บัญญัติเจ็ดประการในการสร้างตนให้กลายเป็นบุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตงาน

โดย อำนวย วีรวรรณ
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ดร.อำนวย วีรวรรณ ได้บรรยายบัญญัติ 7 ประการนี้ ในพิธีปัจฉิมนิเทศปิดการอบรม “โครงการธนาคารคู่บ้านคู่เมือง” ณ ห้องประชุมชั้น 30 ธ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่สีลม เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2527

บัญญัติข้อแรก คือการรู้ซึ้งถึงแก่น กล่าวคือ ท่านจะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการที่จะวิเคราะห์ปัญหาในทางปฏิบัติ และนำหลักวิชาที่ได้เล่าเรียนฝึกหัดอบรมมาประยุกต์ใช้ให้ได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ของงาน โดยอาศัยความฉลาด หลักแหลม และวิจารณญาณที่ดีเป็นเครื่องชี้นำ ท่านจะต้องพยายามใฝ่หาความรู้กับงานที่รับผิดชอบอยู่ อย่าถือตัวว่าฉลาดรอบรู้หรือรู้แล้วเป็นอันขาด เพราะเมื่อไหร่ที่ท่านคิดว่าตัวเองฉลาดแล้ว เมื่อนั้นขอให้พึงรู้เถิดว่าท่านเริ่มจะกลายเป็นคนโง่ และจะโง่มากขึ้นถ้ามัวแต่อมภูมิไม่ถามใคร หลงคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่อยู่คนเดียว ผมอยากจะยกตำราพิชัยสงครามของซุนวูให้ท่านนำไปพิจารณา เพราะถึงแม้ว่าจะเก่าแก่หลายร้อยปี และมีจุดมั่งหมายเพื่อการรบทัพจับศึกให้ได้ชัยชนะ แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างดีในสถานการณ์ปัจจุบัน ตำราที่ว่านั้นก็คือ “รู้เขารู้เรา” ซึ่งซุนวูสอนไว้ว่า

ไม่รู้เรา ไม่รู้เขา รบ 10 ครั้ง แพ้ 10 ครั้ง

รู้เรา ไม่รู้เขา รบ 10 ครั้ง ชนะ 5 ครั้ง แพ้ 5 ครั้ง

รู้เรา รู้เขา รบ 10 ครั้ง ชนะ 10 ครั้ง

ผมหวังว่าทุกท่านจะสามารถใช้ความรอบรู้ให้กลายเป็นผู้ที่รู้ทั้งเราและรู้ทั้งเขา ได้ตามตำรานี้

บัญญัติข้อที่สอง คือการริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อให้เปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีขึ้น ท่านจะต้องเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ โดยยึดถือหลักการที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้อยู่เสมอ กาลเวลาสามารถทำให้สรรพสิ่งล้าสมัยได้ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย องค์กร ระบบงานหรือวิธีปฏิบัติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องฝึกตนให้เป็นผู้มีเชาว์ สามารถมองการณ์ไกล เล็งเห็นลู่ทางและปัญหาในอนาคต เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้ท่านริเริ่ม สร้างสรรค์ พร้อมทั้งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น

เพื่อการนี้ท่านจะต้องมีจิตสำนึกอยู่เสมอว่า วิทยาการต่างๆ ในโลกนั้น ไม่หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่ไม่อยากอยู่ล้าหลังก็จะต้องก้าวให้ทันกับเหตุการณ์ วิชาการ และความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยอาศัยการฝึกฝนตนเอง หรือมิฉะนั้นก็พยายามขวนขวาย ใฝ่ศึกษาหาความรู้จากสรรพตำราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีความตื่นตัว รู้ตัว และคล่องตัวอยู่เสมอที่จะรับรู้วิธีการใหม่ๆ ในการปฏิบัติงานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นงานในภาคธุรกิจเอกชน หรือของรัฐบาลก็ตาม

