|
SBY
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
วีวิค ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน มาเรียนปริญญาโทที่ออสเตรเลียด้วยทุนรัฐบาล อมาเรียมาเรียนภาษาอังกฤษในช่วงแรกโดยตั้งความหวังที่จะเรียนต่อปริญญาโทสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่ต้องกลับบ้านไปก่อนเพราะพ่อของเธอไม่สบาย อมาเรียมาจากจาการ์ตาเช่นเดียวกับชาวอินโดนีเซียอีก 22,000 คน ที่มาเรียนที่ออสเตรเลีย หลายคนมาจาก จาการ์ตา และอีกหลายคนก็มาจากอาเจะห์ บ้างก็มาด้วยทุนรัฐบาล บ้างก็มาด้วยทุนส่วนตัว
ชาวอินโดนีเซียส่วนหนึ่งผมรู้จักเป็นการส่วนตัว และทุกวันนี้ก็ยังคงพูดคุย และทักทายกันอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งนั้นเราผูกพันกันด้วยความเป็นเอเชีย และรูปร่างหน้าตาที่คล้ายคลึงกัน แต่อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการรวมกลุ่มทางการเมืองในชื่อของสมาคมอาเซียน
นับจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิ SBY กลายเป็นชาวอินโดนีเซียที่คนออสเตรเลียรู้จักกันมากที่สุด เพราะ SBY ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งของออสเตรเลียหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิไม่กี่วันและช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
SBY ย่อมาจาก Susilo Bambang Yudhoyono เป็นชื่อเต็มของประธานาธิบดีของอินโดนีเซียคนปัจจุบัน ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคมปีกลาย
ประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ถือว่ามีความผูกพันกันด้วยเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะช่วงทศวรรษล่าสุดนี้ นับจากความพยายามของออสเตรเลียในการเข้าแทรกแซงทางการเมืองอินโดนีเซียในกรณีการแยกตัวเป็นอิสระของติมอร์ตะวันออกในปี 1999 ที่นำมาสู่การประกาศเอกราชในที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นของความร้าวฉานของความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซีย
ปลายปี 2002 เหตุการณ์ระเบิดที่ไนต์คลับบนเกาะบาหลี มีชาวออสเตรเลียเป็นเหยื่อเสียชีวิตมากถึง 88 คน
ปลายปีที่แล้ว เสียงระเบิดนอกสถานทูตออสเตรเลียประจำกรุงจาการ์ตา ก็ทำให้อุณหภูมิการเมืองระหว่างประเทศคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง
คดีคอร์บี้เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่ง Schapelle Corby นักเรียนสาวชาวออสเตรเลียถูกจับกุมและกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบขนยาเสพติดเข้าประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่เธอและเพื่อนเดินทางมาเที่ยวเกาะบาหลี และถูกคุมขังอยู่จนถึงทุกวันนี้ เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากคนออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการเจรจาทางการเมือง เพื่อช่วยเหลือเธอก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้วต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ เหตุการณ์สึนามิกลับหลอมรวมน้ำใจของชาวออสเตรเลีย อินโดนีเซีย รวมถึงคนทั่วโลก เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งพร้อมกับที่รัฐบาลออสเตรเลียอนุมัติงบประมาณกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญออสเตรเลีย (หนึ่งเหรียญออสเตรเลียคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 29-30 บาท) เพื่อช่วยเหลืออินโดนีเซียโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นงบประมาณช่วยเหลือสึนามิโดยภาครัฐบาลที่มากที่สุด เหนือประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและมหาอำนาจทางการเมืองอื่นใด
ก่อนหน้าที่ผมจะเขียนบทความนี้ เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกทางฝั่งตะวันตกของประเทศอินโดนีเซียซึ่งส่งผลให้ทหารหาญชาวออสเตรเลียทั้งชายและหญิงจำนวนเก้าคน เสียชีวิตขณะเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวอินโดนีเซียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้ง ล่าสุดก่อนที่ศพของทหารทั้งเก้าคนจะถูกส่งกลับประเทศออสเตรเลียในฐานะวีรบุรุษและวีรสตรี พร้อมๆ กับเสียงร่ำไห้ของผู้คนทั้งประเทศ แต่ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอินโดนีเซียของประเทศออสเตรเลียก็ยังคงดำเนินต่อไป
SBY ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศอินโดนีเซียที่เดินทางมาเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการนับจากประธานาธิบดีวาฮิด ในปี 2001 และประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ซึ่งนับย้อนหลังไปถึงปี 1975 ในขณะที่นายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด กลับไปเยือนอินโดนีเซียมากถึง 11 ครั้งแล้วนับจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องนับจากปี 1996
