กรณี SAS–ทัศนียา ปริวุฒิพงศ์ บทเรียนทั้งเจ้านายกับลูกจ้างที่ต้องเรียนรู้ไปคนละแบบ


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

จากการติดตามความขัดแย้งทางแรงงานระหว่างทัศนียา ปริวุฒิพงศ์ กับบริษัทข้ามชาติเช่น SAS นั้นพอจะทำให้ “ผู้จัดการ” มีข้อคิดมาให้วิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปได้พอสมควร

ธรรมดาแล้ว LABOUR CONFLICT ในระดับ WHITE COLLAER อย่างกรณีเช่นนี้มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นและก็มีน้อยมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างลูกจ้างระดับบริหารคนไทยกับนายจ้างที่เป็นบริษัทฝรั่งข้ามชาติเช่น SAS

กรณีของ SAS จากคำพิพากษาทำให้เราพอจะวิเคราะห์ได้ว่า:-

1. ความมีมิจฉาฐิติและใช้อารมณ์โมโหและโทสะ

การที่ผู้จัดการต่างชาติคนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นผู้จัดการมืออาชีพ แต่ตัดสินใจโดยไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง หากแต่ตั้งมั่นในความมีอคติ ย่อมจะไม่เกิดผลดีกับองค์กรและพนักงานผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนเป็นผู้จัดการตัดสินใจอย่างมีโมหะจริตและโทสะจริต และการตัดสินใจนั้นไปกระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ยังเป็นการสร้างบาปขึ้นมาให้กับคนคนนั้นอย่างไม่จำเป็น

ผู้จัดการต่างชาติเป็นตัวแทนของบริษัทต่างชาติที่มาทำมาหากินในประเทศไทย ผิดถูกเช่นไรก็ต้องระลึกเสมอว่าบริษัทตัวเองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และจะต้องปฏิบัติตนอย่างยุติธรรมที่สุดกับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นก็จะถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบที่ผู้จัดการคนนั้นได้กระทำ

2. บทบาทของคนไทยที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของต่างชาติ

อาจจะเป็นเพราะโดยธรรมชาติแล้วคนไทยบางส่วนเมื่อเป็นขี้ข้าคนต่างชาติและถึงเวลาทำงานด้วยก็พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาเก้าอี้ตัวเองไว้มากกว่าการทำงานด้วยเหตุผลและบนพื้นฐานความถูกต้อง

ในกรณีของ SAS กับทัศนียานั้น เราพอจะมองเห็นสัจธรรมที่พูดไว้ในประโยคข้างต้นอย่างชัดเจน

จากคำพิพากษาของศาลก็สามารถจะเห็นได้ชัดว่า ผู้จัดการใหญ่ SAS สงสัยว่าทัศนียา ปริวุฒิพงศ์ จะเป็นคนเขียนใบปลิวโจมตีว่า ผู้จัดการใหญ่กับเลขามีความสัมพันธ์ที่พิสดาร

ตัวผู้จัดการคงจะไม่ต้องการเห็นหน้าทัศนียาในสำนักงาน SAS อีก แต่การจะไล่เธอออกนั้น จำเป็นต้องมีคำกล่าวหาถึงความไม่มีประสิทธิภาพของเธอจากเจ้านายโดยตรงของเธอซึ่งเป็นคนไทยคือ เปาวโรจน์ เปาวโรจน์กิจ ผู้จัดการฝ่ายตลาด

เอกสารที่นำสืบในศาลก็บ่งชัดเจนว่า เพียงเพื่อต้องการเอาใจนายฝรั่งเปาวโรจน์ก็ตกลงใจเขียนบันทึกในลักษณะที่กล่าวหาว่าทัศนียาเป็นคนไม่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นสาเหตุให้ผู้จัดการฝรั่งสามารถให้ซองขาวเธอได้

ตรงนี้แหละที่บทบาทของเปาวโรจน์ไม่ถูกต้อง!

