|

ชิ้นส่วนไทยต้านFTA ชี้เปิดเสรีให้ญี่ปุ่นเสียหาย3แสนล้าน
ผู้จัดการรายวัน(3 พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ออกโรงต้านเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น เผยหากเปิดเสรีทันที เสียหาย 3 แสนล้าน กระทบการจ้างงานกว่า 3 แสนคน ผู้บริหาร "ไทยรุ่งฯ" ชี้ เอสเอ็มอีชิ้นส่วนญี่ปุ่นได้ประโยชน์เต็มๆ ส่วนรายใหญ่ไม่มีผลเพราะลงทุนในไทยอยู่แล้ว ด้านผู้ผลิตเหล็กนัด หารือกำหนดท่าทีวันนี้ ยอมให้เฉพาะเหล็กที่ไทยผลิตไม่ได้ แต่ต้องมีโควตานำเข้า 5 กระทรวงเศรษฐกิจหลักนัดถกแนวทางเจรจาวันนี้
นายยงเกียรติ์ กิตะพาณิชย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า วานนี้ ( 2 พ.ค.) สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ได้ทำหนังสือไปยัง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และผู้ที่รับผิดชอบในการเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ชี้แจงให้เห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย หากยอมลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและรถยนต์ให้กับญี่ปุ่น กล่าวคือ จะต้องขาดดุลการค้ามากถึง 1.5-2.0 แสน ล้านบาทต่อปี และสูญเสียรายได้จากภาษีนำเข้า 1.2 แสนล้านบาทต่อปี ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
"นอกจากนี้ ยังจะทำลายอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและยานยนต์ไทย 400-500 แห่ง และกระทบต่อการจ้างงานกว่า 3 แสนคน"
นายยงเกียรติ์กล่าวอีกว่า ข้ออ้างของญี่ปุ่นที่ว่า หากเปิดเสรีนำเข้าชิ้นส่วนและรถยนต์ขนาด 3000 ซีซี ขึ้นไปแล้วจะทำให้ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมากขึ้นนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันญี่ปุ่นมีภาษีนำเข้าเป็น 0% อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าในปี 2547 ที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้านำเข้าชิ้นส่วนและยานยนต์จากญี่ปุ่น เป็นมูลค่ารวม 7.7 หมื่นล้านบาท (2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หากคิดอัตราการเติบโตของอุตฯ ยานยนต์ปีละ 10% จะส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าญี่ปุ่น จากการเปิดเสรีนำเข้า ชิ้นส่วนและรถยนต์มากถึงปีละ 1.5-2.0 แสนล้านบาทต่อปี
ส่วนการเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ขนาด 3000 ซีซีขึ้นไป และชิ้นส่วนยานยนต์จากญี่ปุ่น จะส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากเก็บภาษีประมาณปีละ 80,000 ล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 แสนล้านบาท ใน 3-4 ปีข้างหน้าเมื่อมีการเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์ โดยคาดว่าจะมีการนำเข้ารถและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคันต่อปี (รถคันละ 5-8 แสนบาท ภาษีลดลง 130-190%)
ไทยรุ่งชี้เอสเอ็มอี ญี่ปุ่นได้ประโยชน์
นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วน และประธานกลุ่มไทยรุ่งยูเนียนคาร์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและรถดัดแปลงไทยกล่าวว่า การเปิดเสรี ภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วน ยังทำให้วัตถุประสงค์ในการผลักดันไทยเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียในปี 2553 ของรัฐบาลไทยเปลี่ยนไป จากที่ตั้งเป้าหมายต้อง ผลิตรถยนต์ในไทยไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคัน และต้อง สร้างมูลค่าเพิ่มชิ้นส่วนรถยนต์ไทยให้ได้ 70% ของมูลค่ารถยนต์ที่ผลิต จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 40-50%
"เมื่อเปิดเสรีนำเข้าชิ้นส่วนและรถยนต์ จะทำให้มีการนำเข้ามากขึ้น ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนและรถยนต์ในไทยจะลดน้อยลง มูลค่าเพิ่มชิ้นส่วนที่ตั้งไว้ 70% ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน และจากการตรวจสอบ ฝ่ายญี่ปุ่นที่ผลักดันเรื่องนี้พบว่า เป็นเพียงกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอี ที่ไม่ได้เข้ามาลงทุนในไทย ฉะนั้นหากเปิดเอฟทีเอตามข้อเรียกร้องของทางญี่ปุ่น จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยของญี่ปุ่นสามารถส่งสินค้าเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยได้อย่างสบาย"
ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนของญี่ปุ่นขนาดกลางนับพันแห่ง และผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นที่ยังไม่มีโรงงานผลิตในไทย จะได้ประโยชน์จากการเปิดเอฟทีเออย่าง มหาศาล เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาผลิตในไทย แต่สามารถส่งมาขายโดยไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของญี่ปุ่น และส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยแล้วไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่าไรมากนัก การที่สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Automobile Manufacturers Association : JAMA) อ้างว่าจะมีการย้ายการลงทุนจากไทย หากไม่ยอมลดภาษีนำเข้าหมวดอุตฯยานยนต์ในข้อตกลงเอฟทีเอ น่าจะเป็นเพียงแค่การข่มขู่เท่านั้น เพราะการปฏิบัติจริงทำไม่ได้อยู่แล้ว
