ถนนส่งออกทุกสายมุ่งไปสู่สหรัฐฯ จากการที่ดอลลาร์แข็งก็เลยทำให้ยุโรปยิ้มได้


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทนิชโชไอว่าแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทขนาดยักษ์ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการส่งออกสินค้า และบริการของญี่ปุ่นไปทั่วโลก โดยมีบราซิลเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศลูกค้ารายใหญ่ กลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน ในอาหรับและแอฟริกาได้สั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักรกล จากนิชโชไอว่าไปเป็นมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ ประเทศอุตสาหกรรมในยุโรปได้มีส่วนแบ่งในตลาดอาหรับและแอฟริกาอยู่ไม่น้อย สำหรับสหรัฐฯ เองได้ส่งออกสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ไปเป็นมูลค่ามหาศาล

ปัจจุบันประเทศต่างๆ หลายประเทศ ที่เคยสั่งสินค้าจากนิชโชไอว่า ได้ถูกขีดเส้นแดงในฐานะประเทศที่มีปัญหาการชำระหนี้ กล่าวคือรัฐบาลญี่ปุ่นได้แจ้งรายชื่อประเทศ24 ประเทศที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการค้ำประกัน การให้สินเชื่อทางการค้า และอีก 30 ประเทศจะยอมค้ำประกันให้เพียงในวงจำกัด สำหรับนิชโชไอว่าแล้ว กลุ่มประเทศละตินอเมริกา ซึ่งกำลังประสบปัญหาการชำระหนี้ต่างประเทศ, มิได้ถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นประเทศกลุ่มโอเปก ก็ยังทุ่มรายได้จากการจำหน่ายน้ำมันลงไปในการทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งกำลังขยายตัวใหญ่ขึ้นทุกที จนไม่สามารถจะนำเงินมาใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาที่ได้กำลังดำเนินอยู่แม้กระทั่งยุโรปเองก็ไม่สามารถจะถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ได้ เพราะประเทศในยุโรปต่างอยู่ในสภาวะเพิ่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสงครามโลก

มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังมิได้รับการแตะต้องจากเส้นแดง ก็คือตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีลักษณะลอยตัว และเหมือนกับฟองน้ำที่ซึมซับสินค้า ทุกรูปแบบที่มาจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก จากไร่องุ่นในเบอร์โด จนถึงโรงงาน BMW ในบาวาเรีย จากฮ่องกงถึงโอซาก้า สินค้าประเภทเหล็กกล้าจากยุโรปตะวันตกสู่สหรัฐฯ มีปริมาณสูงขึ้น 74% รถยนต์สูงขึ้น 61% เครื่องเคมีภัณฑ์ 31% และเครื่องจักรกล 35% ในรอบ 3 เดือนแรกของปี 1983

แรงผลักดัน (Central Force)

การขาดดุลการค้าอย่างมโหฬารถึงปีละ 100 พันล้านดอลลาร์นับว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งยุโรปและเอเชีย “ความเข้มแข็งในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีส่วนอย่างสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก” โดนัท ที. รีแกน รัฐมนตรีการคลังของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อ 18 พ.ค. ที่ผ่านมาในการประชุมขององค์การเพื่อการร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งองค์การสนธิสัญญาภาษีขาเข้าและการค้า (GATT) กล่าวไว้ในรายงานประจำปีว่า “การเพิ่มของสินค้าขาเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ นั้น ประมาณได้ว่า มีมูลค่าเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนสินค้าที่ซื้อขายกันทั่วโลกใน 2 ปีที่ผ่านมา ในปีที่แล้วจำนวนสินค้าได้เพิ่มขึ้น 2%

ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่จะเกิดการประสานกันระหว่างนโยบายทางการเมือง, การเงิน และการเศรษฐกิจของนานาชาติที่ร่วมกันผลักดันให้สหรัฐฯ ต้องมีบทบาทในการฟื้นฟูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก โดยอาศัยผลจากการเพิ่มอัตราเร่งทางเศรษฐกิจประมาณ 8 จากการเพิ่มอัตราเร่งทางเศรษฐกิจประมาณ 8.8% ต่อปี ซึ่งนับว่าเป็น 2 เท่าของประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ รายอื่นๆ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 1984 และเปิดทางให้กับการค้า และการลงทุนต่างประเทศ โดยอาศัยอำนาจของดอลลาร์ ซึ่งมีค่าเข็งกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วถึง 40% สหรัฐฯ จึงแทบจะกลายเป็นประเทศเดียวที่กุมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก และบรรดาบริษัทข้ามชาติต่างๆ พากันทิ้งตลาดในประเทศอื่นๆ แต่ดั้งเดิมกันเป็นแถวมุ่งสู่ตลาดสหรัฐฯ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งต่อบทบาทของตลาดสหรัฐฯ เพื่อการช่วยอำนวยการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของโลก ประเทศต่างๆ ที่ส่งสินค้าออก มักจะถือเอาตลาดสหรัฐฯ เป็นเป้าหมายในการส่งออก อาทิ แคนาดาส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ ถึง 78% ของสินค้าออกทั้งหมดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งฮ่องกงเองได้ส่งสินค้าออกจำนวนครึ่งหนึ่งสู่สหรัฐฯ

สำหรับยุโรปซึ่งถือได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการค้าสหรัฐฯ เพียงน้อยนั้น ปริมาณการค้าก็เป็นจำนวนสูงอยู่ไม่น้อย เมื่อ 4 ปีที่แล้วสหรัฐฯ ได้เปรียบดุลการค้ากับยุโรปถึง 20 พันล้านเหรียญ ซึ่งได้ดุลพอดีกับที่เสียดุลการค้าให้ญี่ปุ่น ในปี 1983 สหรัฐฯ กลับเสียเปรียบดุลการค้าให้กับประเทศยุโรปถึง 15 พันล้านเหรียญ ตลาดสหรัฐฯ นับว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อเยอรมนีตะวันตก เพราะได้มีส่วนช่วยอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของความเติบโตทางเศรษฐกิจ 1.3% ของเยอรมนีเมื่อปีที่ผ่านมานี้ และสถานการณ์ขาดดุลการค้าเช่นนี้ทำให้เกิดการโวยวายในวอชิงตันทั้งที่ปีนี้จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ถ้าไม่กล่าวถึงการเข้มงวดการนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว อาจพูดได้ว่าฝ่ายบริหารในทำเนียบขาวกำลังต่อสู้กับฝ่ายที่คัดค้านการนำเข้าอย่างหัวชนฝา

แต่สถานการณ์ทางการค้าเช่นนี้ นับว่าเป็นระเบิดเวลาที่อาจจะตูมตามขึ้นมาอย่างง่ายดาย หากสหรัฐฯ โดยฝ่ายบริหารไม่สามารถรักษาความเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสุดยอดแต่เดิมได้

ปัจจุบันการขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจทำให้สามารถที่จะรองรับสินค้าได้จำนวนมหาศาล อาทิ รถยนต์ สิ่งทอ อาหาร เครื่องจักรกล เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ ที่ทะลักเข้าสู่สหรัฐฯ และหากว่าก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 7 พฤศจิกายนนั้น จำนวนสินค้าเข้ามีอัตราเพิ่มขึ้นอีก 2-3% แล้ว บรรดาผู้คัดค้านการนำเข้าในสภา คงจะโวยวายดังกว่านี้ ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เลวลงในปี 1985 แล้ว แน่นอนที่สุดว่า จะต้องมีการใช้นโยบายเร่งการส่งออกและลดการนำเข้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

