MFCตั้งซูคุกลุยตอ.กลางชงก.ล.ต.ผุดตราสารใหม่


ผู้จัดการรายวัน(3 พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"เอ็มเอฟซี" ตีปีกลุยตะวันออกกลาง หลังคณะกรรมการศาสนากองทุนอิสลามิกฟันด์ มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนซูคุก กองทุนกึ่งตราสารหนี้กึ่งทุน เน้นลงทุนในตราสารที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนา พร้อมร่อนหนังสือส่ง ก.ล.ต. เสนอให้แยกออกมาเป็นตราสารประเภทใหม่ นอกเหนือจากตราสารทุน-ตราสารหนี้-ตราสารอนุพันธ์ ด้าน "พิชิต" เผยแนวทางเบื้องต้น นำอสังหาริมทรัพย์มาทำซีเคียวริไทเซชัน ก่อนนำไปหารือกับอาบูดาบีอิสลามิกแบงก์อีก 1-2 เดือนข้างหน้า

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการศาสนาของกองทุนอิสลามิกฟันด์ มีมติให้บลจ.เอ็มเอฟซีสามารถจัดตั้งกองทุนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้อิสลาม หรือซูคุก (SUKUK) ที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาได้ โดยบริษัทจะพิจารณาขนาดของกองทุนและกำหนดกรอบการลงทุนต่อไป

สำหรับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว บริษัทจะนำเสนอข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทราบ เพื่อพิจารณาแยกกองทุนซูคุกออกมาเป็นกองทุนใหม่อีก 1 ประเภท นอกเหนือจากกองทุนตราสารทุน กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนตราสารอนุพันธ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากกองทุนซูคุกเป็นกองทุนที่มีลักษณะเฉพาะของมัน

ทั้งนี้ การที่ส่งเรื่องให้ก.ล.ต. พิจารณานั้น ไม่ได้มีสาระที่เป็นนัยสำคัญอะไร เป็นเรื่องของการหารือกันมากกว่า โดยเชื่อว่า ก.ล.ต.จะอนุมัติ ให้แยกออกมาเป็นกองทุนอีกหนึ่งประเภทได้ตามที่ขออย่างแน่นอน ซึ่งหลังจากที่ก.ล.ต.ให้ความเห็นชอบแล้วก็สามารถออกตราสารดังกล่าวได้ โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเข้าไปหารือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อร่วมจัดตั้งกองทุน และทำการประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ ผลดีผลเสีย รวมทั้งผลตอบแทนของกองทุนดังกล่าว

นายพิชิต กล่าวว่า การพัฒนากองทุนนี้ขึ้นมา ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นและประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านตลาดทุน เนื่องจากจะมีตราสารประเภทใหม่เกิดขึ้นมา และที่สำคัญจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนนักลงทุนอิสลามเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากที่เราตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมาโดยตลอด

โดยลักษณะของกองทุนดังกล่าวจะคล้ายกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์หรือซิเคียวริไทเซชัน คือการนำค่าเช่าหรือรายได้อื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาแปลงตราสารทางการเงิน ซึ่งในเบื้องต้นมีการวางกรอบคร่าวๆ ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งเป็นลักษณะกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์) เพราะมีการติดต่อและสรรหาสินทรัพย์ไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์เสมอไป เนื่องจากสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุนซูคุก ในเบื้องต้นคาดว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของทุนอิสลามิกฟันด์ ของบลจ.เอ็มเอฟซีที่มีอยู่ในปัจจุบันหรืออาจจะจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมา โดยกรอบการลงทุนจะเป็นการลงทุนในตราสารที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งนักลงทุนสถาบันในประเทศสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดขนาดของกองทุนว่าจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งจะมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง โดยเชื่อว่าหลังจากจัดตั้งกองทุนดังกล่าวแล้วจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนพอสมควร

นายพิชิต กล่าวต่อว่า หลังจากศึกษารายละเอียดและจัดตั้งกองทุนซูคุกเรียบร้อยแล้ว ก็จะเดินทางไปหารือกับอาบูดาบีอิสลามิกแบงก์ (Arbudabe Isalamic Bank) ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อวางกรอบและแนวทางในการร่วมลงทุนกับกองทุนดังกล่าว โดยคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะมีความชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่จำเป็นต้องเดินทางไปก็ได้ เนื่องจากขณะนี้มีการติดต่อระหว่างกันตลอดเวลาอยู่แล้ว

สำหรับกองทุนอิสลามมิกฟันด์ของบลจ. เอ็มเอฟซี ปัจจุบันมีขนาดกองทุนประมาณ 400 ล้านบาท จากจำนวนที่ขออนุมัติไว้ทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท ซึ่งตามที่หนังสือชี้ชวนของกองทุนระบุไว้ว่า กองทุนจะต้องจัดสรรเงินทุนส่วนหนึ่งไว้เพื่อทำการกุศล ซึ่งเป็นข้อบังคับตามหลักศาสนาอิสลาม โดยกำหนดไว้ในอัตรา 0.25% ของเงินทุนที่สามารถระดมมาได้หรือประมาณ 70,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในขณะนี้กองทุนดังกล่าวมีวงเงินในส่วนนี้แล้วประมาณ 2-3 แสนบาท ทั้งนี้คาดว่าบริษัทจะนำเงินดังกล่าวไปทำประโยชน์แก่ชุมชนอิสลามที่มีความต้องการและได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งจะจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือชุมชนใน 3 จังหวัดภาคใต้อีกด้วย

ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการที่ บลจ.เอ็มเอฟซี ได้เดินทางไปโรดโชว์ร่วมกับกระทรวงการคลังที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เมื่อวันที่ 17-23 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเดินทางนำเสนอข้อมูลการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์และศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยอาบูดาบีอิสลามิกแบงก์ ให้ความสนใจที่ร่วมลงทุนในกองทุนอิสลามิก ฟันด์ เพื่อนำกองทุนดังกล่าวไปขายให้กับนักลงทุนในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ อาบูดาบีอิสลามิกแบงก์ เคยนำกองทุนประเภทเดียวกันของมาเลเซียมาขายแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.