|

การแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ
โดย
Eugene Richman Arvincer Brara
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
ความเข้าใจลักษณะการแข่งขันกันโดยธรรมชาติ และสัญชาตญาณของความร่วมมือซึ่งแต่ละคนในกลุ่มงานแสดงออกมานั้น จะยังประโยชน์สูงสุดให้ได้ สิ่งนี้จะช่วยให้คุณวางแผนตอบโต้การแข่งขันในกลุ่มงานของคุณ และใช้มันไปในทางที่ดีในอันที่จะกระตุ้นให้ลูกจ้างทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนว่าทำไมคนของคุณจึงได้เกิดการแข่งขัน หรือร่วมมือกัน
คนนั้นจะแข่งกันในสถานการณ์หนึ่งซึ่งเขาคิดว่าเป้าหมายที่เขาจะได้รับนั้นไม่อาจแบ่งปันหรือร่วมรับกับใครได้ หรือเขาไม่เต็มใจที่จะรับร่วมกับบุคคลอื่น
ในทางตรงกันข้าม พวกเขาจะร่วมมือร่วมแรงกัน ถ้าคิดว่าเป้าหมายที่จะได้นั้นจะได้รับร่วมกัน และหนทางที่ดีที่สุดก็คือการทำงานร่วมกัน จุดหมายหรือเป้าหมายนั้นอาจจะเป็นไปในรูปวัตถุ ที่เห็นกันชัดๆ เช่น เงินโบนัสให้กับกลุ่มรางวัลให้เป็นรายตัว ค่าแรงเพิ่มขึ้น เงินรางวัลและอื่นๆ หรืออาจเป็นเป้าหมายที่ยอมรับอื่นๆ เช่น ชื่อเสียง รางวัล คำชมเชย หรืออย่างอื่นอีก
แต่ก็มีบ่อยครั้งที่รวมเป้าหมายทั้งสองชนิดนี้ด้วยกัน หรือเรียกง่ายๆ ว่า ได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง
คนของคุณจะแข่งกันในสถานการณ์ที่มีการบอกเน้นชัดว่า คนที่ทำได้ดีที่สุดเท่านั้นที่จะได้รับรางวัล และในสถานการณ์เดียวกันนี้ พวกเขาจะร่วมมือกันทำถ้ามีการเน้นเป็นเป้าหมายต่อกลุ่ม และแต่ละคนในกลุ่มจะได้รับรางวัลด้วยกันหรืออีกนัยหนึ่ง
กลุ่มทำงานกลุ่มหนึ่งจะร่วมมือกันก็ต่อเมื่อ :-
- ต้องพยายามทำให้บรรลุเป้าหมายซึ่งจะแบ่งประโยชน์กันได้
- ต้องได้เป้าหมายที่เฉลี่ยแล้วจะได้เท่าๆ กันด้วยการดำเนินงานอย่างหนึ่ง
- จะเป็นการดีกว่าถ้าทำด้วยกันและได้รับเป้าหมายเท่าๆ กัน
- พวกเขามีความใกล้ชิดกันทั้งทางสังคมและจิตใจ
และอีกนัยหนึ่ง ลูกจ้างจะแข่งขันกันเองก็ต่อเมื่อ :-
- ต้องต่อสู้เพื่อเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งหาได้ยากยิ่ง
- ถูกบีบไม่ให้ได้รับผลประโยชน์หรือเป้าหมายจำนวนเท่าๆ กัน
- ไม่ค่อยมีความผูกพันทั้งทางสังคมและจิตใจ
- ต่างคนต่างทำดีกว่าที่จะร่วมมือกันเพื่อให้ได้เป้าหมายที่แจกจ่ายให้ไม่เท่ากัน
- ความเข้าใจที่ว่า ภายใต้เงื่อนไขใดที่ทำให้แต่ละคนในกลุ่มร่วมมือกัน หรือแข่งขันกัน จะช่วยให้คุณส่งเสริมพฤติกรรมชนิดที่คุณต้องการเพื่อสถานการณ์ที่ต่างกันออกไป และเพื่อสร้างให้เกิดการแข่งขันหรือร่วมมือกันตามที่คุณต้องการได้ หรือบางครั้งก็ผสมเอาพฤติกรรมทั้งสองชนิดไว้ในกลุ่มทำงานของคุณ
จะรับมือการแข่งขันเฉพาะตัวได้อย่างไร?
