Satellite Radio ปฏิวัติวงการวิทยุอเมริกา

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ลองนึกเอาว่า ถ้าวันหนึ่งเปิดวิทยุฟังเพลงที่ชื่นชอบ แบบไม่มีโฆษณาเลย... วันนั้นคงเป็นวันที่น่าภิรมย์ยิ่งนัก... ในอเมริกามีแล้วค่ะวิทยุที่ปราศจากโฆษณา หรือที่นี่เขาเรียกว่า "Satellite Radio" แต่ไม่ฟรีนะคะไม่เหมือนกับวิทยุระบบ analog AM/FM ปกติที่เราฟังอยู่ทุกวันนี้ตามเครื่องเล่นวิทยุทั่วไป ใครที่ต้องการรับฟังวิทยุระบบใหม่นี้จะต้องสมัครเป็นสมาชิกรายเดือน หรือรายปีกับผู้ให้บริการ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 รายเท่านั้น คือ XM Satellite Radio (เดือนละ 12.99 เหรียญ) และ SIRIUS Satellite Radio (เดือนละ 12.95 เหรียญ)

นอกจากนั้นสมาชิกยังต้องมีอุปกรณ์เสาอากาศรับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งขณะนี้ครอบคลุม 48 มลรัฐ ยกเว้น Alaska Hawaii และตามเกาะต่างๆ ที่สัญญาณ ยังไปไม่ถึง ต้องมีเครื่องปรับสัญญาณ Satellite Radio Tuner และต้องมีเครื่องรับสัญญาณ Satellite Radio Receiver เหมือนจะยุ่งยากแต่เทคโนโลยีอยู่ในกำมือของมนุษย์ ผู้คิดค้นเครื่องทุนแรง...ใครที่อยากใช้บริการ Satellite Radio นี้ต้องมีอุปกรณ์เหล่านี้เช่น Car Tuner ที่เล่นได้แต่ในรถ ถ้าเป็น Home Tuner ที่เล่นได้แต่ในบ้าน ถ้าเป็นเครื่อง Boombox ก็หิ้วไปไหนมาไหนได้ หรือเครื่อง Plug-and-Play Tuner เพียงเครื่องเดียวก็สามารถเปิดฟังรายการวิทยุของ XM หรือ SIRIUS ได้ทันทีทั้งในบ้าน นอกบ้าน แม้กระทั่งในรถยนต์ ซึ่งราคาก็แตกต่างกันไป แต่ก่อนอื่นต้องตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าจะเลือกเป็นสมาชิกของค่ายไหน เพราะเครื่องรับของ XM ไม่สามารถรับฟังรายการของ SIRIUS ได้ และในทางกลับกัน เครื่องของ SIRIUS ก็ไม่สามารถฟังรายการ XM ได้

อย่างไรก็ตาม ทั้ง XM และ SIRIUS มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน โดยทั้งสองค่าย มีรายการวิทยุมากกว่า 100 รายการ และใช้สโลแกน "100% Commercial Free Music" เป็นจุดขายหลักร่วมกัน ซึ่งรายการเพลงมีมากกว่า 60 รายการ ครอบคลุมทุกประเภทของเสียงเพลง ตั้งแต่ Hip Hop Pop Jazz Dance Rock ไปจนถึง Latin สำหรับรายการข่าว การกีฬา ทอล์กโชว์ และรายการบันเทิงอื่นๆ SIRIUS มีมากถึง 55 รายการ ในขณะที่ XM มีเพียง 32 รายการ นอกจากนั้นอีกประมาณ 20 สถานีของทั้ง 2 ค่าย เป็นการรายงานการจราจรและสภาพอากาศ ส่วนความแตกต่างของทั้งสองค่ายนั้นอยู่ที่รูปแบบและรายละเอียดของรายการบันเทิงอื่น โดย SIRIUS มีแนวโน้มที่จะท้าทายกลุ่มผู้ฟังมากกว่า เช่น สมาชิกของ SIRIUS จะได้ฟังรายการเกี่ยวกับ Gay&Lesbian รวมทั้งรายการของ Howard Stern นักจัดรายการวิทยุเรตอาร์รอบดึกอื้อฉาวของอเมริกา ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญตัวหนึ่งของ SIRIUS ในขณะที่ XM จะมีรายการทั่วๆ ไปไม่หวือหวา ปัจจุบันสมาชิกของทั้ง 2 ค่ายรวมกันมีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน ในขณะที่ตลาดของผู้ฟังกลุ่มนี้มีโอกาสเพิ่มมากถึง 35 ล้านคนภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

