และการทำงานนั้นก็จะต้องทำในเวลาที่มีอยู่ซึ่งก็มีจำกัด และดังนั้นแล้ว ท่านจะขยายงานได้โดยท่านไม่เป็นบ้าได้อย่างไร ท่านอาจคิดว่าท่านทำไม่ได้เพราะ

1) “ข้าไม่มีคนที่สามารถรับงานข้าได้” หรือ “ข้าไม่มีผู้รู้ใจ”

2) “ถึงจะมีข้าก็ไม่มีเงินจ้าง”

3) “ข้าไม่มีผู้สนับสนุนหรือผู้ช่วยข้าแก้ปัญหา”

ไม่ต้องตกใจผู้เขียนมีกล่องวิเศษ ที่สามารถเปิดออกแล้วได้ตำราแก้ปัญหาจากคัมภีร์เล่มใหญ่ที่ช่วยชี้แนะวิธีแก้ปัญหาให้ท่านได้ทุกเวลา ซึ่งวิธีแก้ปัญหานั้นมีวิธีดังนี้คือ

1) ท่านต้องมีเวลา

2) ท่านต้องวางแผน

3) ท่านต้องสร้างผู้ร่วมงานที่มีความสามารถ

4) ท่านต้องบริหารงานบุคคล เพื่อควบคุมให้ผู้ร่วมงานที่มีความสามารถนั้น สามารถยิ่งขึ้นและรักษาระดับความสามารถนั้นไว้ตลอดไป

หากท่านสังเกตท่านจะเห็นคำว่า “ต้อง” หรือ “must” อยู่ข้างหน้า เพราะการแก้ปัญหาในชั้นนี้ต้องใช้วิชา “must do” ซึ่งอยู่เหนือชั้นกว่า “can do” หรือ “can be” หรือ “must be” ที่นักธุรกิจชอบพูดกัน ซึ่งตำราวิชานี้นักธุรกิจนำไปใช้และประสบความสำเร็จไปหลายคนแล้ว มีอยู่รายหนึ่งนำไปประยุกต์กับธุรกิจของเขาภายใต้หลักประยุกต์ที่ว่า “ขอมาข้าไม่ให้ ขออีกข้าไม่เพิ่ม งานข้าไม่ลด กฎต้องปฏิบัติ เป้าต้องไม่ขาด ขยาดข้าปลด เจ้าอย่าหยุด เจ้าต้องทำ”

ดังนั้น ท่านจะเห็นได้ว่าในเมืองไทย? “ไม่เป็นไร” ของเรานี้ ยังมีหลายธุรกิจที่ใช้วิชา “must do” กันอยู่บ้าง และวิชานี้เป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ สำหรับธุรกิจใหญ่ ซึ่งแน่นอนจะต้องมาจากธุรกิจเล็ก และมาจากบุคคลเดียวหรือหลายคนเป็นผู้สร้างขึ้นมา แต่ผู้สร้างนั้นต้องมีวิจารณญาณ มีเวลา มีการวางแผนงานตั้งแต่แรกเริ่มว่าธุรกิจเล็กๆ ที่เขาจะเริ่มขึ้นมานั้นจะมีเป้าหมายในอนาคตอย่างไร (เข้าตำราหลักวิชาที่ว่า “หากจะทำเล็ก ให้มองใหญ่ หากทำใหญ่ ให้มองเล็ก เป็นต้น) เมื่อเขาคิดแล้วเขาก็สามารถที่จะวางแผน เรื่องผู้ร่วมทุน ผู้สนับสนุน ซึ่งก็จะช่วยแก้ปัญหา เรื่องเวลาเรื่องการเงินและการแก้ปัญหาในระดับต่างๆ ไปได้ และตลอดจนการสร้างผู้ร่วมงานที่มีความสามารถนั้น สามารถยิ่งขึ้น และรักษาระดับความสามารถนั้นตลอดไปในที่สุด ในวันนี้ผู้เขียนจะสมมุติว่า ผู้ทำธุรกิจมีความสามารถในการวางแผนทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ มีการฝึกสร้างสรรค์บุคลากรเข้ามารับงานตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว และในขณะเดียวกันผู้เขียนก็จะพูดถึงการบริหารงานบุคคลที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเพื่อเพิ่มพูนความก้าวหน้าและประโยชน์ให้แก่ธุรกิจเท่านั้น