SBY มาออสเตรเลียครั้งนี้ด้วยนโยบาย ที่เรียกว่า Looking South หรือการมองลงใต้ ซึ่งใต้ประเทศอินโดนีเซียก็คือออสเตรเลียนั่นเอง ในขณะที่ออสเตรเลียก็ดำเนินนโยบาย ที่เรียกว่า Looking North หรือการมองขึ้นสู่ทิศเหนือ คือ มองอินโดนีเซีย
นโยบายของทั้งสองประเทศถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของทั้งคู่ โดยอินโดนีเซียมองว่าตนเองมองไปทางเหนือมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา นั่นคือ อินโดนีเซียเน้นนโยบายต่างประเทศที่มีต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นหลักในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ออสเตรเลียก็มองไปทางตะวันตกมาตลอดเวลา นั่นคือ ออสเตรเลียเน้นการคบกับกลุ่มเพื่อนฝรั่งด้วยกัน โดยมองข้ามบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างอินโดนีเซีย
การเดินทางมาเยือนออสเตรเลียครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ของออสเตรเลียและอินโดนีเซียไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งในครั้งนี้มีการเซ็นสัญญาเพื่อความร่วมมือที่ลึกซึ้งขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ, ความมั่นคง และการเมือง
ข้อตกลงที่สำคัญในสัญญานี้ที่ผูกพันสองประเทศไว้ คือ
* มุ่งที่จะขยายความสัมพันธ์ทางการค้า สินค้าบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการศึกษา, สุขภาพ และการท่องเที่ยว
* เพิ่มแรงผลักดันในการเจรจาสนธิสัญญาการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
* เพิ่มความร่วมมือในการป้องกันและต่อต้านอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการลักลอบส่งคนเข้าเมือง, การฟอกเงิน และการค้ายาเสพติด โดยการร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้นของตำรวจ, เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ศุลกากร รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันด้วย
* เพิ่มความสัมพันธ์ทางการทหาร โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนทางการทหาร และการทำกิจกรรมร่วมกันโดยเน้นการรักษาความปลอดภัยทางทะเลเป็นหลัก
ความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ, ทางกฎหมาย และการสนับสนุนบทบาทของออสเตรเลียในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำชาติเอเชียตะวันออกครั้งแรก (หรืออาเซียนพลัสทรี ซึ่งคือกลุ่มประเทศอาเซียนสิบประเทศรวมกับญี่ปุ่น, จีน และเกาหลีใต้) ปลายปีนี้ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้ามามีบทบาทในเขตการค้าของกลุ่มประเทศเอเชียในอนาคต ที่ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของออสเตรเลีย
สัญญานี้จะส่งผลให้การค้าการลงทุน ระหว่างสองประเทศเพิ่มสูงขึ้น และผลลัพธ์สำคัญคือ ทำให้การคุกคามของกลุ่มผู้ก่อการร้าย มีแนวโน้มลดลงได้ หรือควบคุมได้มากขึ้น
และที่ลืมไม่ได้ หนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญของสัญญาฉบับนี้คือ ออสเตรเลียจะไม่สนับสนุนและยุ่งเกี่ยวใดๆ กับการพยายามแยกตัวเป็นอิสระ (ในรูปแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับติมอร์ตะวันออก) ในประเทศอินโดนีเซียอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซียแต่อย่างไร ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความไม่พร้อมหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ, ระบบราชการที่เป็นปัญหาใหญ่ และการคอร์รัปชั่น ซึ่งล้วนเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างปัญหาอย่างต่อเนื่องแก่นักลงทุนชาวต่างชาติมาโดยตลอด และรัฐบาล ชุดปัจจุบันของอินโดนีเซียพยายามแก้ไขอยู่
ในขณะที่ออสเตรเลียทำเอฟทีเอกับสิงคโปร์และไทยเรียบร้อยแล้ว, เอฟทีเอกับมาเลเซียและจีนกำลังเตรียมประกาศอย่างเป็นทางการ, เอฟทีเอกับญี่ปุ่นอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และเอฟทีเอกับกลุ่มอาเซียน (ซึ่งรวมอินโดนีเซีย) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุย
ด้วยหลายๆ สาเหตุ รัฐบาลออสเตรเลีย จึงพยายามมุ่งที่จะเจรจาเอฟทีเอกับกลุ่มอาเซียนให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่สัญญาฉบับนี้ ก็จะนำไปสู่การทำเอฟทีเอกับอินโดนีเซียในอนาคตต่อไป
แม้นายอับดุลลาฮ์ บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะยังไม่รับปากว่าจะเชิญออสเตรเลียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกปลายปีนี้หรือไม่ และมีแนวโน้มจะกีดกันเสียด้วยซ้ำนั้น SBY ก็ยังคงพูดจาภาษาเดียวกับนายจอห์น โฮเวิร์ดอยู่
แต่ที่แน่ๆ เพื่อนชาวอินโดนีเซียของผม อาจจะเป็นหนึ่งในนักศึกษาอินโดนีเซีย 600 คน ที่ได้รับทุนการศึกษาสำหรับศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ซึ่งจัดสรรโดยรัฐบาลออสเตรเลียสำหรับนักเรียนชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่ทั้งสองประเทศเซ็นสัญญาต่อกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|