การแข่งขันเฉพาะตัวจะรับมือไว้ได้ด้วยการคาดหวังเอาไว้ก่อน
ปัญหาที่อยู่ในประเด็นเดียวกันที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ของการแข่งขันเฉพาะตัว คือ
- ลักษณะใดที่คุณคาดว่า คู่แข่งของคุณจะปฏิบัติ
- ข้อพิจารณาอันใด หรือเงื่อนไขอะไรที่จะมีผลต่อคุณภาพและประมาณการแข่งขันที่คุณจะได้รับจากแต่ละบุคคล
คุณสามารถคาดหวังการแข่งขันเฉพาะตัวจากผู้แข่งรายตัวเหล่านั้น ซึ่งพยายามแสวงหาเป้าหมายที่หาได้ยากยิ่งเช่นเดียวกับที่คุณแสวงหา ดังนั้น คุณจะต้องเผชิญการแข่งขันเฉพาะตัวจากผู้ที่ได้รับการส่งเสริมพอๆ กันที่จะก้าวขึ้นไปสู่ช่องว่างของการจัดการที่สูงขึ้นไป เพราะเป็นเป้าหมายที่หาได้ยาก
โดยข้อเท็จจริงแล้ว คุณสามารถคาดคะเนการแข่งขันจากแต่ละคนในทุกๆ ระดับและขอบข่ายที่ต่างๆ กันออกไปได้ เมื่อค้นพบมาตรฐานของเป้าหมายที่หาได้ยากแล้ว ตัวอย่างอื่นๆ ของขอบข่ายการแข่งขันอาจจะเป็นการยอมรับของหน่วยงาน การเปรียบเทียบการทำงาน การให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำได้ดีเยี่ยม การได้ใกล้ชิดกับเจ้านายที่อยู่สูงสุด เป็นต้น
คุณต้องรู้สถานการณ์ของตนเอง รูปแบบการแข่งขันเฉพาะตัวอันใดที่ทำกันอยู่หรืออาจเกิดขึ้น คู่แข่งแต่ละคนจะทำตามสิ่งที่เขาเข้าใจว่ามันเป็นกฎเกณฑ์ของสถานการณ์นั้นๆ พฤติกรรมของเขาจะขึ้นกับกฎเกณฑ์ที่เขาเองคิดว่า องค์กรยอมรับในการแข่งขันที่เป็นธรรมส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่ง คือ ระบบการจัดคุณค่าของตนเอง
ส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพและปริมาณการแข่งขันที่คุณได้รับจากแต่ละรายก็คือ
ข้อขัดแย้งระหว่างการบรรลุความสำเร็จได้กับความต้องการที่จะประสบความสำเร็จ
ยิ่งคู่แข่งของคุณและระดับความต้องการของเขาในอันที่จะแสวงหาการเสนอตัวให้ได้รับการพิจารณา และข้อขัดแย้งระหว่างเป้าหมาย มีมากยิ่งขึ้นเพียงไร คุณก็ต้องเล็งเห็นการแข่งขันที่จะดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้นเท่านั้น ทัศนคติของคู่แข่งต่อระดับความคาดหวังของเขา เช่น ความสำคัญของเขาที่จะได้รับ เป็นต้น จะเป็นตัวประกอบสำคัญในการตัดสินใจว่าเขาจะแข่งกับคุณในลักษณะไหน
ความรู้ ทัศนคติที่มีต่อระบบความต้องการนั้น เป็นผลกระทบมาจากความรู้ของแต่ละราย ที่เกี่ยวโยงไปถึงเป้าหมายซึ่งระดับความต้องการนั้นบ่งออกมาให้เห็น
ยิ่งมีความรู้มาก คุณภาพและความชำนาญก็จะยิ่งสูงขึ้น และจะสะท้อนออกมาในรูปแบบพฤติกรรมการแข่งขันนั้นๆ
ทัศนคติ พฤติกรรมการแข่งขันจะเป็นผลกระทบมาจากทัศนคติของแต่ละคนที่มีต่อบุคคลอื่นๆ ดังนั้น คู่แข่งที่ถูกเกลียดชังอาจถูกดันให้ตกไปจากเวทีการแข่งขันด้วยความชมชื่นอย่างยิ่ง แต่ลักษณะนี้จะไม่แสดงต่อคู่แข่งขันที่เป็นกลาง หรือพวกที่เป็นมิตร รูปแบบการแข่งขัน การสอดแทรก การต่อสู้ หรือการวิงวอน ที่ใช้ในการทำให้บรรลุเป้าหมาย จะมีผลกระทบในแง่ของทัศนคติของแต่ละรายที่มีต่อคู่แข่งของเขา บางครั้งทัศนคติที่ว่านี้อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการตอบสนองต่อการแข่งขันหรือแม้แต่จุดหมายที่เขาแสวงหา