สำหรับประเทศในยุโรปนั้น ผลประโยชน์ที่ตักตวงได้จากตลาดสหรัฐฯ นับว่าเป็นของที่พระเจ้าประทานให้มาโดยแท้ ด้วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก มีเพียง 1% เท่านั้นในปี 1983 และในปี 1984 ก็คงจะเพียง 1.5-2% ซึ่งนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโต ในปี 1976 และ 1977 ซึ่งเท่ากับ 4.7 และ 2.5% ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน และยิ่งนับว่าต่ำมากลงไปอีก เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเพิ่มในช่วงปี 1968-1973 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเพิ่มในช่วงปี 1968-1973 ซึ่งเท่ากับ 5% ต่อปี

สิ่งที่ผ่านมาก็คือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศในยุโรป ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกือบจะทุกรัฐบาลในยุโรปต่างยึดถือแนวนโยบายที่จะลดการขาดดุลในภาครัฐบาล พยายามลดการขาดดุลทางการค้าและลดภาษีการค้าให้ในระหว่างประเทศยุโรปด้วยกัน มีการใช้นโยบายด้านการเงินและการคลังที่เข้มงวดในเยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน อังกฤษ มีการเพิ่มภาษีรายได้และภาษีทางอ้อม หักเงินเพื่อประกันสังคมมากขึ้น ลดการโอนเงินระหว่างประเทศ ผลดีก็คือการขาดดุลในภาคเอกชนเริ่มลดลงในเยอรมนี การขาดดุลลดลงจาก 80 พันล้านมาร์คในปี 1981 ลงไปเป็นประมาณ 24 พันล้านมาร์คในปี 1984 ในปีนี้ตัวเลขขาดดุลการค้าอาจเป็นประมาณ 2% ของรายได้ประชาชาติเมื่อเปรียบเทียบกับปี 1982 ซึ่งมีการขาดดุลเป็น 2 เท่า สาธารณรัฐสังคมนิยมฝรั่งเศสหวังว่าจะลดการขาดดุลลงเป็น 3% ของรายได้ประชาชาติ และอังกฤษก็หวังว่าจะลดการขาดดุลลงเป็น 3.2% ในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ 5.8% ในปี 1981

ผลลัพธ์ในทางลบ (Fizzled Rebound)

การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจทั่วยุโรป การใช้จ่ายในการบริโภคของภาคเอกชนชะงักคงที่อยู่นับหลายปี สภาพการอยู่อาศัยไม่ได้รับการพัฒนา และการลงทุนอ่อนตัวลงในภาคอุตสาหกรรม ที่ผลิตสินค้าสำหรับตลาดภายในประเทศและสถานการณ์ที่กระเตื้องขึ้นบ้างในเยอรมนี ในต้นปี 1983 ก็ถูกหน่วงให้เฉื่อยลง เมื่อรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีซ้ำซ้อน เพื่อปรับดุลทางภาครัฐบาล และสำหรับในฝรั่งเศสไม่ปรากฏว่ามีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเลย มีเพียงอังกฤษเท่านั้นที่เล็งเห็นผลกระทบจากการบริโภค ทางภาคเอกชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ในทางตรงข้าม ขณะที่บรรดาธนาคารและนักการเมืองของยุโรปพากันคัดค้านนโยบายขาดดุลของสหรัฐฯ ซึ่งดึงดูดเงินตราออกจากประเทศเหล่านี้ ความเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศยุโรปกลับอยู่ที่จะต้องคอยประคับประคองฐานะเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐฯ ให้อยู่ในสภาพดีตลอดเวลา เมื่อสหรัฐฯ ต้องขาดดุลการค้า 189 พันล้านเหรียญนั้น ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งและอัตราดอกเบี้ยที่สูงดึงดูดให้เงินนับหลายหมื่นดอลลาร์ จากระบบเศรษฐกิจจากต่างประเทศเข้าสู่ยุโรปและในจำนวนเงินเหล่านี้อยู่ในรูปของเงินสดกว่าครึ่ง หากไม่มีการไหลของเงินเหล่านี้เข้า อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะต้องสูงขึ้นเลยเพดาน ซึ่งหมายถึงความพินาศในภาคการบริโภคของเอกชน

