ตะวันตกดินที่จาร์ดีน เฟลมมิ่ง


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าจาร์ดีน เฟลมมิ่งจะขายกิจการให้กับเจ้าของใหม่สัญชาติอังกฤษมาปีหนึ่งแล้ว แต่ผู้คนก็ยังอดรู้สึกไม่ได้ว่าบริษัทโบรกเกอร์เอเชียแห่งสุดท้ายของเอเชียเพิ่งสูญเสียความเป็นอิสระ

เมื่อเชส แมนฮัตตันเสนอซื้อกิจการตั้งแต่เดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม กิจการของตระกูลเฟลมมิ่งต้องก้าวสู่เวทีโลก "ไม่ช้าก็เร็ว"

การร่วมมือกับเชส แมนฮัตตัน สร้างประโยชน์แบบผนวกรวมสูงสุดในลักษณะ "synergies" ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาเคยหวังว่าจะดี เมื่อเชส แมนฮัตตัน เสนอซื้อกิจการโรเบิร์ต เฟลมมิ่ง ที่ระดับ ราคา 27.44 ปอนด์/หุ้น เป็นราคา ที่ถูกใจ กิจการเก่าแก่ของเอเชีย ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขาย แม้ว่าสำนักงานใหญ่ของจาร์ดีน เฟลมมิ่ง ซึ่งตั้งอยู่ ที่เกาะฮ่องกงจะรู้สึกว่าเลขสี่สองตัวจะไปพ้องความหมายกับคำว่า "ตายสองครั้ง" ในภาษาจีนก็ตาม

แต่ตัวเลข ที่ว่าไม่ได้ทำให้เจ้าของกิจการที่ลอนดอนกังวลแต่อย่างใด นอกจากนั้น บรรดาคนวงในเห็นว่าเชสฯ ได้ราคาดีเมื่อดูจากราคาเสนอขายสำหรับการออกหุ้นทุนของโรเบิร์ต เฟลมมิ่ง ที่ 4,880 ล้านปอนด์ (7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) อีกทั้งเชสฯ ยังได้กิจการของจาร์ดีน เฟลมมิ่งไว้ในมือ

ชื่อของจาร์ดีน เฟลมมิ่งนั้น รู้จักกันดีในเอเชีย และติดอันดับกิจการทำกำไรสูงสุดในภูมิภาคมาแล้ว โดยเฉพาะ ในยุคที่ธุรกิจเฟื่องฟูตอนปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 จาร์ดีน เฟลมมิ่งเคยได้ผลตอบแทนถึง 60% ต่อ ปีจากส่วนของผู้ถือหุ้น

นักลงทุนในตลาดจำนวนหนึ่งมองว่า เชสฯ ซื้อกิจการในราคาสูงเกินไป ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่รู้รายละเอียดว่าสินทรัพย์ของโรเบิร์ต เฟลมมิ่งมีมากมายขนาดไหน หรือไม่ก็คิดคำนวณราคากิจการจากผลประกอบการที่ย่ำแย่ในปีที่แล้ว โดยที่ผลกำไรก่อนหักภาษีลดฮวบ ลงมาอยู่ ที่ 70 ล้านปอนด์ จากระดับ 136 ล้านปอนด์ในปีก่อนหน้า ส่วนผลประกอบการเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังไม่ได้เปิดเผยแต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการชี้ว่ากำไรก่อนหักภาษี ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ ที่ 110 ล้านปอนด์

อย่างไรก็ตามบทสัมภาษณ์ทิม เฟรชวอเตอร์ ประธานกรรมการของจาร์ดีน เฟลมมิ่ง ที่ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังการซื้อกิจการชี้ให้เห็นประเด็นบางอย่างเช่นกัน เขาตอบคำถามเพียงสามข้อ และบอกว่า เขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดอะไรมากนักเกี่ยวกับการควบ และซื้อกิจการ และตัดบทโดยกล่าวขอโทษ และให้ความเห็นเพียงเรื่องเดียวว่า "เชสเข้าใจดีถึงมูลค่าของธุรกิจเอเชีย ผลตอบรับจากลูกค้าดีมาก และหากการเจรจาตกลงซื้อขายบรรลุผลก็จะเป็น การเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจทั้งหมด และปรับปรุงบริการของเราแก่ลูกค้า"

เฟรชวอเตอร์ไม่ยอมพูดอะไรเพิ่มเติมเรื่องการเจรจา ซึ่งอาจจะสืบเนื่อง จากข้อกำหนด ที่เข้มงวดขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ การเจรจาถูกเก็บเป็นความลับสุดยอดรู้กันเพียงในหมู่ผู้บริหารชั้นสูง และวิลเลียม แกร์เร็ต ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารของโรเบิร์ต เฟลมมิ่ง

