|

บทบาทที่กำลังเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการใหญ่
โดย
วิโรจน์ ภู่ตระกูล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2527)
กลับสู่หน้าหลัก
ตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการใหญ่” ในทางปฏิบัติเราเรียกกันหลายอย่าง เช่น ผู้อำนวยการใหญ่ ประธานกรรมการอำนวยการ ผู้จัดการใหญ่ และยังมีอีกมาก แต่ขอกล่าวรวมกันว่า เรากำลังพูดถึงผู้จัดการที่อยู่เหนือผู้จัดการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการบริษัทหรือไม่ก็ตาม หรือนัยหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดแทนคณะกรรมการซึ่งมิได้มาประชุมกันอยู่ทุกวัน
ฉะนั้นผู้มีหน้าที่ซึ่งจะกล่าวถึงนี้ก็คือ THE CHIEF EXECUTIVE OFFICER หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า CEO
มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า กฎหมายหุ้นส่วนของบริษัทของเรายังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้จัดการใหญ่
กฎหมายเพียงแต่กำหนดให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนจัดการตามข้อบังคับของบริษัท ส่วนข้อบังคับของบริษัทก็สุดแต่ว่าที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นจะกำหนดขึ้นโดยไม่ขัดกับกฎหมาย
อาจจะสรุปรวมความทางกฎหมายได้ว่า บริษัทจะเป็นผู้บัญญัติกฎขึ้นใช้เอง กรรมการผู้จัดการใหญ่หรือ CEO จะมีบทบาทอย่างไรหรือมีอำนาจหน้าที่แค่ไหนก็ให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทว่าด้วยการนั้น
กฎหมายหุ้นส่วนบริษัทเพียงกำหนดไว้แค่ว่า “กรรมการจะต้องสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายประกอบด้วยความระมัดระวัง”
เมื่อ 20 ปีก่อน การบริหารธุรกิจแบบ “เถ้าแก่จัดการ” เป็นรูปแบบหลัก
ตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็คือตัวเถ้าแก่
เถ้าแก่ตั้งเป้าหมายเอง วางนโยบายเอง และลงมือทำงานเอง โดยอาศัยปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม
ผลงานเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องรายงานคณะกรรมการที่ไหนนอกจากตัวเถ้าแก่เอง
BOARD OF DIRECTIOR ในอดีตถ้ามีก็เป็นเพียงตรายาง เพราะส่วนมากถ้าไม่เป็นเครือญาติก็มักจะเป็นเพื่อนฝูงของเถ้าแก่
แต่ปัจจุบันนี้ แม้ว่าการทำงานแบบ “เถ้าแก่จัดการ” จะยังคงมีอยู่ หากก็ได้เกิดการบริหารงานโดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น ทั้งยังมีการพัฒนาบทบาทของคณะกรรมการบริษัทให้มีมากขึ้นตามไปด้วย สิ่งนี้ทำให้กรรมการของบริษัทมีฐานะเป็นนักบริหาร ยังผลให้เกิดการบริหารงานที่เป็นไปตามรูปแบบ “พีระมิดขององค์กร” (PYRAMID OF ORGANIZATION)
คณะกรรมการจึงมีบทบาทและหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นของบริษัท เป็นผู้กำหนดเป้าหมายและวางแผนนโยบายอันแน่นอนเพื่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่นำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์สืบไป
ตัวอย่างที่กรรมการของบริษัทเป็นนักบริหารของบริษัทด้วยก็เห็นจะได้แก่ที่บริษัทของผมเองแห่งหนึ่ง
