|

ทักษิณบีบญี่ปุ่นผ่าทางตันFTA
ผู้จัดการรายวัน(29 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นายกฯชิงส่งหนังสือถึง "โคอิซูมิ" บีบเสนอทางเลือกผ่าทางตันเจรจาเอฟทีเอ ย้ำหากจะให้ไทยเปิดเสรีเหล็ก ญี่ปุ่นต้องยอมเฉือนเนื้อเปิดเสรีเกษตรมากขึ้น ช่วยไทยก้าวสู่เป้าหมาย ดีทรอยต์แห่งเอเชีย และไม่เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมเหล็กของไทย เผยจะขอคำตอบช่วงปลัดเมติมาไทย 6 พ.ค.นี้ ด้านหอการค้า-สภาอุตฯรวมพลังเข้าพบหัวหน้าคณะเจรจาฯฝ่ายไทยวันนี้ ขอคำมั่น รัฐบาลต้องไม่อ่อนข้อให้ญี่ปุ่น ยื่นข้อเสนอถ้าเจรจาไม่มีทางออกให้ล้มโต๊ะเอฟทีเอ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือส่งไปยังนายจุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพื่อแสดงจุดยืนของฝ่ายไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับญี่ปุ่นในการเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นให้คืบหน้าโดยเร็วและบรรลุผลความตกลงที่จะมีประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศภายในเดือนกรกฎาคม ศกนี้
ในหนังสือฉบับดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขอให้นายโคอิซูมิพิจารณาทางเลือก 2 ทาง เพื่อให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้ กล่าวคือ หากฝ่ายญี่ปุ่นยอมรับข้อเสนอที่ไทยให้ไว้ในการเจรจารอบที่ 7 ที่ เขาใหญ่ ไทยก็ยินดี แต่หากฝ่ายญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะให้ไทยตอบสนองเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ไทยก็พร้อมที่จะเจรจาต่อในระดับหัวหน้าคณะ และยินดีที่จะพิจารณาหาทางออกร่วมกับญี่ปุ่นในเรื่องเหล็ก แต่ญี่ปุ่นจะต้องยอมตอบสนองข้อเรียกร้องของไทยในเรื่องดังต่อไปนี้
ประการแรก ญี่ปุ่นต้องเปิดเสรีสินค้าเกษตรมากกว่าที่ให้ไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องน้ำตาล รองเท้า สับปะรดกระป๋อง และสินค้าประมง
ประการที่สอง การเจรจาเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าจะต้องคืบหน้าโดยเร็วและไม่เป็นอุปสรรคต่อการที่สินค้าไทยจะเข้าไปขายในญี่ปุ่น และประการสุดท้าย ญี่ปุ่นจะต้องมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทย และการพัฒนาไทยไปสู่การเป็น ดีทรอยต์แห่งเอเชียในแนวทางที่ฝ่ายไทยวางไว้
การเจรจาเปิดเสรีการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเจรจากันมาแล้ว 7 รอบ โดยครั้งหลังสุดเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ อ.เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา มีผลคืบหน้าไปกว่า 90% แต่ต้องสะดุดลงหลังจากญี่ปุ่นล้มโต๊ะการเจรจาหลังจากพยายามบีบไทยให้เปิดเสรีเหล็กทันทีไม่สำเร็จ และต้องการเจรจากับฝ่ายการเมืองโดยตรง โดยเฉพาะผ่านนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ฝ่ายญี่ปุ่นไว้วางใจ
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากญี่ปุ่นพยายามล็อบบี้ฝ่ายการเมืองไทยหลายครั้ง แต่สุดท้ายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ซึ่งได้เรียกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพร้อมคณะเจรจาฯมาหารือนอกรอบจนได้ข้อยุติในระดับนโยบาย โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้แนวทางแก่คณะเจรจาฯ และทุกกระทรวงว่า เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นจะต้องตั้งอยู่บนหลักการของการได้ประโยชน์ร่วมกันและสมดุล และ พ.ต.ท.ทักษิณได้แจ้งฝ่ายญี่ปุ่นอยู่เสมอว่า เกษตรกรไทยจะต้องได้ประโยชน์จากเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น
ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณชัดเจนเช่นนี้จะช่วยให้ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายต้องกลับไปหารือกันภายในเพื่อตอบไทยให้ชัดว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้อะไรไทยเพิ่มบ้างในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์หน้าซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นจะส่งนายคาซูมาสะ คูซากะ ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ด้านการต่างประเทศมาเข้าพบนายทนงในวันที่ 4 พ.ค. เพื่อเป็นการปูทางก่อนที่นายโชอิชิ นาคากาว่า รัฐมนตรี METI จะเดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะ พ.ต.ท.