พระราชกำหนดใหม่ ถึงยุค “ลงแส้” สถาบันการเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อวัดดูความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จัดออกมารับมือสถานการณ์ระส่ำในแวดวงบริษัทการเงินประดามีตั้งแต่ขั้นเบาะๆ จนถึงขั้นเฉียบขาดที่สุด (ในขณะนี้) โดยออกเป็นพระราชกำหนดใหม่แล้ว คำว่า “ลงแส้” สถาบันการเงินย่อมก่อให้เกิดจินตภาพตรงตามความเป็นจริงไม่มีปัญหา

“ผมศึกษาอย่างละเอียดแล้ว คิดว่าหลายบริษัทคงทำตามยาก...” สุนทร อรุณานนท์ชัย แห่งสินเอเซียให้ความเห็น ส่วนสุพล วัฒนเวคิน กรรมการผู้จัดการคนหนุ่มของเกียรตินาคินก็ว่า “โหดไปหน่อย...”

แต่ในความเห็นของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ย่อมต้องบอกว่า “เป็นมาตรการที่จำเป็น...” ตามฟอร์ม

“แน่นอน เราเลือกที่จะอยู่ในระบบแข่งขันเสรี แต่ภายในระบบแข่งขันเสรีนี้ต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจน โดยเฉพาะบรรดาบริษัทการเงินทั้งหลาย เราถือว่าเป็นกิจการที่กระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยและความผาสุกของสาธารณชนย่อมจำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องเข้มงวดกวดขันมากกว่ากิจการหรือธุรกิจประเภทอื่นๆ...” ไพศาล กุมาล์ยวิสัย ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

และนั่นก็คงเป็นสภาพสะท้อนปฏิกิริยาทั้งเชิงบวกและลบที่เกิดขึ้นประปราย...ไม่หนักหน่วงรุนแรง...ภายหลังพระราชกำหนดถูกประกาศใช้ในวันที่ 16 ธันวาคม 2526 เป็นต้นมา ดูเหมือนไม่มีเวลาและเงื่อนไขให้ใครมานั่งร้องโอดโอยอีกต่อไป...มีแต่จะต้องปฏิบัติให้ได้ดีที่สุด มากที่สุด

พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว จากคำแถลงของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า มีสาระสำคัญดังนี้คือ

- เพิ่มโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต จากเดิมจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 แสนถึง 5 แสนบาท

- เพิ่มโทษสำหรับผู้บริหารสถาบันการเงินเพื่อให้มีบทกำหนดโทษที่ชัดเจน สำหรับกรณีผู้บริหารสถาบันการเงินที่กระทำความผิดที่ส่อในทางทุจริตหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่พึงกระทำ โดยการบัญญัติองค์ความผิดขึ้นใหม่ เช่น ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ความผิดฐานยักยอก ความผิดฐานเอาไปหรือกระทำให้เสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นที่บริษัทมีหน้าที่ดูแลรักษา ความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าหนี้ ความผิดฐานอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในสถาบันการเงินกระทำการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ความผิดฐานทำเอกสารหรือบัญชีเพื่อลวงบุคคลอื่น ตลอดจนความผิดสำหรับบุคคลใดๆ ที่มิใช่ผู้บริหารสถาบันการเงินแต่ใช้ให้ผู้บริหารสถาบันการเงินกระทำความผิดดังกล่าวมาข้างต้นทั้งหมด โทษสำหรับองค์ความผิดของผู้บริหารนี้กำหนดให้จำคุกตั้ง 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท

- เพิ่มมาตรการในการกำกับและตรวจสอบของทางการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินให้สูงขึ้น โดย :-

1. เพิ่มอำนาจในการกำหนดมาตรฐาน คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารสถาบันการเงิน

2. กำหนดห้ามสถาบันการเงินอาวัลหรือรับรองตั๋วเงินที่กรรมการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ออก

3. ให้อำนาจสั่งตัดหนี้สูญ หรือกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้ตรงตามฐานะเป็นจริง

4. กำหนดมาตรฐานทางบัญชี

5. กำหนดมาตรฐานการสอบบัญชี

6. ให้อำนาจที่จะสั่งให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

7. กำหนดอัตราส่วนการให้กู้แก่ลูกหนี้กับเงินกองทุนของลูกหนี้

8. ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกิจการของลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่เป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดได้

- เพิ่มเติมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงิน เช่น ให้อำนาจทางการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่แสดงถึงกิจการ ฐานะหรือการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่ใกล้จะมีปัญหาหรือกำลังมีปัญหา สั่งถอนผู้บริหารผู้เป็นต้นเหตุทำให้สถาบันการเงินได้รับความเสียหาย กำหนดห้ามบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่ขาดทุนจนเงินกองทุนลดลงเหลือ 3 ใน 4 ของทุนชำระแล้วรับเงินจากประชาชนอีกต่อไปและถ้าขาดทุนจนเงินกองทุนเหลือ 1 ใน 2 ของทุนชำระแล้ว ต้องระงับการดำเนินกิจการทันทีและต้องเสนอโครงการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานเพื่อขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป

- และสุดท้ายกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรองประธาน เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยตามกฎหมายการประกอบธุรกิจเงินทุนให้เป็นไปอย่างรัดกุมและทันต่อเหตุการณ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.