ในเวลาเดียวกัน ด้วยค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งและสภาวะทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นย่อมเป็นเสมือนเกราะป้องกันอย่างดี ที่ใช้ช่วยให้ระบบการคลังของประเทศในยุโรปและเอเชียเข้าที่เข้าทาง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการ การเงินการคลังที่เข้มงวดซึ่งจะทำให้เกิดสภาพว่างงาน เนื่องจากนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เข้มงวด เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน และญี่ปุ่นอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาว่างงาน ถ้าหากไม่มีตลาดสหรัฐฯ รองรับการส่งออกของประเทศเหล่านี้ สิ่งที่กำลังเกิดอยู่ในยุโรปก็คือทุกประเทศพยายามลดการขาดดุลอย่างสุดตัว และคอยรอรับผลพลอยได้จากแรงกระตุ้นด้านระบบเศรษฐกิจแบบเคนส์ที่ใช้อยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขากำลังวิจารณ์เสียไม่มีชิ้นดี” สตีเวน มอรีส สมาชิกแห่งสถาบันเศรษฐกิจนานาชาติ และอดีตหัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของเลขาธิการแห่ง OECD กล่าวไว้

ไม่เพียงแต่ประเทศในยุโรปจะได้รับผลประโยชน์จากการขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังได้ฟื้นฟูความร่วมมือระหว่างกัน ผลประโยชน์จากการร่วมมือกันเอง ในกลุ่มประเทศยุโรปจึงบังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามของรัฐบาลต่างๆ ที่จะลดหย่อนการเสียภาษีในภาคธุรกิจเอกชน และตัดทอนการหักรายได้เพื่อประกันสังคม เริ่มมีผลขึ้นแต่ไม่ใช่เป็นผลมาจากภายในประเทศ สินค้าขาออกจากประเทศต่างๆ สู่สหรัฐฯ มีบทบาทอย่างสำคัญในการเพิ่มพูนผลดีในยุโรปและเอเชีย “อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ นับว่าเป็นที่พอใจของประเทศต่างๆ เพราะตลาดอื่นๆ นับว่าไม่มีกำลังซื้อพอเพียงและอ่อนแอทางเศรษฐกิจ” นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท ซีเมนส์ กล่าว “มีใบสั่งซื้อจากสหรัฐฯ สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 33%”

การซื้อขายในรูปเงินดอลลาร์

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการส่งสินค้าออกสู่สหรัฐฯ นั่นคือการขายสินค้าด้วยสาขาของบริษัทจะให้ผลประโยชน์ที่สูงกว่า บริษัทยุโรปสามารถจำหน่ายสินค้าของตนในสหรัฐฯ ด้วยราคาเป็น 2 เท่าจากที่จำหน่ายในประเทศ รถยนต์เมอซิเดสเบนซ์ รุ่น 190 E จำหน่าย ในราคา 22,850 ดอลลาร์ ในสหรัฐฯ ซึ่งมีราคาเป็น 2 เท่าของราคาเบนซ์แบบคล้ายๆ กันในสตู๊ดการ์ด และเนื่องจากดอลลาร์มีค่าสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินแฟรงค์ เงินมาร์ค เงินลีร์ และเงินปอนด์ ดังนั้นสินค้าทุกอย่างที่ขายในรูปเงินดอลลาร์ จึงให้ผลประโยชน์ที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินตราของประเทศนั้นๆ