บัญญัติข้อสาม คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การที่ท่านเป็นนักริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งย่อมจะนำไปสู้การเปลี่ยนแปลงในสังคมหรือหน่วยงานของเรานั้น ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงก็อาจทำให้คนบางกลุ่มได้รับความเสียหาย หรือเสียผลประโยชน์ได้ ทั้งๆ ที่การกระทำของท่านนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็ตาม เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องรู้จักมีศิลปะในการดำเนินงาน พร้อมทั้งรู้จักแก้ปัญหาให้ลุล่วงด้วยความพยายามที่จะทำให้การสูญเสียผลประโยชน์บังเกิดขึ้นน้อยที่สุด หรือกระทบกระเทือนแก่คนกลุ่มเล็กที่สุด คำกล่าวที่ว่า “รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา” น่าจะใช้ได้ดีกับบัญญัติข้อที่สามนี้

บัญญัติข้อที่สี่ คือการมีมนุษยสัมพันธ์ ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องของการมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับผู้ร่วมงาน ทั้งในระดับผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมทีมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา กล่าวคือ จะต้องมีความสามารถในการเลือกคนปกครองคน และเข้ากับคนได้เป็นอย่างดี รู้จักใช้ศิลปะในการเจรจาที่เรียกกันว่ามี “วาทศิลป์” หรือถ้าจะให้ทันสมัยก็เห็นจะต้องว่ารู้จักพูดจา “ภาษาดอกไม้” เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานที่ทำงาน และทำให้ผู้คนรอบข้างหันมาให้ความร่วมมือสนับสนุนเราอย่างเต็มอกเต็มใจ หลักการของมนุษยสัมพันธ์ วาทศิลป์ และศิลปะในการโน้มน้าวจิตใจผู้คนทั้งหลายให้เห็นดีเห็นงาม คล้อยตามความคิดของเราได้นั้น นับเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ

คนเรานั้นจะเจริญก้าวหน้าไปไม่ได้ไกล ถ้าผู้บังคับบัญชาไม่สนับสนุน เพื่อนร่วมงานไม่ให้ความร่วมมือ และผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ศรัทธา ต่อให้เก่งกาจ ฉลาดเฉลียว และเชี่ยวชาญในการทำงานเพียงใด ก็ยากที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางคือความสำเร็จได้ ถ้าปราศจากทีมงานที่แข็งแกร่งเพราะเก่งคนเดียวจะมีประโยชน์อะไร สิ่งที่ทุกคนพึงแสวงหาจึงน่าจะได้แก่เพื่อนร่วมทีมงานที่เข้ากันได้ดี พร้อมกันนี้ก็จะต้องรู้จักสร้างศรัทธาและบำรุงขวัญ เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ร่วมงานด้วย

บัญญัติข้อที่ห้า คือการเคารพนับถือความคิดเห็นของผู้อื่น และการรู้จักแสดงความคิดเห็นของตน ขอให้ทุกท่านพึงตระหนักว่าความสามารถของเรานั้น อยู่ที่สายตาของผู้คนรอบข้าง เพราะวัดคุณงามความดีของเราเอง หรือไม่สร้างปมเขื่องให้แก่ตนเอง จะต้องรู้จักฟังและนับถือ ความคิดเห็นของผู้อื่น เพราะทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด ต่างก็มีคุณสมบัติและความดีของแต่ละคนด้วยกันทั้งนั้น ในการทำงานของตัวเราเองนั้น พึงถืออุดมคติที่ว่า “ถ้ามีของดีก็ต้องอวดได้แต่จงอย่าอวดดี” และอย่าพยายามทำเด่นจนเป็นที่ชวนเขม่นของคนอื่น การนำความดีออกมาอวดนั้นจะต้องยึดถือหลักว่าควรอวดเพื่อชื่อเสียงของหมู่คณะ ให้ทุกคนเด่นได้ทั้งหมดเสมอหน้ากันมิใช่วัดท่านเด่นอยู่คนเดียวหลวงวิจิตรวาทการ เคยกล่าวไว้เป็นคติสอนใจว่า

“ทุกคนเขาอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้

จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”

