5อุตฯ สกัดเมติรุกFTA เสนอเจรจาเกษตรใหม่


ผู้จัดการรายวัน(6 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สภาหอฯจับมือ ส.อ.ท.ประกาศจุดยืนต่อการเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เปิดแนวรุกสกัดแผนญี่ปุ่น หวั่น "รัฐมนตรีเมติ" เข้าพบ "ทักษิณ" วันนี้ จะล็อบบี้ไทยหนักแล้วเสียทีเชิงเจรจา ย้ำรัฐควรฟังข้อมูลเอกชนก่อนจะเสียเปรียบ เผยรับไม่ได้สินค้าเกษตรญี่ปุ่นเปิดให้เล็กน้อยแต่จะแลกชิ้นปลามันอุตสาหกรรม วงในเผยจับตาเปลี่ยนหัวหน้าคณะเจรจาให้เข้าทางรัฐ ด้านหัวหน้าเจรจาฝ่ายไทยเห็นด้วยกับเอกชน ยันหากจะผ่าทางตัน ญี่ปุ่นต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่ "ทักษิณ" เสนอให้นายกฯญี่ปุ่นพิจารณาเท่านั้น

วานนี้ (5 พ.ค.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแถลงจุดยืนต่อการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเชิญ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เหล็ก เครื่องนุ่งห่ม เกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม ชี้แจงผ่านสื่อเพื่อส่งสัญญาณไปยังภาครัฐบาล ระหว่างวันที่ 6-7 พ.ค. นายโชอิจิ นาคากาวา รัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่นจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสำคัญๆ ของไทย

นายพรพินิจ พรประภา รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การมาเยือนของนายโชอิจิ ที่จะเข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายทนง พิทยะ รมว.พาณิชย์ เป็นต้น สภาหอฯและส.อ.ท.เกรงว่าจะมีการล็อบบี้กัน เอกชนจึงต้องแสดงจุดยืนอีกครั้ง เพื่อให้การเจรจาอยู่บนผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายไม่มีการเสียเปรียบและเอาเปรียบกัน

"เราเป็นห่วงว่าเขาจะเอาอะไรหวานๆ มาจิ้มคอผู้ใหญ่เรา และนำไปสู่การเสียเปรียบเขา จุดยืนก็คือ ถ้าเจรจาแล้วให้คืบจะเอาศอกก็เลิกคุย ญี่ปุ่นแกล้งโง่หรือฉลาดกันแน่ที่ลักไก่บอกว่าเจรจาเกษตรแล้วจะขออุตสาหกรรมเหล็ก ทั้งที่การเจรจาสินค้าเกษตรที่เขาใหญ่มันจบไปแล้ว ให้ลืมไปได้เลยเพราะรับไม่ได้ต้องนำกลับมาเจรจากันใหม่ในรอบที่ 8 อีกครั้ง และควรนำมาเจรจาบนโต๊ะอย่าใช้วิธีล็อบบี้แบบนี้" นาย พรพินิจกล่าว

นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เอกชนมิได้คัดค้านการทำ FTA แต่การเจรจาต้องตรงไปตรงมา และที่ผ่านมาการ เจรจาไม่ได้ระบุไว้เลยว่าจะมีการนำสินค้าเกษตรมาแลกอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาเอกชนได้พยายามป้อนข้อมูลให้ฝ่ายราชการไปเจรจาซึ่งต้องเข้าใจว่าฝ่ายเจรจาเองก็ไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกิจ เอกชนเป็นผู้ทำแต่การเจรจาไม่ได้เป็นหน้าที่ ผล จะออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับดังนั้นเอกชนจึงต้องพยายามป้อนข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่สามารถเข้าไปเจรจาโดยตรงเอง

จี้เจรจาสินค้าเกษตรใหม่หมด

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอฯ กล่าวว่า ในส่วนของสินค้าเกษตรที่ญี่ปุ่นเสนอให้ฝ่ายไทย เอกชนมีจุดยืนว่ารับไม่ได้ทั้งหมด เพราะญี่ปุ่นมีเงื่อนไขที่เหมือนจะเปิดเสรีแต่แท้จริงแล้วไม่ได้เปิดให้ จึงควรจะกลับมาเจรจากันใหม่ก่อน แล้วจึงค่อยไปคุยกันถึงการแลกกับเปิดเสรีอุตสาหกรรม

นางวรวรา อินทรประสิทธิ์ คณะกรรมการ FTA สภาหอฯ กล่าวว่า สินค้าประมงและประมงแปรรูป โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องไทยต้องการให้ญี่ปุ่นลดภาษี 0% ทันทีแต่ญี่ปุ่นกลับจะลดให้เหลือ 0% ใน 5 ปีข้างหน้า และยังกำหนดให้ประมงไทยต้องใช้แรงงานคนไทย 75% และกำหนดใช้วัตถุดิบในประเทศ 40% ซึ่งไทยต้องใช้วัตถุดิบนอกประเทศจำนวนมากจึงรับไม่ได้ ขณะที่ สินค้าอื่นๆ เช่น กุ้งสดแช่แข็ง ปลาหมึกกล้วย อาหารทะเลสำเร็จรูปไทยขอลดภาษีทันทีเหลือ 0% แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมเช่นกัน

