|
จะเป็นผู้จัดการ! ต้องหัดยิ้มให้สวย
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
คนไทยทั่วๆ ไปเมื่อนึกถึงน้ำอัดลม “โค้ก” ก็มักจะนึกไปถึงบริษัทไทยน้ำทิพย์ของตระกูลสารสิน ด้วยเข้าใจว่าบริษัทนี้เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโคคา-โคลาแต่ผู้เดียวในประเทศไทย
ชื่อบริษัทหาดทิพย์กลับไม่ค่อยได้ยิน ทั้งๆ ที่ลิขสิทธิ์ใน 14 จังหวัดภาคใต้คือตั้งแต่ชุมพรลงไปจรดชายแดนไทย-มาเลเซียนั้นเป็นของหาดทิพย์ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับไทยน้ำทิพย์แต่ประการใด
หาดทิพย์เป็นบริษัทของตระกูลรัตตกุลเจ้าของหมากหอมเยาวราช ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 แต่ถ้าจะกล่าวถึงที่มาแล้ว ก็จะต้องเริ่มกันตั้งแต่ปี 2511 เมื่อคหบดีภาคใต้กลุ่มหนึ่ง มีพลตำรวจเอกหลวงชาติตระการโกศลเป็นหัวหน้า ได้ติดต่อขอลิขสิทธิ์การผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มโคคา-โคลาและเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ในเครือโคคา-โคลาไปดำเนินการสำหรับตลาด 14 จังหวัดภาคใต้ เพราะการขนส่งเครื่องดื่มที่ผลิตจากบริษัทไทยน้ำทิพย์ที่ส่วนกลางลงไปภาคใต้นั้น ไม่สะดวก ทำให้เกิดการขาดแคลนอยู่บ่อยๆ
การผลิตและจำหน่ายจึงได้เริ่มขึ้นในอีกหนึ่งปีถัดมา ภายใต้ชื่อบริษัทนครทิพย์
ครั้นดำเนินการไปได้ 4-5 ปี นครทิพย์ก็ถูกเทกโอเวอร์ โดยบริษัทไทยธนาของกลุ่มพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ร่วมกับกลุ่มรัตตกุล เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ความนิยมเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลมของคนใต้ก็ยังไม่แพร่หลายและการติดต่อประสานงานกับบริษัทโคคา-โคลาก็ติดๆ ขัดๆ ไม่ราบรื่น นครทิพย์จึงประสบปัญหาขาดทุนเรื้อรัง กลุ่มหลวงชาติฯ จึงต้องขายกิจการออกไปให้บริษัทไทยธนา
ภายหลังที่บริษัทไทยธนาเข้ามาบริหารพร้อมกับทุนก้อนใหม่ ก็สามารถชำระหนี้สินที่นครทิพย์ก่อไว้ได้หมดในปี 2521 บริษัทไทยธนาก็ถูกยุบ แล้วก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัทหาดทิพย์มีวิไล รัตตกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองคนนี้ก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่
หาดทิพย์ออกจะโชคดีหน่อยเพราะเส้นทางเดินนั้นเป็นคนละด้านกับนครทิพย์ จากจำนวนพนักงานที่เริ่มต้น 100 กว่าคนก็เพิ่มเป็น 400 กว่าคน จากรถขาย 5 คันก็เพิ่มเป็น 60 คัน พร้อมกับมีการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ทันสมัยของเยอรมันซึ่งเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่าตัว เฉพาะจ่ายค่าภาษีฝาจีบก็ก้าวหน้าจากปีละ 5 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาทหรือตกอาทิตย์ละ 1 ล้านบาทในขณะนี้ ใครเก่งคำนวณก็ลองบวกลบคูณหารดูเองก็แล้วกันว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่
และทุกอย่างภายในหาดทิพย์ก็คงจะดำเนินต่อไปตามวิถีทาง ถ้าปีที่แล้วสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ของตนเข้าไปตรวจโรงงานและทำรายงานออกมาว่า โรงงานผลิตที่หาดใหญ่ของหาดทิพย์ปล่อยน้ำเสียออกมาทำลายสภาพแวดล้อม
ต่อมาเมื่อไม่นานนี้ก็มีข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งปิดโรงงานของหาดทิพย์ เนื่องจากไม่ติดตั้งระบบกำจัดน้ำเสียตามหนังสือท้วงติงของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ
“ได้มีการเตือนไปแล้วหลายครั้ง แต่บริษัทเพิกเฉยจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายสั่งปิดโรงงานจนกว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำเสียแล้วเสร็จ” แหล่งข่าวในกรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้แจง
“เป็นเรื่องไม่เข้าใจกันครับ ระบบกำจัดน้ำเสียนั้นเรามีอยู่พร้อมตั้งแต่มีการนำเครื่องจักรทันสมัยจากเยอรมันเข้ามาแล้ว” ข้างฝ่ายร้อยตรีไพโรจน์ รัตตกุล ก็กล่าวแย้งเช่นนี้กับ “ผู้จัดการ” และเมื่อถูกถามว่าจะต้องปิดโรงงานไหม เขาตอบว่า “เมื่อไม่มีปัญหาแล้วเราจะต้องไปปิดทำไม ทันทีที่ทราบเรื่องเราก็ทำหนังสืออุทธรณ์ไปที่กรมโรงงาน และเรามีผลการศึกษาระบบกำจัดน้ำเสียของหาดทิพย์ซึ่งคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำไว้แนบไปพร้อม”
“เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน โรงงานเราไม่มีปัญหาจริงๆ” กรรมการผู้จัดการหาดทิพย์เน้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีปัญหาอะไร แต่ทำไมเรื่องเช่นจึงเกิดขึ้นได้ ก็คงต้องหาคำตอบกันต่อ
“ผู้จัดการ” ได้พยายามสอบถามไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ แต่ก็ไม่มีใครพร้อมที่จะชี้แจงเรื่องนี้
ส่วนร้อยตรีไพโรจน์ อึ้งนิดหนึ่งก่อนจะบอกเหตุผลว่า “ผมมันคนหน้าไม่รับแขกครับ เจอใครก็ยิ้มให้ไม่ค่อยสวย...”
กล่าวจบก็ยิ้มกว้าง 180 องศา โดยเจ้าตัวบอกว่า กว่าจะยิ้มได้ขนาดนี้ต้องฝึกแล้วฝึกอีกหลังจากเจอศึกกับสำนักงาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมนั่นแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|