เงินดอลลาร์เหล่านี้จะถูกส่งมายังประเทศผู้ส่งออก เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตต่อไป ผู้ผลิตเหล้าองุ่นรายหนึ่งได้ส่งเหล้าแชมเปญและเหล้าไวน์ขาวเพิ่มขึ้นกว่า 42% รวมทั้งเหล้าไวน์แดงกว่า 25% สู่สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา “เนื่องจากความจริงที่ว่าสินค้าเหล่านี้ขายในรูปเงินดอลลาร์ซึ่งทำให้ตลาดสหรัฐฯ มีความหมายอย่างยิ่งต่อผู้ผลิตในต่างประเทศ” มาซิลิน ดาร์โก รองผู้จัดการของบริษัทผู้ส่งเหล้าองุ่นและสุราในปารีสกล่าว “จำนวนเงินส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและทำให้การผลิตเหล้าไวน์เปลี่ยนรูปแบบเป็นธุรกิจยิ่งขึ้น G.H.MUMM & CO. ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสุราอันดับ 2 ของฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการนำผลประโยชน์ที่ได้จากตลาดสหรัฐฯ ไปลงทุนในเทคนิคการปลูกต้นองุ่น

บริษัทรถยนต์โฟลคสวาเกน เริ่มได้กำไรเป็นครั้งแรก ในช่วงเวลา 2 ปีในช่วงไตรมาสแรกของปี 1984 ส่วนใหญ่ได้จากสาขาที่ขายรถยนต์ออดี้ รุ่นที่แพงที่สุดในตลาดสหรัฐฯ ยอดขายรถยนต์ออดี้พุ่งเพิ่มขึ้น 80% ภายในไตรมาสแรก เป็นจำนวน 23200 ตัน “เรากำลังมีรายได้อย่างงามจากการขายในสหรัฐฯ มากกว่าในเยอรมนีเอง” ซันเนอร์เบอร์น ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ออดี้ในสหรัฐฯ กล่าว

แต่ละประเทศในยุโรปต่างได้รับผลประโยชน์อย่างงดงาม ในการส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ดังนี้

เยอรมนี การจำหน่ายรถยนต์และรถบรรทุกเป็นส่วนสำคัญในการส่งออก ทำให้มูลค่าส่งออกสูงขึ้น 152% ในไตรมาสแรกของปี บริษัทเดมเลอร์เบนซ์ ตั้งเป้าหมายในปี 1984 ไว้ 80,000 คัน และโฟลคสวาเกนต้องการที่จะขายรถยนต์ขนาดกลางขึ้นอีก 150% คือประมาณ 50,000 คัน สินค้าออกประเภทเครื่องจักรกลสู่ตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 28% ใน 2 เดือนแรกของปี รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับการพิมพ์และการทำกระดาษ เครื่องจักรสำหรับสิ่งทอ

เครื่องเคมีภัณฑ์นับว่าเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของเยอรมนี ภายหลังจากการเพิ่มมูลค่าการส่งออก ถึง 32% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเงินถึง 1.2 พันล้านเหรียญ มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 69% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 1984 ผลิตภัณฑ์เคมีที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ช่วยให้มีการใช้ประสิทธิภาพโรงงาน และเครื่องจักรได้เต็มที่ สำหรับบริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีอันประกอบด้วยบริษัทไบเออร์ บริษัทฮอยซ์และบาฟส์ และโดยการรวมยอดขายของสาขาของบริษัทไบเออร์ในเยอรมนี ประธานบริษัทไบเออร์ เฮอร์เบอร์ต กรุนวาลด์ ได้ประมาณการไว้ว่า สหรัฐฯ จะซื้อสินค้าของเราประมาณ 5 พันล้านเหรียญหรือมากกว่าที่เราทำเป้าได้ในประเทศ