ดังนั้น คนคนหนึ่งอาจตัดสินใจผละออกมาจากการแข่งกับผู้ที่มีความสามารถทัดเทียมกันและเป็นเพื่อน และเขาอาจแปรจุดหมายของตนเองไปเพื่อจะได้ไม่ต้องขัดแย้งกับมิตร
ความชำนาญ คุณภาพและปริมาณของการแข่งของแต่ละคน จะขึ้นอยู่กับความชำนาญของเขาในสถานการณ์เฉพาะอย่าง แง่คิดของความชำนาญในที่นี้ ตีความหมายออกไปได้กว้าง ไม่เพียงแต่จะหมายถึงความสามารถด้านกลไก หรือเทคนิคที่จะปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายมาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเทคนิคหรือพรสวรรค์ในการแข่งของแต่ละบุคคลที่จะเหมาะสมต่อสถานการณ์การแข่งขันที่แตกต่างกันออกไป
ออกจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละคนจะแข่งก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าเขามีโอกาสเหมาะสมและสมเหตุสมผลเพียงพอที่จะเอาชนะใครสักคนที่มีความชำนาญพอๆ กัน
ดังนั้น ข้อขัดแย้งของฝ่ายตรงข้าม หรือแรงจูงใจเพื่อที่จะได้รับเป้าหมายที่คุณกำลังแสวงหาอยู่ ความรู้ของเขา ทัศนคติและความชำนาญ รวมไปถึงกฎเกณฑ์ของสถานการณ์และระบบการวัดคุณค่าของเขา จะบอกให้คุณรู้ว่า เขาจะแข่งกับคุณอย่างไร
ในการตอบโต้การแข่งเฉพาะตัว คุณจะต้องทำตามขั้นตอนอย่างนี้
1. ข้อแรกต้องแจกแจงรายชื่อของคู่แข่งที่อาจเป็นไปได้ในขอบข่ายต่างๆ กันออกไปในงาน ตามกฎเกณฑ์ที่ได้กล่าวมาแล้ว อันนี้จะเป็นไปในแต่ละรายที่แสวงหาเป้าหมายที่หาได้ยากเช่นเดียวกับคุณ และมีความชำนาญและทัศนคติที่จะแข่งกับคุณได้
2. คาดหวังพฤติกรรมของคู่แข่งแต่ละราย โดยวางพื้นฐานอยู่บนส่วนประกอบที่แยกแยะมาให้เห็นแล้วข้างต้น (เช่น ข้อแย้ง ความรู้ ทัศนคติ และความชำนาญ ของคู่แข่งแต่ละราย)
3. วางแผนและเสริมสร้างความมั่นคงให้กับนโยบายอย่างหนึ่ง เสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของคุณและตอบโต้พฤติกรรมที่คาดหมายจากคู่แข่ง
4. เริ่มรุกและกระทำโดยไม่รอช้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่หาได้ยากยิ่ง
5. ทบทวนพฤติกรรมของคู่แข่ง และแก้ไขทบทวนนโยบายตามข้อ 4 เพื่อให้เกิดความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
6. ทำซ้ำที่กล่าวมาแล้วเป็นระยะๆ ภายในสามเดือน ครึ่งปี หรือหนึ่งปี ตามแต่สถานการณ์ขององค์กรและเป้าหมายของตัวคุณเอง
ทั้งหกขั้นตอนนี้เป็นการเสริมการต่อสู้อย่างมีระบบ ถูกวิธี และมีประสิทธิภาพในการแข่งเฉพาะตัว และช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าได้
การวางแผนต่อปฏิกิริยาโต้ตอบการแข่งขันในกลุ่ม
ในขณะที่วางแผนต่อปฏิกิริยาโต้ตอบในกลุ่ม ก็เป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกันที่จะต้องพิจารณาทั้งทัศนคติของแต่ละบุคคลรวมทั้งขนาดของกลุ่ม