นายยงเกียรติ์กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาผลได้เสียจากการเปิดเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ ทางสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย จึงเห็นว่าไทยไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด แต่ ทั้งนี้ทางสมาคมทราบดีว่า การเปิดเจรจาเปิดเอฟทีเอ จะต้องมองในภาพรวม ซึ่งทางสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ เห็นด้วยที่หากเปิดเอฟทีเอแล้วทำให้ประเทศไทยได้ รับประโยชน์สูงสุดและก็พร้อมปฏิบัติตาม เพียงแต่ ไม่ต้องการให้เปิดเสรีโดยทันทีตามข้อเรียกร้องของทางญี่ปุ่น ขอให้มีระยะเวลาในการดำเนินงานเป็นขั้นตอน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการเตรียมตัวแข่งขัน
"สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไม่นำหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ไปไว้ในกลุ่มสินค้าเร่งด่วน (harvest list) แต่ควรจะนำไปไว้ในกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหว (sensitive list) เป็นระยะเวลา 10-15 ปี หรือหากจำเป็นต้องเปิดตาม เงื่อนไข ขอให้เป็นอัตราภาษีลดเป็นขั้นตอน (Normal TAX) เช่นเดียวกับอาฟต้า แต่ขอสงวนหมวดสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ 5 รายการ ให้ยังคงอยู่ในหมวดสินค้าอ่อนไหว โดยมีระยะเวลา 10 ปี ในการ เปิดเสรีภาษีนำเข้า"
นอกจากนั้น ทางสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนฯยังเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมยานยนต์กับผู้ประกอบการในไทยเท่ากับ 70% ตามแผนผลักดันไทยสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียเหมือนเดิม เช่นเดียวกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้มีการตกลงกับผู้ประกอบการไปก่อนหน้านี้ เพื่อยกระดับการพัฒนาและแข่งขันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ไม่ว่าจะเป็นการเร่งให้มีการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์ โครงการพัฒนาบุคลากร และสนับสนุนการลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาและวิจัยให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมากขึ้น
การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย-ญี่ปุ่นรอบที่ 7 เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องการเปิดเสรีเหล็กบางประเภทและชิ้นส่วนยานยนต์ โดยฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้เปิดเสรีทันที แต่ทางฝ่ายไทยต้องการให้เปิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เรียกประชุม 5 กระทรวงหลักวันนี้
การเจรจารอบใหม่ยังไม่กำหนดว่าจะเป็นเมื่อไร แต่ในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ เมติ (METI - Ministry of Economics Trade and Industry) จะเข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการเจรจารอบใหม่
ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันนี้( 3 พฤษภาคม) 5 กระทรวงหลักได้แก่ อุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตรฯ คลัง และต่างประเทศจะมีการประชุมเขตการค้าเสรี หรือ FTA โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธานซึ่งถือเป็นการประชุม FTA ชุดใหญ่นัดแรกของรัฐบาลทักษิณ 2 โดยประเด็นหลักที่คาดว่าจะหารือได้แก่การทำ FTA ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมยานยนต์
"ช่วงเช้าวันนี้ทางนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการคุยกับเอกชนก่อนแล้วจะนำผลของการหารือไปเสนอที่ประชุมใหญ่อีกครั้ง" นายปานปรีย์กล่าว
ผู้ผลิตเหล็กขอร่วมกำหนดแนวทาง
นายพิบูลย์ศักดิ์ อรรถบวรพิศาล ประธานกลุ่ม อุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันที่ 4 พฤษภาคม 2548 กลุ่มเหล็ก ส.อ.ท.จะหารือเพื่อสรุปท่าทีของผู้ผลิตในประเทศทั้งหมดในการนำไปเป็นแนวทางการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปจะมีการทำรายงานส่งไปยังหัวหน้าคณะเจรจาภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ การหารือจะมุ่งเน้นไปดูในรายละเอียดเกี่ยวกับพิกัดเหล็กที่ไทยยังไม่มีผลิต หรือผลิตไม่เพียงพอ ตามข้อเสนอของญี่ปุ่นที่ต้องการให้ไทยเปิดเสรี
สำหรับแนวทางของผู้ผลิตไทยในเบื้องต้น จะพิจารณารายละเอียดว่ามีรายใดผลิตเหล็กประเภทใด และมีจำนวนเท่าใด เพื่อที่จะเปิดให้มีการนำเข้ามาได้บ้าง แต่สิ่งสำคัญคือคงจะต้องมีโควตาการนำเข้า เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมไทยที่ผลิตแล้วไม่เพียง พอไม่มีโอกาสขยายงาน และเหล็กประเภทที่ไม่มีก็จะสามารถให้คนไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนและพัฒนา
"เพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย เราจะดูว่าเหล็กที่ ผลิตในไทยนั้นมีจริงไหม และถ้าผลิตแล้วเท่าใด เพราะยอมรับว่าบางกลุ่มอาจจะบอกไม่จริงโดยเผื่อ เอาไว้ก่อน ก็เลยต้องดูรายละเอียดให้ชัด" นายพิบูลย์ศักดิ์กล่าว
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานสภาอุตสาหกรรม สายงานคลัสเตอร์ยานยนต์ และชิ้นส่วน กล่าวว่า กรณีการเปิดเสรี FTA ไทย-ญี่ปุ่น เห็นว่าไทยควรสนับสนุนเปิดเสรีเหล็กบางประเภทที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้หรือไม่มีแผนที่จะผลิตในอนาคต เนื่องจากจะทำให้การนำเข้าเหล็กมาผลิตในไทยมีราคาถูกลง สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ของอุตสาหกรรมยานยนต์
เหล็กในประเทศถ้ามีผลิตเพียงพอทางอุตสาหกรรมก็อยากใช้ เพราะเหตุผลในเรื่องของเวลาสั่งซื้อ ถ้าซื้อในประเทศก็จะเร็วกว่า หรือในเรื่องของการสต็อกสินค้าก็ไม่ต้องมีมาก อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วย" นายนินนาทกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|