ในระบบการบริหารของบริษัทลีเวอร์บราเธอร์ฯ คณะกรรมการกับผู้บริหารคือบุคคลคณะเดียวกัน
กรรมการบริษัทจึงมาทำงานทุกวัน และมีความเข้าใจในนโยบายเป็นอย่างดีเนื่องจากวางเองกับมือ
อีกทั้งยังเข้าใจความตื้นลึกหนาบางของนโยบายและปัญหา บทบาทของคณะกรรมการในรูปแบบนี้จึงทำให้องค์กรสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วและสอดคล้องกับสถานการณ์อย่างดียิ่ง
แต่ในขณะเดียวกัน บทบาทของกรรมการในรูปแบบนี้ก็มีจุดอ่อนอยู่บ้าง
การที่กรรมการกับผู้บริหารเป็นคนคนเดียวกันนั้น ทำให้กรรมการบริหารต้องหมกมุ่นอยู่กับปัญหาของงานประจำวันอย่างมาก ซึ่งไม่เอื้ออำนวยให้ก่อเกิดความคิดเกี่ยวกับกลยุทธ์ใหม่ๆ ในอันที่จะสามารถนำหรือชักจูงบริษัทให้ขยายตัวเข้าไปในธุรกิจใหม่ๆ ได้ ดังคำที่เขาว่า “คนเรานั้นมักจะมองไม่เห็นจุดอ่อนของตนเอง จึงต้องมีคนนอกมาช่วยชี้แนะหรือเป็นกระจกเงาให้”
ดังนั้น จึงมีการพัฒนาบทบาทของคณะกรรมการไปในอีกรูปโฉมหนึ่งคือ ให้มีกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารงานประจำอยู่ในคณะกรรมการครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งจะเชิญคนนอกผู้มีความสามารถและไม่จำเจอยู่กับงานบริหารทุกวันมาเป็นกรรมการ เท่ากับเป็นอีกแรงหนึ่งซึ่งจะช่วยให้คณะกรรมการโดยส่วนรวมสามารถมองการณ์ข้างหน้าได้อย่างกว้างไกลลึกซึ้งมากขึ้น
ตัวอย่างของคณะกรรมการในรูปแบบนี้ได้แก่ คณะกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น ฯลฯ
ในทุกวันนี้มีคนพูดกันมากว่า บทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สำหรับทัศนะผม…บทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่จริงไม่ได้เปลี่ยนไป หากแต่มันมีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทุกวันนี้ ทำให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ต้องทำงานหนักขึ้นและรอบคอบมากขึ้นเพื่อความอยู่รอดและเพื่อความมั่นคงก้าวหน้าของบริษัท
วัตถุประสงค์เพื่อความอยู่รอดนี่เอง เป็นต้นเหตุของบทบาทและหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่จะต้องบริหารงานด้วยความระมัดระวัง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงนานาประการที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อกิจการของบริษัท
ผู้กุมชะตาของบริษัทหรือขอเรียกว่า STAKEHOLDER ก็มีมากมายหลายจำพวก แต่ที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาล ในฐานะที่เป็น STAKEHOLDER รายใหญ่ที่สุด
ธุรกิจจะตั้งขึ้นได้ก็เพราะรัฐบาลอนุญาตให้ตั้งขึ้น รัฐบาลมีอำนาจออกกฎหมายยึดกิจการของบริษัทหรือล้มเลิกบริษัท หรือจะเข้าดำเนินการเสียเองก็ยังทำได้โดยการออกกฎหมาย
การเปลี่ยนแปลงจึงมีหลายรูปหลายแบบ กรรมการผู้จัดการใหญ่มีหน้าที่ติดตามดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของ STAKEHOLDER อยู่นอกเหนืออำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่จะต่อสู้ต้านทานก็จริง
แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือ ใช้ความระมัดระวังปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานมิให้เสียหาย หรือถ้าจะต้องเสียหายก็ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
อย่างไรก็ดี ผมมีบทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่จากตำรามาเล่าสู่กันฟังพอเป็นสังเขปว่ากรรมการผู้จัดการใหญ่จะต้องรับผิดชอบต่อผลงานของนโยบายที่ได้รับมอบหมายมาให้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร โดยไม่มีข้อแก้ตัวทั้งสิ้น
ตำราได้ระบุไว้ให้กรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบชิ้นนี้ โดยที่บทบาทพอจะแยกแยะเป็น 8 ประการด้วยกันคือ
1. กรรมการผู้จัดการใหญ่ในฐานะที่เป็นนักบริหารที่มีสายตากว้างไกล
สามารถมองการณ์ข้างหน้าได้อย่างแจ่มชัด ถูกต้องแม่นยำ ในกรณีนี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ต้องมองบทบาทของบริษัทภายในอุตสาหกรรม มองบทบาทของอุตสาหกรรมภายในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และมองบทบาทของอุตสาหกรรมภายในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในโลกการค้าทั่วๆ ไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต
มองกันเผินๆ บทบาทนี้อาจไม่สำคัญมาก แต่ผมขอเน้นว่า ถ้าองค์กรไหนมีสินค้าที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ บทบาทของสินค้าในสังคมในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร? สถานะของสินค้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร? เช่น ผู้ผลิตผงชูรสซึ่งโรงงานผลิตอยู่ในประเทศไทย ถูกโจมตีอยู่เนืองๆ ว่ามีอันตรายต่อผู้บริโภค อนาคตจะเป็นอย่างไร? หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือผู้ผลิต STPP หรือ SODIUM TRI–POLY PHOSPHATE ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญตัวหนึ่งในการผลิตผงซักฟอก แต่ในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น และประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงอีกหลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามใช้แล้ว โดยให้ใช้สารตัวอื่นที่จะไม่ทำให้เกิดมลภาวะแทน
2. บทบาทในฐานะ “กุนซือ” ผู้วางกลยุทธ์และนโยบาย
กรรมการผู้จัดการใหญ่จะต้อง:-
- ประเมินโอกาสและปัจจัยที่จะนำความสำเร็จมาสู่อุตสาหกรรม
- ประเมินถึงทรัพยากรที่มีอยู่ภายในบริษัท
- พยายามผสมผสานโอกาสและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- สร้างหรือบัญญัติยุทธการให้บริษัท
- ทำแผนปฏิบัติ (ACTION PLAN)
3. บทบาทในฐานะที่เป็น “สถาปนิกของโครงสร้างและระบบ”
กรรมการผู้จัดการใหญ่มีบทบาทโดยเฉพาะที่จะพัฒนาโครงสร้างและระบบเพื่อให้สอดคล้องต่อวัตถุประสงค์และระบบที่ตั้งไว้ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยพัฒนาระบบที่มีอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อประกันผลงานของนโยบายที่ตั้งไว้ ซึ่งถ้าองค์กรหรือระบบไม่เอื้ออำนวยต่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แล้ว แน่นอนที่สุดว่าเราจะไม่มีทางได้ผลงานที่ดี
4. บทบาทในฐานะของนักจัดสรรและควบคุมทรัพยากร
