|
รุมค้านแผนแก้หนี้เอ็นพาร์ค
ผู้จัดการรายวัน(29 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"แนเชอรัลพาร์ค" เจอศึกหนักผู้ถือหุ้นรายย่อยซักแผนแก้ปัญหาสภาพคล่อง ค้านขายหุ้น ฟินันซ่า 22.5 ล้านหุ้น ขาดทุน 400 ล้านบาท "ศิริวัฒน์ วรเวทย์วุฒิคุณ"แนะให้อึดถือหุ้นให้นานรอภาวะ ดีดกลับแล้วค่อยขายในราคาที่ขาดทุนน้อยที่สุด "เสริมสิน" ยันจะขออำนาจบอร์ดขายไว้ก่อนเผื่อเกิดจำเป็นจะได้ขายทันเวลา เผยอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตร แต่เปิดรายละเอียดไม่ได้ ระบุตปท.มองแนเชอรัลพาร์ค มีสินทรัพย์ดี เตรียมเซ็นสัญญาร้อยชักสาม 10 พ.ค.นี้ มั่นใจมีสภาพคล่องพอที่จะดำเนินโครงการได้
วานนี้ (28 เม.ย.) บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ N-PARK ได้จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2548 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โดยมี ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี ประธานคณะกรรมการ บริษัท แนเชอรัล พาร์ค ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม
บรรยากาศการประชุมแม้จะมีจำนวนผู้ถือหุ้นเข้าประชุมไม่มากนักก็ตาม แต่ตลอด 11 วาระ ได้มีผู้ถือหุ้นรายย่อยซักถามคัดค้านทุกวาระ แต่สามารถผ่านไปได้ด้วยดีทุกวาระ จะมีแต่วาระที่ 7 ซึ่งบรรยากาศการประชุมเข้มข้นขึ้นเนื่องจากเป็นการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และการกำหนดเงินค่าตอบแทน ซึ่งบริษัทแนเชอรัล พาร์ค เสนอให้อนุมัติ นายประวิทย์ วิภูศิริคุปต์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 3752 แห่งบริษัท อาร์เอสเอ็ม เนลสัน วิลเลอร์ ออดิท จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.48 และกำหนดวงเงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้สอบบัญชีภายในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท
ตัวแทนจากบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกว่า 5 ล้านหุ้น ได้ซักถามเหตุผลการเปลี่ยนผู้สอบบัญชี โดยมีการตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าฐานะของบริษัทผู้สอบบัญชีดังกล่าวมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 12.6 ล้านบาท และผลตอบแทน 3 ล้านบาทสูงกว่ารายเก่าที่เคยใช้
นายเสริมสิน สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงว่า ผู้สอบบัญชีรายเก่าทำให้งานให้ไม่ทันเนื่องจากคนไม่พอ เมื่อถึงปีจึงเปลี่ยนรายใหม่ซึ่งมีคนมากกว่า และเนื่องจากบริษัทมีการลงทุนในต่างประเทศ การทำบัญชีมีความซับซ้อนกว่าบริษัทอื่น จึงต้องการเลือกคนที่มีความรู้และสามารถรวบรวมข้อมูล ส่วนผลตอบแทนของผู้สอบรายเดิมนั้นเคยกำหนดไว้ที่ 2 ล้านบาทแต่มีการต่อรองลดลงมาจ่ายที่ 1.7 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีการลงคะแนนเสียงมีผู้อนุมัติกว่า 5.1 พันล้านหุ้น และมีผู้ไม่เห็นด้วย 5 ล้านหุ้นเศษ ทำให้วาระดังกล่าวผ่านไปได้ด้วยดี แต่บรรยากาศเริ่มเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อถึงการพิจารณาวาระที่ 10 การพิจารณาอนุมัติขายหุ้น สามัญของ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ FNS จำนวน 22.5 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 18% ของทุนชำระแล้ว ในราคาที่ต่ำกว่าราคาต้นทุนจากการซื้อมา แต่จะไม่ต่ำกว่าราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 30 วันทำการ ย้อนหลังก่อนวันประชุมถือหุ้น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางการเสริมสภาพคล่องชั่วคราวของบริษัท
โดยเงินที่ได้จากการขายจะส่งผลให้บริษัทมีสภาพคล่องสูงขึ้น และสนับสนุนการดำเนินงานอย่าง ต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งหุ้นสามัญของ FNS ถือเป็นสินทรัพย์รองที่จะกระทบต่อการดำเนินงานน้อยที่สุด และมีสภาพคล่องสูง โดยขอให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติให้มอบหมายให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการในนามของบริษัทในการเจรจาขายหุ้น
นายศิริวัฒน์ วรเวทย์วุฒิคุณ นักลงทุนชื่อดัง และผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 3 คน ได้ผลัดกันขึ้นแสดงความเห็นคัดค้านการเสนอขายหุ้นฟินันซ่าโดยมองว่า การขายหุ้นฟินันซ่าวานนี้อยู่ที่ประมาณ 18 บาท จะทำให้มีผลขาดทุนถึง 400 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทซื้อมาในราคาหุ้นละ 38 บาทรวมเป็นเงินเกือบ 1 พันล้านบาท จึงอยากให้ชะลอไปก่อนแล้วรอให้ราคาหุ้นฟินันซ่าปรับขึ้นก่อนจึงค่อยขายจะทำให้เกิดผลขาดทุนน้อยที่สุด
