MBA

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่คาดคิดว่า MBA จะเสื่อมลง ทั้งๆ ที่ "ผลิตภัณฑ์" ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีคุณค่ามากที่สุดสิ่งหนึ่งในโลกธุรกิจ ที่พรมแดนของโอกาสเปิดกว้างที่สุด

BusinessWeek รายงานไว้ว่า Top 30 MBA program ของสหรัฐฯ มีผู้สมัครเรียนลดลงเกือบ 30% มาตั้งแต่ปี 1998 (BusinessWeek April 18, 2005) สาเหตุสำคัญๆ ที่ผมประมวลและสรุปความพอจะยกมาได้ ผลตอบแทนของบริษัทที่จ้างผู้ที่เรียนจบ MBA ทำงาน ไม่ได้สูงขึ้นตามค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นมากว่า 50% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทใหญ่ๆ ปรับแนวคิดนิยมพัฒนาคนของเขาเอง ซึ่งสามารถตอบสนองธุรกิจที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลาได้ดีกว่า นอกจากนี้ MBA ไม่ได้สร้างคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในยุคจากนี้ไป ผลผลิตจาก MBA มักจะเป็นนักเทคนิคของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ที่ดูพื้นๆ มากขึ้น ในปัจจุบันเท่านั้น

สรุปง่ายๆ ว่า MBA กำลังล้าสมัย หรือปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ

ปรากฏการณ์นี้ดูเผินๆ น่าจะเป็นวงจรธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ยอมรับและเข้าใจได้

แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น

ผมคิดว่ามันเป็นภาพสะท้อนความผิดปกติของโครงสร้างความคิดระบบทุนนิยมไม่มากก็น้อยทีเดียว

MBA เปรียบเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเหนือสินค้าและแบรนด์ทั้งปวงของระบบธุรกิจโลกสมัยใหม่ก็ว่าได้ ที่สำคัญผู้ดูแลและบริหาร MBA ล้วนเป็นนักคิด นักยุทธศาสตร์ของระบบ มีอาจารย์ที่เก่งๆ ค่าตัวแพงที่สุดในระบบมหาวิทยาลัย พวกเขาและเธอมีประสบการณ์มากมาย ในฐานะนักคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ว่าด้วยศาสตร์ของการจัดการให้วงการธุรกิจในฐานะที่ปรึกษา ในฐานะผู้เขียนหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อการบริหาร ธุรกิจระดับโลก

ยิ่งกว่านั้น MBA เป็นผลงานสร้างสรรค์มีโมเดลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมากที่สุด เป็นส่วนผสมปัญญากับสินค้าที่กลมกลืนและละเมียดมากทีเดียว

จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

แม้ว่าในที่สุด MBA จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้บ้าง แต่ภาพสะท้อนเรื่องนี้น่าจะมีความชัดเจนในบทสรุปบางระดับได้

นั่นคือไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เรื่องการศึกษามีอุดมคติอย่างมาก เป็นนามธรรมอย่างมาก เป็นยุทธศาสตร์ที่มองการณ์อย่างกว้างและไกลมากทีเดียว เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่ผสมกับกับแนวคิด ธุรกิจที่มองเป้าหมายในระยะใดระยะหนึ่งอย่างแน่ชัด แม้ว่า MBA นับเป็นการศึกษาในเชิงวิชาชีพและเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจโดยตรงก็ตาม

หากเป็นเรื่องการศึกษาระดับพื้นฐานของชีวิตด้วยแล้วความไม่กลมกลืนย่อมจะมากขึ้นอีกมาก

แต่ปรากฏการณ์เช่นว่านี้กลับดูจะบานสะพรั่งในสังคมไทยเอามากๆ ทีเดียว ระบบโรงเรียนพื้นฐานของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงนำธุรกิจเข้ามาผสมกับการศึกษาและนำทางการศึกษามากขึ้นเท่านั้น ยังดูไม่กลมกลืนและไม่แนบเนียนเอาเสียเลย ระบบของเรายังส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการศึกษาที่พยายามเสนอขายตามความต้องการของตลาด ชนิดชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เราให้ความสำคัญภาษาอังกฤษอย่างผิดทาง สร้างระบบโรงเรียนคาบลูกคาบดอก (โรงเรียนสองภาษา) เราเน้นวิชาการมากกว่าธรรมชาติการเรียนรู้และความสมดุลของความเป็นมนุษย์ ฯลฯ

ความรู้ ประกาศนียบัตร หรือคะแนนที่ดีจากระบบโรงเรียน ไม่อาจจะมีค่าครอบคลุมไปถึงจิตวิญญาณในการเรียนรู้สิ่งใหม่ การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ผันแปรที่มีมากขึ้นของสังคมจากนี้ไป ความยอมรับการต่อสู้กับความยากลำบากในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น การเรียนรู้บทเรียนจากคนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมตามกฎแห่งความหลากหลายที่เกิดมากขึ้น ท่ามกลางสังคมโลกที่จำต้องมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

เรื่องการศึกษา ไม่ใช่การลงทุนทางธุรกิจ

หมายเหตุ
วิรัตน์ แสงทองคำ มีผลงานหนังสือเล่มชื่อ "หาโรงเรียนให้ลูก" ว่าด้วยการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในระบบที่ใช้ภาษาอังกฤษทั่วโลก รวมทั้งโรงเรียนนานาชาติในบ้านเรา หนังสือเล่มนี้เพิ่งวางจำหน่าย มีขายเฉพาะร้านหนังสือชั้นนำเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.