ฝรั่งเศส ส่วนใหญ่สินค้าสู่สหรัฐฯ จะเป็นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค มากกว่าสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าประเภทเหล้าองุ่น เนย และเครื่องนุ่งห่ม มียอดจำหน่ายสูงอย่างรวดเร็ว บริษัทผลิตอาหารขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส เช่น BSN ตั้งเป้าหมายที่จะได้สิทธิในการประมูลส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ภายหลังจากได้รับโอนกิจการบริษัทแดนนอนจากบริษัทบีทริคฟู๊ดส์ ในปี 1981 BSN ก็กำลังหาโอกาสที่จะรวบกิจการขนาดยักษ์อื่นๆ แม้แต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของฝรั่งเศสก็เหมือนกัน ถึงแม้จะมีปัญหาในการจำหน่ายในประเทศของตนก็ยังสามารถทำกำไรได้ในตลาดสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้กลายเป็นตลาดสำคัญแทนอิตาลี สำหรับรถยนต์เรโนลต์ โดยในปี 1983 รถยนต์เรโนลต์จำนวน 180,000 คัน จำหน่ายในสหรัฐฯ อันเป็นอัตราเพิ่ม 30% ภายในเวลา 1 ปี และมีจำนวนใกล้เคียงกับยอดจำหน่ายรถยนต์อเมริกันทุกบริษัทรวมกัน

ในขณะที่รถยนต์เรโนลต์และรถยนต์ประเภทเดียวกันกำลังทำเป้าหมายการขายอยู่ในตลาดรถราคาถูก รถเปอโยต์ของฝรั่งเศสก็มียอดจำหน่ายใกล้เคียงกับรถยนต์ของอังกฤษและเยอรมนีในตลาดรถแพง โดยมียอดจำหน่าย 17,029 คัน ในปี 1983 และเพิ่มขึ้น 35% ในไตรมาสแรกของปี 1984 “ปี 1983 เป็นปีที่ดีของเราทีเดียว สำหรับตลาดสหรัฐฯ” พนักงานระดับสูงของเปอโยต์ในปารีสกล่าว “ที่ว่าดีก็เพราะเราสามารถขายรถราคาแพงๆ ได้มาก” และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดรถเปอโยต์ในสหรัฐฯ และในยุโรปที่ผ่านมานี้ ยอดขายเพิ่มเพียง 1.8% ในฝรั่งเศสและในยุโรปเพิ่มเพียง 5%

อังกฤษ ตั้งแต่ปี 1979 ถึง 1983 มูลค่าสินค้าส่งไปยังสหรัฐฯ เพิ่ม 106% และทำให้อังกฤษมีดุลการค้าได้เปรียบสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ตลาดสหรัฐฯ สั่งสินค้าจากอังกฤษทั้งหมดเป็นมูลค่า 14% ของสินค้าของอังกฤษทั้งหมด ซึ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 9% ของ 4 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญเท่านั้นคือ บริษัทต่างๆ ของอังกฤษได้ลงมือวางแผนดำเนินการที่จะเข้ามีส่วนในตลาดสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น

บริษัทจากัวร์ เป็นบริษัทหนึ่งของอังกฤษที่ฟื้นตัวจากความพินาศโดยการเปลี่ยนนโยบายการส่งออกสู่ตลาดอังกฤษ จนกระทั่งรัฐบาลอังกฤษโดยมาร์กาเรต แทตเชอร์ ตัดสินใจปล่อยการบริหารกลับไปสู่เอกชน หลังจากรัฐบาลต้องเข้ามารับภาระอยู่ถึง 9 ปี

ปัจจุบันรถจากัวร์ขายได้ในสหรัฐอเมริกาเป็น 2 เท่าของที่ขายได้ในอังกฤษ ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับรถยนต์ของฝรั่งเศส ลูกค้าหลักส่วนใหญ่จะต้องมีรายได้สูงปีละ 125,000 ดอลลาร์ เมื่อจอห์น อีแกน ประธานบริษัทจากัวร์ เข้ารับหน้าที่เมื่อปี 1980 เขาสั่งให้ทำการสำรวจตลาด ซึ่งได้ผลออกมาว่าประมาณ 65-70% ของลูกค้าจะอยู่ในสหรัฐฯ และบุคคลที่มีรายได้สูงยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งคุณไม่อาจพบเห็นได้ในที่อื่นๆ ของโลก และระบบเศรษฐกิจแบบอเมริกันก็เกื้อกูลให้กับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมากกว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ”