"กลุ่มผักผลไม้โดยเฉพาะสับปะรด ญี่ปุ่นระบุว่าอีก 5 ปีค่อยมาคุยกันซึ่งก็ไม่เข้าใจเพราะญี่ปุ่นกำลังจะเลิกปลูกแล้วใน 3 ปีข้างหน้า" นางวรวรากล่าว

น้ำตาล-แป้งมันสำปะหลังร่วมโวย

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการสภาหอฯ ผู้บริหารกลุ่มน้ำตาลมิตรผล กล่าวว่า ต้องการให้ญี่ปุ่น ลดภาษี 0% ทันทีแต่ญี่ปุ่นกลับให้โควตา 4,000 ตัน ในปีที่ 3 และเพิ่ม 5,000 ตันในปีที่ 4 ถือเป็นการเลื่อนออกไปถึง 5 ปี และโครงสร้างนำเข้าน้ำตาลของญี่ปุ่นซับซ้อนโดยเฉพาะปกป้อง การผลิตน้ำตาลทรายขาวในประเทศจึงต้องการให้ลดภาษีทันทีเหมือนกับกรณีออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

นายสุนัย สถาพร คณะทำงาน FTA รายสินค้า สภาหอฯ กล่าวว่า แป้งมันสำปะหลังต้อง การให้ลดภาษี เหลือ 0% ใน 7 ปี แต่ญี่ปุ่นกลับกำหนดโควตาเช่นเดิม

ชิ้นส่วนฯชี้ไทยอาจขาดดุล 2 แสนล.

นายชวลิต จริยวัฒน์กุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ไทยจะลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนฯให้ญี่ปุ่นที่ปัจจุบันอยู่ที่ 30-80% ซึ่งปกติอัตรานี้ไทยก็ขาดดุลการค้าญี่ปุ่นในหมวดนี้ถึง 77,000 ล้านบาท หากลดภาษีฯจะยิ่งขาดดุลกว่าเท่าตัวซึ่งอาจสูงกว่า 200,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันจะทำลายผู้ผลิตชิ้นส่วนฯที่เป็นคนไทย 400-500 แห่ง มีผลต่อการจ้างงานไม่น้อยกว่า 300,000 คน ฯลฯ

นายสัญชัย งามพรสุขสวัสดิ์ นายกสมาคมอู่กลางประกันภัย สภาหอฯ กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ขอ ให้ไทยมีการยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นโดยให้ญี่ปุ่นถือได้ 100% เพื่อที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาตั้งอู่ซ่อมรถในไทยเองทั้งหมดซึ่งจะเป็นการทำลายอู่ซ่อมรถที่เป็นกิจการของคนไทย เหมือน กับกรณีค้าปลีกที่เป็นอยู่

เบนซ์อาจทบทวนลงทุนในไทย

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอฯกล่าวว่า ผู้ประกอบการรถยนต์ค่ายยุโรป ทั้งอังกฤษ อิตาลี เยอรมนี รวมถึงอเมริกาได้แจ้งผ่านสภาหอฯว่า หากไทยลดภาษีนำเข้ารถยนต์ให้กับญี่ปุ่นก็จะทำให้ค่ายรถยุโรปเสียเปรียบ ซึ่งล่าสุดทางเดมเลอร์ไครสเลอร์ ค่ายเบนซ์เองเตรียมที่จะตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมในไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า ก็ระบุว่าหากไทยลดภาษีให้ญี่ปุ่นจริงก็จำเป็นต้องทบทวนการลงทุนในไทยใหม่

นายสมพงษ์ เผอิญโชค ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ส.อ.ท.กล่าวว่า ไม่ต้องการให้ไทยลดภาษีนำเข้าโดยจะยอมลดหลังปี 2010 ไปแล้ว เช่นเดียวกับรถยนต์นั่งขนาดเกิน 3000 ซีซี เพราะจะทำให้รถขนาดดังกล่าวมาทดแทนรถที่มีขนาดต่ำกว่าซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม การบริโภค

เหล็กชงข้อมูลวันนี้

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า จะส่งข้อมูลให้กับหัวหน้าคณะเจรจาวันนี้โดยเสนอ 3 ข้อ 1. เหล็กพิกัด 7201-7207 ยินดีที่จะให้อากรขาเข้าลงเป็น 0% ทันที 2. เหล็กทุกประเภทคงภาษีขาเข้า 10 ปีทยอยลดให้เป็น 0% ใน 15 ปี และ 3. เหล็กที่ผลิตไม่ได้จะจัดให้เป็นโควตานำเข้าที่ลดลงทุกปี