เมื่อข่าวนี้เปิดเผยออกมา เฟรชวอเตอร์อยู่ในระหว่างพักร้อน (ตามคำบอกเล่าของพนักงานของเขา) ส่วน ที่ประชุมในลอนดอน ผู้กุมนโยบายคนสำคัญรายหนึ่งในทีมบริหารกองทุนโลกของเชสฯ ได้บอกกับทีมงานของเขาว่ามี รายงานของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ในเช้าวันนั้น เกี่ยวกับการซื้อกิจการ ซึ่งเป็น "เรื่องเหลวไหลทั้งเพ เลิกสนใจได้เลย" ตกบ่ายวันนั้น สถานการณ์แปรเปลี่ยนเมื่อเขากลับมาบอกกับนักข่าวว่า "ผมเป็นฝ่ายผิด"

โรเบิร์ต เฟลมมิ่ง ซึ่งเป็นกิจการแบบครอบครัว นับเป็นหนึ่งในกิจการวาณิชธนกิจอิสระแห่งสุดท้ายของโลกตะวันตก แต่ทั้งครอบครัวเฟลมมิ่ง และฝ่ายบริหารต่างรู้ดีว่ากิจการจะต้องเลือกว่าจะใช้กลยุทธ์แทรกช่องว่างตลาดเป็นพิเศษหรือก้าวสู้เวทีโลก "ธุรกิจกำลังกระจุกเป็นขั้ว ถ้าหากคุณอยู่ตรงกลางก็จะถูกบีบ" ผู้บริหารรายหนึ่งกล่าว

ยิ่งกว่านั้น การบริหารกิจการโรเบิร์ต เฟลมมิ่งในปัจจุบัน มีคนในครอบครัวมาเกี่ยวข้องน้อยลงเหลือเพียง ราว 7-8 คนเท่านั้น จึงทำให้การขายกิจการง่ายขึ้น ภาพ ที่สาธารณะรับรู้ว่าเป็น ธุรกิจครอบครัวจึงเป็นเรื่องในอดีตแล้ว มีเพียงผู้บริหารไม่กี่คน เช่น ร็อดดี้ เฟลมมิ่ง (หลานชายของเอียน เฟลมมิ่ง ผู้เขียนเรื่อง เจมส์ บอนด์) ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยประธานกรรมการ ซึ่งเป็นตำแหน่ง ระดับสูง ส่วนคนในครอบครัว ที่เคยมีบทบาทก็ผูกพันกับชื่อบริษัทน้อยลงทุกที และปัจจุบันถือหุ้นกิจการอยู่เพียง 30% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของทรัสต์ ด้วยเหตุ นี้เอง กิจการที่เคยเป็นอิสระมายาวนาน 127 ปีจึงพร้อม ที่จะขาย

เชสฯ เองก็ได้ฝ่ายบริหารของเฟลมมิ่งมาเป็นพวก เพราะต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนกัน และกันได้ เพราะมีความชำนาญคนละด้าน เชสฯ เป็นคัสโตเดียน ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก มีจุดแข็ง แกร่งด้านการควบ และซื้อกิจการในสหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นผู้นำโลกในด้านการ ปล่อยกู้แก่โครงการขนาดใหญ่ และมีประวัติโดดเด่นในการออกใบรับฝากหุ้น ในตลาดนิวยอร์ก และนาสแดค

ส่วนจาร์ดีน เฟลมมิ่งทำธุรกิจหลักทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งเป็นจุดที่เชสฯ ขาด และมีกองทุน ที่บริหารอยู่เป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านปอนด์ (24,400 ล้านดอลลาร์) ซึ่งจะเสริมกับส่วน ที่เชสฯ บริหารสินทรัพย์เป็นมูลค่า 232,000 ล้าน ดอลลาร์

ด้านธุรกิจหลักทรัพย์เชสฯ มีกิจการโบรกเกอร์ชั้นนำของสหรัฐฯ คือ เชสเอชแอนด์คิวอยู่ในเครือ แต่ยังไม่มีฐานในเอเชีย จาร์ดีน เฟลมมิ่ง มีธุรกิจโบรกเกอร์ ที่เป็นที่ยอมรับ และทำกำไรสูงมาก แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้เปิดเผยตัวเลข แต่หากดูจากมูลค่าของธุรกิจในส่วนโบรกเกอร์เมื่อจาร์ดีน เฟลมมิ่งถูกโรเบิร์ต เฟลมมิ่งซื้อไว้ในราคาถึง 360 ล้านปอนด์เมื่อปีที่แล้ว (25 มีนาคม 1999) โดยคาดกันว่าราคาต่อรองของธุรกิจในส่วนโบรกเกอร์นั้น สูงถึง 80 ล้านดอลลาร์