อิตาลี บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นผู้บุกเบิกสินค้าอิตาลีสู่ตลาดสหรัฐฯ สิ่งทอ รองเท้า เครื่องมือด้านอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกล เป็นสินค้าที่ส่งออกจนทำให้สหรัฐฯ ซึ่งได้เปรียบดุลการค้ากับอิตาลีตั้งแต่ปี 1970 กลายเป็นประเทศผู้เสียเปรียบดุลการค้าให้กับอิตาลี 1 พันล้านเหรียญ ในปี 1983 สำหรับตะวันออกกลางซึ่งครั้งหนึ่งบริษัทในอิตาลีเคยได้รับกำไรมหาศาลในทศวรรษ 1970 ปัจจุบันอิตาลีได้วางมือจากตลาดแห่งนี้ และมุ่งเป้าหมายสู่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในเดือนมกราคมสินค้าออกจากอิตาลีสู่สหรัฐฯ ถึง 85% ของเมื่อปีที่แล้ว

เบเนตอง ผู้ผลิตเสื้อกันหนาวเพิ่มยอดขายในสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว ใน 3 เดือนแรกของปี 1984 และ SGS ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ผู้ผลิตวัสดุกึ่งตัวนำ จะเพิ่มยอดขายเป็น 2 เท่าในปีนี้ คือประมาณ 130 ล้านดอลลาร์ และเช่นเดียวกันกับบริษัทในอิตาลี และยุโรปอื่นๆ SGS จะลงมือก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์นอกเมืองฟินิค ในสหรัฐฯ ในช่วงฤดูร้อนนี้ โอลิเวตตี้ หวังที่จะจำหน่ายสถานีข่ายงานคอมพิวเตอร์ มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ โดยผ่านบริษัทอเมริกันเทเลโฟน และเทเลกราฟ แม้กระทั่งบริษัทรถเฟียต ซึ่งเคยปิดกิจการของตนในสหรัฐฯ เมื่อหลายปีมาแล้วก็ยังมีตลาดสำหรับขายรถยนต์เฟอร์รารี่สปอร์ต สำหรับชาวอเมริกันที่มีรายได้ระดับสูง


สินค้าส่งออกจากยุโรปมีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งไม่ก่อให้เกิดแรงกดดันจากผู้ที่คัดค้านการนำเข้าในวอชิงตัน คุณลักษณะที่พิเศษนั่นก็คือสินค้าจากยุโรปเข้าสู่สหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว และทุกทิศทาง แผ่กระจายไปทั่วประเทศ “ถ้าจะว่ากันไปแล้ว สินค้าจากยุโรปมีอยู่ทุกแห่งและไม่ได้เจาะตลาดเฉพาะแห่งหรือสองแห่ง ซึ่งผิดกับสินค้าจากญี่ปุ่นจึงทำให้ไม่ค่อยเป็นที่น่าสังเกตนัก” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ ผู้หนึ่งกล่าว “ผมไม่เคยเห็นมีใครมาร้องเรียนถึงกรณีที่สินค้าออกจากยุโรปมาแข่งขันกับธุรกิจของเขา”

สินค้าท้องตลาด

สินค้าของยุโรปหลายชนิดมีตลาดเฉพาะตัว เช่น รถยนต์เมอร์ซิเดสเบนซ์ รถยนต์ซาอับ หรือรถ BMW ซึ่งมีตลาดขนาดเล็ก และคนรายได้ระดับสูง จึงจะซื้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้ายุโรปอีกหลายประเภท ซึ่งไม่ได้อยู่ตามท้องตลาดเช่นเดียวกับสินค้าอุปโภค บริโภคอื่นๆ หรือสินค้าประเภทรถยนต์ราคาถูกๆ “สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เคมี และเครื่องมือเครื่องจักร จะไม่มีให้เห็นตามท้องตลาดทั่วๆ ไป แมรีส แห่งสถาบันเศรษฐศาสตร์นานาชาติกล่าวไว้