นายศิริวัฒน์ ระบุว่า ตนเป็นผู้แนะนำไปเมื่อ 11 ก.พ.ซึ่งขณะนั้นราคาหุ้นอยู่ที่ 30 บาท และได้เสนอให้ขายในราคาที่ไม่ทำให้ขาดทุน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะขายตอนนี้ซึ่งขาดทุนมาก เมื่อบริษัทขาดเงินก็ควรจะหาแนวทางอื่นแก้ เช่น ออกหุ้นกู้แปลงสภาพระดมเงินจากผู้ถือหุ้นรายย่อยให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญหากจะนำหุ้นฟินันซ่าไปขายให้กับรายเดิมที่ซื้อมายิ่งไม่เห็นด้วย และเกรงว่าคณะกรรมการอาจจะผิดกฎหมายได้ เพราะซื้อแพง ขายถูกให้กับกลุ่มเดิม ซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นก่อตั้งของฟินันซ่าเอง ซึ่งทำให้เห็นด้วยกับที่ผู้ถือหุ้นอีกรายที่มองว่าเหมือนกับเป็นความฉลาดน้อยแต่หากจะขายขอให้แบ่งขายคราวแรก 10% ของ 22.5 ล้านหุ้นก่อน
นายเสริมสิน ซึ่งได้ชี้แจงอยู่หลายครั้ง โดยกล่าวว่า การลงทุนในหุ้นฟินนันซ่า 18% มีการมาร์กตามราคาตลาดอยู่แล้ว และหุ้นได้มีการจำนำไว้กับธนาคารกรุงไทย ต้องการขออนุมัติให้มอบหมายให้คณะกรรมการมีอำนาจตัดสินใจขายหุ้นไว้ก่อน ถ้าเกิดจำเป็นจะใช้เงินลงทุนต่อหากต้องมาได้ดำเนินการได้ทันเวลาหากต้องมารอขอมติผู้ถือหุ้นใหม่ก็จะต้องใช้เวลานาน
"เราโชคไม่ดีมีข่าวเรื่องเป็นหนี้เสียธนาคารกรุงไทย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็น ทำให้มีปัญหาตามมาไม่สามารถขายหุ้นกู้แปลงสภาพได้ ทำให้ระดมทุนยาก และผู้ซื้อกดในอัตราที่รับไม่ได้ จึงไม่ออกหุ้นกู้แปลง และการเข้าลงทุนในฟินันซ่าขณะนั้นมาจากวิเคราะห์ว่าฟินันซ่าจะได้เป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก็เป็นการมองไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อื่น เช่น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่มีการร่วมขอตั้งธนาคาร พาณิชย์ ยืนยันว่าจะอึดให้ถึงที่สุด ถ้าขายส่วนไหนได้กำไรก่อนจะเลือกทางนั้น เพราะจำเป็นต้องขายบางส่วนเพื่อมาลงทุนในส่วนที่กำลังไปได้ดี"
สำหรับการลงทุนในโครงการอื่นหลายโครงการกำลังเป็นไปได้ เพียงแต่ไม่ได้รับความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงแรมที่เชียงใหม่ ซึ่งใกล้จะเปิดได้แล้ว โครงการสยามพารากอน และยังมีโครงการที่เป็นทำเลทองอีกหลายโครงการ ซึ่งทำให้ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจบริษัทในจุดที่มีสินทรัพย์ที่เป็นทำเลที่ดี โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตร แต่ไม่สามารถเปิดผยรายละเอียดได้เพราะเกรงจะหาว่าหวังให้ราคาหุ้นขึ้นส่วน การเจราจาชำระหนี้กับธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่
นายเสริมสิน ชี้แจงในวาระนี้ค่อนข้างนานด้วยสีหน้าที่นิ่งเฉยขึ้นสลับกับการก้มหน้าลงก่อนจะเงยหน้าขึ้นมาและตอบคำถาม ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการก็ยืนยันให้มีการนับคะแนน และผลปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วย 5,107 ล้านหุ้น และไม่เห็นด้วย 24 ล้านหุ้น เท่ากับวาระนี้ผ่านไปได้ด้วยดี
นายเสริมสิน กล่าวถึง ความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการร้อยชักสามว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรมธนารักษ์ได้ส่งสัญญาให้อัยการตรวจสอบ และส่งหนังสือกลับมาแจ้งบริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อบ่ายวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายบริษัทกำลังตรวจสอบหนังสือสัญญาดังกล่าวอยู่ โดยจะต้องลงนามภายใน 15 วัน หรือประมาณ 10 พ.ค.ซึ่งจะต้องการเงินในวันนั้นประมาณ 175 ล้านบาท
บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมแผนการโครงการร้อยชักสามอย่างละเอียดอยู่ โดยจะมีการแถลงต่อสื่อมวลชนอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ซึ่งในส่วนของเงินประกันจำนวน 125 ล้านบาท แบงก์การันตี และเงินลงทุนสำหรับโครงการนี้ยืนยันว่าไม่มีปัญหา โดยมีมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 800 ล้านบาทก่อสร้างเสร็จใน 2 ปี โดยในลำดับแรกจะต้องเตรียมย้ายคนจำนวน 60 หลังคาเรือนออกจากพื้นที่ เพื่อที่บริษัทจะได้เข้า ไปก่อสร้างโครงการดังกล่าว ส่วนจะไปอยู่ที่ไหนนั้นกรมธนารักษ์กำลังดำเนินการอยู่
ทั้งนี้กรมธนารักษ์จัดเตรียมที่บริเวณ สะพานกรุงเทพ และเจริญนคร ไว้ให้ และบริษัทแนเชอ-รัลพาร์คจะต้องก่อสร้างที่อยู่ชั่วคราวให้โดยทำตามแบบที่กรมธนารักษ์เตรียมไว้ให้ โดยคาดว่าจะใช้เงินสำหรับในส่วนการจัดสร้างที่อยู่ประมาณ 15-18 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|