บริษัท XM Satellite Radio เดิมชื่อว่า American Mobile Radio Corp. มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1992 ภายใต้การบริหารงานของ Mr.Huge Panero เพื่อดำเนินการวิทยุอิสระผ่านดาวเทียมหรือทางการ เรียกว่า Digital Audio Radio Service (DARS) โดยได้รับสัมปทานจาก FCC หรือ The Federal Communication Commission ของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1997 ด้วยราคาประมูลสูงถึง 89.9 ล้านเหรียญ ในการส่งดาวเทียมสองดวงชื่อว่า "Rock" และ "Roll" ขึ้นโคจรเมื่อปี ค.ศ.2001 จากนั้นในปลายปีเดียวกันก็เริ่มเปิดให้บริการ โดยมีพาร์ตเนอร์รายใหญ่ อย่างค่ายรถยนต์ของอเมริกาและญี่ปุ่น เช่น จีเอ็ม และฮอนด้า เป็นต้น ได้ร่วมมือในการพัฒนาอุปกรณ์เสาอากาศพิเศษ เพื่อรับสัญญาณ XM เพื่อเพิ่มมูลค่าของราคารถไปในตัวด้วย นอกจากนี้ค่ายรถเหล่ามีการโปรโมต XM ให้แก่ลูกค้า เช่น ลูกค้าฮอนด้า Accord จะได้รับโปรโมชั่นรับฟังรายการของ XM ฟรีเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นก็เลือกเอาว่าจะต่อสมาชิกหรือไม่ ฉะนั้น คนที่อยากฟังรายการจากค่าย SIRIUS ก็ต้องไม่ซื้อรถฮอนด้า หรือไม่ก็ต้องซื้อ Plug-and-Play Tuner ของ SIRIUS มาติดเพิ่มเอง ในขณะที่ SIRIUS มีพาร์ตเนอร์ เป็นค่ายรถจากยุโรปและอเมริกา เช่น Aston Martin Audi BMW DaimlerChrysler Mini Dodge Ford มาช่วยทำตลาด

SIRIUS เป็นชื่อของดาวสุนัขที่ตั้งตามชื่อของเทพเจ้าโอริอุสแห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวยอร์ก และมีชื่อเดิมว่า CD Radio ก็ได้รับสัมปทานเช่นเดียวกับ XM โดยยอมจ่ายถึง 83.3 ล้านเหรียญ และส่งดาวเทียมถึง 3 ดวงขึ้นในปี ค.ศ.2000 แต่ประสบปัญหาทางเทคนิค กว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการก็ล่าช้าไปถึง 2 ปี ทำให้ XM แย่งลูกค้าไปครองก่อน

ปัจจุบันแม้ว่าสมาชิกของ XM อยู่ในหลักล้าน ในขณะที่ SIRIUS อยู่ในหลักแสน แต่ทั้งสองบริษัทยังคงประสบภาวะขาดทุนอยู่ ซึ่งในอนาคตอาจเป็นไปได้ที่ทั้ง 2 บริษัทจะควบกิจการ แต่กระนั้นผลประโยชน์ยังคงตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่อย่างน้อยก็มีทางเลือกอีกทางหนึ่งในการฟังวิทยุ แม้จะต้องควักเนื้อเองก็ตาม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.