|
ที่มาและเป้าหมายของโครงการ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
โครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชนหรือนัยหนึ่งโครงการกำหนดหมายเลขและเก็บข้อมูลประวัติเบื้องต้นของประชาชนทั่วประเทศด้วยระบบคอมพิวเตอร์นี้ มีที่มาจากปัญหา 5 ประการ...ถ้าจะสรุปให้กระชับ คือ
1. การควบคุมประชาชนของประเทศ ในปัจจุบันประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 50 ล้านคนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกประมาณปีละ 1.3 ล้าน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากแก่การควบคุมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นชนกลุ่มน้อย ได้แก่บุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะร่อนเร่ชั่วคราว ประชาชนเหล่านี้ยากแก่การพิสูจน์ ตรวจสอบ และควบคุม อันมีผลกระทบไปถึงปัญหาเรื่องความมั่นคงในที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นอยู่เองที่หน่วยงานรัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องหาวิธีการที่สามารถพิสูจน์ตรวจสอบ และควบคุมประชาชนของประเทศไทยได้โดยทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
2. การพิสูจน์และตรวจสอบตัวบุคคล ปัจจุบันการจะตรวจสอบประวัติประชาชนคนใดคนหนึ่งทำได้ยากและต้องเสียเวลานาน เพราะจะต้องค้นหาประวัติของบุคคลนั้นๆ ยังสำนักทะเบียนที่บุคคลคนนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งมีกว่า 800 แห่ง หากไม่ทราบว่าบุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่เท่าไร สำนักทะเบียนไหนก็ไม่สามารถจะตรวจสอบได้เลย ทั้งๆ ที่เอกสารการทะเบียนราษฎรอย่างเช่นทะเบียนบ้าน เป็นเอกสารที่ใช้ในการพิสูจน์และรับรองรายการประวัติของบุคคลที่มีน้ำหนักมากที่สุด
3. การประมวลผลข้อมูลประชากร ข้อมูลและสถิติต่างๆ เกี่ยวกับทะเบียนราษฎรเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญอันหนึ่งในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การทหารและความมั่นคง ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับงานแต่ละด้านมีความต้องการข้อมูลที่ถูกต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่การประมวลผลจากข้อมูลต่างๆ ทางการทะเบียนราษฎรในขณะนี้ไม่สามารถกระทำได้ด้วยความถูกต้องรวดเร็วและเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เพราะข้อมูลของประชาชนมีจำนวนมาก อีกทั้งเก็บเป็นเอกสารที่กระจัดกระจายกันอยู่ตามสำนักทะเบียน แม้ว่าปัจจุบันจะมีหน่วยราชการหรือเอกชนได้จัดประมวลผลข้อมูลของประชาชนบางกลุ่มบางจำพวกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นไปแบบต่างคนต่างทำและไม่ครอบคุลมถึงประชาชนทั่วประเทศ เท่ากับเป็นการดำเนินงานที่ซับซ้อนสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ ดังนั้นจำเป็นจะต้องจัดตั้งระบบบานข้อมูล (CENTRAL DATA BASE) เกี่ยวกับประวัติของประชาชนในทางทะเบียนราษฎรไว้ที่ศูนย์กลาง ซึ่งพร้อมจะขยายให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
4. การให้หมายเลขแก่ประชาชน เนื่องจากขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ริเริ่มจัดทำระบบการให้หมายเลขประจำตัวแก่ประชาชนเพื่อสะดวกในการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ดี แต่ละหน่วยงานก็มีวิธีการให้หมายเลขต่างๆ กันไปและก็ไม่ได้ครอบคุลมถึงประชาชนทั้งหมด ผลก็คือประชาชนคนหนึ่งกลับมีเลขประจำตัวหลายหมายเลข บัตรผู้เสียภาษีหมายเลขหนึ่ง บัตรประชาชนอีกหมายเลขหนึ่งอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นระบบมาตรฐานเดียวกันและทำให้เกิดความสับสนในการจดจำและใช้ นอกจากนี้ระบบสวัสดิการทางสังคมที่จะต้องมีในอนาคตก็จำเป็นจะต้องกำหนดหมายเลขสวัสดิการกันอีก จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องจัดตั้งระบบการให้หมายเลขแก่ประชาชนโดยทั่วถึงกันทั้งประเทศและให้ประชาชนแต่ละคนมีเลขประจำตัวเพียงเลขเดียว โดยให้เป็นเลขมาตรฐาน 13 หลักที่หน่วยงานต่างๆ จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
5. ระบบงานทะเบียนราษฎร เอกสารทะเบียนราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเบียนบ้าน เป็นเอกสารของทางราชการที่รับรองและแสดงสิทธิเบื้องต้นของการเป็นพลเมืองประเทศไทยและก็เป็นเอกสารที่หน่วยราชการทุกหน่วยยอมรับเพื่อใช้ประกอบการนิติกรรมสัญญา พิสูจน์ตัวบุคคล ปัจจุบันมีทะเบียนบ้านจำนวนมากกว่า 20 ล้านฉบับจัดแยกเก็บไว้ที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น ตำบล อำเภอ 800 แห่งทั่วประเทศ ดังนั้นเมื่อทะเบียนบ้านเกิดชำรุดสูญหายจึงยากแก่การคัดลอก รับรองรายการ นอกจากนี้ยังยุ่งยากแก่การตรวจสอบในกรณีเกิดการปลอมแปลงทุจริตเพราะไม่มีศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ ความจำเป็นที่จะต้องมีศูนย์กลางก็เกิดขึ้น
การจัดทำโครงการดังกล่าวข้อมูลที่จะจัดเก็บไว้เป็นทะเบียนประวัติบุคคลและใช้เป็นประโยชน์ในการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ต่อไป แบ่งออกเป็น 7 รายการ คือรายการบุคคลทั่วไป รายการเกิด รายการตาย รายการบิดามารดา รายการที่อยู่และรายการย้ายที่อยู่ ซึ่งจะมีขั้นตอนการดำเนินงานจัดเก็บทำบัตรและประมวลผลดังนี้
- เตรียมสถานที่และจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์
- กำหนดระเบียบการปฏิบัติของศูนย์ฯ
- จัดสรรบุคลากรภายในศูนย์ฯ
- บันทึกข้อมูลเพื่อเตรียมไว้ใช้ในการทำบัตรประจำตัวประชาชนและการประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
- จัดแฟ้มประวัติของบุคคลเก็บไว้ในคลังข้อมูลหลัก
- ตรวจสอบค้นหาประวัติบุคคลและประมวลผลข้อมูลราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์
- รับรองรายการประวัติบุคคลและออกรายงานสถิติราษฎรตามที่หน่วยงานต่างๆ และเอกชนต้องการได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์
- พิมพ์บัตรประจำตัวประชาชนด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ระยะเวลาดำเนินงานตามโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี โดยได้รับงบประมาณไว้ใช้จ่ายทั้งสิ้น 490,092,895.00 บาท และหน่วยงานที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการก็คือกรมการปกครองด้วยความร่วมมือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|