คิงคองตัวนี้ราคา 4 ล้าน แต่ก็ช่วยเพิ่มยอดขายเกินคุ้ม


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

วานรยักษ์ตัวนี้เป็นพันธุ์กอริลลา อายุ 8 ปี มีถิ่นกำเนิดในคองโก แอฟริกา น้ำหนักตัวชั่งแล้ว 130 กิโลกรัม เมื่อยืนขึ้นจะสูง 163 เซนติเมตร ยิ่งถ้าชูมือด้วยแล้วก็จะไม่หนีจาก 2 เมตรไปเท่าไหร่ ห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า ผู้นำเข้ามาในเมืองไทยเรียกมันเสียโก้ว่า “คิงคอง” ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการโยงใยไปถึงเจ้าคิงคองในหนังที่เราๆ ท่านๆ เคยผ่านตาและมักจะตั้งคำถามทุกครั้งที่ชมหนังเรื่องนี้ว่า...เอ...ตัวจริงของคิงคองนี่จะมีมั้ยนะ

ก็ด้วยความกังขาประการนี้แหละ อุดม เสริมศิริมงคล มือบริหารคนหนึ่งของห้างพาต้าจึงได้บอกกับ “ผู้จัดการ” อย่างกระหยิ่มว่า วันแรกที่นำคิงคองมาเปิดให้เข้าชมนั้น คนแทบจะเหยียบกันตาย รุ่งขึ้นอีกวันจึงต้องจัดระบบการจราจรภายในห้างพาต้าเสียใหม่เป็นระบบวันเวย์คือขึ้นทางลงทาง แต่ขนาดนั้นคนก็ยังเบียดเสียดเยียดยัดทุกวันเพราะตรงกับช่วงปิดเทอมด้วย พาต้าประเมินว่าในวันปกติจะมีคนเข้ามาที่พาต้านี่ราว 60,000 คน แต่ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์แล้วต้องเป็นแสนคนขึ้นไป ทั้งนี้ก่อนหน้าจะมีคิงคองให้ชมมีคนเข้ามาเพียง 4-5 หมื่นคนในวันธรรมดาเท่านั้น

และจากเหตุนี้เอง ก็ได้ทำให้ยอดขายทั้งในส่วนของโรงหนัง ภัตตาคาร ตลอดจนตัวห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นทันตาเห็นถึงเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ทำเอาหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

พาต้าเป็นห้างสรรพสินค้าที่ทำอะไรแปลกแหวกแนวอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอเดียสร้างสวนสัตว์ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน (ตามคำบอกเล่าของพาต้า)

“เป็นไอเดียของคุณวินัย (เสริมศิริมงคล-ประธานห้างพาต้า) ครับ เมื่อเด็กๆ แกชอบเลี้ยงสัตว์มาก ก็ฝังใจมาเรื่อยหลังจากประสบความสำเร็จที่ศูนย์การค้าอินทรา มาเริ่มโครงการที่ปิ่นเกล้าเมื่อประมาณ 3 ปีมาแล้ว แกก็บอกว่า ต้องเอาสวนสัตว์ใส่เข้าไปด้วย หาพวกสัตว์แปลกๆ คนไทยไม่เคยเห็น ก็เลยไปซื้อพวกนกเพนกวิน เต่าเผือก อีกาเผือก สัตว์แปลกๆ มาไว้ในสวนสัตว์ที่ชั้นบนสุดของศูนย์การค้า” อุดมเล่าที่มาของสวนสัตว์พาต้าให้ฟัง

สวนสัตว์แห่งนี้เก็บเงินผู้เข้าชมโดยแบ่งเป็นผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท แต่ในช่วงที่นำคิงคองมาโชว์ได้เก็บเงินเพิ่มขึ้นเป็นผู้ใหญ่ 15 และเด็ก 7 ซึ่งก็ได้รับแรงอุดหนุนหนาแน่นตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นบรรดาคุณหนูๆ ผู้อยากรู้อยากเห็น หรือคุณผู้ใหญ่ซึ่งอ้างว่าต้องตามไปดูแลคุณหนูๆ ก็ตาม

