“อุตสาหกรรมที่จะเกิดมลภาวะต้องเอาไว้ชานเมือง” ร.ต.อ.ประสาท ชุณหะมาน รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

“ผู้จัดการ” - สำนักผังเมืองมีเงื่อนไขในการตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองหรือไม่

รอง ผอ.สำนักผังเมือง - ในรูปวิชาการผังเมือง ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดมลภาวะ เช่น เสียง ความสั่นสะเทือนหรืออากาศเป็นพิษ หรือว่าน้ำเสียหรือ Noise Pollution ก็ควรใช้ชานเมือง เพราะฉะนั้นการออกผังในอนาคต เราใช้ชั่วอายุคน 20 ปี ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นแม่ของลูกได้ สภาพการเป็นอยู่ก็ผิดไปในรูปการศึกษาหรืออาชีพต้องเปลี่ยนไป เราก็จะพยายามให้ไปอยู่นอกเมืองหรือเรียกว่าเมืองบริวารอย่างกรุงเทพฯ ก็มีเมืองรอบๆ ที่จะรับคนล้นเมืองออกไปอยู่รอบเมือง ที่เมืองนอกเขาจะมี Green Belt พื้นที่สีเขียวห้ามมิให้มีอุตสาหกรรม แต่ให้ไปอยู่ในเมืองรอบๆ เพื่อกำหนดความโตของสาธารณูปโภค มันจะได้ไม่ต้องใช้ Separate System เช่น น้ำ ไฟฟ้า ถนน พวกนี้จะไม่เกิด Complexion หรือความยุ่งยากในการจราจร

ในกรุงเทพฯ เราควรออกแบบพร้อมไปกับเมืองบริวารที่จะรับคนล้นเมืองออกไปมีอาชีพ เวลานี้กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังออกแบบในการที่จะใช้คนเข้าทำงานประเภทหัตถกรรมหรือเครื่องจักร อย่างนี้น่าสนับสนุน ส่วนอุตสาหกรรมใหญ่ที่เราไม่สนับสนุนก็โกรธที่มันเป็นมลภาวะ เวลานี้กรุงเทพฯ แค่ควันจากรถยนต์ก็เต็มหมดแล้ว เราก็เลยต้องระวังควันจากอุตสาหกรรม Water Pollution การระบายน้ำเน่า กฎหมายจะมีช่องว่างที่เราติดตามไม่ทัน

การที่อุตสาหกรรมอยู่รอบเมืองจะดี แต่ถ้าเป็นเมืองบริวารก็ควรไว้ในเมืองบริวารเพื่อหางานให้คนทำ เมืองบริวารที่ผังเมืองเขาทำอยู่ แต่เราต้องทำพร้อมกับ Green Belt เมื่อเรามีเมืองบริวารเราก็ต้องจำกัดเมืองหลวงให้อยู่ในขอบเขต เมืองยิ่งใหญ่การลงทุนสาธารณูปโภคยิ่งแพง มันจึงต้องใช้ Separate System

“ผู้จัดการ” - สำนักผังเมืองมีข้อกำหนดอะไรหรือไม่ ว่าโรงงานอุตสาหกรรมอันไหนจะตั้งได้หรือไม่ได้

รอง ผอ.สำนักผังเมือง - ไม่มี อันนี้เป็นข้อบัญญัติของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีขั้นตอนของ บีโอไอ ส่วนของเราจะมองพื้นที่ 7 ประการ คือ

1. แหล่งการค้ากลางเมือง
2. พื้นที่ที่เราจัดทำสาธารณูปโภค
3. ที่อยู่อาศัย
4. แหล่งพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหนักและเบา
5. บริการ Service Industry เป็นคลังสินค้าอยู่ใกล้สถานีรถไฟ, สถานีขนส่ง
6. ประเภทที่ใช้รวมกันหลายๆ เรื่อง หลายอย่างเป็น Complex
7. สวนสาธารณะ

ทั้งหมดนี้เป็นแหล่งใหญ่ๆ ที่เราคำนึงถึง เราต้องคำนึงทั้ง 3 ทางคือ ทางน้ำ, ทางบก และทางอากาศ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการขนส่งและคมนาคม

สำนักผังเมืองไม่ได้เป็นผู้ห้ามในเรื่องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม แต่เป็นผู้ให้แนวประสานงานไปตามกฎหมายเฉพาะเรื่อง ผังเมืองเป็นฐานแม่บท มีความยืดหยุ่นพอควร ส่วนเขาจะมีอะไรบ้างตามความจำเป็นที่มันจะเกิดขึ้นโดยเราหาข้อมูล มีกองวิจัย วิเคราะห์งานโดยประสานกัน แต่ผู้ที่จะลงไปชี้ถึงพื้นที่แล้วห้ามจะเป็นเรื่องของ
จังหวัดเอง คณะกรรมการบริหารส่วนจังหวัดหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น การนิคมอุตสาหกรรม การเคหะ ไปดำเนินการ

“ผู้จัดการ”- บางโรงงานที่มีปัญหา สำนักผังเมืองจะมีส่วนให้ย้ายโรงงานได้ไหม?

รอง ผอ.สำนักผังเมือง - เราไม่เกี่ยวแล้ว ที่เราให้ไปเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ และยืดหยุ่น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ อนุญาตให้รื้อถอนหรือตั้งโรงงานผังเมืองไม่มีอำนาจหน้าที่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.