สิ่งดึงดูดใจโรเบิร์ต เฟลมมิ่ง คือ "การซื้อจาร์ดีน เฟลมมิ่งทำให้โรเบิร์ต เฟลมมิ่งมีบทบาทแข็งแกร่งขึ้น แต่คำถามก็คือ จะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรสำหรับกิจการที่มีฐานอ่อนแอ ในขณะที่วาณิชธนกิจทุกวันนี้จะต้องพร้อมรับการแข่งขันสูง เพราะต้องทำอันเดอร์ไรต์ ภายในเวลาอันสั้น ต้องมีการวิจัยทั่วโลก และมีความสามารถ ที่จะนำกิจการเข้าจด ทะเบียนในตลาดทุกแห่งในโลก แต่ถึงอย่างไรสหรัฐฯ ก็เป็นแหล่งตลาดทุนถึงราวสองในสาม ที่คุณจะเพิกเฉยไม่ได้"

แหล่งข่าวอีกแหล่งหนึ่งระบุว่า "มันเป็นเกมวัด คุณเพียงแต่ต้องมีเครือ ข่ายไปได้ทั่วโลก ลองดูจำนวนธุรกิจการ ควบ และซื้อกิจการทั้งหมดก็แล้วกัน" ซึ่งแกร์เร็ตก็เห็นทำนองเดียวกันว่า "การ ตัดสินใจ ที่จะดำรงความเป็นอิสระไว้ไม่ใช่ เรื่องง่ายเลย การเกิดขึ้นของยักษ์ใหญ่ระดับโลกจำนวนมากได้เปลี่ยนสภาพการณ์การแข่งขันในช่วงสองสามปีที่ผ่าน มา" เขาบอกต่อว่า

"เราตระหนักดีว่าทำตลาดโลกก็ต้องมีแขนขาไปทั่วโลกด้วย สิ่งที่ทำให้เราสนใจเชสฯ คือ เขามีวัฒนธรรม และลักษณะการดำเนินธุรกิจ ที่เกื้อหนุนกับเรา ซึ่งเป็นประเด็น ที่นอกเหนือไปจากเรื่องบทบาทความเป็นผู้นำของเชสฯ และการมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก"

รายงานจากนิตยสารเอเชียมันนี่ก็มีความเห็นสนับสนุนข้อตกลงซื้อกิจการดังกล่าวเช่นกัน หลายคนเห็นว่าเชสฯ เป็นผู้ซื้อกิจการที่โรเบิร์ต เฟลมมิ่ง น่าจะรู้สึกพอใจ จอห์น แมนเซอร์ ประธานกรรมการของโรเบิร์ต เฟลมมิ่งเคยบอกกับนิตยสารยูโรมันนี่ว่า

"จาร์ดีน เฟลมมิ่งยังอ่อนประสบการณ์ และอาจตัดสินใจรีบร้อนเกินไปบ้าง เพราะเป็นกิจการของพวกนักปฏิบัติ ที่ไม่ยอมเชื่อคณะกรรมการ แล้วคนฮ่องกงก็ดูถูกอังกฤษด้วย มองว่าอังกฤษเป็นพวกคร่ำครึ หัวโบราณ"

แน่นอนว่า การปะทะกันในเรื่องวัฒนธรรมคงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่พ้นสำหรับการซื้อกิจการครั้งนี้ แต่วัฒน-ธรรมการทำธุรกิจแบบเน้น ที่ผลการปฏิบัติงานตามแบบอเมริกันจะเป็นที่พอใจของพนักงานของจาร์ดีน เฟลมมิ่ง มากกว่า อย่างที่พนักงานรายหนึ่งระบุว่า หากประเมินผลตามงานแล้วเขาอาจจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น

เชสฯ บอกตามแผนการณ์ขั้นแรกจะเก็บผู้บริหารส่วนใหญ่ของจาร์ดีน เฟลมมิ่งไว้ ดังจะเห็นได้จากการแต่งตั้งแกร์เร็ตเป็นประธานกรรมการของเชสฯ เฟลมมิ่ง และเบอร์นาร์ด เทเลอร์ (หัวเรือ ใหญ่ของแผนกวาณิชธุรกิจของโรเบิร์ต เฟลมมิ่ง) เป็นรองประธานกรรมการ และคริสโตเฟอร์ แรมป์ตัน ผู้บริหาร ที่มีบทบาทสูงของจาร์ดีน เฟลมมิ่ง ดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ทั่วโลก