“เก็บค่าผ่านประตูเข้าชมสัตว์นี่พาต้าไม่ได้มีกำไรนะครับ เราเอาแค่ให้สวนสัตว์พอมีรายได้เลี้ยงตัวเอง เป็นตัวดึงคนเข้ามามากๆ เพื่อสนับสนุนส่วนอื่นอย่างพวกสรรพสินค้าเราพอใจแล้ว” คนของพาต้าชี้แจง พร้อมกับบอกว่าเฉพาะต้นทุนคงที่ของสวนสัตว์ที่ลงไปแล้วก็เป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าจ้างสัตวแพทย์ พนักงานดูแลสัตว์ ค่ายาค่าอาหารของสัตว์ เป็นต้น

ต้นทุนที่หนักที่สุดก็เห็นจะเป็นค่าตัวของสัตว์ที่ต้องนำมาจากต่างประเทศ อย่างนกเพนกวินตัวละเกือบแสนบาทอีกาเผือก 12,000 บาท หรือเฉพาะเจ้าคิงคองซื้อจากสวนสัตว์เยอรมันก็ตก 3 ล้านกว่าบาท ซึ่งถ้ารวมค่าเครื่องบินที่บรรทุกมาเมืองไทยอีกประมาณ 2 แสนบาทด้วยแล้ว ก็ตก 4 ล้านบาทขาดเกินไม่เท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม การลงทุนขนาดนี้ เมื่อคิดเปรียบเทียบว่าสวนสัตว์เป็นจุดสนใจที่สามารถดึงคนเข้ามาได้วันหนึ่งเกือบแสนคน ถัวเฉลี่ยแล้วแต่ละคนควรต้องใช้จ่ายเป็นค่าบัตรผ่านประตูเข้าสวนสัตว์ ค่าน้ำ ค่าอาหารและซื้อของติดไม้ติดมือกลับบ้านคนละร้อยบาท พาต้าเชื่อว่า แค่นี้ก็ “ประสบความสำเร็จ” แล้ว

เมื่อแรกที่พาต้าประกาศว่าจะมาเริ่มโครงการศูนย์การค้าใหญ่โตที่เชิงสะพานปิ่นเกล้านั้นหลายคนมองไม่ออกว่า จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร ไกลก็ไกล และไม่ใช่ย่านชุมชน ที่ตราหน้าเยาะเย้ยพาต้าก็เยอะ

“มันก็เหมือนกับตอนที่เราเข้าไปทำพาต้าที่ศูนย์การค้าอินทราเมื่อปี 2516 นั่นแหละครับ คนบอกว่าจะไปทำขึ้นได้อย่างไรอินทรามันเงียบอย่างกับป่าช้า แต่เราไม่คิดและไม่มองอย่างนั้นเรามองว่า

“หนึ่ง-ที่มันเงียบไม่มีคนก็เพราะมันไม่มีอะไร ถ้าทำให้มันมีอะไรที่คนเขาสนใจ เขาก็ต้องมาเอง

สอง-เมื่อเขามา เริ่มมีคนแล้วทำอย่างไรให้เขาติด เขาต้องมาอีกหรือมาตลอดไป อันนี้นอกจากมีของแปลกๆ ใหม่ๆ น่าสนใจอย่างสม่ำเสมอแล้วบริการและคุณภาพของสินค้าจะต้องดีได้มาตรฐานด้วย” อุดม เสริมศิริมงคล เปิดเผยเคล็ดลับ

เคล็ดลับดังกล่าวนี้ เป็นหลักการทั่วไปของพาต้า ซึ่งในรูปธรรมแล้วก็คือ

- ออกแบบตัวอาคารให้สะดุดตา ใครผ่านไปผ่านมาต้องมอง รูปทรงที่ออกมานั้นเป็นไอเดียของผู้บริหารทั้งนั้น

- สร้างจุดสนใจ ในที่นี้ก็คือสวนสัตว์นั่นแหละ

- หาของแปลกๆ ใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา

- โปรโมตให้ถูกจุด ความสำเร็จของพาต้า ถ้าจะต้องขอบใจอะไรสักอย่างก็เห็นจะต้องขอบใจเจ้าสัตว์โลกพิสดารทั้งหลาย โดยเฉพาะขณะนี้ก็คือเข้ากอริลลายักษ์นามว่า “บวาน่า”

“บวาน่า” เป็นภาษาคองโก ถ้าแปลเป็นไทยก็จะหมายถึง “คุณสุภาพบุรุษ”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.