เครื่องนุ่งห่มจี้ปรับแหล่งกำเนิด

นายสุชาติ จันทรานาคราช ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส.อ.ท.กล่าวว่า ต้องการให้ญี่ปุ่นกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าในการเปิดเสรีเครื่องนุ่งห่มเป็น Step เดียว คือ การแปรรูป สภาพจากวัตถุดิบผ้าผืนไปเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปแทนการกำหนด 2 Step ที่ระบุต้องมาจากด้ายไปผ้า และผ้าไปเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพราะส่วนหนึ่งไทยต้องนำเข้าผ้าผืนจากจีน ซึ่งหากตกลงได้เสื้อผ้าไทยจะขยายส่งออกไปญี่ปุ่น 4-5 เท่าตัวแต่หากไม่ยอมก็ไม่ควรจะทำข้อตกลง

วงในเผยวิ่งเต้นเปลี่ยนหัวหน้าเจรจา

แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้มีนักการเมืองรายหนึ่งต้องการปรับเปลี่ยนหัวหน้าคณะเจรจา FTA ไทย-ญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันคือ นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่เป็นผู้รับฟังข้อมูลจากเอกชนอย่างตรงไปตรงมา โดยพยายามจะปรับเปลี่ยนมาเป็น นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์แทน เพื่อตอบสนองนโยบายที่ต้องการปิดการเจรจา FTA ไทย-ญี่ปุ่นที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าควรจะเสร็จภายใน 3 เดือนหรือในก.ค.นี้ โดยเรื่องนี้เห็นว่ารัฐไม่ควรจะกำหนดกรอบการเจรจาทำให้ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องยอมเจรจาใดๆ ก็ได้เพราะท้ายที่สุดเมื่อถึงกำหนดไทยก็ต้องยอมตกลง

ยันกรอบเจรจารอบใหม่ทำตาม จม.ทักษิณ

ด้าน นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของเอกชนทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายเจรจาของไทยได้รับความร่วมมือจากเอกชนเป็นอย่างดี ทำให้ตระหนักถึงความเป็นห่วงของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่มาของการประชุมเพื่อหาข้อยุติจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. และหนังสือของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลงวันที่ 27 เม.ย. ที่มีไปถึงนายจุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นขอให้นายกฯ ญี่ปุ่น พิจารณาเลือกจาก 2 แนวทางเพื่อให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ ข้อเสนอของไทย คือ 1. หากฝ่ายญี่ปุ่น ยอมรับข้อเสนอที่ไทยให้ไว้ในการเจรจารอบที่ 7 ที่เขาใหญ่ ไทยก็ยินดี หรือ 2. หากฝ่ายญี่ปุ่น ยังยืนยันที่จะให้ไทยตอบสนองเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ไทยก็พร้อมที่จะเจรจาต่อในระดับหัวหน้าคณะและยินดีที่จะพิจารณาหาทางออกร่วมกับญี่ปุ่นในเรื่องเหล็ก แต่ญี่ปุ่นจะต้องยอมตอบสนองข้อเรียกร้องไทยที่ต้องเปิด เสรีสินค้าเกษตรมากกว่าที่ให้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องน้ำตาล รองเท้า สับปะรดกระป๋องและสินค้าประมง นอกจากนี้ การเจรจาเรื่องแหล่ง กำเนิดสินค้าจะต้องคืบหน้าโดยเร็วและไม่เป็นอุปสรรคต่อการที่สินค้าไทยจะเข้าไปขายในญี่ปุ่น และสุดท้าย ญี่ปุ่นจะต้องมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทย และการพัฒนาไทยไปสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียในแนวทางที่ฝ่ายไทยวางไว้

นายพิศาลกล่าวถึงข้ออ้างของฝ่ายญี่ปุ่นที่ระบุว่า การเจรจาสินค้าเกษตรได้จบลงไปแล้วจะไม่มีการเจรจาเพิ่มนั้นว่า เป็นความเข้าใจของ ญี่ปุ่นฝ่ายเดียว ซึ่งในการเจรจารอบเขาใหญ่ ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ทราบความต้องการว่า หากญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเปิดเสรีเหล็กตามที่เมติเสนอไทย ก็จะขอเจรจาเพิ่มในการเปิดสินค้าเกษตรซึ่งหนังสือของพ.ต.ท.ทักษิณ และแนวทางที่นายสมคิดได้ให้ไว้กับคณะเจรจาก็ชัดเจนมากว่า ไทยมีจุดยืนอย่างไร

"ผมพร้อมที่จะบินไปเจรจาเร็วที่สุด หากญี่ปุ่นเลือกแนวทางตามที่ไทยเสนอให้ แต่ก็ต้องเข้าใจญี่ปุ่นด้วยว่า การตัดสินใจทำงานเรื่องเอฟทีเอของเขาเป็นลักษณะแยกการทำงาน ไม่มีศูนย์กลางที่ชัดเจน เมื่อนายกฯ ของเขาได้รับหนังสือจากนายกฯเรา สิ่งที่เราทำได้คือรอคอยคำตอบ แต่ไม่ควรที่จะคาดหวังว่าการมาของปลัดเมติในวันนี้จะมีคำตอบให้เราเลยทันที การเจรจาระหว่างเรากับญี่ปุ่น ผมพยายามจะทำให้ออกมาในกรอบที่ทั้งสองรับได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน" นายพิศาลกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.