ที่ถูกแล้ว เปาวโรจน์สมควรจะเป็นผู้เตือนสติผู้จัดการฝรั่งให้เห็นว่าสิ่งที่เขากำลังจะทำไปนั้นผิด

และเปาวโรจน์ในฐานะที่เป็นเจ้านายโดยตรงของทัศนียาก็สมควรที่จะเป็นผู้ปกป้องทัศนียา เพราะทัศนียาเพียงถูกสงสัยว่าเป็นผู้เขียนใบปลิวเท่านั้น หาได้มีหลักฐานอื่นมายืนยันไม่

แต่เปาวโรจน์กลับทำในสิ่งที่สวนทางกับความถูกต้องและมโนธรรม

ที่แน่ๆ เปาวโรจน์ก็ยังคงรักษาเก้าอี้ตัวเองเอาไว้ได้!

บทเรียนข้อนี้เป็นบทเรียนให้บรรดาลูกจ้างคนไทยที่ทำงานกับฝรั่งน่าจะสังวรไว้ว่า ไม่ว่าจะทำงานกับฝรั่ง เจ๊ก หรือแขกก็ตาม การทำงานนั้นถ้าทำงานโดยไม่ต้องหลบและอับอายใคร

ถ้าเปาวโรจน์ปกป้องทัศนียาและตัวเองต้องถูกไล่ออกด้วย อย่างน้อยเปาวโรจน์ก็จะมีเพื่อนและลูกน้องเช่นทัศนียาที่จะจงรักภักดีต่อเขาตลอดไป

มันก็ยังดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มิใช่หรือ?

3. เราน่าจะมีคนอย่างทัศนียามากขึ้น

ในสังคมของเลขานุการระดับสูง บางครั้งการได้ทำงานกับคนที่มีตำแหน่งใหญ่ หรือทำในองค์กรที่มหึมา กลับเป็นม่านบังตาให้คนพวกนี้ละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานและความถูกต้อง

มีอยู่มากที่กำลังกินน้ำใต้ศอกอยู่!

ไม่ว่าตัวเองจะได้รับความไม่ยุติธรรมอะไรก็จะเก็บกดเอาไว้ และคิดถึงศักดิ์ศรีและความเห็นแก่ได้ในระยะสั้น แทนที่จะนึกถึงและยึดถือหลักการที่ควรจะเป็น

ทัศนียาอาจจะโชคดีที่มีจิตใจกล้าต่อสู้โดยไม่เกรงในศักดิ์ศรีขององค์กรที่ตัวเองกำลังหาญเข้าไปห้ำหั่นด้วย

สมมุติถ้าเธอแพ้ขึ้นมา เราเชื่อว่าต้องมีคนอีกมากที่จะสมน้ำหน้าเธอ แล้วพูดว่า “หาเรื่องไปเอง”

แต่เผอิญเธอชนะ และก็ชนะอย่างขาวสะอาดด้วย!

ชัยชนะของเธอมันไม่สำคัญที่จำนวนเงินซึ่งเธอได้รับหรอก และมันสำคัญตรงที่องค์กรไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน แต่ถ้าขาดซึ่งความยุติธรรมแล้ว การที่คนตัวเล็กๆ จะทรงความยุติธรรมนั้น

ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้

แต่นั่นแหละ เหมือนกับที่เขาว่า “DON’T ROCK THE BOAT”

เพราะถึงทัศนียาจะชนะ แต่ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าบริษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะบรรดาบริษัทสายการบินทั้งหลายคงจะรู้จักชื่อเธอเป็นอย่างดี และคงจะจำเธอได้แม่นยำ

แปลไทยเป็นไทยว่า “เธอคงจะไปหางานทำอีกไม่ได้แล้ว เพราะเธอดันไป ROCK THE BOAT เข้า”

และนี่แหละคือความชั่วร้ายของวงการธุรกิจบ้านเรา!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.