ทัศนคติรายตัวในกลุ่มจะเป็นตัวควบคุมแนวทางปฏิบัติทั้งหมดของกลุ่ม
ทัศนคติที่ว่านี้เป็นรากฐานลึกของบุคลิกภาพของแต่ละราย และเป็นข้อสรุปทั้งมวลของปฏิกิริยาโต้ตอบรายตัวต่อประสบการณ์ในชีวิตของเขา ถ้าความผูกพันร่วมมือได้มีโอกาสพัฒนายิ่งขึ้น และระบบคุณค่าของแต่ละคนมองเห็นว่า การร่วมมือกันนั้นเป็นที่ต้องการมากกว่าการแข่งขันกันล่ะก็ ปฏิกิริยาการแข่งขันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่หาได้ยากก็จะเป็นที่ต้องการน้อยลง อันนี้ความหมายว่า คุณไม่อาจหวังให้เกิดการทำงานที่ดีขึ้นจากกลุ่มงานที่มีการผูกพันร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นด้วยการเสนอให้มีรางวัลรายตัว ในกรณีเช่นนั้น ต้องเสนอทั้งเป้าหมายกลุ่ม และเป้าหมายส่วนบุคคลให้เพื่อที่จะให้ได้รับการแข่งขันตามธรรมชาติโดยไม่ทำลายความผูกพันในกลุ่ม และด้วยการเปลี่ยนแปร คุณจะต้องการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันขึ้นระหว่างกลุ่มมากกว่าที่จะให้แข่งรายตัว
ขนาดของกลุ่มจะมีผลกระทบต่อการแข่งหรือความร่วมมือ
ในกลุ่มใหญ่ การที่แต่ละคนจะคาดหวังเป้าหมายเดียวกันนั้นมีน้อยลง และทำนองเดียวกัน การติดต่อร่วมมือซึ่งกันและกันก็มีน้อยลงด้วย ดังนั้น จึงเป็นการง่ายที่จะกระตุ้นให้มีการแข่งกันรายตัวได้มากกว่าในกลุ่มย่อย
ขนาดของกลุ่มจะชี้ให้เห็นการทาบทามที่ดีที่สุดเพื่อจะยังประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นได้จากการแข่งกันโดยธรรมชาติ
ถ้ากลุ่มของคุณเล็กและผูกพันกันมาก คุณก็ควรจะดึงให้มีการแข่งโดยเสนอทั้งเป้าหมายส่วนตัวและส่วนรวม เป้าหมายของกลุ่มอย่างเดียวหรือการแข่งขันกันระหว่างกลุ่ม อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ต่างๆ กันออกไป ถ้าคุณมีกลุ่มทำงานขนาดใหญ่ที่ไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เหนียวแน่นในหมู่สมาชิก คุณก็อาจจะกระตุ้นด้วยการเสนอการแข่งขัน โดยเน้นไปที่การแข่งรายตัวและกลุ่ม หรือเพียงแข่งเฉพาะตัว อันนี้ก็ขึ้นกับสถานการณ์เหมือนกัน หรือพูดง่ายๆ ขึ้นก็คือ การรวมเป้าหมายสำหรับกลุ่มทำงานกลุ่มเล็กจะมีมากกว่า ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในทันใด ผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จใช้ทั้งเป้าหมายกลุ่มและรายตัวเพื่อให้ได้ทั้งปฏิกิริยาการร่วมมือและแข่งกันในกลุ่มของเขา
กระตุ้นการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้วยการแข่งขัน การสร้างสรรค์ใหม่นั้นกระตุ้นขึ้นในกลุ่มทำงานโดยการ
- มีแผนการหรือวิธีที่จะบันทึกความคิดใหม่ๆ อภิปราย ปรับปรุง และให้การสนับสนุน
- ให้รางวัลกับการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้วยการยกย่องหรือให้ประโยชน์ในรูปวัตถุ