กรรมการผู้จัดการใหญ่ในองค์กรของภาคเอกชนซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูงมากๆ จะต้องเป็นบุคคลเดียวที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น เพื่อที่จะตัดสินใจได้ว่าลำดับความสำเร็จของโครงการใหม่ๆ ที่จะทำมีอะไรบ้าง เพราะทรัพย์สินและเงินทุนมีจำกัด จะทำทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมๆ กัน ย่อมไม่ได้ ดังนั้นกรรมการผู้จัดการใหญ่จะต้อง:-
- ลำดับความสำคัญของโครงการที่จะทำก่อนหลัง
- ตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนในทรัพย์สินที่มีอยู่
- ประเมินการขยายตัวของกิจการ
- ควบคุมต้นทุนของกิจการ
- จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในบริษัทให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของงานที่วางไว้
5. บทบาทในฐานะของผู้นำ
กรรมการผู้จัดการใหญ่มีหน้าที่จะต้องสร้างทีมงาน สร้าง “COMMITMENT” ของทีมงานที่จะก้าวไปข้างหน้า ประเมินผลงานของลูกน้องตลอดจนมอบหมายให้ผู้อื่นทำ ซึ่งบทบาทในข้อนี้จะกล่าวเพิ่มเติมในภายหลัง
6. บทบาทในฐานะผู้สร้างแรงจูงใจ
กรรมการผู้จัดการใหญ่มีหน้าที่ต้องสร้างทรัพยากรคน จึงจำเป็นต้องมีการสร้างระบบตอบแทนให้กับพนักงาน ลูกค้า และ SUPPLIER เพื่อให้ทุกอย่างลงตัวและสอดคล้องกับยุทธการที่ตั้งไว้ การใช้คนโดยไม่มีระบบตอบแทนที่สมควรและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของตลาดเป็นเรื่องฝันเฟื่องและทำให้ไม่มีผลงานที่ดี เช่นระบบข้าราชการของไทยในปัจจุบัน
7. บทบาทในฐานะโฆษกเพื่อสร้างสัมพันธภาพภายนอกองค์กร
การเป็นโฆษกของบริษัทเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกทั้งมวล กรรมการผู้จัดการใหญ่จึงต้องเป็นโฆษกขององค์กรในการติดต่อกับภาครัฐบาล สังคม ธนาคารและกลุ่มพ่อค้าต่างๆ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้ทราบถึงบทบาทที่ถูกต้องขององค์กรที่มีต่อสังคม
8. บทบาทในฐานะ “ผู้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลง”
ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นในองค์กร กรรมการผู้จัดการใหญ่จะต้องเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เป็นไปอย่างราบรื่น หรือยั้งไว้ไม่ให้เกิดขึ้นเลย ในกรณีนี้กรรมการผู้จัดการใหญ่จะมีบทบาทเป็นสถาปนิกของการเปลี่ยนแปลงในบริษัทซึ่งจะต้องเป็นผู้กำหนดแนวทาง กำหนดยุทธการและกำหนดนโยบาย เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีบทบาทที่สำคัญมากที่จะต้องเอาชนะการต่อต้านในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
เท่าที่กล่าวมานี้เป็นบทบาทของผู้จัดการใหญ่ตามตำรา แต่ในทางปฏิบัติจริงสำหรับบ้านเรา จำเป็นต้องนำหลักการเหล่านี้มาประยุกต์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจแบบไทยๆ ซึ่งผมขอกล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ได้จากประสบการณ์ในการทำงานของตัวเองคือ
1. บทบาทในฐานะที่เป็นผู้นำ (LEADERSHIP ROLE)
