|
“โครงการธนาคารคู่บ้านคู่เมือง” คนใดคนหนึ่งในนี้มีสิทธิ์เป็นผู้นำในอนาคตได้
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
มันดูเหมือนจะเป็นโครงการฝึกอบรมนิสิตนักศึกษาให้รู้เรื่องงานธนาคารให้มากขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งก็คงจะไม่ต่างไปกว่าการฝึกอบรมทั่วๆ ไป ที่องค์กรต่างๆ รับนิสิตนักศึกษาเข้าฝึกงาน
แต่ “โครงการธนาคารคู่บ้านคู่เมือง” กลับมีอะไรพิเศษหลายอย่างที่แอบแฝงอยู่ในการรับเด็กเข้ามาฝึกงานครั้งนี้
“เป็นความคิดของ ดร. อำนวย วีรวรรณ ที่จะให้เริ่มโครงการนี้ขึ้นมา” พนักงานแบงก์ตราบัวหลวงคนหนึ่งพูดให้ฟัง
“ผมคิดว่าผมอยากจะให้บรรดานิสิตนักศึกษาเหล่านี้ ในวันหนึ่งข้างหน้าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพในสังคมไทยต่อไป จากการที่พวกเขาได้เข้ามารับการฝึกอบรมและเรียนรู้เรื่องราวของภาคธุรกิจตลอดจนวิชาการด้านต่างๆ ที่เป็นของจริงจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และโครงการนี้จะทำต่อเนื่องกันไปทุกๆ ปี ใน 10-20 ปี เราจะมีคนเป็นพันที่เคยได้รับการฝึกมาและก็หวังว่าในบรรดาคนเหล่านั้นเราคงจะมีคนที่มีคุณสมบัติผู้นำแฝงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย” อำนวย วีรวรรณ เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
ในการรับสมัครนั้นปรากฏว่ามีคนสมัครมาเกือบ 600 คน แต่ได้รับเลือกเพียง 88 คน จาก 17 สถาบันทั่วประเทศ มีทั้งขอนแก่น สงขลา เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ จุฬาจะเป็นสถาบันที่เข้ามามากที่สุดถึง 31 คน รองลงมาเป็นเกษตรฯ 10 คน และธรรมศาสตร์ 8 คน
“เรามองที่คะแนนผลการเรียนต้องดี พอใช้ และต้องเป็นเด็กกิจกรรมเพราะการเข้าไปร่วมทำกิจกรรมนั้นเป็นคุณสมบัติของการทำงานเป็นหมู่และการสร้างคุณสมบัติผู้นำขึ้นมา” เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
“เด็กๆ พวกนี้น่ารักมากและตั้งใจดี มีอยู่ไม่น้อยที่พอเข้ากลุ่มแล้วเราจะเห็นว่าเขาแสดงตัวเป็นผู้นำกลุ่มทันทีโดยอัตโนมัติ” เจ้าหน้าที่คนเดิมพูดต่อ
ดูจากการฝึกอบรมรวมทั้งรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามาบรรยายแล้วน่าทึ่ง เพราะจัดได้ว่าเป็นการฝึกอบรมที่ค่อนข้างละเอียดและลึกซึ้งพอสมควรแม้แต่คนที่เรียนขั้นปริญญาโทในมหาวิทยาลัยก็คงจะไม่ได้มีโอกาสจะได้รับฟังการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ธนาคารจัดมาให้
ผลพลอยได้ครั้งนี้นับว่ามากมายมหาศาล เพราะการปลูกฝังและการศึกษาที่ธนาคารมอบให้กับคนหนุ่มสาวพวกนี้เหมือนการเพาะพันธุ์พืชที่จะเจริญเติบโตและมีความเข้าใจที่ถูกต้องกับธุรกิจและระบบธนาคาร ซึ่งแน่ละในเมื่อเป็นโครงการของธนาคารกรุงเทพ ก็ต้องเป็นธนาคารกรุงเทพที่บรรดานิสิตนักศึกษาเหล่านี้ได้ทำความเข้าใจและมีความรู้สึกที่ดีต่อสำนักบัวหลวงนี้