หลักมีอยู่สองข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

1. หลักในการฝึก (ต้องฝึก)

ที่พูดมาแล้วว่าผู้เขียนสมมุติว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว มีการวางแผน มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกมาตั้งแต่ต้นแล้วนั้น มิได้หมายความว่าบุคลากรที่ได้รับการฝึกแล้วนั้น จะไม่ต้องถูกฝึกต่อไป อันที่จริงบุคลากรนั้นจะต้องได้รับการฝึกทุกวัน เพราะไม่มีผู้ใดที่เรียนรู้ได้วันเดียวหมด การเรียนรู้ต้องใช้เวลาเพื่อเรียนรู้บทที่หนึ่งก็จะรู้ว่าตนยังไม่รู้บทที่สอง เข้าหลักที่ว่า “ยิ่งเรียนยิ่งโง่” เพราะ “ยิ่งรู้ ก็ยิ่งรู้ว่า ไอ้ที่ไม่รู้นั้นมีอีกเยอะ” ดังนั้น การบริหารงานบุคคลกับการฝึกจึงจะต้องอยู่คู่กันไปตลอดเวลา เพราะผู้ที่ได้รับการฝึกแล้ว ก็จะยังคงมีปัญหาและจะต้องฝึกต่อไปเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นๆ ดังนั้นผู้บริหารควรคัดเลือกบุคลากรที่อยู่ในข่ายที่จะฝึกได้และที่ยอมรับการฝึกตั้งแต่เริ่มต้นเท่านั้น โดยปรับตัวบุคลากรให้อยู่ในความพร้อมที่จะ “เปิดอกพูดกันได้” หรือ “จับเข่าคุยกันได้” โดยไม่มี “ศักดินา” เกี่ยวข้อง เมื่อทำงานแล้วต้องมีความเข้าใจในงานและรับผิดชอบงานของตนเพื่อผลของทีมงานที่จะส่งผลให้ครบวงจร ดังนั้นอาจจะเป็นการถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่มที่จะทำการการวิเคราะห์บุคลากรตั้งแต่เมื่อสมัครโดยการ “แก้ผ้าจับเข่าคุยกัน” ให้รู้ซึ้งและเข้าใจกันตั้งแต่แรก ระหว่างบริษัทกับบุคลากร และให้มีการคุยกันอย่างนี้อยู่เป็นระยะ ซึ่งจะทำให้สองฝ่ายเข้าถึงจิตใจและเข้าใจถึงปัญหาของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้ฝึกก็สามารถฝึกได้เต็มที่ และปรับการฝึกให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมและความต้องการของวันต่อวัน ส่วนผู้ถูกฝึกก็เข้าใจนโยบายความจำเป็นและประโยชน์ของการฝึก ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจของเขาเป็นผู้ที่มีส่วนในความรับผิดชอบที่จะทำให้ครบวงจรอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งสรุปแล้วหลักในการฝึกที่พูดนี้ก็ได้แก่

1) ฝึกให้ผู้ถูกฝึกเข้าใจในเรื่องการฝึก

2) ฝึกให้ผู้ถูกฝึกมีความสามารถยิ่งขึ้น

(เช่นฝึก MBO, QC Circle จัดสัมมนา workshop และอื่นๆ เป็นต้น)

3) ฝึกให้ผู้ถูกฝึกมีทัศนคติที่ถูกต้อง ดังนี้

(1) ทัศนคติ “Blood, Sweat and Teras” หรือ “ทำงานให้ดี ต้องพร้อมที่จะสู้ด้วยเลือดเนื้อหยาดเหงื่อและน้ำตา”