ในฐานะที่กรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้นำของบริษัท จึงมีบทบาทโดยตรงในการชี้แจงแนวทาง (GUIDANCE) นโยบาย (POLICY) กลยุทธ์ (STRATEGY) และการปฏิบัติ (IMPLRMENTATION) ให้แก่คณะกรรมการ พนักงานบริหารของบริษัท พนักงานทั่วไปของบริษัท ตามลำดับการบริหารขององค์กร
กรรมการผู้จัดการใหญ่มีภารกิจโดยตรงที่จะสาธิตการเป็นผู้นำเพื่อเป็นตัวอย่างแก่พนักงานในบริษัทที่ทำงานอยู่ ซึ่งลักษณะของผู้นำมีหลายรูปแบบ ผู้นำบางคนก็ใช้ทั้งพระเดชพระคุณ บางคนก็ชอบเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่บางคนชอบเผด็จการ กล่าวได้ว่ามีการเป็นผู้นำในลีลาที่ต่างๆ กันออกไป ซึ่งอาจจะสรุปได้กว้างๆ ดังนี้
- FREE FOR ALL LEADERSHIP
ผู้นำแบบ FREE FOR ALL ค่อนข้างจะปล่อยลูกน้องให้ทำงานกันเอง โดยให้ข้อมูลวัตถุดิบแล้วจะปล่อยให้พนักงานตัดสินใจกันเอง โดยจะทำเพียงควบคุมหรือจำกัดเพียงเล็กน้อย
วิธีนี้เราไม่ค่อยนิยมกันเพราะทำให้เกิดเรื่องยุ่งๆ เสมอๆ
- AUTOCRATIC หรือ DICTATIORSHIP LEADERSHIP
ผู้นำที่ชอบเผด็จการจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ตัดสินใจ และทำการรับผิดชอบทั้งหมดอย่างเต็มที่ในทุกรูปแบบ ผู้นำประเภทนี้ต้องการให้ลูกน้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น และจะคอยควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานอย่างใกล้ชิด
- PARTICIPATIVE LEADERSHIP
ผู้นำที่เป็นประชาธิปไตยจะคอยยุยงส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมายและวิธีการปฏิบัติตลอดจนการให้ความเห็นและข้อแนะนำ ผู้นำประเภทนี้จะไม่จู้จี้หรือให้คำแนะนำโดยละเอียดหรือคอยจับผิดลูกน้อง แต่จะให้ความเชื่อใจในความคิดและการตัดสินใจของพนักงาน ให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่
- COMBINATION OF TYPE OF LEADERSHIP
ผู้นำประเภทนี้จะใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ คือมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติต่อพนักงานแล้วแต่ประสบการณ์ ในบางกรณีอาจจะต้องเผด็จการกันบ้างเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด บางกรณีอาจจะใช้วิธีประชาธิปไตยให้พนักงานได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะหรือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์นั้นๆ
2. บทบาทในการสร้างสรรค์ (INNOVATIVE ROLE
กิจการของเรา องค์กรของเราในภาคเอกชน ส่วนใหญ่จะจำเจอยู่กับการทำของเก่าขายแล้วขายอีก ให้บริการซ้ำแล้วซ้ำอีก มัวแต่ขายของเก่ากันกิจการจึงไม่ค่อยเจริญ อย่างที่ว่ากันว่า “กำไรที่แท้จริงเท่านั้นที่เป็นกำไรจากการสร้างสรรค์ นอกนั้นเป็นกำไรเก่าของปีก่อนที่ส่งผลมาถึงปีนี้”
ถ้าเราต้องการขยายกิจการหรือขยายฐานปฏิบัติการ เราจำเป็นต้องมี INNOVATIVE ความคิดในการสร้างสรรค์ ซึ่งการจะยุยงส่งเสริมให้ก่อเกิดการสร้างสรรค์ขึ้นภายในองค์กรเป็นสิ่งที่ทำยากมาก มันยากที่ว่า “เมื่อไรที่เราควรจะสรรค์สร้างให้มีการสร้างสรรค์มากขึ้นภายในบริษัท” สำหรับความเห็นของผม สิ่งแรกที่เราควรทำคือ การสร้างบรรยากาศภายในองค์กรเพื่อเสริมสร้างการสร้างสรรค์ ในประเด็นนี้อยากจะยกปัจจัย 3–4 อย่างเข้ามาอ้างอิงถึงบทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่ในการสร้าง INNOVATIVE ATMOSPHERE
