|
แล้วเงินนอกก็สำแดงเดชอีกครั้ง ยุทธการลด TR ได้ 1-2%
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
เดี๋ยวนี้วันหนึ่งๆ พ่อค้านำเข้าไม่ได้เหนื่อยละเหี่ยเพลียใจกับการเจรจาขอเครดิตแฟกซิลิตี้จากแบงก์อีกต่อไปแล้ว หากแต่ต้องเหนื่อยกับการค้นหาแจ้งความเล็กๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์เสียมากกว่า
แจ้งความพวกนี้มักซุกซ่อนอยู่ตามหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจ-ธุรกิจทั่วๆ ไป ข้อความส่วนใหญ่นั้นก็จะออกมาคล้ายๆ กันคือ หากท่านต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย 1-2 เปอร์เซ็นต์ ในการสั่งสินค้าเข้า โปรดติดต่อหมายเลขโทรศัพท์...พูดกับคุณ...ทุกวันเวลาราชการ...”
ในขณะที่การอำนวยสินเชื่อของทุกแบงก์กำลังมีปัญหา เพราะถูกควบคุมด้วยมาตรการไม่ให้ปล่อยกู้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ของแบงก์ชาติ เมื่อผนวกกับข้อเสนอที่เย้ายวนว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีก 1-2 เปอร์เซ็นต์ เข้าอีก มีหรือวงการนำเข้าบ้านเราจะไม่สนใจ โดยเฉพาะบรรดาผู้นำเข้าขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งไม่ค่อยมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งอยู่กับแบงก์
“พวกที่ประกาศแจ้งความแบบนี้ ถ้าไม่ใช่บริษัทนำเข้ารายใหญ่ซึ่งเขามีแหล่งเงินในต่างประเทศโดยตรงและบังเอิญเขามีวงเงินเหลือใช้จึงเอามาหาประโยชน์ดีกว่าปล่อยว่างไว้เปล่าๆ ก็จะเป็นพวกบริษัทนายหน้าของสถาบันการเงินในต่างประเทศในนี้...” เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของแบงก์ชาติคนหนึ่งบอกกับ “ผู้จัดการ”
“เป็นเรื่องที่เขาทำกันปกติ เพียงแต่ช่วงใกล้ๆ นี้คึกคักมากหน่อย เพราะผู้นำเข้าไม่สามารถใช้บริการจากแบงก์ในประเทศไทยได้คล่องอย่างเคยแล้วสถานการณ์มันเป็นใจด้วย คือดอกเบี้ยในต่างประเทศถูกกว่าดอกเบี้ยในประเทศ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เคยมีข่าวลือหนาหูว่าจะมีการลดค่าเงินบาทในช่วงกลางถึงปลายปีที่ผ่านมาตอนนี้ก็ดีขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น อัตราเสี่ยงไม่สูง เขาสามารถเอามาปล่อยกู้ในช่วงสั้นๆ ได้สบาย เพียงแต่ระยะยาวยังไม่มีใครอยากเสี่ยงเท่านั้น สรุปแล้วเงินจากนอกประเทศมันก็เข้ามาช่วงนี้มากผิดปกติ...” คนระดับผู้จัดการสำนักของแบงก์พาณิชย์ใหญ่แห่งหนึ่งช่วยขยายความต่อ
จากการติดต่อสอบถามไปยังเบอร์โทรศัพท์ตามแจ้งความ 2-3 ชิ้นนั้น “ผู้จัดการ” ได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับการจัดคิวเงินจากต่างประเทศอย่างละเอียดทีเดียว เพียงแต่คนจากปลายสายขอให้ช่วยสงวนชื่อเสียงเรียงนามไว้ด้วยเท่านั้น
ครั้นประมวลข้อมูลเข้าด้วยกันก็พอจะบอกได้ว่า พวกที่ลงประกาศแจ้งความเหล่านี้จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับผู้ส่งออกที่ต้องการพึ่งบริการก็ตรงการทำที/อาร์หรือ TRUST RECELVE ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายลงได้ 1-2 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ก็จะขึ้นอยู่ว่า อัตราดอกเบี้ยที่เคยเสียจากการทำที/อาร์กับแบงก์นั้นเป็นเท่าไร ถ้าเป็นลูกค้าชั้นดีของแบงก์หรือได้อัตราดอกเบี้ยที่ดีอยู่แล้ว ก็คงช่วยลดค่าใช้จ่ายไม่ได้ แต่ถ้าเคยโดนแบงก์โขกดอกเบี้ยหนักๆ โดยเฉพาะพวกที่เกินจาก 13 หรือ 13.5 เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็ยังพอจะเข้ามาพึ่งบริการไหว
“เราไม่กล้าบอกตายตัวหรอกนะคะว่า เราคิดเท่าไหร่ มันขึ้นอยู่ว่าคุณจะนำเข้าช่วงไหนระยะเวลาการทำที/อาร์นานกี่วัน 180 หรือ 150 หรือสั้นกว่านั้น ซึ่งเมื่อเราทราบเราก็จะได้คาดหมายได้ใกล้เคียงว่า เรตของเราที่จะเสนอให้คุณควรเป็นเท่าไร คือเรื่องนี้ต้องเอารายละเอียดมาคุยกันค่ะ แล้วการนำเข้าแต่ละครั้งที่เรารับก็ควรจะมูลค่าเกินกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ต่ำกว่านั้น เราไม่รับ” เจ้าของประกาศแจ้งความรายหนึ่งเล่ามาจากปลายสายโทรศัพท์อีกด้าน
ขั้นตอนนำเข้านั้น หลังจากเปิดแอล/ซี ออกไปที่ผู้ขายในต่างประเทศ ผู้ขายจัดสินค้าลงเรือเสร็จก็จะส่งบิลมาเรียกเก็บเงิน บิลพวกนี้มีทั้งที่ให้เทอมในการชำระและก็มีทั้งที่ต้องชำระทันทีที่ของมาถึง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเครดิตกันมากน้อยแค่ไหน ในกรณีที่เป็นบิลต้องจ่ายกันทันที ทั่วๆ ไปทางผู้นำเข้าก็จะต้องนำบิลนั้นมาทำที/อาร์ หรือก็กู้เงินแบงก์เอาไปชำระค่าสินค้าก่อนนั่นแหละ เงินกู้ที/อาร์ นี้เนื่องจากเป็นเงินตราต่างประเทศด้วย แต่เป็นเพราะต้องใช้บริการผ่านแบงก์ ทางแบงก์จึงต้องบวกค่าบริการของตนเข้าไป จะเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างแบงก์กับผู้นำเข้ารายนั้นๆ
เพราะฉะนั้นถ้าสั่งสินค้าเข้าและเพิ่งได้รับบิลเก็บเงินพอดีก็ลองตรึกตรองดุเองก็แล้วกันว่า จะวิ่งไปหาแบงก์ทันทีหรือจะพลิกหาประกาศแจ้งความสักพักหนึ่งก่อน
สำหรับ “ผู้จัดการ” โนคอมเมนต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|