“การสูบบุหรี่อเมริกันในเกาหลี ถือเป็นอาชญากรรม”


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า กองอำนวยการวางแผนเพื่อความปลอดภัยแก่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมกำลังหน่วยสืบราชการลับ ได้พิจารณาที่จะดำเนินการใช้กฎหมายฉบับหนึ่งอย่างเฉียบขาด เพื่อค้นหาสินค้าต้องห้ามประเภทหนึ่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ตำรวจเหล่าสืบราชการลับได้เข้ารื้อค้นสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ตลอดจนรถยนต์ส่วนบุคคลเพียง 20 วันแรกของปีนี้ มีผู้ต้องหาถูกจับกุม 407 ราย ซึ่งรวมทั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 2 นาย ดาราภาพยนตร์มีชื่อ 7 คน นายธนาคาร 9 คน และนักธุรกิจระดับนักบริหารหลายสิบคน

ข้อหาก็คือ มีบุหรี่ต่างประเทศไว้ในครอบครองโดยเฉพาะบุหรี่อเมริกัน

ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งจากสถิติแสดงว่าได้ใช้จ่ายเงินซื้อบุหรี่ต่างประเทศโดยเฉพาะบุหรี่อเมริกันประมาณปีละ 1.5 ล้านดอลลาร์ (34 ล้าน 5 แสนบาท) ต่อปีนั้น มีสิทธิตามกฎหมายที่จะสูบแต่บุหรี่ที่ผลิตในประเทศเท่านั้นห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่ที่ผลิตจากต่างประเทศ แม้ว่าจะมีบุหรี่อเมริกันในโควตาของทหารอเมริกันทะลักออกไปสู่ตลาดมืดก็ตาม ถ้าหากชาวเกาหลีใต้ผู้ใดถูกจับ ไม่ว่าบุหรี่เค็นท์ หรือมาร์ลโบโล ไว้ในครอบครองจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 1,250 ดอลลาร์และถูกตัดสินจำคุก

“นับได้ว่าเกาหลีใต้ปิดตัวเองจากตลาดบุหรี่ต่างประเทศโดยสิ้นเชิง” โรเบิร์ด บอคแมน ผู้อำนวยการองค์การเพื่อความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียกล่าว

ปัจจุบัน อาร์เจ เรโนลด์ ฟิลลิปส์ มอรีส และบราวน์ วิลเลียมสัน ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของบริษัท

บริติช-อเมริกัน โทแบคโก กำลังใช้ความพยายามที่จะเจาะตลาดเข้าไปในประเทศเกาหลีใต้เช่นเดียวกับที่ดำเนินอยู่ในประเทศไทย, ไต้หวัน และฮ่องกง

สำหรับในญี่ปุ่นนั้น บริษัทสามารถทำยอดขายได้ปีละ 13 พันล้านดอลลาร์ (สามแสนล้านบาท) แม้ว่ารัฐบาลของประเทศเหล่านั้นจะลดภาษีขาเข้าให้กับบุหรี่ต่างประเทศแต่ก็เพิ่มภาษีทางอ้อมเป็นการชดเชยเกือบจะเท่ากับส่วนที่ลดให้ และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการลดดุลการค้าของสหรัฐฯ ได้มีการเสนอให้บุหรี่อเมริกันเป็นสินค้าส่งออกเพื่อเพิ่มอัตราความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

ในสหรัฐฯ ฝ่ายบริหารได้ให้การสนับสนุนผู้ดำเนินการธุรกิจด้านยาสูบเพื่อเพิ่มการส่งออก และที่เกาหลีใต้ได้ปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ถึง 1-7 พันดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้วก็มีส่วนเนื่องมาจากทางสหรัฐฯ ได้ผ่อนผันอัตราภาษีขาเข้าสำหรับสินค้าเกาหลีหลายชนิด และบางชนิดได้รับยกเว้นภาษี เช่น สินค้าประเภทเครื่องกีฬา เครื่องถ้วยชาม การผ่อนผันภาษีเข้าหรือที่เรียกว่าระบบสิทธิพิเศษเช่นนี้จะสิ้นสุดในปีหน้า เว้นไว้แต่สภาคองเกรสจะอนุมัติให้ยืดระยะเวลาออกไปอีก ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากบริษัทอเมริกันทั้งหลายที่ทำธุรกิจแข่งขันกับภาษี ดังนั้นเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชน ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีรีแกนจึงยื่นข้อเสนอให้เกาหลีใต้ยอมผ่อนปรนให้มากขึ้นในการนำเข้าบุหรี่อเมริกันและสินค้าเข้าประเภทอื่นจากสหรัฐฯ

กรณีการสั่งห้ามนำบุหรี่ต่างประเทศเป็นข่าวเกรียวกราวขึ้นในช่วงต้นปี เมื่อประธานาธิบดีชุน ดู วาน อดีตนายพลแห่งกองทัพบก ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีใครทราบภูมิหลังความสามารถทางเศรษฐกิจ ได้กล่าวบริภาษเจ้าหน้าที่ของรัฐและเน้นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐควรเป็นตัวอย่างที่ดีการไม่ใช้สินค้าจากต่างประเทศ และจุดนี้เองทำให้บรรดาตำรวจลับของรัฐบาล เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งที่เรียกกันเป็นทางการว่า “การรณรงค์เพื่อยกระดับวินัยของชาติ” ซึ่งบุหรี่ต่างประเทศถูกกำหนดว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยของอภิสิทธิ์ชน

