"อุ๋ย"เมินผลเฟดลั่นขึ้นดอกเบี้ยยึดปัจจัยภายใน


ผู้จัดการรายวัน(4 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

หม่อมอุ๋ยเมินผลการประชุมเฟด ลั่นการปรับดอกเบี้ยอาร์/พีของแบงก์ชาติ ยึดปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ไม่หวั่นเงินทุนไหลออกแม้ส่วนต่างดอกเบี้ยสูงขึ้น เหตุยังมีเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นต่อเนื่อง นายแบงก์มองต่างมุม ชี้เริ่มมีเงินทุนไหลออกบ้าง แม้ยังไม่ถึงจุดอันตรายแต่อาจกดดันให้ ธปท.ต้องขึ้นอาร์/พีในการประชุมครั้งต่อไป

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่ และมั่นใจว่าการขึ้นดอกเบี้ยเฟด จะไม่ส่งผลกระทบทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศแต่อย่างใด

"การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด เป็นเรื่องของสหรัฐฯ ไม่เกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินที่เข้ามาลงทุนโดยตรง และเงินที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไหลเข้ามาลงทุนภายในประเทศ ฉะนั้นจึงสบายใจได้"

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2548 ปริมาณการซื้อหลักทรัพย์สุทธิของนักลงทุนต่างชาติมีมูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาท และยอดธุรกรรม Buy Sell Swap ในสกุลดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุนต่างชาติยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงต้นปี 2548 เป็นต้นมา

สำหรับกรณีที่ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงวานนี้ (3 พ.ค.) มีผลจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น และเทขายเงินสกุลท้องถิ่น รวมถึงเงินบาทจึงทำให้ค่าบาทอ่อนค่าลง ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติ

คาดสิ้นปีนี้เฟดอาจขยับถึง 4%

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาเตอร์ด สาขาประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมเฟดครั้งนี้ คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเฟดมาอยู่ที่ระดับ 3.00% เนื่องจากต้องการที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยปัจจุบันยังคงต่ำอยู่ ดังนั้นเชื่อว่าเฟดคงจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จึงสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 3.50-4.00% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ธปท. คงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อขายพันธบัตรระยะเวลา 14 วัน (อาร์/พี) อีก 0.25% หรือมาอยู่ที่ 2.50% หลังจากที่การประชุมครั้งก่อนหน้าได้ตรึงดอกเบี้ยไว้ เพื่อดูแลอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

"หากธปท.ไม่ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ จะทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยเฟดเพิ่มมากขึ้น บวกกับอัตราเงินเฟ้อของไทยได้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.6 % จึงต้องเข้ามาดูแลเรื่องเงินเฟ้อให้อยู่ระดับเป้าหมาย"

นางสาวอุสรา กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มเงินไหลออกนอกประเทศบ้างแล้ว พิจารณาจากพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศที่มีแรงเทขายออกมา ซึ่งเป็นการสะท้อนเห็นว่าเม็ดเงินเริ่มซึมออกบ้างแล้ว ทำให้สภาพคล่องในระบบหายไปพอสมควร จากในช่างปลายปีที่ผ่านมาสภาพคล่องในระบบยังเหลืออยู่ประมาณ 6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การที่ธปท.ได้ออกพันธบัตรจำนวน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้ามาดูดซับสภาพคล่อง ถือว่าเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ต้องการให้ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น รวมทั้งสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราการเติบโตที่ช้า เกิดจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มชะลอตัวลง ทำให้นักลงทุนยังคงรอดูสถานการณ์ระยะหนึ่งด้วย คาดว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปีนี้เติบโตประมาณ 6-7% ซึ่งใกล้เคียงกับการเติบโตในปีที่ผ่านมา

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายผู้บริหารฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์บริหารเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เฟดคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของสหรัฐฯที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

"ขณะนี้วงการการเงิน 60-70% มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ซึ่งทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศเพิ่มเป็น 0.75% แต่ผลกระทบต่อเงินไหลออกก็ไม่น่ารุนแรง เพราะตลาดมีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้ ในการประชุมของธปท.เดือนมิ.ย.ก็น่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.25%" นายทรงพลกล่าว

ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนต่างรอผลการประชุมเฟด จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง นอกเหนือจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ ความรุนแรงในภาคใต้ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยค่าเงินบาทเปิดการซื้อขายวานนี้ ที่ 39.57-39.59 บาทต่อดอลลาร์ ปิดตลาดที่ 39.53-39.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นเพียงการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.