“ผมว่ามันเป็นโครงการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่ดีมาก และถึงแม้จะใช้เวลานานและต้องมีความอดทนแต่ผลที่ธนาคารกรุงเทพจะได้รับก็คงจะยาวนาน” นักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนหนึ่งให้ความเห็น
สำหรับบางคนที่คิดว่าธนาคารกรุงเทพผูกขาดก็ได้เปลี่ยนความคิดไปบ้างหลังจากที่ได้เข้ามาสัมผัสอย่างเช่น ไกรเลิศ หาญวิวัฒน์กุล เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่กับเครือซิเมนต์ไทย พูดว่า “ผมได้เรียนรู้มากพอสมควรทำให้ผมเข้าใจวิธีการทำงาน ซึ่งผมรู้ว่าธนาคารกรุงเทพพยายามจะแก้ภาพลักษณ์ของเขาเรื่องการผูกขาดซึ่งผมคิดว่าในบางส่วนเขาก็ยังผูกขาดอยู่ แต่ตอนนี้ผมเห็นการแข่งขันของเขาในท้องตลาดแล้วทำให้เข้าใจดีถึงงานที่แท้จริงของธนาคาร” แต่เสกสม บัณฑิต บัณฑิตกุล วารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คิดว่าเขาเรียนรู้ได้ไม่มากในระยะนั้น “อาจจะเป็นเพราะว่าระยะเวลาฝึกอบรมมันสั้นเกินไปก็ได้ที่จะให้ผมได้เข้าใจอะไรจริงๆ แต่ผมเห็นด้วยนะครับว่า ธนาคารกรุงเทพควรจะดำเนินโครงการนี้ต่อเพื่อให้การศึกษาต่อประชาชน เพราะแม้แต่ในกลุ่มที่เรียกกันว่าปัญญาชนเองก็ยังเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจกันไม่ถ่องแท้ และผมก็คิดว่าโครงการนี้ถ้าทำดีๆ จะเป็นการเสริมสร้างความคิดให้คนเข้าใจธนาคารดีขึ้น”
ส่วนเพ็ญประภา บูลภักดิ์ วิทยาศาสตร์ ศิลปากร มองธนาคารกรุงเทพในแง่ดีมาก “เอ๋ไม่คิดว่าธนาคารกรุงเทพจะเป็นเสือนอนกิน เพราะธนาคารกรุงเทพเป็นตัวหลักในการพัฒนาการค้า และถ้าไม่มีธนาคารกรุงเทพแล้ว เอ๋ก็คิดว่าประเทศจะ SUFFER ค่ะ”
โครงการธนาคารคู่บ้านคู่เมืองนี้ ธนาคารจะจัดทำปีละ 2 รุ่น ซึ่งจะแบ่งเป็นนิสิตนักศึกษาภายในประเทศซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อนเดือนมีนาคม-เมษายน
อีกรุ่นก็จะเป็นสำหรับนักศึกษาไทยในต่างประเทศที่กลับมาเยี่ยมบ้านในภาคฤดูร้อน คือเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ตลอดไปซึ่งการฝึกอบรมจะแบ่งเป็นสองภาคคือ ภาคบรรยาย และภาคฝึกอบรม
กับดูงาน
ระยะเวลาจะอยู่ประมาณ 5 สัปดาห์
ความจริงแล้วโครงการนี้น่าจะใช้ชื่อว่า “โครงการธนาคารกรุงเทพสร้างผู้นำคู่บ้านคู่เมือง” มากกว่า
อำนวยพูดว่า “สังคมไทยในปัจจุบันและในอนาคตกำลังต้องการผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถฉลาดเฉลียวรวดเร็วว่องไวต่อวิวัฒนาการอันเป็นความเปลี่ยนแปลงของโลก และมีความขยันหมั่นเพียรเพื่อเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่เศรษฐกิจโดยส่วนรวมด้วย และขณะเดียวกันก็เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและศีลธรรมจึงไม่เกินความจริงเลยถ้าจะถือว่าคนพวกนี้คือความหวังในอนาคตของสังคมไทยและธนาคารกรุงเทพรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการช่วยหล่อหลอมผู้นำรุ่นใหม่ให้ก้าวออกไปสู่โลกการประกอบสัมมาอาชีพอย่างผู้ทรงภูมิรู้ทุกประการ”
ก็หวังว่าผลคงจะเป็นอย่างที่ว่าน่ะ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|