บัญญัติข้อที่หก คือการกล้าตัดสินใจและการมีความมุมานะพยายาม ท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ มีความหนักแน่นไม่หวาดหวั่น ด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง และผลงานที่กระทำลงไป รวมทั้งจะต้องมีจิตใจของนักต่อสู้อยู่ในสายเลือด คือสู้งานให้เต็มที่แม้จะเป็นงานหนักก็ต้องยอมทุ่มจนสุดสติปัญญากำลังและความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเห็นว่างานนั้นถูกต้องเหมาะสมในหลักการและตามทำนองคลองธรรม ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จงอย่ากลัวที่จะทำงานหนัก แต่จงกลัวที่จะไม่มีงานทำ เพราะงานหนักนั้นเป็นงานที่ท้าทายในขณะที่งานสบายๆ ใครๆ ก็ทำได้ แต่ทำแล้วจะมีประโยชน์อะไร งานยากงานหนักหรืองานที่มีอุปสรรคให้ต้องต่อสู้ต่างหาก เป็นงานที่ท้าทายสติปัญญา ความรู้ ความสามารถของคนเรา และถ้าสามารถกระทำได้เป็นผลสำเร็จ ก็จะเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่

ท่านพึงมีความมุมานะพยายามเพื่อความเป็นเลิศซึ่งหมายความว่าไม่ว่าท่านจะทำกิจการงานใด ทำให้กับใคร ท่านจะต้องทำโดยทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจ ในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับตัวเอง และแข่งกับเวลา จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ซึ่งประสบความสำเร็จเกินตัว (over-achiever)

การทำงานหนักนั้นเปรียบไปก็เสมือนกับการถูกมารผจญ ยิ่งผจญมากเท่าไหร่ บารมีก็ยิ่งเกิดมากขึ้นเท่านั้น ท่านที่เรียนพุทธประวัติคงจำได้ว่า กว่าที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ ก็ต้องผจญกับมารในลักษณะต่างๆ กันมากมาย แต่ในที่สุดก็ทรงเอาชนะหมู่มารได้สิ้น พระพุทธศาสนาจึงได้อุบัติขึ้นมา จากความกล้าหาญและพระวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้าของสมเด็จพระบรมศาสดา

บัญญัติข้อที่เจ็ด หรือ บัญญัติข้อสุดท้าย เป็นเรื่องของการมีคุณธรรมกำกับวิถีทางการดำรงชีวิต แน่นอนทุกคนย่อมมีความทะเยอทะยาน มีความอยากได้ อยากดี ที่จะสร้างความสำเร็จให้แก่ชีวิต ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่า เป็นสิ่งไม่สมควรกระทำ แต่ความสำเร็จนั้นต้องได้มาด้วยความรู้ ความสามารถและความเพียรพยายามในทางที่ถูกที่ควร จะต้องตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดี เพียบพร้อมด้วยสัจธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือเห็นแก่ได้ โดยไม่นึกถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น

ผมใคร่ขอย้ำว่า อย่าพึงหวังสร้างความสำเร็จด้วยทางลัด เพราะยากที่จะเป็นไปได้ และถึงเป็นไปได้ก็ไม่จีรังยั่งยืน ขอให้ทุกคนจำไว้ว่าหนทางสู่ความสำเร็จที่ถาวรนั้นยาวไกล และไม่มีทางลัดใดๆ ด้วย

คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสำนึกไว้อยู่ตลอดเวลา ความฉลาดหรือโง่เขลา ความเก่งหรือไม่เก่ง ยังไม่เป็นปัญหาสำคัญนัก เพราะโลกผลิตคนเช่นนี้ได้เสมอ ความเป็นผู้มีคุณธรรม ศีลธรรม และเมตตาธรรมต่างหากที่เป็นปัญหา เนื่องจากนับวันสิ่งเหล่านี้มีแต่จะหายากและจืดจางไปจากหัวใจมนุษย์มากขึ้นทุกที

คนที่มีความรู้ ความสามารถ หากขาดคุณธรรมเสียแล้ว ก็คงไร้ซึ่งคุณสมบัติอันดีของความเป็นมนุษย์ โลกไม่เคยล้มเหลวเพราะขาดคนเก่ง แต่ล่มสลายได้เพราะขาดคนดีมีศีลธรรมค้ำจุนโลก จริงอยู่ขึ้นชื่อว่าปุถุชนคนธรรมดา ย่อมต้องมีทั้งส่วนดีและส่วนเสียใจตัวเอง ขอแต่เพียงให้เรามีศรัทธาและความเชื่อมั่น ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เพื่อให้พลังงานความดีงามนั้นช่วยขจัดความชั่วร้ายให้มลายหายสูญไปแล้วเมื่อนั้นสังคมโลกก็จะน่าอยู่น่าอาศัยขึ้นอีกมากทีเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.