(2) “ความสำเร็จ และชื่อเสียง คือเงิน”

“เงินคือกระดาษ เงินคือสิ่งที่เราใช้ แต่เงินใช้เราไม่ได้”

(3) “ต้องรู้ ต้องทำให้เป็นและต้องใช้ให้เป็น”

เมื่อฝึกได้ดังนี้แล้ว ก็ต้องนำหลักเหล่านี้ไปใช้ในการควบคุมหรือฝึกต่อให้บุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านี้ทำงานให้ได้ผลตามหลักนี้ต่อไปให้สอดคล้องกับงานธุรกิจที่ทำตามความรับผิดชอบในสายงานที่วางเอาไว้ทุกประการ

2. หลักในการคุม

(1) ใช้หลัก “Blood, Sweat & Tears” ในการควบคุม คือต้องเล่นทั้งลูกทั้งคน และเล่นให้หนักในเกมทุกขั้นตอนและให้ยกเลิกระบบ “บอกต่อมา แล้วจะบอกต่อไป” โดยสิ้นเชิง ระบบ “complete delegation” นี้ อาจใช้ได้ในระดับบริหารสูงเพียงชั้นหรือสองชั้นเท่านั้น แต่จะมาใช้ในระดับ middle management ไม่ได้เลย ห้ามเด็ดขาดในระดับข้างล่างนี้จะต้องเป็น working management คือผู้ควบคุมจะต้องทำด้วย จึงจะรู้ปัญหาและการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ท่านลองคิดดูก็แล้วกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าระบบงานไม่มี worker ทุกคนจะเป็น executive กันหมด มีตำแหน่งบริหารลดหลั่นกันลงมาตั้งแต่ President ลงมาจนถึงผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการแผนก จนถึงหัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนก หากบอกต่อมาแล้วบอกต่อไป มันก็ไม่มีใครผลิตงานเท่านั้นเอง ผู้ควบคุมเกมจะต้องสร้างระบบงานให้เกิด pressure และความรับผิดชอบตามเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้ด้วยการแลกเปลี่ยนที่จะต้องสู้งานด้วยเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อและน้ำตาและนั่นคือความสุขที่แท้จริงของการทำงาน

(2) ใช้หลัก “ความสำเร็จและชื่อเสียงคือเงิน” ระบบนี้ต้องใช้วิธีตอบแทนให้แก่พนักงานปฏิบัติงานดีเด่นมี Icentive ให้และให้มีการตรวจเช็กให้รู้ว่างานที่เขาทำนั้นแม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ก็มิใช่งานปิดทองหลังพระ บริษัทมีความเข้าใจและรู้ว่าเขาทำหรือไม่ทำ บริษัทมีระบบ รู้แม้กระทั่งว่าวันนี้เขาเข้าห้องน้ำกี่ครั้ง รู้ว่าเขาช่วยบริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างไรเพราะไปไหนไม่ยอมนั่งแท็กซี่ นอกจากเรื่องรีบด่วนเท่านั้น เป็นต้น ซึ่งระบบงานเช่นนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนมีความสำคัญ รู้สึกเป็นลูกที่พ่อแม่รัก มีคนดูแลเอาใจใส่ จ้ำจี้จ้ำไชว่ากล่าว ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอยู่ในระเบียบวินัย อยากทำความดีให้ได้รับคำชมและได้รับผลตอบแทน เพื่อให้ได้รับความสำเร็จแล้วจึงจะได้รับเงินเป็นสิ่งตอบแทน และเงินนั้นไม่ว่าค่าของมันจะเป็นเท่าใดก็ตามความพอใจและความภูมิใจของความสำเร็จนั้นย่อมมากกว่าเงินจนไม่สามารถจะเปรียบได้ว่ามากกว่าเท่าใด เงินเป็นสิ่งที่มีไว้ให้ใช้ได้ตามความพอใจ ตามที่มีอยู่เท่านั้น พนักงานที่ได้รับเงินจะต้องมีความพอใจในสิ่งที่เขาได้รับเพราะเขาพอใจในความสำเร็จของเขาที่ได้รับการยอมรับและยกย่องมากกว่า และนี่จะเป็นการฝึกนิสัยในเรื่องความพอ เพื่อเข้าหลักที่ว่า “modesty is the best ?”

