|
"ทีโอที" ตัดเชือกอิมเมจิแมกซ์หันร่วมทุนไซเบอร์แพลนเน็ต
ผู้จัดการรายวัน(6 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีโอทีเมินอิมเมจิแมกซ์ หันหาไซเบอร์แพลนเน็ต คาดร่วมทุน 40% รุกเข้าสู่ธุรกิจมัลติมีเดียแอนิเมชันหวังเป็นฐานคอนเทนต์ต่อยอดบริการบรอดแบนด์ ด้านอิมเมจิแมกซ์ชี้คนที่สนใจลงทุนต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงธุรกิจแอนิเมชันและมองทะลุถึงเป้าหมายธุรกิจระยะยาว
นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวถึงแผนการลงทุนขยายธุรกิจด้านมัลติมีเดียแอนิเมั่นว่าเดิมทีโอทีมีแผนที่จะเข้าร่วมทุนกับ 3 บริษัทที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือกันตนา ซึ่งเป็นผู้ให้บริการธุรกิจบันเทิงครบวงจร, บริษัท อิมเมจิแมกซ์ และบริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ ผู้ผลิตเกมออนไลน์ เพื่อให้ได้คอนเทนต์ที่หลากหลายสำหรับการ ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์
แต่ปรากฏว่ากลุ่มกันตนาได้ชะลอแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เหลือเพียง 2 บริษัท ซึ่งไซเบอร์แพลนเน็ตจะมีความชัดเจนมากกว่าอิมเมจิแมกซ์ โดยที่ทีโอทีจะเข้าไปถือหุ้นประมาณ 40% นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติมกับบริษัทผลิตเกมออนไลน์ ชื่อดังจากเกาหลีอีกด้วย
ส่วนอิมเมจิแมกซ์นั้น ความล่าช้าในการพิจารณาเกิดจากบอร์ดทีโอทีต้องการจะใช้เงินลงทุนให้คุ้มค่ามากที่สุด ไม่ใช่นำเงินไปสร้าง สตูดิโอเพื่อถ่ายทำด้านแอนิเมชันตามแผนของอิมเมจิแมกซ์ที่วางไว้ ทำให้ทีโอทีต้องมีการทบทวนแผนที่จะเข้าร่วมลงทุนให้ชัดเจนอีกครั้ง
นายศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมเมจิแมกซ์กล่าวว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมทุนกับทีโอทีหรือไม่ เพราะทีโอทียังไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องนี้ทั้งๆ ที่มีการหารือกันมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งนอกจากทีโอทีแล้วก็ยังมีบริษัทอื่นที่สนใจจะเข้ามาร่วมทุนกับอิมเมจิแมกซ์รวมทั้งให้เงื่อนไขที่ดีกว่าด้วยซ้ำ
"บริษัทที่สนใจจะมาร่วมลงทุนจะต้องเข้าใจธุรกิจแอนิเมชัน และมองออกถึงเป้าหมายธุรกิจในระยะยาว"
เขากล่าวว่า ยังเปิดโอกาสให้ทีโอทีภายใต้เงื่อนไขที่การร่วมทุนนั้นจะต้องไม่มีข้อตกลงหรือสัญญาในรูปแบบที่ผูกมัดเกินไปและที่สำคัญต้องเข้าใจธุรกิจแอนิเมชันว่าจะดำเนินธุรกิจในลักษณะแบบใด ตอนนี้ทีโอทีอาจจะดูเหมือนว่าลงทุนแล้วไม่คุ้มค่า ซึ่งผิดกับบางรายที่สนใจจะเข้ามาร่วมทุนโดยเห็นมูลค่าของเม็ดเงินที่จะกลับเข้ามาในอนาคต
สำหรับไซเบอร์แพลนเน็ตนั้น ผู้บริหารให้ความเห็นเพียงว่าอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์หน้า จะเห็นภาพทุกอย่างลงตัวและสามารถให้รายละเอียดได้ โดยที่ไซเบอร์แพลนเน็ตเองก็มีการแตกไลน์ธุรกิจออกไปมาก นอกจากประสบการณ์ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ ซอฟต์แวร์เกมอย่าง Moontra, CEO City, มีอุลตร้าแมน ปังปอนด์ และอื่นๆ อีกมาก
ยังมีบริษัทลูกอย่างบริษัท อินฟอร์เมติกส์ พลัส ที่ทำธุรกิจด้านไอทีแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ 247 จะมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นร้านเน็ต แต่จะขยายคอนเซ็ปต์ของร้านให้เป็นสารนิเทศด้านไอทีที่มุ่งด้านการศึกษา ผนวกเข้าไว้ด้วย ด้วยแนวคิดของไซเบอร์แพลนเน็ตที่ต้องการขยายช่องทางขายให้มากขึ้นในลักษณะการมีเอาต์เลตของตัวเอง และเปิดให้ผู้อื่นเข้ามาร่วมเป็นแฟรนไชส์ โดยวางคอนเซ็ปต์ของธุรกิจใหม่ว่านอกจากเน้นเอนเตอร์เทนเมนต์แล้วต้องให้ความสำคัญด้านเอดดูเทนเมนต์หรือด้านการศึกษาด้วย
ธุรกิจแฟรนไชส์ 247 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้อีก 2 เดือนนับจากนี้ไป หรือประมาณกลางเดือนมิ.ย.-ก.ค. เป็นการให้บริการด้านไอทีเต็มรูปแบบทั้งอินเทอร์เน็ต เกม บริการดาวน์โหลดคอนเทนต์บนมือถือ จำหน่ายซอฟต์แวร์เกมและการศึกษาทั้งของไซเบอร์แพลนเน็ต เองและของค่ายอื่นๆ เปิดให้บริการ ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|