ทักษิณ และหารือกับนายสมคิด และนายทนง เรื่องเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นในวันที่ 6 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า ฝ่ายญี่ปุ่นจะตอบไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า นายกรัฐมนตรีโคอิซูมิ จะเลือกทางใดจากสิ่งที่ไทยได้เสนอไปในหนังสือฉบับดังกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สาเหตุที่มีการยกเรื่องการเจรจาแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of origin) ในหนังสือฉบับดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการขานรับข้อเรียกร้องของเอกชนไทยที่ว่า รัฐบาลไทยต้องไม่ยอมให้ฝ่ายญี่ปุ่นเอาเปรียบไทยในเรื่องการเจรจาแหล่งกำเนิดสินค้า เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการเจรจาลดภาษีได้ในสินค้าบางตัว แต่ไทยก็ยังส่งสินค้าไปขายในญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะต้องเผชิญอุปสรรคซึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์ภายในญี่ปุ่น อาทิ เรื่องปลาทูน่ากระป๋องและเครื่องนุ่งห่ม ดังนั้น ในการเจรจารอบหน้า ไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเจรจาเรื่องแหล่ง กำเนิดสินค้าอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ด้วย
สำหรับข้อเสนอญี่ปุ่นเรื่องการร่วมพัฒนา ไทยไปสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียที่ไทยได้รับระหว่างที่คณะผู้แทนญี่ปุ่นหลายๆ คณะเดินทางมาล็อบบี้ฝ่ายการเมืองไทยตลอดระยะสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น โครงการส่งบุคลากรไทยไปฝึกงานในโรงงานผลิตยานยนต์ที่ญี่ปุ่น และการให้ JETRO จัดให้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นได้พบปะกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจนั้น ภาคเอกชนไทยยังเห็นว่าไม่ตรงเป้าและไม่ดีพอ ฝ่ายไทยอยากเห็นญี่ปุ่นหันมาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการตั้งศูนย์ทดสอบในไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ผู้ผลิตไทย และการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง คณะเจรจาฝ่ายไทยจะขอทราบคำตอบจากฝ่ายญี่ปุ่นในประเด็นเหล่านี้ในการเจรจารอบหน้าซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
"ขณะนี้ไทยกำลังรอคำตอบจากญี่ปุ่นว่า นายกรัฐมนตรีโคอิซูมิจะเลือกทางเลือกใด เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นจะต้องมีความสมดุล ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาแต่ได้ การที่นายกรัฐมนตรีไทยได้มีหนังสือไปถึงนายกฯ โคอิซูมิ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ฝ่ายการเมืองไทยเห็นว่าข้อเสนอที่ญี่ปุ่นให้ไทยในเรื่องเกษตรยังน้อยเกินไปและไม่คุ้มกับการที่ไทยจะยอมถอยในเรื่องการเปิดเสรีเหล็กแผ่นรีดร้อนแต่อย่างใด การหาทางออกในเรื่องการเปิดเสรีเหล็กจะต้องตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ว่าญี่ปุ่นจะเข้ามาเป็นพันธมิตรที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำของไทย ไม่ใช่เข้ามาทำลายหรือยึดกิจการของไทยในที่สุด" แหล่งข่าววิเคราะห์
เอกชนเสนอถ้าญี่ปุ่นดื้อให้ล้มเอฟทีเอ
นายพรพินิจ พรประภา รองประธานกรรมการคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (29 เม.ย.) จะเดินทางไปยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนต่อนายพิศาล มานวพัฒน์ หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น โดยต้องการให้ภาครัฐแสดงจุดยืนที่เข้มแข็ง และไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นที่ต้องการให้ไทยเปิดเสรีในภาคอุตสาหกรรมมากจนเกินไป เพราะเป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ แม้ว่าญี่ปุ่นจะยอมเปิดเสรีในส่วนสินค้าเกษตรให้ไทยก็ตาม
"มองกันว่าตอนนี้การเจรจาไม่มีทางออกแล้ว คณะเจรจาจึงต้องการรู้ท่าทีของเอกชนที่ชัดเจนเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเอกชนเห็นว่าถ้าทำตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นเราจะเสียประโยชน์มาก และหากไม่มีทางออกจริงๆ ก็จะเสนอให้ล้มการเจรจาไปเลย เพราะญี่ปุ่นกำลังเล่นนอกเกม ใช้วิธีล็อบบี้เข้าหาผู้ใหญ่ในประเทศ เป็นการเจรจาข้ามหัวหัวหน้าคณะเจรจา" นายพินิจกล่าว
สำหรับข้อเรียกร้องที่ญี่ปุ่นต้องการมากที่สุด และเอกชนเห็นว่าจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ คือ การเปิดเสรีสินค้าเหล็ก และรถยนต์ ซึ่งในส่วนของสินค้าเหล็ก แม้ไทยจะเสนอเปิดเสรีให้ภายใน 10 ปี แต่ญี่ปุ่นกลับต้องการให้เปิดเสรีในทันที ซึ่งหากไทยยอม รับข้อเสนอของญี่ปุ่น จะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศ ได้รับความเสียหายทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐส่งเสริม ส่วนข้อเรียกร้องให้เปิดเสรีรถยนต์ ขนาด 3000 ซีซีขึ้นไปนั้น ภาคเอกชนจากหอการค้าเยอรมนี และยุโรป ได้แสดงท่าทีไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ไม่เห็นด้วย เพราะจะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ค่ายยุโรปที่ได้มีการลงทุนในไทย ดังนั้นหากไทยจะมีการเปิดเสรีให้ญี่ปุ่น ก็ควรเปิดเสรีให้กับคู่ค้าอื่นๆ ของไทยด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|