เชสฯ ยังย้ำให้พนักงานมั่นใจด้วยว่าจะลดพนักงานลงน้อยมาก ทั้งนี้พนักงานของจาร์ดีน เฟลมมิ่งเชื่อว่าขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนปฏิบัติงานอยู่ในส่วนงานใด นักวิเคราะห์วิจัยรู้ว่าจะมีงานเพิ่ม มากสำหรับธุรกิจในส่วนเอเชีย ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ พนักงานขายเป็นกลุ่ม ที่กังวลมากเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับพนักงานส่วนการเงิน ที่อาจมีการโยกย้าย ซึ่งขึ้นอยู่ กับกลุ่มของธุรกิจระดับสูง ที่ติดต่อกันอยู่ อย่างที่พนักงานของจาร์ดีน เฟลมมิ่ง คุยไว้ว่าเชสฯ มีสายสัมพันธ์ธุรกิจเป็นอย่างดีเพราะเป็นธนาคารประเภทให้กู้ยืมรายหนึ่ง

ผู้บริหารกองทุนต่างๆ มีความกังวล เช่นกัน แม้ว่าเชสฯ จะระบุว่ามีความสนใจในธุรกิจบริหารกองทุนของจาร์ดีน เฟลมมิ่ง แต่ไม่มีสิ่งใดจะรับประกันตัวผู้บริหารกองทุนด้วย โดยทาง ปฏิบัติของการซื้อกิจการก็คือ เก็บเงินของธนาคารเป้าหมายไว้ในกองทุนต่างๆ ที่บริหารโดยผู้ซื้ออยู่แล้ว ผู้บริหารกองทุนจึงมักถูกปลดยกเว้นเฉพาะกองทุน ที่มีผลประกอบการโดดเด่น

แม้จะมีข่าวว่าเชสฯ จะไม่เข้าไปก้าวก่ายการดำเนินงานของจาร์ดีน เฟลม มิ่ง แต่เป็นที่รู้กันอยู่ว่าเชสฯ มีความแข็ง แกร่งมากในเรื่องธุรกิจคัสโตดี้ และการดูแลทรัพย์สิน ขวัญ และกำลังใจของพนักงานในส่วนธนาคารก็แย่เป็นพิเศษ เพราะไม่มีเหตุผลที่เชสฯ จะเก็บธุรกิจ ที่มีผลประกอบการไม่น่าประทับใจไว้

วิลเลียม แฮริสัน ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเชสฯ ให้ความเห็นว่าการซื้อขายควร สำเร็จลุล่วงในสามหรือสี่เดือน

"ผมรู้สึกดีเกี่ยวกับผลที่จะเกิดขึ้นจากการที่สองบริษัทรวมตัวกัน เฟลมมิ่งทำให้เราเป็นผู้นำทางด้านหลักทรัพย์ และการบริหารสินทรัพย์ระดับโลก เราจึงมีศักยภาพสูง ยิ่ง ที่จะมีกำไรเพิ่มรวมทั้งศักยภาพของวัฒนธรรมการร่วมมือกัน ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสเข้าสู่ตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างยุโรป และเอเชียด้วย"

ส่วนทิศทางต่อไปของเชสฯ จะเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์ของวอลล์สตรีท คาดว่าคงจะมีการซื้อกิจการที่ใหญ่กว่าเฟลมมิ่งอีก ในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา มีการคาดกันว่าจะมีการซื้อกิจการระดับใหญ่ขนาดเมอร์ริล ลินช์ ซึ่งเชสฯ เองก็แสดงความมุ่งหวัง ที่จะเป็นวาณิชธนกิจชั้นนำของโลก และเพิ่งก้าวเดินมาได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น

ขณะเดียวกัน จาร์ดีน เฟลมมิ่ง กิจการของฮ่องกงแท้ๆ กำลังฉลองความ เป็นอิสระวันสุดท้าย ชื่อของกิจการในภาษาจีนคือ "Yi Fu" หมายถึง "ความสุข ความพอใจจากความร่ำรวย" ถึงตอนนี้ดู เหมือนว่ากิจการแห่งนี้จะต้องลงหลักปักฐาน เพื่อสร้างความสุข และความพอใจ ในการเป็นกิจการระดับโลกแล้ว

ข้อมูลจากนิตยสารเอเชียมันนี่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.