(3) ใช้หลัก “ต้องรู้ ต้องทำให้เป็น และต้องใช้ให้เป็น”

ต้องรู้ คือต้องอยากรู้ ต้องเรียนรู้ทุกอย่างขวางหน้า และต้องรู้ให้จริง ไม่ใช่รู้แบบ “ฟังไม่ได้ศัพท์ แล้วจับเอามากระเดียด” ซึ่งผู้รู้แบบนี้จะเป็นได้แค่ flash dance เท่านั้น พอฟิวส์ขาดแล้วก็เต้นไม่ออกเอาดื้อๆ และยังทำให้ผู้อื่นเสียหายอีกด้วย

ต้องทำให้เป็น คือต้องมีศิลปะในการทำต้องรู้จักสั่ง ต้องรู้จักใช้ ต้องรู้จักพูด ในเวลาที่ควรพูด อ่อนโยนสุภาพ หรือแข็งกร้าวในเวลาที่ควรเป็น ทำให้คนรักได้โกรธได้ เกลียดได้อย่างมีศิลปะ และให้อยู่รอดปลอดภัย และประสบความสำเร็จ นี่คือศิลปะของการทำให้เป็น

ต้องใช้ให้เป็น คือ ต้องรู้จักว่าเมื่อเป็นแล้ว จะใช้อย่างไร และจะใช้เมื่อใดและที่ใดบ้าง เช่นนี้ จะต้องมีวินัย และการวางแผน ว่าเราจะใช้วิชาความรู้ของเราตอนไหนบ้าง เราจะควบคุมตัวของเราอย่างไร เราต้องมีวินัย มีความซื่อสัตย์และความเคารพในตัวเองและต่อผู้อื่นและมีการวางแผน และเมื่อนั้นเราจะเป็นผู้ใช้เป็น

สรุปแล้ว การบริหารงานบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการบริหารธุรกิจ เพราะธุรกิจใดๆ ก็ตามจะเดินไปได้ดี ก็ด้วยบุคลากรของธุรกิจนั้นมีความสามารถ และมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้นก็จะต้องมาจากระบบการบริหารซึ่งรวมถึงระบบการบริหารงานบุคคล ที่มีการควบคุมให้การทำงานเป็นไปตามเป้าหมายและข้อกำหนดที่วางเอาไว้ ธุรกิจก็สามารถจะเจริญเติบโต ก้าวหน้าไปได้อย่างไม่มีที่หยุดยั้ง เพราะธุรกิจนั้นทำด้วยระบบงาน ซึ่งควบคุมบุคคล บุคคลเป็นเพียงส่วนประกอบที่สำคัญแต่ไม่สำคัญที่สุด และบุคคลนั้นมีตัวตายตัวแทนกันได้ โดยมีระบบการฝึกซึ่งสามารถผลิตคนแทนได้ตามที่ต้องการ การบริหารบุคคลจึงเป็นสิ่งที่นักธุรกิจจะต้องตระหนักไว้ในความสำคัญที่ทุกคนจะมองข้ามไม่ได้ และจะต้องมีการรณรงค์เพื่อพัฒนางานบริหารงานบุคคลนี้ให้กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้นโดยเร็ว เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพให้แก่บุคลากร ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจของชาติให้เจริญรุ่งเรืองโชติช่วงชัชวาลสืบต่อไปชั่วกาลนาน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.