ทำไมถึงต้องมี “ผู้จัดการแห่งปี” ถึงหลายคน ?


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีคนเชื่อว่าคนที่เป็น “ผู้จัดการ” แห่งหนึ่งจะไม่ต่างกับ “ผู้จัดการ” อีกแห่งหนึ่งเท่าใดนัก?

อาจจะเป็นเพราะใน CONCEPT ของ “ผู้จัดการ” นั้นทุกคนจะต้องมีบุคลิก “ผู้นำ”

และ “ผู้จัดการ” ที่ดีก็ต้องมีคุณสมบัติหลายประการ เช่น:-

1. ต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์

2. ต้องเป็นคนที่มีสายตากว้างไกล

3. ต้องเป็นผู้ที่สามารถจูงใจคนได้ดี

4. ต้องเป็นผู้ที่วงกลยุทธ์และนโยบาย

ฯลฯ

เมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้วมีนักวิจัยชื่อ STOGDILL ได้วิจัยว่าคนที่เป็น “ผู้จัดการ” ที่ดีได้นั้นจะต้องมีลักษณะผู้นำมาตั้งแต่ต้น ซึ่งคนพวกนี้จะดูได้ไม่ยากและมักจะมีอะไรแตกต่างกว่าคนอื่นเหมือนที่ว่า “เป็นมังกรในหมู่มวลมนุษย์” ทฤษฎีสมัยนั้นเรียกว่า “TRAIT THEORY” หรือ “ทฤษฎีลักษณะ”

แต่ “ทฤษฎีลักษณะ” (TRAIT THEORY) นั้นก็ไม่สามารถจะให้คำตอบได้ว่า “ผู้จัดการ” คนนี้มีประสิทธิภาพหรือเปล่า?

เพราะคนบางคนอาจจะมีลักษณะผู้นำแต่ผลงานอาจจะไม่ได้สะท้อนถึงความเป็น “ผู้จัดการ” เลย

นอกจากนั้นแล้ว “ทฤษฎีลักษณะ” ยังไม่สามารถจะทำให้เราเข้าใจว่า “ผู้จัดการ” ที่ได้ผลในองค์กรหนึ่งนั้นควรจะเป็นคนประเภทใด?

ซึ่งก็มาถึงจุดที่เริ่มมีคนมองว่ามันจะมอง “ผู้จัดการ” ที่พฤติกรรมของเขาหรือที่เรียกว่า “ทฤษฎีพฤติกรรม” (BEHAVIOR THEORY)

เมื่อประมาณ 45 ปีมาแล้ว มหาวิทยาลัยไอโอวา (UNIVERSITY OF IOWA) มีนักวิจัย 3 คน ชื่อ นายเลวิน (LEWIN) นายลิพพิท (LIPPITT) และนายไวท์ (WHITE) ได้วิจัยพฤิตกรรมของ “ผู้จัดการ“ แล้วแตกแขนง “ผู้จัดการ” ออกมาเป็น 3 ประเภท คือ

1. แบบเผด็จการ (AUTHORITARIAN) “ผู้จัดการ” แบบนี้คือแบบสั่งลงมาลูกเดียว

2. แบบประชาธิปไตย (DEMOCRATIC) ชอบปรึกษาหารือและร่วมรับผิดชอบกันกับลูกน้องตลอดจนร่วมกันตัดสินใจ

3. แบบตามบุญตามกรรม (LAISSEZ-FAIRE) แบบนี้อาจจะเรียกว่าแบบไม่รู้ไม่ชี้ก็ได้คือปล่อยให้ลูกน้องทำกันตามใจโดยไม่มีแนวทางจากข้างบนเลย

ในทำนองเดียวกันได้มีการวิจัยศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้นำโดยทีมงานของมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ (OHIO STATE UNIVERSITY) ซึ่งก็พบว่าพฤติกรรมของ “ผู้จัดการ” นั้นน่าจะมีอยู่ 2 ประการคือ

1. ความเอาใจใส่สนใจ (CONSIDERATION)

ซึ่งผู้วิจัยหมายถึงการที่ “ผู้จัดการ” คนหนึ่งจะต้องสนใจในตัวผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ต้องมีมิติของความเป็นกันเอง การให้คำปรึกษาให้เครดิตลูกน้อง มีการสื่อสารที่ดีและเป็นตัวแทนต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของลูกน้อง

2. มีลักษณะของการริเริ่ม (INITIATING DTRUCTURE) การริเริ่มในที่นี้หมายถึงการที่ “ผู้จัดการ” จะต้องสามารถนำลูกน้องไปสู่เป้าหมาย ซึ่งรวมถึงการวางแผนการประสานงาน การหาวิถีทางให้ลูกน้องทำงานให้ได้ผลมากขึ้น ฯลฯ

ในขณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน (UNIVERSITY OF MICHIGAN) ก็ได้วิจัยว่า “ผู้จัดการ” ที่มีประสิทธิภาพน่าจะเป็นคนที่