การปฏิบัติการของตำรวจได้เพิ่มขึ้นเป็นเวลาเดียวกับที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดส่งคณะผู้แทนทางการค้าไปติดต่อกับสหรัฐฯ นักวิชาการชาวเกาหลีใต้ในโซลได้กล่าวว่า “ปฏิบัติการเช่นนี้ ได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวต่างชาติ เพราะเกาหลีใต้ได้ประกาศว่าเป็นประเทศในระบบเสรีนิยม แม้แต่ชาวเกาหลีใต้เองก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน

เมื่อคณะผู้แทนทางการค้าได้เดินทางไปถึงกรุงวอชิงตัน ในเดือนมีนาคมก็ถูกโจมตีจากฝ่ายบริหารของรัฐอย่างหนัก นัม ดั๊ก—วู อดีตนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ และที่ปรึกษาอาวุโสของคณะผู้แทนทางการค้ากล่าวว่า “การต่อต้านบุหรี่ต่างประเทศในเกาหลีนั้นทำให้ประเทศเกาหลีต้องเสียภาพลักษณ์ที่ดีไป และก็ยังไม่ได้สร้างผลดีให้กับการค้าของเราเลย” ประเทศเกาหลีใต้ได้สั่งซื้อสินค้าประเภททุน อาทิ เครื่องบินโบอิ้ง และแอร์คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศเป็นจำนวนเงินถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องซื้อสินค้าเหล่านั้นอยู่ดี คณะผู้แทนทางการค้าไม่ยอมกล่าวถึงการห้ามนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศในเกาหลีใต้ เพราะจำเป็นที่จะต้องปกป้องอุตสาหกรรมยาสูบของตนไว้

บริษัทผลิตบุหรี่ของสหรัฐฯ กำลังกดดันเพื่อที่จะให้มีการยกเลิกข้อบังคับนี้ลง ริชาร์ด วี อัลแลน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในคณะบริหารของรัฐบาลรีแกนผู้ซึ่งลาออกเมื่อปี 1982 เนื่องจากมัวหมองในข้อกล่าวหารับสินบนจาก นสพ. ญี่ปุ่น และจากนักธุรกิจ (ซึ่งในที่สุดศาลยกฟ้อง) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอาร์ เจ เรโนลด์ ในเกาหลีใต้ ได้ชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ทราบว่า เขามีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาด้านนโยบายและข้อเสนอทางการค้าแก่บริษัทอเมริกันและเปิดเผยว่า ตัวเขาและฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีรีแกน ถือว่าเกาหลีใต้เป็นมิตรที่ใกล้ชิด และตัวอัลแลนกำลังทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อระงับสถานการณ์อันเลวร้ายระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้กับสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และได้ยื่นข้อเสนอให้บริษัท ยาสูบ เรโนลด์ เข้ามาดำเนินกิจการลงทุนร่วมกับองค์การยาสูบของเกาหลีใต้

ฟิลิปส์ มอร์รีส ได้ยื่นข้อเสนอขอร่วมลงทุนเช่นกัน และยังเสนอที่จะช่วยปรับปรุงและผลิตบุหรี่คุณภาพเยี่ยมให้อีกด้วย นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะให้สิทธิ์แก่เกาหลีใต้ในการผลิตบุหรี่ของฟิลิปส์ มอร์รีส และเกาหลีเสียค่าธรรมเนียมเป็นการตอบแทน โดยการให้อนุญาตผลิตและนำเข้าบุหรี่อเมริกันเป็นทางการด้วยอัตราภาษีขาเข้า 100% (ประมาณ 2 เท่า ราคาบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ) รัฐบาลเกาหลีใต้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและทุก 1% ที่บุหรี่สหรัฐฯ ได้ส่วนแบ่งในตลาด จะทำให้รัฐบาลได้ภาษีเพิ่มขึ้น 15 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยที่บริษัทบุหรี่อเมริกันจะมียอดขายปีละ 15 ล้านดอลลาร์เช่นกัน แต่ที่แน่นอนก็คือ ฟิลิปส์ มอร์รีส ตั้งเป้าสำหรับการขายสูงกว่า 1%

รัฐบาลเกาหลีเองก็ได้เน้นไว้ว่า ได้มีนโยบายที่จะยอมให้นำเข้าบุหรี่กันได้ในไม่ช้านี้ ก็เพราะเกาหลีใต้จะต้องเลิกนโยบายคุ้มครองอุตสาหกรรมยาสูบของตนอย่างแน่นอนในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1988 นี้ เนื่องจากจะต้องมีชาวต่างประเทศจากทั่วโลกเข้ามาชมการแข่งขันกีฬาในประเทศเกาหลีใต้ในช่วงนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.