แม้ว่าจะมีการส่งสินค้าประเภทเหล็กกล้าจำนวนมหาศาลจากยุโรปเข้าสู่สหรัฐฯ ก็ตาม ก็มิได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในทางต่อต้านใดๆ จากฝ่ายผู้คัดค้านการนำเข้าในสภาคองเกรส ในปี 1982 ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจำกัดสินค้าเหล็กกล้าจากยุโรป และผู้ผลิตเหล็กกล้าในสหรัฐฯ ก็หวังที่จะใช้ข้อบังคับนี้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อสินค้าเหล็กกล้าจากยุโรปเข้ามามากกว่าที่กำหนดไว้ “ด้วยข้อยกเว้นบางประการ วงการอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของสหรัฐฯ ค่อนข้างที่จะพอใจในข้อตกลงกับกลุ่มตลาดร่วมยุโรป” ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเหล็กกล้าให้ความเห็น “มีผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าบางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทท่อ และหลอดเหล็ก ที่มีข้อตกลงแยกต่างหาก และขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด เพราะมีปริมาณนำเข้าสูงถึง 13.7% ของความต้องการในสหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี ซึ่งมากกว่า 2 เท่าที่ได้กำหนดปริมาณการนำเข้าเอาไว้และเช่นกัน ปัญหาการขายสินค้าประเภทไขมัน และน้ำมันของสหรัฐฯ ประเภทเกษตรกรรมของยุโรปที่ส่งไปจำหน่ายในตลาดโลกที่ 3

การปรับตัวด้านอุปสงค์และอุปทาน

นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ของยุโรปและอเมริกา ได้สรุปไว้ว่า การทะลักของสินค้ายุโรปสู่ตลาดสหรัฐฯ เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวและจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว รวมทั้งเกิดความต้องการของสินค้าเหล่านี้ขึ้นในยุโรปเอง และได้มีสัญญาณชี้ให้เห็นว่าสภาพการใช้จ่ายและสภาพการครองชีพในยุโรปเริ่มดีขึ้น มีบางบริษัทเริ่มดำเนินการสะสมสินค้าคงคลังเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าภายในประเทศ อันเป็นการแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา นี่อาจตีความหมายได้ว่า เมื่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวประเทศในยุโรปก็สามารถจะสร้างอุปสงค์รองรับสินค้าที่ผลิตได้ทันเวลาพอดี และการไหลเวียนของสินค้าจะหมุนกลับจากสหรัฐฯ สู่ยุโรปแทน แต่คงจะต้องอยู่ภายใต้สภาวะหรือเงื่อนไขที่สำคัญบางประการ นับเป็นเวลาถึง 20 ปี ตั้งแต่ปี 1960-1970 ที่ภาวะทางเศรษฐกิจของยุโรปมีความมั่นคงกว่าของสหรัฐฯ ปัจจุบันสหรัฐฯ สามารถเร่งอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจของตนให้สูงกว่ายุโรป โดยอาศัยวิทยาการและเทคโนโลยีชั้นสูง มาร์ติน วูล์ฟ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางนโยบายการพาณิชย์แห่งลอนดอนกล่าวว่า “ภาวะทางเศรษฐกิจของยุโรปได้เริ่มชะลอตัวลง และในระยะยาวภาวะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็จะมีความมั่นคงและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ”

ถ้าคำกล่าวนี้เป็นจริง และถ้าประเทศในละตินอเมริกากับแอฟริกายังคงไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของตนได้ โดยขณะที่ภาวะทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน (OPEC) ยังคงมีแนวโน้มตกต่ำลง ตลาดสหรัฐฯ คงจะเป็นตลาดที่สำคัญของโลกอยู่เพียงแห่งเดียว อีกหลายปีซึ่งหมายความว่าบรรดาบริษัทต่างประเทศก็จะเข้ามาตักตวงผลกำไร ทั้งในรูปของสินค้าที่นำเข้าและการเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจโดยตรง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.