- กรรมการผู้จัดการใหญ่ต้องเป็นผู้ “นำ” เป็นผู้ “มีส่วนร่วม” และ “สร้างสรรค์” สิ่งใหม่ๆ ในบริษัท
- ต้องมีสัมผัสที่ 6 ที่จะเห็นการณ์ไกลในความสำเร็จของการสร้างสรรค์และให้การสนับสนุนต่อพนักงานในความพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่
- ต้องเป็นบุคคลที่สามารถทำการตัดสินใจได้โดยเด็ดขาดในอันที่จะหนุนหรือดับความคิดริเริ่มเสียตั้งแต่ต้น
- จากประสบการณ์ของผม ความคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จได้จาก UNSTRUCTURED APPROACH อย่างเช่น ความคิดเรื่องยาสีฟันใกล้ชิดชนิดบรรจุซอง
- ต้องให้รางวัลเจ้าของความคิดสร้างสรรค์ทันทีจากผลงานที่เขาทำ
ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะขยายขอบเขตการปฏิบัติของบริษัทและเป็นปัจจัยเดียวเท่านั้นที่จะเพิ่มผลสำเร็จ คือเรียกได้ว่าเป็น QUANTUM JUMP IN SUCCESS ทีเดียว
3. บทบาทในการตัดสินใจ (DECISONAL ROLE)
หลายท่านคงเคยได้ยินว่า บนโต๊ะทำงานของประธานาธิบดีทรูแมน คือจะต้องเป็นข้อความว่า “THE BUCK STOP HERE” หรือ “ลูกที่รับมานั้นโยนต่อไปไม่ได้แล้ว”
กรรมการผู้จัดการใหญ่ก็คงจะอยู่ในฐานะเดียวกันกับประธานาธิบดีทรูแมน คือจะต้องเป็นผู้ตัดสินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทุกๆ ปัญหาที่ประดังเข้ามา และจะต้องตัดสินใจให้ถูกต้องทันท่วงทีจึงอาจกล่าวได้ว่าบทบาทในการตัดสินใจเป็นบทบาทที่สำคัญที่สุดของกรรมการผู้จัดการใหญ่ การวินิจฉัยความสำคัญและผลงานอาจะวัดได้จากการตัดสินใจที่ถูกต้อง กรรมการผู้จัดการใหญ่คือบุคคลสำคัญในการตัดสินใจการทำการใดๆ ในนามบริษัทด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ
- เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางการบริหาร และเป็นบุคคลเดียวที่จะกำหนดแนวทางปฏิบัติที่จะมีผลต่อบริษัท
- เป็นศูนย์รวมประสาท (NERVE CENTER) ที่จะเป็นหลักประกันได้ว่า การตัดสินใจที่ได้กระทำลงไปนั้นเป็นผลสะท้อนของความรอบรู้ในสถานการณ์ที่ทันกาลและสอดคล้องกับค่านิยมของบริษัท
- เป็นสื่อกลางที่สามารถควบคุมให้การปฏิบัติตามการตัดสินใจเป็นไปโดยง่าย
บทบาทในการตัดสินใจของกรรมการผู้จัดการใหญ่นี้ มิใช่ว่ารอให้เกิดปัญหาแล้วจึงตัดสินใจ (REACT) เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กรรมการผู้จัดการใหญ่ต้องสวมวิญญาณผู้ประกอบการ (ENTERPRENEUR) ซึ่งจะต้องเป็นทั้งผู้ริเริ่ม (INITIATOR) แลผู้วางแบบแผน (DESIGNER) ที่จะสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร
4. บทบาทในการสื่อข้อความและข้อมูล (INFOFMATION ROLE)
กิจกรรมของกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบทบาทนี้เกี่ยวข้องกับการรับและส่งข้อความต่างๆ สาระสำคัญของข่าวสารส่วนใหญ่เป็นการตัดต่อด้วยวาจาเวลาพบปะกัน กรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นศูนย์กลางของข่าวสารและข้อมูล เสมือนเป็น NERVE CENTER ของบริษัท นักบริหารต้องอาศัยข่าวสารและข้อมูลเพื่อทราบถึงความไม่เป็นปกติของกิจการส่วนใดส่วนหนึ่งเฉพาะส่วนที่จะก่อให้เกิดความเสียหายในกาลข้างหน้า โดยที่ข่าวที่ได้รับนี้จะมีทั้งข่าวจริงและข่าวลือปะปนกันไป