โดยทั่วไป การจัดการแข่งขันเพื่อตัดสินการสร้างสรรค์ที่ดีที่สุด หรือความคิดใหม่ๆ จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ทั้งสองอย่าง รางวัลที่เสนอให้กับความคิดที่ดีเด่นอาจจะเป็นตัวเงินแต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป การยกย่องก็เป็นแรงดึงดูดสำคัญ และถ้าใช้ให้ถูกต้องก็จะลดหรือกระทั่งไม่จำเป็นที่จะต้องตอบแทนด้วยเงินหรือวัตถุอื่น กล่าวโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้แล้ว การให้เงินควรเสนอร่วมกับโอกาสการยกย่องที่ทรงคุณค่า เพราะเงินและการยกย่องสามารถกระตุ้นการสร้างสรรค์ได้ดียิ่งนัก
การแข่งระหว่างรายตัวและกลุ่มในทุกรูปแบบควรจะเป็นการก่อให้เกิดการกระทำในสิ่งที่ดีกว่า ดังนั้น แม้ในความรู้สึกนึกคิดทั่วๆ ไป กิจกรรมการแข่งขันก่อให้เกิดการประดิษฐ์ใหม่ๆ
ความเป็นไปได้ที่จะสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นโดย :-
1. รับฟังความคิดใหม่ๆ ซึ่งพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการแข่งขันกันอย่างยิ่ง
2. ให้การสนับสนุนเพื่อที่จะให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น
การใช้การแข่งขันในทางสร้างสรรค์
ในการที่จะก่อให้เกิดการแข่งขันที่ดี คุณจะต้องทำเป็นขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 ทบทวนวัตถุประสงค์ทั้งหมดที่คุณต้องการเพื่อที่จะให้ได้รับสิ่งที่จะสัมพันธ์กับกฎเกณฑ์ขององค์การ และระดับการทำงานของบุคคล
ขั้นที่ 2 ตัดสินใจในเรื่องทัศนคติของกลุ่มทำงานด้วยการทบทวนบุคคลแต่ละรายในเรื่องของความขัดแย้ง ความรู้ ทัศนคติ และระดับความเชี่ยวชาญของเขา
ขั้นที่ 3 และด้วยพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น ตัดสินเป้าหมายร่วมหรือรายบุคคลที่จะต้องใช้เพื่อที่จะให้ได้การแข่งขันหรือพฤติกรรมร่วมมือที่คุณต้องการ วางแผนด้วยว่า จะกระตุ้นและให้การสนับสนุนในการพัฒนาแต่ละรายในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันนั้น และต้องวางแผนด้วยว่าจะกระตุ้นและใช้ประโยชน์จากความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันด้วยการใช้วิธีการยอมรับในความคิดนั้น หรือให้การสนับสนุนด้วยตนเอง
ขั้นที่ 4 ทบทวนผลที่เกิดขึ้นจากการแนะให้เกิดเป้าหมายกลุ่มหรือรายบุคคลเพื่อให้ได้รับวัตถุประสงค์ทั้งหมด ปรับปรุงเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนความต้องการขององค์กร กฎระเบียบระดับบุคคลและระดับการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็น
การแข่งขันทั้งเฉพาะตัวและกลุ่ม ช่วยทำให้เกิดการพัฒนาบุคคลเท่าๆ กับที่พวกเขาเพิ่มเติมการแสดงออกที่ดีที่สุดของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การแข่งขันช่วยให้เกิดความคิดใหม่ๆ ซึ่งเมื่อได้รับการยกย่องและสนับสนุนแล้วล่ะก็ มีผลให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|