1. เน้นไปทางพนักงาน (EMPLOYEE-ORIENTED) ซึ่งตรงกับการวิจัยของมหาวิยาลัยโอไฮโอในข้อ “ความเอาใจใส่” (CONSIDERATION)

2. เน้นไปทางการผลิต (PRODUCTION ORIENTED) ซึ่งก็คงคล้ายกับ “ลักษณะของการริเริ่ม” (INITATING STRUCTURE) เพราะ “ผู้จัดการ” ที่มี PRODUCTION ORIENTED ATTITUDE นั้นก็มักจะเป็นผู้ที่ชอบวางแผน ตั้งเป้าหมาย และทำให้ได้ตามเป้าหมาย

ความจริงในคำจำกัดความของ “ผู้จัดการ” นั้นมันก็น่าจะมีมากพอแล้วจากการวิเคราะห์วิจัยของบรรดานักวิชาการทั้งหลาย

แต่เผอิญในชีวิตของการเป็น “ผู้จัดการ” นั้นมันเหมือนละครชีวิตเหมือนกันที่นอกจากจะต้องสวมหัวใจหัวโขนเข้าไปแล้ว ยังจะต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ นานา ที่ไม่เหมือนกันและสถานการณ์เหล่านี้จะไม่คงที่นอกจากนี้ก็ยังจะมีตัวแปรอีกมากเข้ามาเกี่ยวข้อง

มันก็เลยมีทฤษฎี “ผู้จัดการ” ขึ้นมาอีกอันหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะทันสมัยมาก

ทฤษฎีนี้เรียกว่า “ทฤษฎีสุดแล้วแต่เหตุการณ์” (CONTINGENCY THEORY)

โดยสรุปแล้ว ทฤษฎีนี้บอกว่า “ผู้จัดการ” คนหนึ่งจะเก่งไม่เก่งนั้นย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของ “ผู้จัดการ” คนนั้นสภาพเหตุการณ์ในขณะนั้น

แปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือว่า “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ดีในสมัยที่ท่านมีอยู่ 18 เสียงแต่มาสมัยนี้ตัวท่านเองก็จะไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ดีในภาวการณ์เช่นนี้” หรือ

“ดร.อำนวย วีรวรรณ อาจจะเป็น “ผู้จัดการ” อยู่ธนาคารกรุงเทพในภาวการณ์เช่นนี้ได้ดีกว่าภาวการณ์อื่น”

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพฤติกรรมของ “ผู้จัดการ” เช่น ม.ร.ว.คึกทธิ์ ปราโมช และ ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองความต้องการขององค์กรนั้นๆ ได้ดีที่สุด ภายใต้สถานการณ์ที่องค์กรนั้นประสบอยู่

ก็คิดว่าได้ปูพื้นฐานมานานพอสมควรแล้วในเรื่อง “ผู้จัดการ” ซึ่งคิดว่าคงจะได้คำตอบกับท่านผู้อ่านได้ว่าทำไมเราถึงต้องมี “ผู้จัดการ” แห่งปีขึ้นมา 3 ท่าน

สำหรับปีนี้เราได้ตัดสินใจเลือก “ผู้จัดการ” แห่งปีขึ้นมา 3 ท่าน

วิธีการคัดเลือกนั้นเราใช้วิธีค่อนข้างเผด็จการอย่างมากๆ นั่นคือ เราใช้การวิเคราะห์สอบถามและดูผลงานด้วยพวกเราเอง โดยไม่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ นอกจากการไปพุดคุยและแอบสอบถาม

ทั้งนี้เพราะเราคิดว่าการเลือก “ผู้จัดการ” แห่งปีขึ้นมานั้นควรจะเลือกด้วยตัวเราเอง เพราะจะได้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว

เราไม่มีรางวัล ประกาศนียบัตร หรือโล่อะไรที่จะไปมอบให้บรรดา “ผู้จัดการ” แห่งปีทั้งหลายที่เราเลือก

เราเลือกเขาขึ้นมาเพราะในสายตาเราเขาเป็นบุคคลที่น่าได้รับเลือก

เมื่อเราคิดว่าเขาเหมาะที่สุดเรื่องก็น่าจะจบลงแล้ว

และเราไม่คิดว่าจะมีการเลี้ยงอะไรหรือมอบอะไรให้ทั้งสิ้นตามระเบียบหรือพิธีการที่ชอบทำกันในหลายสาขา และเห็นกันอยู่อย่างดาษดื่นจนน่ารำคาญ

หน้าที่ของเราในฐานะเป็นสื่อมวลชนซึ่งอยู่ในสายธุรกิจคือหน้าที่ของการรายงาน วิเคราะห์และวิจารณ์อย่างเป็นธรรม

และเราก็คิดว่าเราได้ทำหน้าที่สมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.