5. บทบาทในการติดต่อกับบุคคลอื่นๆ (INTERPERSONAL ROLE)
กรรมการผู้จัดการใหญ่มีหน้าที่ต้องพบปะเจรจากับผู้อื่นที่เป็นหัวหน้าในนามของบริษัทหรือเราเรียกกันว่า FIGURE HEAD กรรมการผู้จัดการใหญ่จึงเป็นเสมือน “IMAGE BUILDER” ที่มีผลต่อภาพพจน์ของบริษัทในสังคม ซึ่งถ้ามองโดยผิวเผินไม่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความจริงสำคัญสำหรับผู้เกี่ยวข้อง เพราะกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็คือ “หัวโขน” ประจำบริษัท ด้วยเหตุผลที่ว่าบริษัทจำเป็นต้องสร้างภาพพจน์ต่อบุคคลภายนอกด้วย ดังนั้นกรรมการผู้จัดการใหญ่จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่บริษัท
การเป็นประธานาธิบดีก็ดี การเป็นประธานเปิดโรงงานใหญ่ในนามบริษัทก็ดี รวมถึงการพูดอย่างเช่นที่ผมต้องพูดครั้งนี้ก็คงเป็นเพราะผมเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ การที่ผมพูดดีหรือไม่ดีเป็นการสร้างภาพพจน์ของบริษัท ซึ่งภาพพจน์ที่ดีของกรรมการผู้จัดการใหญ่จะส่งผลถึงภาพพจน์ที่ดีของบริษัทในสังคม
นอกจากนี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ก็ควรจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองไว้ด้วย เพราะนักการเมืองก็มีอิทธิพลและอำนาจที่จะขีดชะตาของบริษัทได้มากเช่นกัน ถ้านักการเมืองเกิดเข้าใจผิดถึงบทบาทของบริษัท โดยที่ไม่ได้รู้จักหรือติดต่อกันดีพอที่จะตรวจสอบข้อมูลกันว่าจริงเท็จเป็นอย่างไรก็อาจจะออกกฎหมายที่ขัดต่อผลประโยชน์ของกิจการได้
ในทัศนะผม…บทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่สิ่งแวดล้อมต่างหากที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา บทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็ยังเป็นเสมือน “วาทยกร” (CONDUCTOR) ของวงมโหรีวงใหญ่ (ORCHESTRA) ซึ่งมีหน้าที่อำนวยเพลงไปตามทำนองของผู้ประพันธ์ (COMPOSER) และผู้ประพันธ์ก็คงเปรียบได้กับคณะกรรมการของบริษัทที่มีหน้าที่ในการกำหนดเป้าหมายและนโยบายเพื่อเป็นแนวทางให้กับองค์กรในอนาคต
วาทยกรจึงเป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างผู้ประพันธ์เพลงกับนักดนตรีทั้งหลายซึ่งมีความสามารถและหน้าที่ต่างๆ กันไป การบรรเลงเพลงว่าแต่งเพลงได้เก่งหรือไม่ ตัววาทยกรอำนวยเพลงได้ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์หรือเปล่า และนักดนตรีมีความสามารถแค่ไหน สามารถเล่นร่วมกันภายใต้การนำของวาทยกรได้ดีเพียงใด
ผู้ฟังซึ่งอุตส่าห์เสียเงินเข้ามาฟังจะเป็นผู้ตัดสินว่า CONCERT ครั้งนี้คุ้มค่าเงินหรือไม่ ถ้าบรรเลงเพลงได้น่าฟังหรือไพเราะ บรรดาแฟนเพลงก็คงจะกลับมาฟังกันอีก แต่ถ้าไม่ไพเราะไม่ว่าจะเป็นเพราะประพันธ์เพลงได้ไม่ดี หรืออำนวยเพลงไม่ดี หรือเล่นดนตรีมือไม่ถึงขั้น มโหรีวงนี้ก็จะไม่มีคนสนใจมาฟัง
ก็คงต้องล้มวงไปเช่นเดียวกับบริษัทที่ต้องปิดกิจการนั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|